All posts filed under: Religion, Culture, and Leisure

India travel note: ขอมาก็ขอไป

อย่าปลงใจเชื่อโดยไม่ทบทวนไตร่ตรอง ใครที่ไปอินเดียแถวพิหาร (คือมคธ สมัยโบราณ) เพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน มักบอกต่อๆ กันว่า ระวังคนรุมขอเงิน ยิ่งให้ยิ่งรุม ไปครั้งแรก ปี พ.ศ.​๒๕๔๕ ไปครั้งหลังๆ เรื่องแบบนี้ค่อยๆ น้อยลง แต่ก็ยังมี สำหรับดิฉันหลังจากผ่านพ้นการเดินทางครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อๆ ไปเมื่อไปพุทธคยาอีก ดิฉันมีอุบายในการจัดการกับเรื่องการขอเงิน วิธีแก้ปัญหา เกิดมาจากการไตร่ตรอง หยิบกาลามสูตร ๑๐ บางข้อ มาประยุกต์เพื่อกำหนดทัศนคติของตนเอง ๑. อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน Be not led by inference ๒. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล Be not led by considering possibilities ๓. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ Be not led by seeming appearances ทั้งหมดนี้ช่วยลดนิสัยด่วนสรุปของตนเอง ให้สรุปช้าๆ ลงหน่อย ดิฉันคิดใหม่ว่า ๑. คนขอไม่ใช่ขอทาน ขอได้ก็ได้ ขอไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต (ดูได้จากเขารุมขอแต่นักท่องเที่ยวไทย ไม่เห็นไปรุมญี่ปุ่นหรือฝรั่ง) ๒. แขกมีนิสัยเซ้าซี้ เหมือนกับคนไทยมีนิสัย…. (เลือกเติมเอาเองค่ะ) ๓. ชอบรุม ไม่ว่ารุมดู รุมขาย รุมขอ (ก็คนมันแยะ และความสนใจใคร่รู้มีสูง) ภาพต่อไปนี้ ท่านอาจารย์วัดไทยพุทธคยาอธิบายอาทิตตปริยายสูตร ณ สถานที่ (ภาพ ๑) มีเด็กๆ อินเดียที่เล่นอยู่แถวนั้น มานั่งเรียบร้อยอยู่ใกล้ๆ (ภาพ ๒) ภาพนี้ ณ​ สถานที่ที่คนขับรถพามา เดาว่าเป็นหนึ่งในสัตตมหาสถานสมัยพุทธกาล ชนบทงดงาม เป็นหมู่บ้านของผู้นับถือศาสนาฮินดูแบบในอินเดียทั่วไป เด็กน้อยวิ่งตามมาดูอย่างอยากรู้อยากเห็น พอบอกให้เขารวมกลุ่มกัน จะถ่ายภาพให้ดู จึงได้ภาพนี้มา เด็กหญิงคนกลางมีแววจะเป็นสาวสวย ต่อไปนี้คือเรื่องสนุกๆ บางเรื่อง ๑. ขอค่าเปิดประตูวัด หลังงจากการเดินทางกับกลุ่มครั้งแรก ประมาณสองปีต่อมา ก็ไปอินเดียกับเพื่อนหนึ่งคน เราพักที่วัดไทยพุทธคยา เดินไปนั่งสมาธิที่ใต้ต้นโพธิ์ได้ทุกวัน วันหนึ่งจะเดินกลับวัด เด็กชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งยืนโหนประตูอยู่ เขากั้นทางไว้ “ค่าเข้าวัด ๑๐ รูปี” เพื่อนขำกี๊ก “อะไรกัน จะคิดค่าเปิดประตู ฉลาดมากไปหน่อยแล้วมั๊ง ประตูวัดแท้ๆ ไม่ใช่ประตูของเธอสักหน่อย” แล้วเธอก็สำทับต่อ “นี่ ฉันอยู่ในนี้นะ” เธอพูดภาษาไทยทั้งหมด แต่เด็กชายกระมิดกระเมี้ยนเปิดประตูให้โดยดี ไม่เข้าใจภาษาหรอก แต่รู้โดยท่าทางว่าแบบนี้ไม่ได้เงินแน่ ๒. รุมขาย วันรุ่งขึ้น เราอยากไปวัดป่าแต่ไม่รู้ทาง ก็เลยรับอาสาเป็นลูกศิษย์เดินตามพระที่จะออกไปบิณฑบาต ท่านบอกว่าท่านจะแวะไปที่นั่นก่อนกลับวัดไทยพุทธคยา เราใส่บาตรท่านนอกประตูวัด ตั้งใจโชว์คนอินเดีย พอเราใส่บาตรเสร็จ เด็กน้อยหลายคนก็เริ่มมารุมขายดอกบัวสายที่เขาถืออยู่คนละกำให้เพื่อนที่ไปด้วยกัน เห็นหน้าเพื่อนเหมือนลอยอยู่ท่ามกลางดอกบัวของพ่อค้าแม่ค้าตัวน้อยๆ “ดีที่ฉันตัวสูง ถ้าเป็นเธอ คงจมมิดอยู่ในดอกบัว” เพื่อนพูดขำ ดิฉันไม่โดนรุมเพราะใส่ชุดปัญจาบ แล้วทำเป็นไม่ใช่พวกเดียวกัน (ทิ้งเพื่อน) เด็กน้อยพยายามอยู่พักใหญ่ พอสรุปได้ว่าสตรีคนนี้ไม่ซื้อดอกบัวแน่แล้ว เขาก็นำดอกบัวไปใส่บาตร ต่างคนต่างใส่จนพูนฝาบาตร น่าจะคิดได้ว่ากุศโลบายใส่บาตรริมทางได้ผล หลวงพ่อท่านยิ้มๆ อนุโมทนาให้เด็ก ส่วนเพื่อนก็ตั้งหัวข้อปุจฉาว่า “ดอกบัวมาจากไหนไม่รู้” แล้วก็วิสัชนาเองว่า “แต่คงไม่ได้ซื้อมาขาย” เพราะคิดแบบไทยๆ ว่า ถ้ามีคนนำดอกบัวมาให้เด็กขาย เด็กก็ต้องพยายามขาย แต่ที่นี่เขาคงเก็บมาเอง ดังนั้นดอกบัวไม่มีต้นทุน ขายได้ก็ได้เงิน สนุกขึ้นมาก็ใส่บาตรแบบเรา ใส่แล้วก็ไปวิ่งเล่นกันเฉยเลย ไม่กลับมาวอแวอีก ๓. ขอทุนการศึกษา อีกวันหนึ่งเรานั่งสามล้อไปวัดไทยเนรัญชรา ระหว่างที่ดูสถูปที่ระลึกถึงนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสต่อพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้ เด็กผู้ชายวัยรุ่น ตัวสูง ๒ คนมาเดินประกบ คนหนึ่งพูด อีกคนหนึ่งเดินตามเงียบๆ ภาพสถูปนางสุชาดา และภูมิทัศน์โดยรอบ ภาพนี้ถ่ายปี พ.ศ. …

Solar Boat Addict: (นิราศ)คลองภาษีเจริญ

Sol Solar เรือไฟฟ้าของเรา นั่งเรือไฟฟ้าเที่ยวคลองครั้งแรกเมื่อปลายปี ๒๕๖๔ ติดใจความเรียบเรื่อยของชีวิตริมน้ำ (ช่วงที่ยังไม่ปลอดจากโควิด-๑๙ ดี)  ไปเรือได้อากาศเปิด เป็น social distancing ที่ดี  ริมคลองร่มรื่นด้วยเงาไม้  คุยเรื่องธุระการงานกันได้ในความสงบ เพราะเป็นเรือใช้ไฟฟ้า ๑๐๐%  นั่งฟังความฝันของเจ้าของเรือที่อยากแปลงเรือไม้โบราณอีกหลายๆ ลำให้เป็นเรือไฟฟ้าแล้ว  พวกเราที่ไปประชุมผสมท่องเที่ยว  ก็ปรารภว่า เราน่าจะร่วมทุนกันให้เกิดเรือแบบนี้ขึ้นอีกสักลำ-สองลำไหม  ไหนๆ ก็อยากประหยัดพลังงาน อยากลดโลกร้อน  ก็ไม่ควรดีแต่พูดไปวันๆ  หรือรอให้คนอื่น (ใครล่ะ) ทำ  ควรมีส่วนลงมือทำ “อะไร”  เพื่อเป้าหมายนั้นด้วย ถ้ากิจการไปได้ดี คนอื่นเขาก็คงคิดแปลงเรือใช้น้ำมันเป็นเรือใช้ไฟจากฟ้ากันเองนั่นแหละ      เพื่อนร่วมเรือเที่ยววันนั้นมีอารมณ์  “ฉันด้วย ฉันด้วย”  โดยที่แต่ละคนมีเงินจากการทำงานกินเงินเดือน แต่ไม่มีเวลาทำอื่น และไม่มีความรู้อันใดเกี่ยวกับเรือเลยแม้แต่น้อย  มีแต่คุณใต้  เจ้าของเรือ (ซึ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่งของเพื่อนอีกคนหนึ่ง) เท่านั้น ที่รู้เรื่องเรือจริงจัง   พอได้เรือโบราณมาแล้ว ก็ส่งไปปรับสภาพ เปลี่ยนไม้ผุ เปลี่ยนเครื่องยนต์จากเครื่องใช้น้ำมันเป็นเครื่องใช้พลังงานไฟฟ้า  คุณใต้ทำอยู่คนเดียว    จากวันนั้นมาถึงวันนี้ “เรือของเรา”  เสร็จเรียบร้อย ได้ร่วมงานแห่พระพุทธรูป เทศกาลเข้าพรรษาของคลองบางหลวง  ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่เปิดตัวเรือลำนี้ และมีเรือไฟฟ้าอีกสองลำ ร่วมขบวนด้วย           การแปลงเรือใช้น้ำมันเป็นเรือไฟฟ้าเป็นผลงานความคิดของอาจารย์ท่านหนึ่ง และมีผู้นำไปทำเรือไฟฟ้าลำแรก และเพื่อนใต้ของเราขยายต่อเป็นลำที่ ๒ และที่ ๓   เรือของเราเป็นเรือเช่าเหมาลำ เหมาครึ่งวันก็ได้ เต็มวันก็ได้   เรายังไม่ได้ทำการตลาดจริงจัง แต่ก็ได้ลูกค้ามาเรื่อยๆ จากการเล่าขานผ่านลูกค้าที่ใช้บริการรุ่นแรกๆ    ขอบคุณมากค่ะ   ชีวิตริมน้ำสุขสันต์ และพวกเรานักลงทุนมีเรือแบบสมัครเล่น แต่ลงเงินจริงๆ  ก็สุขใจที่ผู้อยากเที่ยวคลอง ได้ชมความสุขของบ้านริมคลองแบบที่ไม่ได้เอาเสียงบรื๋อๆ  และคลื่นกระทบตลิ่งจนเรือนไหว ไปรบกวน ทำให้ความสุขของคนริมน้ำหายไป รับเรือจากคานเรือที่กระทุ่มแบน ตามเจ้าของและผู้ขับเรือ  ไปรับเรือจากคานซ่อมเรือที่กระทุ่มแบน     ได้เห็นเรือ “ขึ้นคาน” เป็นครั้งแรก ณ คานเรือเดียวที่เหลืออยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร คนทำหน้าที่ขับเรือ เสนอแนะผู้โดยสารเพียงคนเดียวในเรือให้แต่งนิราศคลองภาษีเจริญ   ไม่รอดจ้า  ตกน้ำแล้วว่ายมาเกาะเรือยังมีโอกาสรอดมากกว่าแต่งกวีนิพนธ์หวานหยดย้อยแบบนิราศ ที่บันทึกลงไว้นี้ เป็นการพรรณาปัจจุบัน (ด้วยภาพ)  ไปสู่อดีตของคลองบางขุนเทียน (ตามบันทึกในอดีต)    จะเป็นนิราศก็ตรงที่เป็นการเห็นปัจจุบันของคลองภาษีเจริญ แล้วครุ่นคำนึงถึงความเป็นมาของคลองใน อดีต ถือว่าเป็นญาติห่างๆ กับนิราศก็แล้วกัน นิราศ   ๑.  คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ที่ต้องลื่นไหลและรื่นหู  ๒.  เป็น  “เรื่องราวที่พรรณนาถึงการจากกันหรือจากที่อยู่ไปในที่ต่างๆ”   เรือลำโต ใหม่เอี่ยม ลอยลำเงียบๆ ไปตามลำน้ำที่สงบนิ่ง  คลองเส้นนี้ ในปัจจุบันมีถนนเพชรเกษมแล่นคู่ขนาน  ๓  “นิราศ” ในพจนานุกรมแปลว่า “ไปจาก” “ระเหระหน”    นิราศนรินทร์ อาจจะหมายถึงโคลงพรรณาการ “ไปจาก”  ที่อยู่ของนายนรินทรธิเบศ (อิน)   ส่วนนิราศภูเขาทอง นิราศหริภุญชัย นิราศท่าดินแดง  เป็นการ “ไปจาก”นาง (ในจินตนาการ)  “ไปจาก”บ้าน  หรือ “จากไป”สู่สถานที่ต่างๆ ที่กล่าวถึงนั้น ล่องคลองภาษีเจริญ ออกจากอู่ซ่อมเรือก็แล่นเรื่อยไปตามคลอง ที่มีสะพานโค้งแบบนี้อยู่หลายแห่ง สวยบ้าง ผุจวนพังบ้าง ทำด้วยวัสดุและมีแบบหลากหลาย ถ้าสวยได้แบบสะพานข้ามแม่น้ำในต่างประเทศ น่าจะดึงดูดตากล้องและคนชอบถ่ายภาพวิวสวยๆ ได้อีกมากทีเดียว เรือลำโต ใหม่เอี่ยม ลอยลำเงียบๆ ไปตามลำน้ำที่สงบนิ่ง  คลองเส้นนี้ ในปัจจุบันมีถนนเพชรเกษมแล่นคู่ขนาน  คลองภาษีเจริญ เกิดจากพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม ) เจ้าภาษีฝิ่นและเจ้าของกิจการโรงจักรหีบอ้อยที่บ้านดอนไก่ดี (ดอนกะฎี) ริมแม่น้ำนครชัยศรี ได้กราบบังคมทูล …

ตลาดน้อย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต  

ตลาดน้อยวันนี้  20 02 2022   งานสัปดาห์ออกแบบงานจัดที่อาคารกรมไปรษณีย์กลาง บางรัก ซึ่งเป็นสำนักงานขององค์กรมหาชนด้านส่งเสริมงานออกแบบ และมีต่อขยายไปโดยรอบย่านเจริญกรุง เลยไปถึงตลาดน้อยซึ่งพยายามจะจุดให้ติดว่าเป็นย่านประวัติศาสตร์ + ย่านศิลปะ หลานนัดพบที่วงเวียนตลาดน้อย​  ป้างง  “ตลาดน้อยมีวงเวียนด้วยเหรอ”    ในใจนึกถึงวงเวียนปลายถนนทรงวาด แต่คิดว่าไม่น่าจะใช่  หลานบอกว่า  “ที่ไหนๆก็ต้องมีวงเวียน” “ตามนั้น  เดี๋ยวไปเดินดู”  ในใจรู้ว่านัดแล้วคลาดเคลื่อนไม่เป็นไร สมัยนี้มีมือถือตามตัวกันไม่ยาก  เริ่มต้นที่ซอยวานิช ๒ ด้านติดกับริเวอร์ซิตี้  มี graffiti บนกำแพงตึกแถว  ให้บรรยากาศ “งานศิลป์ ณ ถนน” ยุคนี้  เข้าไปไม่กี่สิบเมตรกับถนนแคบวันเวย์เห็นไฟตกแต่งริมกำแพงวัดแม่พระลูกประคำ   พอให้ได้อารมณ์ว่า “ตรงนี้มีงานจ้า” ผ่านวัดแม่พระลูกประคำ  และโรงเรียนกุหลาบวิทยาของวัดยามให้เข้าก็เลยเดินไปถ่ายรูปโบสถ์เอาไว้หน่อย  สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางค้าขายมาแต่ยุคก่อนบางกอกจะเป็นกรุงเทพมหานครฯ  ผู้มาค้าขายลอยเรือในแม่น้ำสองฟากฝั่งเป็นที่อยู่อาศัยและร้านค้า    สถานทูตก็อยู่ริมแม่น้ำ  ตอนนี้ยังเหลือสองแห่งคือสถานทูตโปรตุเกสกับฝรั่งเศส  แต่โบสถ์ไม่ย้ายไปไหนมีโบสถ์ซังตาครูซ  ฝั่งธนฯตรงย่านกุฎีจีนเหนือสะพานพุทธฯ  ส่วนทางใต้ลงไปจากวัดแม่พระลูกประคำใกล้กับโรงแรมโอเรียนเต็ลคือโบสถ์อัสสัมชัญของมิชชั่นฝรั่งเศส ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย   “ปิดทำการแล้วครับ” ยามบอก นึกในใจ ‘ไม่เป็นไรเคยมาแล้วตอนธนาคารมีงาน’  กรมเจ้าท่า กรมเจ้าท่าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดน้อย ได้วิวหรูหราราคาแพงเต็มตา ในพื้นที่ที่สงบเงียบเรียบง่าย สบายราวกับพื้นที่ส่วนตัว ในยุคการค้าทางเรือเป็นการค้าที่สำคัญ และสมัยที่ยังไม่มีท่าเรือคลองเตย กรมเจ้าท่ามีบทบาทมาก น่าเสียดายสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชม ถ้ามีประวัติศาสตร์ ณ พื้นที่มากกว่านี้ คงได้ความรู้ติดตัวกลับไปด้วย นอกจากที่ได้อาหารตา​ สำหรับคนที่อยากรู้จริงจังคงไม่กระไรนัก เพราะนั่งเคาะหาในอินเทอร์เน็ตได้ แต่คนที่ผ่านมานั่นแหละ ที่ขาดความรู้ผ่านตา เจอแล้ววงเวียนตลาดน้อยอยู่ตรงนี้เอง   หลานตามมาสมทบพอดีสองคนป้าหลานก็เลยเดินต่อไปแวะชมอาคารเก่า ชมโน่นชมนี่ไปตามทางแล้วเลี้ยวเข้าซอยที่เขาบอกว่าเป็น arts street     ริมกำแพงด้านหนึ่งเป็นนิทรรศการภาพถ่าย  เราเห็นภาพวาดบนผนังนิดๆหน่อยๆและม้านั่งหน้าตาสร้างสรรค์ไม่รู้เป็นงานแสดงหรือว่าเป็นการจัดวางของร้านอาหารตรงนั้น  ซึ่งเป็นของคนต่างถิ่น  ป้านักวิจารณ์อดเทียบกับภาพถ่ายที่เห็นทุกครั้งที่ไปปารีสตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้างในสองเรื่องคือ ๑. สถานที่ตั้งแสดงคือบนรั้วสวนสาธารณะด้านที่คนเดินผ่าน  ก็คนแสดงภาพน่าจะอยากให้มีคนดูมากๆ   ๒. ทุกครั้งมีแนวเรื่องและมีผู้เป็นเจ้าภาพที่จำได้ก็เช่นเรื่องคนกับงานขององค์การ ILO ของสหประชาชาติ   และของชมรมถ่ายภาพของเมือง… เป็นการเปิดการมีส่วนร่วมขององค์กรชมรมคลับต่างๆ  เพื่อกระตุ้นความสนใจลงไประดับพื้นที่  ไม่ใช่งาน “แห่งชาติ”   ระหว่างทางมีเพื่อนร่วมเส้นทางกันคือคนกรุงต่างถิ่นที่มาเที่ยวงานส่วนมากเจอชุดสีดำทั้งตัวหนาตาเขาคือเหล่าศิลปินฝึกหัดจากมหาวิทยาลัยศิลปากร   ส่วนคนอื่นคือชาวตลาดน้อยที่ต่างก็ทำกิจกรรมของตนไปตามปกติดูจะไม่เกี่ยวอะไร  ส่วนร้านอาหารเจ้าดังๆของตลาดน้อยตอนนี้ค่ำแล้วปิดหมดแล้วเขาเป็นร้านค้ากลางวัน   “เอ๊ะ เราเดินผิดถนนหรือเปล่านะ”   เป็นความฉงนในใจ  อาจจะผิดเพราะเราไม่เห็นภาพกราฟฟิติแบบที่เพื่อนที่ไปคนละวันกันถ่ายมาอวดเลย​  เราแวะศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง  แล้วก็เดินลัดเลาะเข้าซอยเล็กๆ แคบๆ ต่อไป ไฮไลท์การเดินของเราคือคฤหาสถ์โซวเฮงไถ่ บ้านจีนโบราณหลังนี้ งดงาม ใหญ่โตโอ่โถง ความเป็นมาของสกุลที่เป็นเจ้าของ ประมวลอดีตของตลาดน้อยไว้ในประวัติของอาคารและของสกุลนั่นเอง เพราะยืนดูโลกมากว่าร้อยปีแล้ว ได้เห็นการขยายตัวของกรุงเทพฯ การมาถึงของเรือเดินทะเลของฝรั่ง การเติบโตของย่านบางรัก สีลม และสาทร ที่อยู่ใต้ลงไป อันที่จริงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดชุมชนรอบตลาดน้อย คฤหาสถ์ส่งทอดสืบกันมาหลายอายุคน ผ่านทางทายาทฝ่ายหญิงของสกุล ซึ่งนับว่าแปลก แต่คนสุดท้ายที่รับสืบทอดมาเป็นฝ่ายชายของสกุล เพราะสตรีท่านสุดท้ายที่รับคฤหาสถ์มา ไม่มีทายาท ปัจจุบันเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวแบบเดินเท้าย่ำเข้าซอย หรือขี่จักรยานลัดเลาะไปในชุมชน จากประตูทางเข้า เราเห็นอาคารหลังงามเป็นประธานอยู่ตรงหน้า ขนาบข้างด้วยอาคารสองชั้น ตรงกลางในอดีตคงจะเป็นลานกว้าง แต่ในปัจจุบันทำเป็นสระว่ายน้ำสำหรับสอนดำน้ำ อาคารเป็นศิลปะแบบจีน สำหรับนักท่องเที่ยวช่างตั้งคำถาม คงเดาชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องได้บางส่วน เพราะซอยที่ขนาบข้างบริเวณที่ตั้งอาคาร ด้านหนึ่งชื่อซอยเจ้าสัวสอน อีกด้านหนึ่งชื่อซอยดวงตะวัน (สนใจรายละเอียด อ่าน นวพร เรืองสกุล จักรกลธุรกิจไทย บทแรกๆ หรือฉบับเต็มที่อ่านมาใช้อ้างอิงคือ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร นายแม่) อันที่จริงอาคารไม่ได้เปิดเป็นที่สาธารณะให้ผู้คนทั่วไปเดินเข้าไปเที่ยวชม ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่อยากเข้าไปชมควรให้ความเคารพกับสถานที่ด้วย ถ้าอยากชมก็สั่งอาหารรับประทานหรือสั่งเครื่องดื่มมานั่งดื่มสบายๆ แค่นี้ก็เท่ากับช่วยสนับสนุนให้เจ้าของอาคารยังคงเปิดอาคารให้ทุกคนได้ชื่นชมต่อไป ไม่ใช่เดินเข้าไปแบบคนฉวยโอกาส ตั้งหน้าตั้งตา ยกกล้องถ่ายรูปไปทั่ว ไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของใครที่กำลังใช้สถานที่อยู่ หรือเข้าไปเพียงเพื่อเข้าห้องน้ำ หรือไปยืน live สด ดื้อๆ ช่วยกันไม่มีมารยาทต้องระวังเจ้าของจะปิดไม่ให้เข้า ที่นี้ก็อดดูกันหมด อนาคตของตลาดน้อย คุยกับคนในตลาดน้อยเขาบอกว่า  …

อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสุสานจีนบ้าบ๋าบนถนนสีลม

หนังสือ สีลม ย่าหยา และตำราอาหาร ที่ขาดตลาดไปแล้ว ขณะนี้หาอ่าน หาซื้อจาก Ookbee.com ได้แล้ว ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นส่วนเสริม แบ่งเป็นสองภาค ภาคหนึ่ง เป็นคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อเสริมหนังสือสีลม ย่าหยาและตำราอาหาร ให้ ข้อมูลในหนังสือนั้นสมบูรณ์ขึ้นหลังจากวันที่ตีพิมพ์หนังสือ ภาคสอง เป็นคำถามปลายเปิดถึงอนาคตการจัดการที่ดินเกือบหกไร่บนถนนสีลมชิ้นนี้ ภาคหนึ่ง (ขัอความเสริม หนังสือสีลม ย่าหยาและตำราอาหาร  หน้า ๑๘๐ ตอนท้าย) กรณีครอบครองปรปักษ์ที่ดินสุสาน ที่มาของคดีความ สุสานจีนบ้าบ๋ามีข่าวเรื่องการฟ้องร้อง และศาลพิพากษาในเรื่องการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของสุสาน และมีข่าวว่าเคยมีการนำที่ดินไปประกาศขาย ที่สุดของคดีความคือคำพิพากษาศาลฎีกาปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และ พ.ศ. ๒๕๕๔ ดังต่อไปนี้  ๑.  ที่ดินเกือบ ๖ ไร่บนถนนสีลมชิ้นนี้เป็นสุสาน  ขอขอบคุณกรมที่ดินเป็นอย่างยิ่ง ความถี่ถ้วนรอบคอบของเจ้าพนักงานที่ดิน ทำให้ที่ดินสุสานผืนนี้ไม่ตกเป็นที่ที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเข้าครอบครองปรปักษ์ได้ ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๔๘/๒๕๔๐ ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๙๖ เลขที่ ๑๗ แขวงสาธร เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา ที่ชาวจีนฮกเกี้ยนได้ช่วยกันออกเงินซื้อเพื่อทำเป็นป่าช้าฝังศพ โดยตั้งเป็นทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าและให้นายโลไกจวยเป็นทรัสตี  ต่อมานายโลไกจวยได้ไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินพิพาทและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า  การตั้งทรัสต์และทรัสตีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๘๖ (1)  แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจดทะเบียนกันไว้หรือไม่ก็มีผลบังคับได้  ลักษณะของป่าช้าจีนบ้าบ๋าไม่ใช่สถานที่ฝังศพสำหรับเฉพาะคนในตระกูลหรือกลุ่มพวกพ้องของนายโลไกจวยเท่านั้น แต่ใช้เป็นที่ฝังศพของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมาก โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นใคร ถือได้ว่าทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพและบำเพ็ญกุศลให้ผู้ตาย นับว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวจีนฮกเกี้ยนทั่วไป ลักษณะของทรัสต์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลหรือทรัสต์มหาชน จึงเป็นทรัสต์ถาวรไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไปเองดังเช่นทรัสต์เอกชนทั่วไป ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายโลไกจวย นางจุไรรัตน์ ทัดตวร ผู้ร้อง มีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่พิพาทอย่างเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง  ศาลฎีกาเห็นว่าการดำเนินคดีของผู้ร้องทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕ (2) ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๖ เลขที่ ๑๗ แขวงสาธร เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๑๑ ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ (3)   ในชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานที่ดินหารืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าผู้ร้องได้นำคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน  จากการตรวจสอบโฉนดที่ดินฉบับสำนักงานที่ดินพบว่า มีชื่อนายโลไกจวยในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ซึ่งไม่ตรงกับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แจ้งว่าโฉนดที่ดินมีชื่อนายโลไกจวยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างเดียว  ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะจดทะเบียนที่ดินให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ได้หรือไม่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินว่า คดีมีข้อเท็จจริงบางประการที่จะต้องสอบสวนก่อน ให้ระงับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าชาวจีนฮกเกี้ยนได้ร่วมกันออกเงินซื้อที่พิพาทซึ่งยังไม่มีใบสำคัญสำหรับที่ดินเพื่อทำเป็นป่าช้าฝังศพโดยตั้งเป็นทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าและให้นายโลไกจวยเป็นทรัสตี  ต่อมานายโลไกจวยได้ไปดำเนินการออกโฉนดที่พิพาทและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าอันเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ ๒ มาตรา ๘ ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดเป็นทรัสตีในเรื่องที่ดินมีโฉนดแผนที่รายใดก็ดี หรือในเรื่องที่ดินซึ่งมีใบไต่สวนหรือใบนำสำหรับโฉนดแผนที่ก็ดี ให้มีอำนาจมาจดทะเบียนลงชื่อตนเองได้และต่อชื่อนั้นไปให้บ่งข้อความว่า “ในน่าที่ทรัสตีเรื่องนั้นๆ” ฯลฯ  การตั้งทรัสต์และทรัสตีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๘๖  แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจดทะเบียนกันไว้หรือไม่ก็มีผลบังคับได้  ที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีจำนวนมาก ปัจจุบันนี้ญาติของผู้ตายที่ฝังไว้ยังมาเคารพกราบไหว้ศพกันอยู่ เห็นได้ว่าลักษณะของสุสานดังกล่าวไม่ใช่สถานที่ฝังศพสำหรับเฉพาะคนในตระกูลหรือกลุ่มพวกพ้องของนายโลไกจวยเท่านั้น แต่ใช้เป็นที่ฝังศพของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมาก โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นใคร ถือได้ว่าทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพและบำเพ็ญกุศลให้ผู้ตาย นับว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวจีนฮกเกี้ยนทั่วไป ลักษณะของทรัสต์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลหรือทรัสต์มหาชน จึงเป็นทรัสต์ถาวรไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไปเองดังเช่นทรัสต์เอกชนทั่วไป คดีนี้แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของนายโลไกจวย คนในบังคับอังกฤษ ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ และศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นบังคับคดีว่าที่พิพาทเป็นของนายโลไกจวยในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายโลไกจวยดังที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องขอ  ทั้งตามลักษณะที่พิพาทในขณะนั้นก็ยังเป็นป่าช้าฝังศพของชาวจีนอยู่ สภาพของป่าช้าดังกล่าวย่อมไม่มีบุคคลใดเข้าไปยึดถือเพื่อตน ทั้งไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้เข้าไปครอบครองที่พิพาทด้วยความสงบเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  นอกจากนั้น ในชั้นไต่สวนคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทผู้ร้องเองก็ไม่ได้นำสืบว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ  ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่พิพาทอย่างเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง ศาลฎีกาเห็นว่าการดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕ ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ ๒.  แต่งตั้งแพทย์หญิงคุณหญิงอัมพร สุคนธมาน เป็นทรัสตี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๗๘–๗๒๗๙/๒๕๕๔ ที่ดินป่าช้าจีนบ้าบ๋าโฉนดเลขที่ ๔๙๖ ตำบลสาทร อำเภอสาทร …

Miraikan Museum และความคิดที่ตามมา

เราบอกจะไปพิพิธภัณฑ์ที่…  เขาบอกว่าอันนั้นเรียกศูนย์การเรียนรู้   “ต่างกันยังไงเหรอ” “พิพิธภัณฑ์ต้องมีของเก่าของโบราณเยอะๆ ที่นั่นมีไม่มาก” “เอ เวลาไปเมืองนอก Natioanl Musuem of Sciences ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ก็เห็นเป็นที่เรียนรู้นี่นา” แย้งในใจ เอาเถอะ ใช้คำจำกัดความที่ต่างกันก็ได้ แต่หวังว่าพวกเราคงไม่ติดศัพท์ที่แตกต่างจนต้องคิดแยกส่วน เพราะพิพิธภัณฑ์ก็เป็นที่เรียนรู้เหมือนกัน ไม่ใช่มีของเก่าตั้งเรียงๆ ไว้อวดว่า ฉันมีเยอะแยะ แต่ดูแล้วไม่ได้ความรู้กลับออกมาเลย content สำคัญมากไม่ว่าสิ่งที่ทำจะเรียกว่าพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ เคยไปเยี่ยมเยียนพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่มิวนิก และปารีสแล้ว คราวนี้แวะไปที่โตเกียว  ไม่เคยคิดจะเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ก็ไปอีกจนได้ เพราะพิพิธภัณฑ์ Miraikan มีชื่อต่อท้ายว่า   National Museum of Emerging Science and Innovation  ไปดูหน่อยว่า Miraikan  (จำง่ายๆ ออกเสียงสำเนียงไทยๆ ว่า “มีไรกัน” ก็แล้วกัน )  มีอะไรมากมายบรรยายไม่หมด อยู่ได้ทั้งวัน  เข้าไปเยี่ยมชมเองได้ที่  https://www.miraikan.jst.go.jp/en/Exhibitions กิจกรรมมีให้ร่วมสนุกตั้งแต่โถงทางเข้า สำหรับเด็กโต หัดใช้วงเวียนวาดเส้นโค้ง ในการออกแบบ เส้นโค้งทำอะไรได้มากมาย นั่งดูกับพื้น ในรอบที่อาสิโมแสดง ข้างๆ มีข้อมูลประวัติแนวคิดการทำหุ่นยนต์ให้เรียนรู้ โปรดสังเกตหุ่นยนต์ตัวนี้ มีป้ายสปอนเซอร์ ติดอยู่บนอกและกลางหลังด้วย ขอตีเส้นใต้แค่ ๒ – ๓ ประเด็น ๑. Miraikan มีนิทรรศการที่เป็นแบบ   interactive exhibits 200 กว่าเรื่อง นักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการ (active scientists) เป็นผู้ออกแบบและกำกับการจัดทำ  ๒. Miraikan ร่วมมือกับผู้ชำนาญการในสาขาวิชาต่างๆ พัฒนานิทรรศการ และเครื่องมือต่างๆ  รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังทำงานวิจัยหาความรู้ใหม่ (front line research)  เป็นการขยับวิทยาศาสตร์เข้ามาใกล้คนทั่วไป  ดีทั้งฝ่ายผู้ชม ได้ทันโลก ทันวิทยาศาสตร์ และดีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ได้เวทีมีสปอตไลท์ส่องมาที่งาน  ไม่โดดเดี่ยวในห้องทดลองเหมือนอยู่คนละโลกกับคนธรรมดา ​ ๓ ดูในเว็ปไซต์วันนี้ เห็นหัวข้อนี้ Panel on the novel coronavirus, “Facts about Coronavirus Disease 2019, COVID-19 and the Novel Virus.” -> พิพิธภัณฑ์ เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องร่วมสมัยด้วย ไม่ได้อยู่กับอดีต และโบราณคดีเท่านั้น แค่หนึ่งเว็ปไซต์ ยังทำให้ความคิดขยายไปไกล ๑. สมัยนี้จะออกแบบ สร้าง หรือปรับปรุง พิพิธภัณฑ์ ไม่ต้องเดินทางไปดูงานเมืองนอกก่อน แค่ทำ desktop research ก็ได้ความรู้ หลักคิด และไอเดียมากมายแล้ว ยิ่งตอนนี้มีโรคระบาด คนเดินทางไม่สะดวก พิพิธภัณฑ์ระดับโลก เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปท่องเที่ยวในพิพิธภัณฑ์ได้ ก็ยิ่งสดวก เรื่อง desktop research ใช้ได้กับสารพัดเรื่อง ถ้าจะไปดู ต้องเรียนรู้เหล่านี้ก่อน มีประเด็นเพิ่มค่อยไปถามเขา คือไปดูงานเพื่อทำงาน ไม่ใช่ดูงานแบบเป็นผู้ชมทั่วไป ๒. Odaiba เป็นย่านพัฒนาใหม่ของโตเกียว เป็นเกาะสร้างขึ้นมา การพัฒนามีแนวคิดชัดเจน คิดและทำอย่างเป็นระบบตั้งแต่เส้นทางเข้าถึง ตลอดจนสิ่งที่จะมีบนเกาะนั้น  ฯลฯ   ไม่ใช่แค่ตั้งพิพิธภัณฑ์หรืออาคารใดโดดๆ แต่คิดอาคาร กิจกรรม พร้อมกับชุมชนแวดล้อม   ๓.  ถ้านับศูนย์การเรียนรู้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย ใน กทม. นับปริมาณ ก็มีไม่น้อย​  คราวนี้ต้องดูคุณภาพ และดูความหลายหลายของหัวข้อที่ให้เรียนรู้  แล้วก็ดูว่าทำได้น่าสนใจ มีคนทุกวัยเข้าไปเยี่ยมเยียนเรียนรู้สม่ำเสมอไหม   ๔ พิพิธภัณฑ์/ศูนย์การเรียนรู้ …

ตามหาแรงบันดาลใจของ ‘ดวงดาว’

 นวนิยายของ ‘ดวงดาว’ ถ้าการอ่านหนังสือครบทุกเล่ม เป็นการบอกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ ดิฉันก็ยังไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของ ‘ดวงดาว’ เพราะอ่านไป ๗ เรื่องเท่านั้นจากที่มีผู้เรียงไว้ว่ามี ๒๔ เรื่อง  แต่ถึงอย่างไรก็ชอบ ทั้งๆ ที่อ่านแล้วเยิ่นเย้อ บรรยายยาว แต่คงเป็นเพราะยุคสมัยด้วย อ่านเคหาสถ์สีแดง  ตั้งแต่วัยรุ่น (สงสัยพ่อซื้อมาวางไว้ล่อตาลูกสาว)  ได้นัยสำคัญเท่าที่เด็กวัยรุ่นจะพึงรับได้อย่างสนุกๆ ส่วนที่ละเอียดถี่ถ้วน ตีความระหว่างบรรทัดยังไม่เข้าใจ สุริยา กับ ธาตรี    สองเล่มนี้ใช้ตัวสะกดวิบัติสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม กระดาษหนาแบบกระดาษฟางเพราะ เมด อิน ไทยแลนด์ สมัยนั้น   เราใช้ตัวสะกดแบบนั้นไม่นานก็ยกเลิกไป หนังสือชุดนี้น่าจะเป็นหนังสือหายาก (แต่ว่าไม่ใช่ของดิฉัน)   เลิกตัวสะกดแบบนั้นเสียได้ก็โล่งใจ ที่เสียดายคือวัฒนธรรมใช้สรรพนามคำเดียวกับทุกคน (คือมีแต่ “ฉัน” กับ “ท่าน”) ถ้ายังอยู่ต่อมา  ผู้หญิงสมัยนี้คงไม่ต้องประดักประเดิดกับสารพัดสรรพนามแทนตน ตั้งแต่ หนู น้อง พี่ ดิฉัน  ติ๋ม (ชื่อเล่น) ครู อาจารย์ เค้า  นี่ และอีกสารพัดสารพัน  ส่วนสรรพนามแทนบุรุษที่ ๒ มี  หนู น้อง พี่ คุณ ท่าน  ต้อย (ชื่อเล่น) ครู อาจารย์ ตัวเอง ฯลฯ   ผยอง เห็นภาพเงาของพล็อตเรื่องบ้านทรายทอง (ไม่ได้ดูว่าอันไหนมาก่อน หรือทั้งสองได้แนวคิดแรงบันดาลใจมาจากใคร ที่ไหน)  แต่ ม.ร.ว. เหินฟ้า จตุรพล ไม่ใช่ พจมาน พินิตนันท์  วิธีการจัดการกับเรื่องราวยุ่งๆ ที่ผ่านเข้ามาจึงผิดกันลิบ ถ้าให้เลือก คงเลือกเป็นเหินฟ้ามากกว่าพจมาน ที่ชอบมาก คือชีวิตในชนบทของวัยรุ่น การขี่จักรยานเที่ยว  ฯลฯ  รวมทั้งคำสอนเรื่องการเรียน เรื่องมารยาทในวงสังคม เป็นบทเรียนสำหรับตนเองในวัยรุ่นด้วย  ที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่มีนางอิจฉา ไม่มีผู้ร้ายโดยสันดาน ไม่มีอาฆาตพยาบาท เมื่อขอโทษก็จบได้ จบทางกายและวาจาก่อน ต่อไปก็เกิดในใจ  เหมาะให้วัยรุ่นอ่าน  (ถ้าวัยรุ่นสมัยนี้ยอมอ่าน)   เชลยศักดิ์ ลงเดลิเมล์วันจันทร์ตั้งแต่ พ.ศ.  2499 คำนำสำนักพิมพ์บอกว่า ลักษณะของสตรีมาจากยุค Gatsby (ยุค 1920’s หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑) สวยเก๋ทันสมัยแบบตะวันตก (ม.ร.ว. อลิสา เป็นนักเรียนปีนัง)  ผยอง แพรชมพู เชลยศักดิ์ ม่านไฟ  ธาตรี   ตัวละครมีความรู้สึกเรื่องชั้นวรรณะค่อนข้างมาก   และยังเด่นในเรื่องของการข่มใจ ฝืนใจ  โดยผู้แต่งสร้างประเด็นเรื่องของคนกรุง คนมีฐานันดร มีสถานะทางสังคม แต่มีแผลในใจบางประการ จึงหลีกลี้หนีหน้าสังคมเดิมไปหมกตัวอยู่ไกลสังคมเมืองหลวง  มีทั้งเรื่องความรู้สึกแปลกแยกกับคนรอบตัว ดำรงอยู่ด้วยสถานะสังคม ภูมิหลัง การศึกษา  ที่แตกต่าง และความทุกข์ที่แฝงเร้น  หนีส่ิงแวดล้อมหนีสังคม หนีได้ แต่หนีตัวเองไม่พ้น ไม่ว่าจะปลอมตัว หรือแปลงสถานะ  โดยนำเสนอโจทย์นี้ในโครงเรื่องต่างๆ กัน ประวัตินักเขียน สำนักพิมพ์ พิมพ์คำ  ให้ประวัติของ ‘ดวงดาว’ ไว้ว่า คือ ม.จ. หญิง สวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร (๒๔๕๔ – ๒๕๔๔)  พระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี ต้นราชสกุลประวิตร   กับหม่อมช้อย กัลยาณมิตร มี ม.จ.​สีหวิลาส เป็นพระเชษฐา และ ม.จ. กะวีวิศิษฐ์  เป็นพระอนุชาร่วมมารดา …

คลองโอ่งอ่าง: ปฏิบัติการแปลงคลองนำ้ครำให้เป็นสินทรัพย์มีค่าของย่าน

รัฐบาล และ กทม. ยุคนี้ทำให้กรุงเทพฯ สวยวันสวยคืน ขอบคุณมากค่ะ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นอีกมากมาย เพราะการพัฒนาเมือง พัฒนาย่านที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง    แปลงโฉมคลองโอ่งอ่าง สมัยก่อนสะพานเหล็กเป็นย่านขายของแบบหนึ่ง (ไม่เคยไปค่ะ)  ตอนนี้ คนเมืองเดินริมคลองโอ่งอ่างได้อย่างสบายใจ ไร้สิ่งกีดขวาง ร้านค้าบนแผงคร่อมลำคลองตรงสะพานเหล็ก ถูกรื้อไปหมดแล้ว ตอนนี้นักเดินสามารถเดินได้ตลอดแนวลำคลองทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เดินไปก็ช็อปไป ไม่ก็ชิมไป  คลองที่เคยมีน้ำดำปี๋ ตอนนี้ค่อนข้างใส  ขนาดว่าพายเรือเล่นได้ และก็ได้มีการทดลองพายกันมาแล้ว ตลอดคลองสายรอบกรุงสายนี้   การแปลงโฉมครั้งนี้ คนที่เสียก็มี ร้านค้าต้องย้ายที่เข้าไปอยู่ในพลาซ่า หรือไปหาที่ใหม่ แฟนชุดเดิมย่อมตามไป  ในโฉมใหม่ ก็มีคนชุดใหม่เข้ามาแทน  แต่จะเป็นอย่างไรต่อไปอยู่ที่ร้านค้า ชาวย่าน เขต และนักผังเมืองจะช่วยกันดูแล ว่าจะอยากจะเป็นอย่างไร มีลูกค้าแบบไหน   ถ้าจะรักษาความเป็นถนนคนเดินที่ดีอย่างที่ตั้งตั้นใหม่เอาไว้   ไม่ควรมีอะไรเกะกะ (เช่น ร้านเร่ แน่นๆ จนมองวิวไม่เห็น นั่นเล่นไม่ได้ แบบตลาดนัดหรืองานวัดแบบที่เคยพยายามทำบนถนนสีลม  ควรเดินได้สบาย เป็นทางต้องผ่านของคนสัญจรทางเท้า เช่น มีอะไรรายทาง และปลายทางทั้งสองด้านให้แวะหยุด และแยกออกได้  ให้แวะทำธุระต่างๆ  (เคยเขียนยกตัวอย่างถนนหลายเมือง หลายประเทศ ไว้ในหนังสือชื่อ ถนนน่าเดิน หลายปีมาแล้ว)   คลองโอ่งอ่างเข้าเกณฑ์เหล่านี้ เดินไม่ไกลก็เข้าเยาวราช หรือวังบูรพา อีกหน่อยก็เจริญกรุง ไปขวาสำเพ็ง ไปซ้ายผ่านสำเพ็งไปพาหุรัด  หันหลัง ไปริมแม่น้ำเจ้าพระยา  และอาจมีจุดดึงดูดเพิ่มได้อีกหลายอย่าง ยิ่งมีร้านน่าสนใจ ทั้งน่านั่ง น่าเดิน สินค้าน่าซื้อ เมื่อประกอบกับเส้นทางเดินที่สวยงาม มีวิวคลองให้พักสายตา  ก็น่าจะทำให้น่าเดินทุกวัน และได้คนเดินทุกวัน เพราะไปธุระก็ได้ ไปพักผ่อนเดินเล่นก็ได้   แทนการขึ้นรถหรือขับรถระยะใกล้ๆ และสถานีรถใต้ดินสามยอดก็อยู่ตรงนั้น  โอ่งอ่างยามค่ำ   ช่วงสุดสัปดาห์  กทม. ทำให้เป็นถนนคนเดิน พร้อมกิจกรรมสบายๆ โดยศิลปินสมัครเล่น ​ ตอนนี้เป็นช่วงเปิดตัว  ส.ว.​​ เดินสบาย ทั้งครอบครัวไปด้วยกันได้  คนไม่แน่น ร้านค้าประเภทแผงลอยยังไม่มาแย่งที่เดิน    บนแผงว่างที่ด้านในคือพื้นที่กำลังก่อสร้าง ถ้าเสร็จเมื่อใด ตรงนี้คงจะมีร้านค้าเปิดออกด้านคลองเพิ่มขึ้น  ตอนนี้ รั้วว่าง วาดภาพย้อนอดีตของสำเพ็งเอาไว้ “นักท่องเที่ยว” โพสต์ท่าถ่ายภาพกับคนในภาพอย่างน่าสนใจ ไม่ได้ไปยืนตัวแข็งๆ อยู่หน้าภาพ ไม่มีเสียงหนวกหูผ่านไมโครโฟนเพื่อขายสินค้าหรือเรียกคนเข้าร้าน  เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงดนตรี ที่มาสร้างความบันเทิงแบบนักดนตรีเปิดหมวก วงดนตรีไทยเป็นนักเรียนจากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์  วงสากลของวิทยาลัยบ้านสมเด็จฯ  แถมด้วยดนตรีวงของ กทม. และอีก ๒ – ๓ รายที่ไม่ได้สัมภาษณ์ข้อมูลมา  พอค่ำลง แสงไฟริมคลองสว่างไสว สวยมากๆ  อากาศเย็นสบาย น่าเดิน     บรรยากาศเต็มไปด้วยมิตรไมตรีอย่างน่าประหลาดใจ คนแปลกหน้ากันมาตรงนี้ นึกว่าตัวเองเป็นนักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศหรือไงไม่รู้    แม้ไม่รู้จักก็ยิ้มแย้มทักทายกัน  ไม่เคยเจอการทักทายแบบนี้มาก่อน ร้านค้ามีเวลาคุยกับลูกค้า กินไปคุยไป สนุกสนานกว่าการรีบกิน รีบขาย รีบไป แม้แต่เจ้าหน้าที่เทศกิจที่เห็นหนาตา ก็ยิ้มแย้มเป็นมิตร คอยเป็น information รายทาง  (แทน information booth)     ความว่างและความนิ่ง คงมีส่วนให้ผู้คนหันหน้ามาคุยกัน แทนที่จะเคร่งเครียด รีบร้อน แย่งชิง ร้านค้าบางร้านในสำเพ็งริมทางเดิน เปิดประตูที่เคยเป็นหลังร้าน  เอาโต๊ะหนึ่งตัวมาตั้งวางของขาย ตามแต่จะนึกได้   “ร่วมมือกับเขตเขาหน่อย”  เจ้าของร้านขายหมูแผ่นเจ้าอร่อยบอก “ปกติฉันปิดร้านนอนแล้ว”   พนักงานร้านข้างๆ บอกว่า “เห็นคนเดินไปเดินมา เราก็เลยไปซื้อลูกชิ้นมาปิ้งขาย แทนที่จะอุดอู้อยู่ในห้อง”   เด็กน้อยคนหนึ่งแถวสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก)  นำขนมกรุบกรอบและน้ำมาทดลองตั้งโต๊ะขาย   คุณแม่อยู่ในร้าน …

อาคาร Neilson Hays Library: อนุสรณ์แห่งรัก

ผู้ที่ผ่านไปทางถนนสุรวงศ์ ถ้ามีเวลาขอเสนอให้แวะเข้าไปชมห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ ซึ่งเป็นห้องสมุดเอกชนและเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่เก่าแก่ที่สุดของไทย “วัง” ขนาดกระทัดรัด ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์  บนถนนสุรวงศ์ คือโอเอซิสสำหรับคนที่รักการอ่าน และต้องการพื้นที่ส่วนตัวสำหรับนั่งคิด นั่งเขียน นั่งทำงาน ในบรรยากาศที่ร่มรื่นและเงียบสงบ อาคารห้องสมุด เป็นอาคารสไตล์ฝรั่งแบบนีโอคลาสสิก​ ด้านหน้าอาคารชิดติดรั้วริมถนนจนต้องจินตนาการเอาเองว่า ยามไม่มีรั้วดูโอ่อ่าเพียงใด   ผลงานของ Mario Tamagno สถาปนิกร่วมสมัยนั้นจากอิตาลี (๒๔๒๐ – ๒๔๘๔ หรือ ๑๘๗๗ – ๑๙๔๑)    เขาคนนี้ฝากผลงานสถาปัตยกรรมไว้ในสยามมากมาย อาคารที่ออกแบบและสร้างไปก่อนหน้านี้แล้วก็เช่น สะพานมัฆวานรังสรรค์ (ตรงใกล้ทำเนียบรัฐบาล และอาคารของสหประชาชาติ) โรงแรมโอเรียนเต็ลปีกแรก ตึกธนาคารสยามกัมมาจล (ไทยพาณิชย์)  บ้านพิษณุโลก วังบางขุนพรหม และสถานีรถไฟหัวลำโพง     งานอนุรักษ์ปรับปรุงและต่อเติมครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปึ ๒๕๕๙ เพราะความชื้นเป็นสาเหตุสำคัญ ปัจจุบันอาคารห้องสมุดเนียลสัน เฮส์  เป็น National Heritage building ริมรั้วหลังของห้องสมุดเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟ ถัดออกไปคือ British Club  (ตั้งปี 1903) อีกหนึ่งในองค์กรรุ่นแรกๆ ของบางกอก แรกเริ่มเดิมที  ห้องสมุดเกิดขึ้นมา เพราะคนรักหนังสือ    ในสมัยที่หนังสือหายาก แพง และหนังสือต้องเดินทางรอนแรมมาหลายเดือนกว่าจะมาถึงสยาม เมล็ดพันธุ์ของ “ห้องสมุด” เริ่มเพาะลงไปในที่ราบลุ่มของบางกอก เมื่อสตรีอเมริกันและอังกฤษกลุ่มหนึ่ง ร่วมกันตั้ง The Bangkok Ladies’ Library  Association ขึ้นมา  เพื่อแลกหนังสือกันอ่าน ปีนั้นเป็นปีแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕   (๒๔๑๒/๑๘๖๙ ) อ่านประวัติของห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ ยุคแรกเริ่ม เหมือนกับอ่านว่าใครเป็นใครในสยาม  เช่น ในขณะที่สามีกำลังสร้างผลงานด้านการแพทย์ในสยาม ภรรยาก็ทำงานด้านสอนหนังสือ และงานสาธารณกุศลต่างๆ รวมทั้งการสร้างชุมชนคนต่างถิ่นขึ้นในบางกอก  เราจึงเห็นชื่อ   มิสซิสเอส. แบรดลีย์ และ มิสซิส เอช. เอ็ม. เฮ้าส์  ภรรยาคุณหมอฝรั่ง อยู่ในกลุ่มผู้ร่วมกันริเริ่มต้ังห้องสมุดภาษาอังกฤษขึ้นมาในสยาม เป็นต้น   ห้องสมุดนี้เกิดจาก สมาชิกของ The Ladies’ Bazaar Association นำเงินที่แรกเริ่มเดิมเป็นการหาทุนเพื่อตั้งมิชชันแห่งใหม่ที่เชียงใหม่มาก่อตั้ง The Bangkok Ladies’ Library Association เพื่อให้คนรักการอ่านที่พลัดบ้านพลัดเมืองมาอยู่สยามได้มีหนังสือภาษาอังกฤษอ่าน เงินที่หาได้จำนวน ๕๕๐​ บาท นับว่ามากทีเดียว (เช่น เทียบกับเงินเดือนเดือนละ ๔ บาท ของคนรับใช้ในบ้าน) องค์กรนี้ตั้งโดยสตรีอเมริกันและอังกฤษ และถือได้ว่าเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรรุ่นบุกเบิกในสยาม และอยู่มายาวนานจนทุกวันนี้  ห้องสมุดในระยะแรกเปิดสัปดาห์ละหนึ่งวัน งานดำเนินไปด้วยแรงงานและน้ำใจของอาสาสมัคร  ปี ๒๔๔๐/๑๘๙๗ ขยายเวลาเปิดเป็นทุกวัน เว้นวันอาทิตย์ เมื่อจ้างพนักงานประจำ ๑​ คน  โดยใช้พื้นที่ในบ้านส่วนบุคคล และย้ายไปหลายแห่ง รวมทั้งไปใช้พื้นที่โบสถ์ด้วย  หนังสือมีหลายภาษาทั้งอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส   ทางด้านการเงิน The Ladies’ Bazaar Association สนับสนุนอยู่ในช่วง ๔ ปีแรก ต่อมาห้องสมุดก็หาเลี้ยงตนเองด้วยเงินค่าสมาชิกรายปี ปีละ ๘ บาท หรือสมาชิกตลอดชีพ ๕๐ บาท หาที่ดินและสร้างอาคารหลังแรก  ในปี ๑๙๑๑ เปลี่ยนชื่อห้องสมุดจากเดิม เป็น The Bangkok Library Association  ให้รู้ว่าห้องสมุดไม่ได้กีดกันผู้ชาย …