current social and economic issue, environment, governance, Management, possible dream
Comment 1

ใช้ 400,000 ล้านบาท ให้คุ้มค่า

รัฐบาลออกแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมระยะที่ ๓ เดือนเมษายน  ๒๕๖๓ รวมเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยกำหนดนโยบายการใช้เงินดังนี้

๑. สนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่

๒. สร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจชุมชน

๓. สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ 

แม้ว่าผู้ที่ช่วยกันคิดใช้เงินตามที่เสนอคราวนี้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการกู้เงินสี่แสนล้านบาทมาใช้ แต่ไหนๆ รัฐบาลก็มีนโยบายและความตั้งใจจะใช้แล้ว ก็เลยขอช่วยคิดวิธีใช้ด้วยคน

๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท จะว่ามากหรือน้อยก็แล้วแต่จะคิด และแล้วแต่ว่าจะทำอะไรกับเงินก้อนนี้  ผู้บริหารที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด แม้ทุนน้อยก็ย่อมสร้างเงินสร้างงานต่อยอดสร้างทุนให้แผ่นดิน ให้สังคม และให้ชุมชนมั่งคั่งได้ คนด้อยปัญญากับคนขี้โกงเอาเงินเข้าตัว เท่าไหร่ๆ ก็ไม่พอ 

วิถีใหม่ของเรา 

๑.  ลดความสำคัญของตัวเลข GDP ​ ไม่ตั้งหน้าตั้งตาทำให้ GDP กลับขึ้นไปด้วยวิธีผลิตและบริโภคแบบเดิมๆ  (และควรจะคิดว่าปีนี้มี  ๘ – ๙ เดือนเท่านั้น)  

๒. การผลิตสินค้าให้หลากหลาย (diversification) สำคัญ  รักษาและสร้างเสริมจุดแข็งเอาไว้ เน้นคุณภาพเพื่อเพิ่มราคา เพิ่มรายได้ให้ผู้ผลิตและแรงงาน     

๓.  ดูแลรักษาสิ่งที่เรามีดีเลิศให้ยั่งยืน คือ ธรรมชาติที่งดงาม พื้นดินและผืนน้ำที่อุดมสมบูรณ์  คนมีน้ำใจและสร้างสรรค์  

ข้อเสนอเรื่องที่ ๑  

๗๖  จังหวัด (ไม่รวม กทม.)   ๗๖ แบบแห่งการพัฒนาร่วมมือกันเต็มร้อย ช่วยกันยกระดับคุณภาพทั้งประเทศ

๑. รัฐบาลส่วนกลางให้งบลงทุนจากเงิน ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท + วิชาการเฉพาะ เพื่อช่วยสนับสนุนสิ่งที่พื้นที่ต้องการทำ   

๒. จังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด และ อบท.) ลงมือลงแรงร่วมกับภาคธุรกิจและชุมชน โดยบางโครงการอาจร่วมมือกันเป็นกลุ่มจังหวัดก็ได้

๓. ภาคธุรกิจ ​(บริษัท รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการที่รวมตัวกันเป็นสมาคม เป็นสภา ฯลฯ)  นำความรู้ (know how) ด้านต่างๆ ที่ตนมีไปเผยแพร่ต่อถึงประชาชน  (จะเป็นชนบทหรือในเมืองก็ได้)  เพื่อให้ท้องถิ่นก้าวไปสู่การผลิตสินค้าและให้บริการที่มีคุณภาพ  โครงการเลี้ยงตัวเองได้แม้เมื่อภาคธุรกิจที่เข้าไปช่วยจะจบโครงการและถอนตัวแล้ว (นึกถึงกระบวนการแก้ปัญหาความยากจนของจีน ที่ให้หน่วยงาน วิสาหกิจและมหาวิทยาลัย เข้าไปดูแลกันคนละเมือง เพราะแต่ละแห่งปัญหาไม่เหมือนกัน) 

๔. ประชาชนในพื้นที่  (รวมทั้งลูกหลานที่อาจกลับถิ่น เมื่อมีช่องทางทำมาหากินได้โดยไม่ต้องเข้ามาใช้ชีวิตลำพังในเมือง)  ร่วมสร้างสรรค์   และสืบทอดสิ่งที่โครงการริเริ่มไว้ให้ดำเนินต่อไป 

ถ้า ๒ กับ ๓ (และ/หรือ ๔) จับมือตกลงร่วมกันไม่ได้ ก็ยังไม่ต้องได้เงิน 

โครงการลักษณะนี้จะยกระดับความรู้ และการผลิตสินค้าด้านการเกษตร สินค้าพื้นบ้าน และบริการต่างๆ ในพื้นที่ ให้เป็นสิ่งที่มีคุณภาพ มีความประณีต และเป็นเอกลักษณ์​ (นึกถึงสินค้าประจำถิ่นต่างๆ ของญี่ปุ่นที่คุณภาพระดับอินเตอร์)  ทำให้มูลค่าต่อพื้นที่ หรือต่อคนทำงานหนึ่งคนสูงขึ้น อยู่ดีกินดีได้ในต่างจังหวัดทั้งชนบทและในเมือง

ข้อเสนอเรื่องที่ ๒  

การเกษตร ๕ ดาว: เริ่มที่จ้างงาน และแหล่งน้ำ

เกษตรกร (รวมประมง เลี้ยงสัตว์) ต้องมีความรู้ทันสมัยและพึ่งตนเองได้ เป็นฐานอันมั่นคงของสังคมที่ต้องรักษาและดูแลไว้ให้คงอยู่เสมอไป การเกษตรไม่จำเป็นต้องใหญ่มาก หรือล้าสมัยหนักเหนื่อยและยากจน เราอยู่กับความพอดีของเกษตรพึ่งตนเองได้และมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้  แบบ small is beautiful

ปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรคือที่ดิน พันธุ์พืช น้ำ และข้อมูลด้านการตลาด (และเพื่อการตลาด) 

น้ำ นอกจากนโยบายหลักๆ ที่พูดกันด้วยคำกว้างๆ ​เช่นการจัดสรรทรัพยากรน้ำระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม  ระหว่างภาคเกษตรกับตัวเมือง ฯลฯ ขอเสนอบางเรื่องที่เป็นรูปธรรม ทำได้ทันที คือ  

๑. สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเห็นน้ำเป็นทรัพยากรที่สร้างรายได้ เช่น ได้เงินชดเชยหรือเงินสัมปทานการเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำหลาก มีบ่อน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร หรือสร้างที่เก็บน้ำไว้ขายเป็นน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น 

๒. ขุดและปรับปรุง คู คลอง สระ บ่อ ลำราง เหมือนๆ กับที่ลงทุนซ่อมถนน การ สร้างอุโมงค์ขนส่งน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งไปอีกลุ่มน้ำหนึ่งก็อาจจะจำเป็น ทำนองเดียวกับการสร้างทางหลวง  แนวคิดหลักคือให้น้ำหมุนเวียนอยู่ในประเทศให้มากที่สุด ก่อนออกทะเลหรือไหลลงสู่แม่น้ำนานาชาติ

ข้อมูลด้านการผลิตและการตลาด

๑. ข้อมูลกลางด้านการผลิต ผลผลิตประจำปี และความต้องการในท้องตลาด เป็นข้อมูลจำเป็น เพื่อวางแผนการผลิต

๒. การมีหน่วยงาน (เอกชนก็ได้) เพื่อรับรองคุณภาพสินค้า แหล่งที่มา และการสร้างแบรนด์ จะช่วยสร้างอุปสงค์สำหรับสินค้าคุณภาพ ซึ่งได้ราคาดีกว่าการขายแบบเทกอง หรือขายเหมา  

๓.  ตั้งเป้าให้ทั้งประเทศปลอดสารพิษ  เริ่มขยายการเพาะปลูกแบบออร์แกนิก  เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพของทุกสรรพสิ่ง 

๔. ใช้เศษวัสดุให้ถึงที่สุด เพื่อเพิ่มรายได้   เช่น ที่กล่าวกันว่า ชาวไร่อ้อยจะไม่เผาใบอ้อยที่สร้างหมอกควันในภาคกลาง  ถ้ามีโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ปัญหาอยู่ที่การออกใบอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้า เป็นต้น (เรื่องนี้ไม่รู้จริง เขียนตามที่ได้ยินมา) 

เรื่องที่ ๓.  การท่องเที่ยว   

นโยบายทำทันที​  ฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวด้วยกำลังซื้อของคนไทย วางแผนวันนี้ จ่ายเงินจองวันนี้ สำหรับบริการในอนาคต เพราะการได้เงินกู้หรือจะสู้การได้ยอดจอง

นโยบายเริ่มวันนี้เพื่อผลในอนาคต  คุณภาพ คุณภาพ คุณภาพ  

๑. บทบาทของรัฐบาล 

  • เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องท่องเที่ยวจาก เน้นปริมาณแล้วลดราคา  เป็นเน้นผลรวม 
  • วางนโยบายให้ส่วนราชการใช้งบประมาณประจำปีของปีนี้และปีหน้า จัดงานต่างๆ ทั่วประเทศ 

-โฟกัสแยกรายจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด 

– กิจกรรมหลักประมาณ ๕ – ๖ แนว เช่น สัมมนา/ประชุม กีฬา วัฒนธรรม อาหาร สนามสอบ นิทรรศการให้ความรู้แบบใหม่ทันยุค  

– วางแผนกิจกรรมวันนี้ จ่ายเงินจองสถานที่จัดและห้องพักล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เงินสดค่าจอง 25 – 30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไปต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ ก่อนจะเปิดให้บริการได้จริง 

๒. ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น + ผู้ประกอบการ 

  • ร่วมกันเลือกกิจกรรมที่จะจัดให้เหมาะกับท้องถิ่น  วางรูปแบบการจัดงาน และ เป็นการแข่งกันว่าจัดท่องเที่ยววิถีใหม่ได้ดีเพียงใด ทั้งระยะห่าง ความปลอดภัย   ความน่าสนใจของกิจกรรม และคุมมาตรฐานคุณภาพผู้ประกอบการ อาจต้องจ่ายเงินจองล่วงหน้าด้วยเช่นกัน
  • นำเสนอโครงการขออนุมัติเงินสี่แสนล้านบาทของรัฐบาลเพื่อลงทุนในสาธารณูปโภค  เช่น 

ก. เดินรถขนส่งสาธารณะที่ได้ประสิทธิภาพในเมืองใหญ่ 

ข. ปรับปรุงพื้นที่ประวัติศาสตร์ พื้นที่ชุมชน ฯลฯ ในส่วนเมือง ให้ได้เมืองที่สวยงาม ใช้ประโยชน์ได้ดี และน่าอยู่  ซึ่งต้องใช้คนในวิชาชีพดำเนินการวางผังและออกแบบ ปรับปรุงอาคารอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติวิทยาของพื้นที่ ฯลฯ    

๓. เปิดโครงการไทยเที่ยวไทยล่วงหน้า เพื่อดึงเงินประชาชนคนอยากเที่ยวเข้ามาต่อชีวิตโรงแรม  

ส่วนกลาง

– เปิดโครงการไทยเที่ยวไทย  ขายห้อง ขายทัวร์ ออนไลน์ในราคาพิเศษ 

-ใช้เงินจาก ๔ แสนล้านบาทส่วนหนึ่งไปสมทบให้โรงแรมขายห้องได้ในราคาถูก โดยกำหนดจำนวนห้องต่อจังหวัด  และอีกส่วนหนึ่งสำหรับรับประกันการได้รับบริการ  ให้ผู้จองมั่นใจว่าจองแล้วไม่สูญเปล่าในกรณีที่โรงแรมปิดกิจการ

-กำหนดเงื่อนไขกลาง เช่น กำหนดให้เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง เช่น เลื่อนวันจองได้กี่ครั้ง เปลี่ยนจังหวัดเปลี่ยนโรงแรมได้หรือไม่ ฯลฯ เป็นมาตรฐานกลาง   

ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น + สมาคมหรือสภาผู้ประกอบการในจังหวัด  ตกลงกันให้ได้ในเรื่องต่อไปนี้ (ถ้าตกลงกันไม่ได้จะไม่ได้เงินสนับสนุน )  

– ยุติสงครามราคา เน้นกันที่คุณภาพ ความปลอดภัย และคุณค่าเพิ่ม (ราคา X ปริมาณ) 

–  คัดโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ

– กำหนดจำนวนห้องที่จะให้โปรโมชั่นสำหรับแต่ละโรงแรม 

ลูกค้าผู้ซื้อบริการ 

–  จ่ายเงินล่วงหน้าค่าห้อง ค่าทัวร์  ๒๕ – ๕๐% ของราคา อายุการจอง ๑- ๒ ปี กำหนดวันทัวร์ วันจองห้อง

เรื่องพึงทำทุกปีตลอดไป 

เพราะเสน่ห์ของประเทศไทยคือธรรมชาติ ควรทำมาหากินกันปีละ ๙ – ๑๑  เดือนให้คุ้มเท่ากับเปิดทั้งปี แล้วเข้าสู่โหมดพัก  ปิดฝั่งทะเล ปิดอุทยาน ปีละ ๑ – ๓ เดือน ตามวัฏจักรธรรมชาติของแต่ละท้องที่ 

-ธรรมชาติได้ฟื้นตัว 

-พนักงานศึกษาเพิ่มความรู้เพิ่มศักยภาพให้ตนเอง   

-ผู้ประกอบการปรับปรุงที่พัก คิดบริการเพิ่ม และเตรียมตัวรอรับของขวัญจากธรรมชาติ  

ทำแบบนี้ได้  ทุกปีเราจะมีธรรมชาติอันงดงามพร้อมให้เราใช้หารายได้ ตลอดไป

ทัศนคติที่ต้องเปลี่ยน 

ปริมาณ (Q, quantity  จำนวนนักท่องเที่ยว จำนวนห้องที่ขายได้) ไม่ใช่เป้าหมายที่พึงประสงค์ แต่ต้องเป็นคุณภาพ (quality)  ที่อาจจะวัดจาก  P X Q  (ราคา X จำนวนนักท่องเที่ยว) และการมาเที่ยวซ้ำ    

การแข่งขันกันตัดราคาเพราะปริมาณห้องเพิ่มเร็วกว่านักท่องเที่ยวต้องยุติ เพราะสงครามราคามีแต่พากันไปตาย

  การเน้น KPI ของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ที่ปริมาณนักท่องเที่ยว โดยไม่สนใจคุณภาพ ไม่ดีสำหรับแหล่งท่องเที่ยว  

ส่วนงานในจังหวัด และสมาคมที่เกี่ยวข้องต้องคุมจำนวนห้องพักได้ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่หลวมตัวเข้าไปลงทุนตามๆ กัน และเสียหายทั้งเงินลงทุนและคุณภาพบริการ  ต้องมีข้อมูลให้ผู้ประกอบการ และกำกับคุณภาพห้องพักในพื้นที่ได้  เช่น ออกป้ายรับรองคุณภาพและตรวจตราสม่ำเสมอ  

การท่องเที่ยวหลังจากโควิด-๑๙ มีความเสี่ยงสูงมาก จากการแพร่เชื้อที่อาจนำไปสู่การปิดเมืองที่เสียหายด้วยกันทุกฝ่าย และการเดินทางมามีต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นต้องทำโรงแรม ทัวร์ กิจกรรมวิถีใหม่ ที่ตั้งราคาให้คุ้มความเสี่ยงของผู้ประกอบการและของสังคม  แข่งกันเด่นด้วยคุณค่าใหม่ บริการและสินค้าใหม่ มาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยใหม่ให้เข้ากับวิถีใหม่ และนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ รสนิยมใหม่  (คือคนที่จะมาเที่ยวต้องมีเงินและมีเวลา)  

เป้าหมายร่วมของทุกโครงการ: สร้างคุณภาพและสร้างงาน เพื่อไปสร้างเงินจากคุณภาพนั้น 

ระยะเวลา: ข้อเสนอทั้ง ๓ เรื่อง เสนอเพื่อทำทันที  หวังผลสองระยะคือ  

(๑)  ได้ผลทันที

(๒) ได้เก็บเกี่ยวผลในอนาคต

วิธีการ:  ดึงคน  ๓ ภาคส่วนมาร่วมกันกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้วางแผนสักหน่อย ทำงานเป็นระบบอีกนิด ปรับลดความชักช้าลงบ้าง และสร้างความโปร่งใสด้วยข้อมูลที่ทุกคนรู้ร่วมกันว่า ใคร ทำโครงการอะไร ที่ไหน เพื่ออะไร ประชาชนเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องติดตาม 

นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการส่วนกลาง กำหนดนโยบายและจ่ายเงิน คนระดับพื้นที่ + ธุรกิจ + ประชาชนลงมือลุย  รัฐบาลอาจจะต้องแก้ปัญหาระหว่างทางบ้าง แต่ที่หลักๆ คือ อนุมัติเงินแล้วนั่งตีขิมรอประเมินและรอให้รางวัลรายโครงการ รายจังหวัด  

หลังจากทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ และอื่นๆ เพื่อเป้าหมายเดียวกันนี้  ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ “ดี สวย รวย เก่ง” แน่นอน

นวพร เรืองสกุล  ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓

1 Comment

  1. Pingback: May (3) อยากเที่ยวแล้ว – History Boxes

Leave a comment