A Theory on Thai Leadership Style: ศ. ดร. เจตนาฯ: ผู้นำระนาดทุ้ม
ตำราของตะวันตกนำเสนอรูปแบบของการนำและความเป็นผู้นำ (leadership style) หลายแบบ แล้วแต่จะกำหนดคำจำกัดความขึ้นมาจากการศึกษาสถานการณ์จริง การเป็น “ผู้นำ” แบบหนึ่งที่เราคนไทยคุ้นเคย คือ “ผู้นำระนาดทุ้ม” หรือ “วัฒนธรรมระนาดทุ้ม” ที่ ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ สังเกตและสังเคราะห์มาจากการศึกษาและรู้ซึ้งในวัฒนธรรมของไทยเรา และนำเสนอเป็นทฤษฎีหลายปีมาแล้ว** แทนการพยายามบังคับจัดการเอาการนำแบบไทยลงไปอัดใส่ลงในทฤษฎีแบบตะวันตก วัฒนธรรมการนำแบบไทยๆ แบบนี้ อาจารย์เจตนาฯ เรียกว่า วัฒนธรรมระนาดทุ้ม มันแฝงฝังอยู่ในวัฒนธรรมแบบไทยๆ ของเราในหลายแง่หลายด้าน “วัฒนธรรมระนาดทุ้มกับสุนทรีย์แห่งการสงวนอารมณ์ คงจะถือกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน” อาจารย์เจตนา สรุป ทฤษฎี “วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมระนาดทุ้ม คนมีฝีมือจะไม่แสดงตัวว่าโดดเด่น คนที่จะโดดเด่นคือลูกศิษย์เอกของฉัน ฉันให้ลูกศิษย์เอกของฉันออกหน้า ผู้นำไม่ชอบที่จะแสดงตัวออกมาให้โดดเด่น คุณภาพและความสามารถที่แท้จริงมักจะไปอยู่ด้านหลัง ผู้นำเป็นผู้นำที่แอบแฝงก็ได้” วิธีการนำแบบนายวงเป็นผู้เล่นระนาดทุ้ม ทำให้ “คนทั่วไปจะมี โอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้อยู่ในแวดวงของผู้คนที่มีใจสูงพร้อมจะให้โอกาสผู้อื่นและยอมรับว่ามีความแตกต่างจากตนเอง” ผู้นำที่ดีในกรณีเหล่านี้ คือ “ผู้เปิดโอกาส และคอยประคับประคอง” ขยายความ วงดนตรีไทยนั้นแต่เดิมมา ครูปล่อยให้ศิษย์เอกแสดงฝีไม้ลายมือเต็มที่อย่างโดดเด่นด้วยระนาดเอก ซึ่งจะเล่นทำนองหลัก ส่วนทางของระนาดทุ้ม เป็นทางของผู้เล่นที่ดูประหนึ่งจะทำตัวเป็นมือรอง ระนาดทุ้มหลบตัวออกไปอยู่เบื้องหลัง เล่นลูกล้อ ลูกขัด บางทีก็สนทนากับระนาดเอก บางครั้งทำตัวราวกับเป็นจำอวดประจำวง แต่ถ้าวงกำลังสะดุด เขาจะมีวิธีที่เรียกว่าจิกลงไปให้กลับมาหาจังหวะให้ได้ นั่นแหละคือคนคุมวง ในขนบดั้งเดิม ระนาดทุ้มเป็นทั้งหัวหน้าวง (concert master) และวาทยากร (conductor) ไปพร้อมกัน โดยที่ครูเจ้าสำนักมักจะคุมวงจากระนาดทุ้มรางนี้ คนไม่รู้ก็ไม่รู้ คนที่รู้ก็รู้เองว่าใครกันแน่คือผู้คุมวง วัฒนธรรมการนำแบบไทยๆ เช่นนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเรื่องการเล่นดนตรีปี่พาทย์เท่านั้น แต่ยังใช้อธิบายการนำทางการเมือง การทำงานในสำนักงาน และในกิจกรรมต่างๆ ได้อีกด้วย เป็นวัฒนธรรมการนำที่ถ้าไม่สังเกต ก็มองไม่ออก เมื่อฝรั่งฟังดนตรีไทย หรือคนไทยที่คุ้นกับดนตรีฝรั่ง อาจจะงงมากกว่านักดนตรีทำอะไรกันแน่ ดูเหมือนต่างคนต่างเล่นไปกันคนละทางสองทาง หาระเบีบบแบบแผนไม่ได้ หัดก็ยาก (การเรียนดนตรีไทยระดับสูง เขาไม่เรียน แต่เขา “ต่อ” เพลง) แท้จริงคนเล่นดนตรีไทย ต่างคนต่างก็เก่งในเครื่องดนตรีที่ตนใช้ และต่างก็มีทางของตน ในการเล่นดนตรีไทยเป็นวง คนเล่นต่างคนต่างมีอิสระในการเล่นของตน แต่อยู่ในกรอบที่เข้าใจกัน คืออยู่ในวงเดียวกัน เล่นเพลงเดียวกันและระหว่างเล่นก็ต้องฟังกันและกันให้ออก และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีคำวิจารณ์เป็นข้อเสียว่า คนไทยไร้ระเบียบวินัย เอาแต่เล่น แต่ถ้าเราเข้าใจวัฒนธรรมไทยของเราและไม่ติเตียนจากสายตาแบบฝรั่ง เราคงหาวิธีฝึกคนให้เป็นยอดฝีมือในด้านของเขา เมื่อกำหนดเป้าหมายของงาน และสไตล์ของงานได้แล้ว เมื่อต้องลงมือทำงานด้วยกัน และตั้งใจทำ งานสำเร็จลงได้ดีเหนือความคาดหมายโดยไม่ต้องกำกับมากมายทุกฝีก้าว เรื่องแบบนี้ ผิดกับดนตรีฝรั่งวงใหญ่ ที่ผู้ดูจะเห็นวาทยากรเด่นอยู่หน้าเวที คอยกำกับวง ชี้ให้กลุ่มนี้เล่น กลุ่มโน้นเล่น เล่นดัง เล่นค่อย เล่นช้า เล่นเร็ว นักดนตรีต้องเล่นตามโน้ตเพลงที่กางกำกับอยู่ตรงหน้า และต้องเล่นตามลีลาที่วาทยากรนำ อาจารย์เจตนาฯ สรุปการนำวงแบบมีวาทยากรว่า “นั่นคือวิธีคิดที่ทำให้ยอมรับความเป็นใหญ่ ความเป็นผู้นำของคน” เพราะเขาคนนั้นขึ้นมายืนวาดไม้อยู่ตรงหน้า เมื่อวัฒนธรรมไทยปะทะกับวัฒนธรรมตะวันตก อ. เจตนาเตือนว่า “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ที่สังคมส่วนหนึ่งของเราถูกครอบด้วยการโฆษณา (ชวนเชื่อ) อันมีเทคโนโลยีเป็นตัวสนอง โดยใช้ความพริ้งเพริศเลิศหรูของระบบประชาสัมพันธ์สมัยใหม่ (PR) เข้ามาเสริม ดูจะเป็นการสร้างความเด่นดังในระดับบุคคล ซึ่งในบางครั้งก็เป็นการ “สร้างภาพ” เสียมากกว่า” อาจจะทำให้เราหลงติดใจในระนาดเอก จนระนาดทุ้มสูญเสียเอกลักษณ์และวิ่งไล่ตามระนาดเอกไป ที่จำนวนมากอาจจะเป็นระนาดเอกกำมะลอ หรือเป็นระนาดเอกประเภท “ลิปซิงก์” ก็ได้ เมื่อดิฉันหวนกลับมาวิเคราะห์งานที่ตัวเองทำตลอดเวลาที่เป็นผู้นำองค์กร โดยนำทฤษฎีนี้มาจับ ก็พบว่า “เออ แฮะ เราก็พึงใจในวัฒนธรรมระนาดทุ้มนี่แหละ” ด้วยความที่ไม่ชอบดัง ไม่ชอบเด่น จะบอกฝ่ายงานด้านสมาชิกสัมพันธ์ …