All posts tagged: นวพร เรืองสกุล

ซีรีส์เกาหลี Queenmaker เบื้องหลังงานการเมือง มีความร้ายมากมายเกินคาด

หนังเรื่องนี้เหมาะกับช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของเรา วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เบื่อการเมืองในชีวิตจริง  หันไปดูการเมืองในจินตนาการ   ได้เห็นเบื้องหลังการหาเสียงเลือกตั้งที่สกปรกโสมม เต็มไปด้วยการใส่ร้ายป้ายสี การทวงบุญคุณ การหว่านบุญคุณ การข่มขู่คุกคาม และผลประโยชน์แฝงของ “ธุรกิจการเมือง” ดูแล้วเข้าใจ “อุบาย”  หาเสียง และได้ประสบการณ์การ “ถูกปั่นหัว”  ด้วยข่าวต่างๆ  ได้ชัดขึ้น  ส่วนเลือดท่วมบางฉาก ยกให้เป็นเรื่องของดราม่าก็แล้วกัน    ๑. เกาหลีเล่าเรื่องธุรกิจการเมืองได้สีสันยิ่งนัก ส่วนหนึ่งคงเพราะเกาหลีเดินทางในแนวประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาต่อเนื่องไม่ขาดตอน และรับระบบทุนนิยมเสรีมาเต็มรูป ที่นานวันเข้าก็กลายเป็นทุนผูกขาดของนายทุนใหญ่  เราได้เห็น “ทุน” ที่อยู่เบื้องหลังนักการเมือง และเบื้องหลังผู้บริหารระดับสูงอีกหลายคน  ที่นายทุนได้ใช้เงินสร้างบุญคุณ หรือทำให้ “ติดหนี้” เอาไว้ รอวันที่จะถูกเรียกร้องให้ตอบแทน แล้วใช้อำนาจแฝงที่มีวกกลับมาสร้างความมั่งคั่งของครอบครัวให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ถ้าบวกรวมเรื่องนี้ กับบทบาทแบบ Cambridge Analytica ในหนังสารคดีของอเมริกัน ที่มีการนำ Information Operation มาใช้แบบสงครามจิตวิทยาบนฐานข้อมูลที่ประมวลแยกตามกลุ่ม การ labeling กลุ่ม การให้ข้อมูลครี่งๆ กลางๆ แบบฟังง่าย ติดหูติดปาก และทำซ้ำๆ ผ่าน social media ในการเลือกตั้งปี 2016 ในสหรัฐอเมริกา คนที่ติดตามสถานการณ์คงจะไม่ประหลาดใจนักกับผลการเลือกตั้งของไทยในเดือนพฤษภาคม​ ศกนี้ ซึ่งนำแบบแผนนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือ ๒. สุดยอดการข่าว เพื่อใช้ในการ blackmail หรือจี้จุดอ่อนฝ่ายตรงกันข้าม   ดูตัวอย่างจากวิธีที่ นางเอก #1 หาข้อมูลเพื่อ “สยบ” คู่ต่อสู้ของเธอ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่ทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือการทำงานการเมืองเพื่อช่วยหาเสียง ไม่ว่าจะเพื่อเหตุที่ดีงาม หรือเหตุที่ชั่วๆ     ก. วิธีการหา วิธีการปล่อยข้อมูล และจังหวะเวลาที่เลือกปล่อยข้อมูลให้ได้ความสั่นสะเทือนขนาดพลิกเกม  น่าสนใจมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อแบลกเมล์ส่วนบุคคล (เป็นบทเรียนที่ดีว่า อย่าได้แอบทำอะไรที่พลาดเอาไว้ เมื่อคนได้ความลับที่อยากปิดนั้นไป  เราจะถูกชักรอกให้เต้นไปตามที่ผู้กุมความลับสั่งการได้เลยทีเดียว และนักการเมืองยอมสยบ เพราะแต่ละคนมี “แผล” ที่ต้องการปิดบัง ด้วยเหตุผลเฉพาะตน  เช่น เป็นหนี้บุญคุณที่ถูกข่มขู่ให้ทดแทน หรือมีภาพลักษณ์ที่อยากรักษาไว้ให้ดูดี เป็นต้น) หรือการปล่อยสู่สาธารณะผ่าน social media ต้องจ้องจออย่างตาไม่กระพริบเลย ไม่เอาไปใช้ที่ไหนเพื่อตนเอง ก็ยังต้องดู เก็บไว้เป็นความรู้ให้อ่านเกมออก พอเอาตัวรอดได้ในสงครามปลุกปั่นแบบนี้ ข. ได้เห็นอุบายการต่อต้านลบล้างข้อป้ายสีหรือคำพูดแบบปั้นน้ำเป็นตัว ครึ่งจริงครึ่งเท็จ ของฝ่ายตรงกันข้าม วิธีการพวกนี้สะท้อนอยู่ในเวทีสื่อสังคมและสื่อทั่วไปในการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ ขอบคุณภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ทำให้ “เท่าทัน” กับเรื่องเน่าๆ และสงครามล้างสมอง ที่กำลังดำเนินอยู่ในเมืองไทย ผู้ร่วมชมคนหนึ่งเขียนข้อคิดบทเรียนจากภาพยนต์ซีรีส์นี้มาให้ ดังนี้ ปีศาจ สุนัขรับใช้ มดปลวก และเสรีชน  ในภาพยนต์ซีรีส์เกาหลี Queenmaker   เรื่องนี้ติ๋วขอเขียนค่ะ  ดูเรื่อง Queenmaker  แล้วสะท้อนใจ ทีแรกตอนที่เพื่อนแนะนำแค่อยากรู้ว่าเป็นยังไง ดูรวดไป 3 EP ก็สนุกดีและได้ความรู้มาก แต่ความรู้แบบนี้รู้แล้วก็เศร้า ความจริงไม่ชอบดูหนังที่สะท้อนด้านมืดของมนุษย์ แค่ในชีวิตจริงก็มากเกินกว่าที่อยากเห็น แต่กลัวตกเทรนและเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ ก็เลยต้องดูเพื่อให้รู้ว่าเขามีเทคนิกอะไรบ้าง  ปีศาจ  ในวงของผลประโยชน์และอำนาจ  น้อยมากที่จะมีคนดีหลงเข้าไปและรักษาความดีไว้ได้ คนที่เข้าไปมักถูกอำนาจและเงินกลืนกินจนหมดความเป็นมนุษย์   คนดีๆ ที่เข้าไป ถ้าไม่กลายพันธ์ุก็อาจตายไประหว่างทาง หรือไม่ก็เอือมระอาจนออกไป   ปีศาจสามารถทำทุกอย่างได้เพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจและมีเงิน  การมีอำนาจจำเป็นต้องใช้เงิน และการมีเงินสามารถสร้างให้มีอำนาจได้  หนังฉายความเป็นปีศาจของหลายๆคน ที่ขึ้นไปอยู่ในวงนี้ได้อย่างน่าขยะแขยงมาก สุนัขรับใช้  เป็นคนจำพวกหนึ่งที่มีความภักดีให้กับผู้เป็นนายสูงมาก ในบางฉากซีรีย์แสดงความสัมพันธ์ของเจ้านายและลูกน้อง กับเจ้านายและสุนัขที่รักได้อย่างชัดเจนมาก ราคาของสุนัขรับใช้แต่ละคนแตกต่างกันไปบ้าง แต่ที่เหมือนกันแน่ๆ คือไม่ใช่เสรีชน   มดปลวก  ก็คือเราๆท่านๆ ที่เต้นไปกับสิ่งเร้าต่างๆ ที่ถูกนำเสนอ-จัดสร้าง-แสดง ในทฤษฎีของการโฆษณาชวนเชื่อ …

Sand ทราย

ทราย.. วัสดุสามัญธรรมดา อยู่ชายหาดก็ดาดดื่น อยู่ทะเลทรายก็ล้นเหลือ จนไม่พึงปรารถนา เข้าเมืองเป็นส่วนประกอบของวัสดุก่อสร้าง จะสามัญหรือไม่สามัญก็แล้วแต่ผู้ออกแบบและก่อสร้าง เข้ามือศิลปิน ก็อยู่ที่ระดับฝีมือของศิลปินคนนั้นแล้วว่าจะเนรมิตให้เป็นอะไร ที่มีค่าเกินค่าของเม็ดทราย Nic Guy ตอบมาใน facebook Knowledge Plus by นวพร 2023 05 20 ทรายแอบแฝง แห่งความคิด ปริศนา เม็ดหนึ่งค่า น่าน้อยนิด คิดขบขัน แม้เม็ดน้อย ร้อยร่วม มารวมกัน ยังโอบกั้น มหาสมุทร สุดคะเน อยู่บนพื้น ชายหาด ก็ดาดดื่น อยู่บนผืน ทะเลทราย ก็ถมเถ คอมพ์มือถือ พรือนี้ มีทั้งเพ Silicon Valley ยังเรียกกัน แล้วแต่ใคร จะใช้ ได้หลายหลาก ศิลปิน ก็มาก นักสร้างสรรค์ ศิลปะ ทรายแต่งสี มีร้อยพัน  จะหล่อปั้น กันแบบไหน ให้ทำเอา ทรายสร้างแก้ว แวววับ กลับมีค่า ตึกระฟ้า ต้องอาศัย ทรายก่อเสา แม้รูปทอง ยังต้องใช้ ทรายขัดเงา ทำใจเรา ดั่งทรายแก้ว แววค่าเอย. version : ดาดดื่น Note: ภาพจิตรกรรมโรยทราย ของวันเจริญ จ่าประคัง // ทะเลทราย จากภาพยนตร์เรื่อง Ever Night // ทรายย้อมสีในแจกันแล้วพร้อมดอกไม้ประดิษฐ์ // ทรายในขวดแก้ว ของ Woody Stoufer ได้มาจากสหรัฐอเมริกา ช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ นวพร เรืองสกุล ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖  

Digital Money ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566

ในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป เดือนเมษายน ๒๕๖๖ พรรคหนึ่งนำเสนอว่าจะแจกเงินดิจิทัลให้ราษฎร มีผู้ส่งข้อเขียนหนึ่งมาให้ซึ่งผู้เขียนชี้แจงแสดงเหตุว่าถูกต้อง เหมาะสม ทันสมัย และอธิบายว่าเป็นนโยบายการเงิน  (เอาดิจิทัลมันนีที่หาเสียงไปโยงว่าเป็นบาทดิจิทัล ที่ธนาคารชาติกำลังศึกษาอยู่) อ่านแล้วกุมขมับว่าพูดอะไร (วะ)     ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้  เพราะว่ารู้ และจำเป็นต้องชี้ การเมืองเรื่องนี้ “ธุระมันใช่”  ไม่เข้าใจ  รู้ไม่ทัน หายนะจะมาเยือน   วิชานี้ขอเรียกว่า เศรษฐศาสตร์ 100.1 มี ๓ หัวข้อ   ข้อ 1   เงิน เงินกระดาษ อีมันนี  ดิจิทัลมันนี เงินคืออะไร  คือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ที่สังคมตกลงร่วมกันว่าจะใช้เงินนี้เป็นตัวกลางวัดค่าและแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการกัน    เบี้ยกุดชุม เป็นเงินในหมู่บ้านกุดชุม เงินบาทเป็นเงินในประเทศไทย จะไปใช้เงินนี้ที่อื่น ต้องแลกเป็นเงินที่สังคมนั้นๆ ยอมรับ  เงินมีหลายหน้าที่ [วันนี้เว้นเรื่องนี้ไปก่อน] สังคมทั่วไปในยุคที่ค้าขายกันมากๆ ใช้โลหะเงินหรือทองคำเป็นเงินตรา แต่สมัยที่เราเกิดมาก็รู้จักแต่เงินกระดาษ เท่านั้น   เงินกระดาษ ออกโดยธนาคารกลาง หรือรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง แล้วแต่แต่ละประเทศจะตกลงกันภายในประเทศนั้นเอง  (หยิบธนบัตรออกมาดูเลยค่ะ)  การจะออกเงินมาได้มีกฎหมายกำหนดไว้ ไม่ใช่ว่านึกอยากจะใช้เงินก็พิมพ์เงินออกมาดื้อๆ ง่ายๆ   เพื่อความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย เราไม่หอบเงินกระดาษไปเป็นฟ่อนๆ  (เว้นแต่บางกรณี)   แต่เอาไปฝากธนาคารพาณิชย์ไว้เป็นบัญชีเงินฝาก เมื่อต้องการใช้เงินก็ถอนเงินสด หรือใช้เช็คสั่งจ่าย สั่งโอนจ่าย สมัยนี้ใช้วิธีสั่งจ่ายทางอีเลิกทรอนิกส์ได้ด้วย   เงินอีเล็กทรอนิกส์มีหลายรูปแบบ ทดลองกันเรื่อยมาตั้งแต่เดบิตการ์ด และสุดท้ายไร้การ์ด เป็น App. ที่แทบทุกคนใช้ (และถูกมิจฉาชีพหลอกจนเงินเกลี้ยงกระเป๋าก็มี) รวมเงินในกระเป๋าสตางค์​ที่รัฐใส่เงินหรือร่วมจ่ายให้เมื่อผู้มีสิทธินำไปใช้จ่าย เช่น โครงการเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เป็นต้น สุดแท้แต่จะเรียกชื่อกันไปให้แตกต่าง แต่ทุกอันเหมือนกัน คือตั้งต้นที่มีเงินฝากในธนาคาร  เงินดิจิทัล เช่น บาทดิจิทัล หยวนดิจิทัล เงินนี้ไม่ต้องมีคนกลางรับฝาก เป็นเงินที่ล่องลอยอยู่เหมือนลม อยู่ได้เพราะไฟฟ้า  มืคือมี  ธนาคารกลางเป็นผู้ออก (ต่างจากเงินคริปโต หรือ crypto curency ต่างๆ ที่คนหรือนิติบุคคลพยายามออกมาใช้แทนเงิน โดยหาตัวสร้างความมั่นคงให้คนเชื่อมั่นต่างๆ กัน)    ตอนนี้หยวนดิจิทัลออกใช้แล้ว ส่วนบาทดิจิทัล ไทยเรากำลังศึกษากันอยู่  ***กติกาการออกเงินดิจิทัล เป็นแบบเดียวกับเงินกระดาษ***    ต่างกันที่ตัวเงิน  แต่ ไม่ต่างกันในวิธีการนำออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ   เงินกระดาษออกมาทางไหน เงินดิจิทัลออกมาทางนั้น  เอาเงินกระดาษออกมาไม่ได้ เงินดิจิทัลก็ไม่ออกมาเช่นเดียวกัน  ดังนั้นกระเป๋าเงิน จะเป็นกระเป๋าหนังจรเข้ หนังควาย หรือ e wallet  หรือ digital wallet  ถ้าไม่มีเงินใส่เข้าไปก็เป็นแค่ “เป๋า” แห้งๆ   ข้อ 2  นโยบายการคลังกับนโยบายการเงิน กระทรวงการคลังกับธนาคารชาติเป็นคู่แฝดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ  มีการแบ่งงานกันทำ    ส่วนที่เหลื่อมกันก็คุยตกลงกันก่อน นโยบายการคลัง คือเรื่อง หารายได้จากไหน  จะใช้จ่ายอย่างไร  เงินไม่พอทำไง เงินเหลือทำไง  ก. รายได้มาจากภาษี ถ้าคิดจะลดภาษี แปลว่ารายได้ของรัฐจะลด  ขึ้นภาษี รายได้ของรัฐก็เพิ่ม (แต่ถ้ามากเกินไป ก็อาจได้ผลกระทบทางลบได้ เพราะคนหมดแรงทำงาน)  และต้องคิดว่าจะเพิ่ม/ลดให้ใคร  เพราะมีผลกระทบอีกหลายเรื่องตามมา (หมายถึงภาษีเงินได้นะ  ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต้องคิด เก็บแค่น้ีก็ต่ำมากแล้ว)       ข. รายจ่ายอยู่ในกรอบของงบประมาณรายจ่าย  นักการเมืองแย่งกันทำหน้าที่นี้กันจัง ขอเพิ่ม ขอย้ายงบเข้าท้องถิ่นตน  ขอตัดงบที่ตัวไม่เกี่ยวหรือไม่ได้หน้า   นักการเมืองชอบลดภาษี และชอบเพิ่มงบประมาณรายจ่าย  ทำให้เกิดการชักหน้าไม่ถึงหลังเป็นประจำบางประเทศจึงผูกงบประมาณสองด้านนี้ไว้ด้วยกัน จะเพิ่มรายจ่าย ต้องพิจารณาเรื่องเพิ่มภาษีไปพร้อมกันด้วย  …

โลกนี้ไม่รู้จักอิ่ม The Insatiable Hunger of Living Beings

“ผู้ปกครองประเทศหนึ่ง แผ่อำนาจ ชนะตลอดแผ่นดิน ครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด มิได้รู้จักอิ่มเพียงฝั่งสมุทรข้างหนึ่ง ยังปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก …  เพราะยังไม่สิ้นความทะเยอทะยาน จึงยังเป็นคนที่พร่องอยู่ …ความอิ่มด้วยกาม [รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่น่าพอใจ] ย่อมไม่มีในโลกเลย”  (มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ รัฏฐปาลสูตร) คำกล่าวนี้ พอเหมาะกับเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศในโลกในเวลานี้มาก [ค.ศ. 2022 – 2023] ดิฉันโพสต์ภาพนี้ใน Facebook by Knowledge Plus by นวพร ประกอบข้อเขียนสั้นๆ เมื่อปี 2022 จากเหตุการณ์ระเบิดของสงครามในยูเครน ที่ดิฉันมองว่าเป็นสงครามชิงอำนาจ ชิงความเป็นใหญ่ของฝ่ายตะวันตก ที่ต่อเนื่องมาจากสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นอย่างน้อย มีภาพประกอบคือภาพวาฬหาอาหาร ในอ่าวไทย ฝีมือคุณปริญญา ผดุงถิ่น ที่เอื้อเฟื้อให้นำมาใช้ประกอบเรื่อง เรื่องนี้ได้บทสนทนาจากผู้อ่านที่มีค่ามาก จึงอยากบันทึกไว้ให้ยาวนานกว่าใน facebook ที่ดูกันอย่างเร็วๆ ฉาบฉวย ค้นยาก คุณวีระวัฒน์ หงสกุล นักวิชาการและผู้เชื่ยวชาญด้านประมง ระดับนานาชาติ ส่งบทโต้ตอบมาดังนี้ “คุณมักส่งภาพเป็นปริศนาธรรม จนบทความจะเป็นโรงมหรสพทางวิญญาณแบบที่สวนโมกข์แล้ว แต่ภาพนี้แสดงความไม่รู้อิ่มได้ดี ทั้งชาวประมงผู้ละโมภลากอวนกวาดสัตว์น้ำมาตามทางโดยไม่สนใจว่ากวาดอะไรไปแล้วบ้าง ก้นอ่าวไทยเคยเป็นดงฟองน้ำหูช้างขนาดยักษ์รูปถ้วยแชมเปญที่สัตว์น้ำใหญ่น้อยหลบอาศัยเหมือนคอนโดหรูๆ แต่บัดนี้ราบเรียบไปเพราะฝีมืออวนลากที่ไม่เคยอิ่มจนเหลือแต่ปลาเล็กปลาน้อย โตไม่ทันก็เอาไปเลี้ยงเป็ด [จึงเรียกปลาเป็ด] หรืออบป่นทำอาหารเลี้ยงสัตว์เช่นไก่[กลายเป็นปลาไก่] วาฬได้ข่าวเก่าจึงหลงมาหากินในอ่าวไทยแล้วผิดหวังสุดๆ ขอกินแต่แพลงค์ตอนยังหายาก ได้แต่อ้าปากฮุบน้ำไปกรองกิน ส่วนนางนวลก็หวังปลาตกใจวาฬลอยต้วขึ้นมา จะได้พลอยจับได้แบบเศษเนื้อข้างเขียง ทุกตัวแสดงล้วนก่ำด้วยกิเลส อยากมี อยากได้ อยากกิน ด้วยกันทั้งนั้น ส่วนจะได้แค่ไหนก็แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมา“ นวพร เรืองสกุล

ซีรีส์จีน: ดรุณพเนจรท่องยุทธภพ (The Blood of Youth) การส่งผ่าน “คุณค่า” จากรุ่นสู่รุ่น

ซีรีส์นี้สร้างจากหนังการ์ตูน คงตั้งใจสร้างให้วัยรุ่นเพิ่งออกท่องโลกดู ตัวละครทุกตัวเป็นลูก หรือเป็นลูกศิษย์ของปรมาจารย์ในยุทธภพ บางคนไม่เคยรู้เรื่องราวความนัยใดๆ ท่องโลกด้วยดวงใจใสสะอาด ความสำคัญของคำว่า “เพื่อน” คุณชายมู่ ตัวละครตัวเล็กๆ ออกมาไม่กี่ฉากแต่ขโมยหัวใจคนดูไปหลายคน ยิ่งดูยิ่งหล่อ หล่อในลีลาการพูด และการกระทำ มากกว่าหน้าตา เ ขาเอ่ยถึงคนวัยดรุณ รวมทั้งตัวเขาเอง ไว้ว่า “รู้จักแพ้ รู้จักชนะ ในมือถือกระบี่ ในใจมีเป้าหมาย เมื่อเจอท้องทะเลแสนไกลโพ้น ก็มีจิตใจกล้าหาญองอาจ ข้างหน้ามีภัยอันตรายก็ไม่เกรงกลัวหวาดหวั่น มีสหายข้างกายก็อยากจะเมาสุราร้องลำนำเพลง อยากหัวเราะก็หัวเราะอย่างเต็มที่ อยากต่อว่าก็ทำอย่างเต็มที่ นี่คือวัยหนุ่มสาว” ๑. เกือบเลิกดูไปกลางคัน เพราะตัวละครเยอะแยะ จำไม่หมด ต่อไม่ติด ขอแนะนำว่า​ ไม่รู้เรื่องช่างมันก่อน เริ่มตอนที่ ๘ ก็รู้เรื่องละ ดู”ปแล้วต้องวกมาดูใหม่ เห็นรายละเอียดมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ๒. หนังมาจาก animation ตัวละคร เครื่องแต่งกาย และการสู้รบแบบเหนือจริง ตื่นตาตื่นใจจริงๆ ขนาดฟันหอสูง ๑๕ ชั้น แยกเป็น ๓ ซีก เอาแพรพันไว้ก็ยังได้เลย ๓. สรุปข้อคิด ในเรื่องนี้ได้ง่ายๆ ว่า ก. “ทำตามที่หัวใจของตัวเองต้องการ” “ถามใจตัวเองว่าอยากทำอะไร” “เริ่มเดินไปตามความคิด” ผู้ใหญ่สอน ศิษย์พี่ก็สอน แม้แต่เพื่อนกันก็แนะนำเช่นนั้น “ตัดสินใจไม่ได้ใช่ไหม ลองขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์มังกรสักพัก หลับตา หยั่งความรู้สึกตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบ รู้สึกอย่างไรก็เลือกอย่างนั้น ไม่มีใครเลือกแทนได้” (แหม อยากให้พ่อแม่จอมเผด็จการความคิด บอกลูกอย่างนี้บ้าง เด็กคงมีความสุขขึ้นแยะเลย แทนที่จะถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่พ่อแม่เห็นว่าน่าทำ ทั้งๆที่ ตอนพ่อแม่เป็นเด็ก ก็ไม่ยอมให้ใครสั่งแบบนั้น) ข. “การมีสหายย่อมไม่เดียวดาย” เพื่อนกันสำคัญมาก เพื่อนกันให้กันได้ ให้อาวุธ ให้วิชาป้องกันตัว และใช้ชีวิตคือตายแทนกันได้ ตรงตามตัวอักษรเลย เพื่อนทุกคนสละชีพแทนกันและกันได้ แต่ฉลาดพอจะไม่ตายอย่างไร้ความคิด เรื่องนี้ทั้งเรื่องให้ความ ประทับใจในคำว่า “เพื่อน” อย่างยิ่ง คุณค่าของสิ่งที่เกือบจะเลือนหายไปแล้ว หรือเปลี่ยนประเด็นไปเป็นเรื่องอื่นไปสิ้น กลับมาใหม่ด้วยสีสันงดงามจรรโลงใจ ค. สิ่งที่เห็น หรือสิ่งที่รู้มา อาจไม่ใช่เช่นนั้น อย่าด่วนสรุป อย่าคิดเอาเอง อย่าเคียดแค้นแทนใคร จนกว่าจะรู้เรื่องจริง บางเรื่องก็อาจจะไม่มีโอกาสรู้เลยก็ได้ “เรื่องโบร่ำโบราณ คนสมัยนั้นเขาก็จัดการกันไปแล้ว คนรุ่นนี้เอามาคิดเคียดแค้นและแก้แค้นทำไม เรื่องเก่าแก่ แค่รับรู้ก็พอ ตัวเองจะทำอะไรเพื่อสร้างตำนานในยุทธภพ ก็ทำไปสิ” เป็นข้อเตือนของ ปรมาจารย์รุ่นพ่อ “เรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องไม่รู้เรื่อง เถียงกันทำไม” ๔. มีผู้ใหญ่รุ่นพ่อ มีรุ่นพี่-รุ่นน้อง ผู้ใหญ่คอยปกปักษ์ดูแลอยู่ห่างๆ แม้เป็นห่วงก็ไม่โอบอุ้มประคับประคองทุกฝีก้าว แต่ปล่อยให้โต ปล่อยให้พลาดบ้าง ให้คำชี้แนะเป็นครั้งคราวที่เหมาะกับตน เช่น “คงต้องถึงตาพวกเจ้าจัดการแล้ว” ครูบอกศิษย์ ๕. มารยาทที่น่าทึ่ง แทบทุกคนรักษามารยาทในการไม่ปากโป้งเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น เช่น เราคนดูสงสัยว่า ใครๆ ก็รู้ว่าสองคนนี่พี่น้องกัน พี่ก็รู้ว่านี่เป็นน้อง ทำไมทุกคนไม่บอกให้น้องรู้นะ ปล่อยให้โง่ไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเอง แต่แล้วก็นึกได้ว่า ความลับของใคร เขาคนนั้นก็ควรจะเลือกเวลาและโอกาสที่จะเปิดเผยเอง เป็นการให้ความเคารพในการตัดสินใจของบุคคลเป็นอย่างยิ่ง ตัวละครตัวโปรด เรื่องนี้มีตัวละครเด่นหลายตัว เขาสร้างให้บุคลิกต่างกันได้ชัดเจน ต่างคนต่างมีตัวโปรด คุณชายมู่ กับ business policy และ meritocracy “พวกข้าตระกูลมู่ไม่ทำอยู่สามธุรกิจ ธุรกิจที่ทำร้ายผู้คน ธุรกิจที่ขาดทุน ธุรกิจที่ขนาดเล็กเกินไป” ดรุณผู้สืบทอดกิจการแสดงอุดมการณ์ หรือแก่นของกิจการของครอบครัวของเขาซึ่งเป็นเศรษฐีมหาศาล ของแคว้น ฟังเขาแล้ว นึกถึง ๒ เรื่องนี้ – ในธุรกิจลงทุนเงินของผู้อื่น หลายองค์กรก็มีรายชื่อธุรกิจที่ไม่ลงทุน เป็นรายชื่อที่แสดงจุดยืนขององค์กร เรียกกันว่า restricted list เช่น ไม่ลงทุนในธุรกิจน้ำเมา …

ศปร.: Enquiry Committee on Thai Financial Crisis of 1997 (II) ตอนจบ

ศปร. (ตอนที่ ๓/๔) มีนาคม ๒๕๔๑ เรียบเรียงรายงาน ประธานฯ คือคุณนุกูลฯ  เริ่มวางตัวคนเขียนหัวข้อต่างๆ   ทั้งด้านต่างประเทศ  ในประเทศ  เรื่องกองทุนฟื้นฟูฯ  และเรื่องธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ  (ซึ่งไม่ต้องการข้อเท็จจริง เพราะมีคณะทำงานอีกคณะหนึ่งกำลังศึกษาอยู่ แต่ของเราต้องวิเคราะห์ผลกระทบของวิธีที่ใช้แก้ปัญหา ต่อระบบการเงินของเรา)   และยังต้องเสนะแนะการปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เป็นรากฐานสำหรับการก้าวเดินต่อไปในอนาคตด้วย     คุณอมเรศ ศิลาอ่อน ส่ง ดร. รินใจฯ จากตลาดหลักทรัพย์  มาช่วยงานวิชาการ   ดิฉันมอบหมายให้พนักงาน กบข. ๒ คน ช่วยทำตารางต่างๆ   วันหนึ่งในเดือนมีนาคม คุณนุกูลฯ  ก็ส่งกระดาษลายมือเขียนของท่านหลายหน้ากระดาษ มาให้ในที่ประชุม    ดรุณีน้อยเลขาฯ ของดิฉันแกะลายมือตัวแบนราบของท่านออก แล้วพิมพ์ที่ท่านเขียนออกมาได้รู้เรื่อง     ถึงตอนนี้ พวกเราที่เหลือก็ไฟลนก้น  นี่คงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่รายงานเสร็จได้เร็ว  ก็ประธานฯ ลงมือแล้ว ที่เหลือจะแชเชือนได้อย่างไร   บทต่างๆ  ค่อยๆ ทยอยส่งให้กรรมการอ่าน  และปรับปรุงบ้างเมื่อได้ข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติม   วิธีการเขียนใช้สไตล์ที่ ดร. อัมมาร์เสนอ  คือแต่ละย่อหน้า มีหมายเลขกำกับ เพื่อง่ายต่อการแก้ไข และอ้างอิงทั้งเล่ม  ไม่ต้องบอกว่าจะพิจารณาแก้ไข  บทที่….​ หัวเรื่อง….. ย่อหน้าที่….​(ต้องนับเอา)…. แค่บอกว่าย่อหน้า ๒๔  ก็หาเจอแล้ว  เป็นการเรียบเรียงงานเขียนที่สะดวกมาก และเรื่องนี้กลับเป็นเรื่องสำคัญตอนงานจบ เพราะมีการนำไปพิมพ์เผยแพร่  ดิฉันเคยได้รับโทรศัพท์สอบถามว่า ย่อหน้าที่ ๗๙ ขึ้นต้นว่า ……​ ใช่ไหม ผู้ถามห่วงการสอดไส้   พอได้รับคำยืนยันว่าตรงกับตันฉบับ คนถามก็สบายใจ    ในภาคผนวก ดิฉันรวมรายชื่อผู้ช่วยงานไว้ทั้งหมด คำสั่งกระทรวงการคลัง รายชื่อตัวละครในตำแหน่ง และในช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง ผู้มาให้ข้อมูลความเห็นเรียงลำดับตามวันที่มาอย่างชัดเจน ไม่ให้เกิดข้อกังขา    และที่สำคัญคือ บันทึกภายใน ธปท. ฉบับหนึ่ง ตีตรา ด่วนมาก ลับที่สุด เรื่อง “การแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท”  ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐ อันเป็นช่วงคับขันที่สุดของประเทศไทย ก่อนจะเพลี่ยงพล้ำในเดือนมิถุนายน  (ยาวหลายหน้า  หาอ่านในรายงาน ศปร. เองเถอะค่ะ  ควรค่ากับการให้เวลาอ่านมากนะคะ)  บันทึกนี้ลับที่สุด ด่วนที่สุด ในเวลานั้น แต่ในเวลาที่ ศปร. พิจารณาเรื่องนี้ ตอนต้นปี ๒๕๔๑ ไม่มีอะไรลับ ไม่มีอะไรด่วนแล้ว กล้าเห็นแย้ง ในห้องประชุม ดิฉันนั่งติดกับ ดร. อัมมาร์ฯ  วันหนึ่งดิฉันขอแก้ข้อความ/สำนวน ที่ท่านผู้ว่าการฯ เขียนไว้แล้ว นอกรอบก่อนเริ่มประชุม  ท่านฟังแล้วพยักหน้าให้ดิฉันแก้ได้ตามที่เสนอ  ดร. อัมมาร์ฯ   แซวว่า “คุณกล้าต่อรองกับท่านด้วยหรือ”   “เป็นปกติค่ะ” ดิฉันตอบ “ตอนทำงานที่ธนาคารชาติก็แบบนี้ ท่านใจดี แต่ชอบทำเป็นคนดุ ดิฉันไม่กลัวเพราะท่านฟังเหตุผล”  ดิฉันนึกถึงสมัยเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับฯ ธนาคารพาณิชย์  ช่วงนั้น กำลังพิจารณาเรื่องเปิดสาขา  ผู้จัดการใหญ่ ธ.พ. แห่งหนึ่ง (เอ๊ะ หรือประธานธนาคารก็จำไม่ได้แล้ว) มาพบท่าน ด้วยเรื่องใดก็จำไม่ได้  ก่อนหน้านั้นท่านได้ฟังสรุปแล้วว่า ธนาคารนี้จะได้กี่สาขา  ท่านให้ดิฉันนั่งอยู่ด้วย (ผู้ใหญ่ใน ธปท.​สมัยนั้น เหมือนกันทุกคน ชอบให้มีพยานว่าไม่ได้ทำอะไรงุบงิบ)  ตอนหนึ่งท่านเอ่ยว่า ขอเปิดสาขามามากๆ  ผมให้เปิด 10:1  เลยนะ  (แปลว่าเปิดได้ ๑๑ สาขา อำเภอไม่มีสาขา …

ศปร.: Enquiry Committee on Thai Financial Crisis of 1997 (I)

ในช่วงปี 2540 เรื่อยมาระยะหนึ่ง ศปร. หมายถึง “คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.)” ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการเพื่อทำเรื่องในบางแง่มุมเพิ่มเติม เรียกด้วยชื่อเล่นว่า ศปร. ๒ ศปร. ๓ แต่อันที่ได้รับความสนใจกว้างขวางคือ ศปร. ชุดแรก ต่อไปนี้คือบันทึกความทรงจำเรื่องวิธีการทำงาน เผื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ในเรื่องอื่นๆ ศปร. (ตอนที่ ๑/ ๔) ธ.ค. ๒๕๔๐ กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ประเทศไทยประสบปัญหาการเงินที่หนักหนาสาหัส  ชาวไทยและชาวโลกให้สมญาว่าเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง  ในห้วงเวลาที่เกิดเหตุและนับเป็นเวลาหลายเดือนต่อมา ต่างคนต่างก็งุนงงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นมาใหญ่ขนาดเป็นสึนามิทางการเงินได้อย่างไร   (ต่อมามีวิกฤติทำนองเดียวกันในอเมริกา บ้านเราเรียกกันว่า Hamburger Crisis) ในด้านหนึ่งก็ฝ่าพายุกันไป  อีกด้านหนึ่งก็ต้องพยายามหาทางเข้าใจและคลี่คลายความฉงนสนเท่ห์อย่างเป็นระบบ แทนที่จะคาดเดากันไปหรือว่าวิพากย์วิจารณ์แบบต่างคนต่างมีฝ่ายอยู่ในใจ     เหตุผลในการตั้ง ศปร.   หลังจากที่รัฐมนตรีธารินทร์​ นิมมานเหมินท์ ได้ทาบทามและปรึกษาหารือ คุณนุกูล ประจวบเหมาะ ในฐานะที่ท่านเคยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นที่ยอมรับทั้งใน ธปท.และสาธารณชน แล้ว ได้ท่านมาเป็นประธานคณะกรรมการฯ  และได้ชุดกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย ที่จะทำหน้าที่แบบ enquiry committee  ครบแล้ว ก็ได้ออกคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๓๗๖/ ๒๕๔๐ ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2540 ตั้งคณะกรรมการชื่อยาวเหยียดขึ้นมาคณะหนึ่ง  คือ “คณะ กรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.)”   คำสั่งเกริ่นเหตุผลในการตั้งคณะกรรมการฯ ว่า   “ตามที่ได้เกิดสถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจอันมีผลกระทบต่อความมั่นใจในสถาบันการเงินและระบบการเงินของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมและผลประโยชน์ของประชาชนต้องถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงด้วยนั้น ข้อเท็จจริงในเหตุการณ์วิกฤตทางการเงินต่างๆ รวมทั้งข้อเท็จจริงกรณีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ใช้เงินเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินต่างๆ เป็นจำนวนมากและข้อเท็จจริงกรณีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้ลดลงอย่างมากและรวดเร็วสู่ระดับที่น่าวิตก จะได้รับการบันทึกให้ปรากฏด้านการตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารจัดการ หรือการปฎิบัติที่เกี่ยวข้อง  และมีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างเป็นระบบ มีการนำประสบการณ์และข้อคิดข้อผิดพลาดในกรณีดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดมาตรการเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีประสิทธิภาพมีความรับผิดชอบและมีความโปร่งใสยิ่งขึ้นในอนาคต  อันจะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับคืนสู่ระบบการเงินและสถาบันการเงินที่สำคัญของประเทศต่อไป” ตอนที่ รมต.​ ธารินทร์ โทรศัพท์มาขอให้ดิฉันเป็นเลขานุการคณะกรรมการชุดนี้ นอกจาก บอกว่าได้เรียนหารีอท่านผู้ว่าการนุกูลฯ   และเอ่ยรายชื่อคณะกรรมการมา ก็พูดประโยคสุดท้ายที่ดิฉันปฏิเสธไม่ได้   “ช่วยหน่อยนะ นึกว่าช่วยธนาคารชาติ”  พร้อมเหตุผลประกอบว่า  “คุณเป็นคนที่เคยอยู่ฝ่ายการธนาคาร รู้เรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศดี   เป็นผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ คนแรก  และตอนนี้อยู่นอกธนาคารชาติ  คงหาใครที่มีคุณสมบัติแบบคุณไม่ได้”  ดิฉันรับโดยเงื่อนไขเพียงข้อเดียวคือ “สิ่งที่ศึกษากันคราวนี้ ขอให้เปิดเป็นสาธารณะในวันหนึ่งข้างหน้า อย่าให้เก็บเงียบเป็นเอกสารลับตลอดกาลในสุสานเอกสาร”   ท่านรัฐมนตรีฯ รับปาก  ดิฉันเดินไปรับงานนี้ทั้งๆ ที่เพิ่งเป็นเลขาธิการ กบข. ได้ ๖ เดือน งานกำลังยุ่งมาก และคนก็น้อย  คนที่ไปช่วยดิฉันได้จริงจังมีคนเดียวคือ เลขานุการของดิฉัน เธอเป็นดรุณีเยาว์วัย เพิ่งเริ่มงานแรกที่ กบข.​นี่เอง หลังจากจบการศึกษาระดับอุดมศึกษามา   ท่าทีของคณะกรรมการ  คำสั่งที่ ๓๗๖/ ๒๕๔๐ ระบุเจตนาว่า   เป็นคณะกรรมการ “เพื่อวิเคราะห์ต้นเหตุที่นำไปสู่สถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจและการเงิน และวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว  ทั้งนี้ ให้วิเคราะห์ถึงข้อบกพร่อง ความผิดพลาด และความล่าช้าในการใช้มาตรการต่างๆ ของทางราชการ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเงินของประเทศ และเสนอแนะมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง” หนังสือคำสั่งระบุหน้าที่และผลที่ต้องการไว้ ๖ ข้อ และข้อ ๗ เจาะจงว่าต้องการให้ “ตรวจสอบและวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และการบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้ครอบคลุมทั้งหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการตัดสินใจเชิงนโยบาย และการบริหารจัดการ หรือการปฎิบัติหน้าที่และการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องว่า การกระทำดังกล่าวเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่เพียงใด”  นอกจากนี้ก็ให้อำนาจในการเรียกข้อมูลเอกสารต่างๆ และเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำได้  โดยจะแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มก็ได้ และขอให้ทำเสร็จโดยเร็ว สิ่งที่คณะกรรมการ ศปร.  ไม่เป็น คือไม่เป็นแบบในภาพประกอบนี้ เพราะ การประชุม ไม่ใช่การทำงาน ไล่เรียงจากเรื่องสุดท้ายกลับขึ้นไป  คือ – ท่าน …

คุณนุกูล ประจวบเหมาะ  ๒๔๗๒ – ๒๕๖๖ 

เป็นบทความที่เขียนไว้ใน facebook ชื่อ Knowledge Plus by นวพร รวม ๓ ตอนด้วยกัน ในวันที่ 2023 02 07  วันที่ 11 และวันที่ 13 โดยวันที่ 7 เล่าถึงวันที่ท่านอำลาธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 11 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับงานของท่านที่ดิฉันได้มีโอกาสได้ทำงานหรือมีประสบการณ์ตรงกับท่าน และวันที่ 13 เป็นภูมิหล้งภาวะเศรษฐกิจ เพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจความยากลำบากของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินในช่วงเวลานั้น ขอนำมารวมไว้ในที่นี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณนุกูล ประจวบเหมาะ ท่านผู้ว่าการของพนักงานในธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการธปท. ๑ พ.ย. ๒๕๒๒ – ๑๓ ก.ย. ๒๕๒๗ (1979 – 1984) สำหรับคนเคยทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเวลาที่คุณนุกูลเป็นผู้ว่าการ คงจำได้ว่า ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ลำบากของประเทศไทย มีเหตุการณ์ที่ลืมไม่ลงหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนทำงานอยู่ฝ่ายไหนในธนาคารชาติ แต่ที่คงไม่ลืมคือวันที่ท่านผู้ว่าการนุกูลฯ อำลาธนาคารแห่งประเทศไทย วันนั้น หลังจากธนาคารปิดบริการ (คือหลังบ่ายสามโมงครึ่ง) พนักงานตัวเล็กๆ จำนวนมาก ออกันอยู่ตรงโถงกลาง ท่านผู้ว่าการกล่าวคำอำลาพนักงาน ท่านเป็นคนพูดสั้น กล่าวสั้นๆ แต่พนักงานยังไม่ยอมกลับ ท่านผู้ว่าการเองท่านก็ไม่ใช่คนช่างคุย บรรยากาศเงียบๆ เศร้าๆ มันเป็นวันแห่งความทรงจำ แต่จะทำอย่างไรดี ให้หายเงียบ หายเศร้า   ดิฉันนึกวิธีคลายความเศร้าได้โดยกระทันหัน   ดิฉันหยิบธนบัตรใบละ ๒๐ บาท ที่มีลายเซ็นของท่านออกมา ๑ ใบ แล้วก้าวเข้าไปหาท่าน ขอให้ท่านเซ็นเคียงลงไปกับลายเซ็นตัวพิมพ์   ท่านผู้ว่าการใช้ปากกาหมึกสีเขียวเซ็นให้ แล้วพยักงานอื่นๆ ก็ทำบ้าง ท่านก็เลยปักหลักนั่งเซ็นธนบัตรอยู่ตรงโต๊ะที่ปกติเป็นที่นั่งของพนักงานต้อนรับในห้องโถงกลางนั่นเอง แต่ละคนได้มีโอกาสใกล้ชิดท่าน ได้กล่าวคำขอบคุณหรืออำลาเป็นการส่วนตัว ได้ไหว้ท่านตรงตัวเป็นส่วนตัว   บรรยายกาศกลายจากความเคร่งขรึมปนเศร้า เป็นสนุกสนาน ดิฉันตั้งใจจะเก็บธนบัตรนั้นไว้เป็นสิ่งสะสมอันมีค่า เพราะมีค่าทั้งเป็นลายเซ็นจริง และมีค่าเพราะคนเซ็นเป็นบุคคลมีค่า แต่เก็บดีเกินไป จนทุกวันนี้ก็ยังหาไม่เจอ  เพื่อนๆ พนักงาน ธปท. สมัยนั้น ใครยังมีธนบัตรแบบที่ดิฉันเล่า อยู่บ้างคะ นำมาอวดกันหน่อยสิคะ คุณนุกูล ประจวบเหมาะ  หนึ่งใน “ผู้ใหญ่”  ที่น่าเคารพ แทบตลอดชีวิตการทำงานของดิฉัน  เส้นทางของงานพาดผ่านท่านผู้ว่าการนุกูล เป็นระยะๆ ครั้งละนิดครั้งละหน่อยเรื่อยมา   เป็นการผ่านพบกัน โดยที่ไม่เคยมีความสนิทชิดเชื้อเป็นการส่วนตัวเลย แต่ดิฉันจะรู้สึกเหมือนคุ้นเคยมาก       คงเป็นดังที่ฝรั่งว่าไว้   “ในโรงเรียน เราเรียนบทเรียนแล้วก็ทำข้อสอบ     ในชีวิตจริง เราได้รับบททดสอบ ที่สอนบทเรียนให้เรา”  ในระหว่างทางเดินของชีวิต ​ทุกคนไม่จำเป็นต้องแสวงหาหรือรอรับบทเรียนจากบททดสอบโดยตรงเสมอไป  เราอาจจะเรียนจากประสบการณ์ของคนอื่นได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรียนจากคนที่กำลังได้รับบททดสอบ โดยเราเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์   ความสำคัญอยู่ที่ว่าเรา “เห็น”  และ “รับ” สิ่งที่เห็นมาเป็นบทเรียนหรือไม่   คุณนุกูลคงได้เห็นชื่อดิฉันผ่านตา ตั้งแต่สมัยท่านเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี    ดิฉันเป็น นักเรียนทุนธนาคารแห่งประเทศไทย  ได้รับทุนไปเรียนระดับปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา   ก.พ. เป็นผู้ดูแลโดยตรง แต่ที่ปรึกษาฯ เป็นตัวแทนของกระทรวงการคลัง และติดต่องานกับธนาคารชาติด้วย เป็นเสมือน “ผู้ปกครอง” ของนักเรียนทุนธนาคารชาติอีกคนหนึ่ง       ดิฉันได้เห็นคุณนุกูลครั้งแรก สมัยท่านเป็นรองอธิบดีกรมทางหลวง  น่าจะเป็นดิฉันที่รู้จักและจำได้ฝ่ายเดียว     ตอนนั้น ดร. ป๋วย  อึ๋งภากรณ์​ ผู้ว่าการฯ พาฝรั่งที่มาช่วยงานที่ธนาคารชาติ ไปเชียงใหม่   ดิฉันตามไป “ดูแล”   …