All posts tagged: ปรีดี พนมยงค์

ฉลบชลัยย์ พลางกูร สตรีผู้เลอค่า

ขอหนังสือชื่อ ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร หนึ่งศตวรรษแห่งคุณค่า มาจากเพื่อน ซึ่งเพื่อนขอมาจากท่านผู้จัดทำคือ คุณสุดา ดุษฎี วาณี พนมยงค์  เป็นหนังสือที่ดีมีคุณค่าสูงมาก ขอขอบคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ หนังสือเล่มนี้แม้ไม่ใช่หนังสือชีวประวัติก็ให้ส่วนที่สำคัญยิ่งสำหรับชีวิตของสตรีคนหนึ่ง และภูมิทัศน์สังคมรอบๆ ตัวเธอ คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร เจ้าของโรงเรียนดรุโณทยาน มีอายุครบ ๑๐๐ ปี เมื่อพฤศจิกายน ๒๕๕๙ เธอใช้เวลาทั้งชีวิตเป็นครูและดูแลผู้คนที่เธอเห็นว่าสมควรได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชู ด้านการศึกษา เธอมีเกียรติประวัติของการเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงที่เป็นสตรี (King’s Scholarship เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙)  ด้านงานจากวิชาที่ร่ำเรียนมา  เธอตั้งโรงเรียนอนุบาลที่ต่อมาขยายชั้นไปจนจบมัธยม ๖ ในสมัยนั้น เป็นครูที่สอนเด็กนักเรียนทั้งด้านวิชาความรู้ ความอดทน ขยันหมั่นเพียร และการทำงานต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ถ้าการเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงหมายถึงการใช้วิชาความรู้ที่ได้เรียนมาเพื่อสังคมไทย เธอทำหน้าที่ของเธออย่างบริบูรณ์ ด้านการเป็นพลเมืองไทย เธอเป็นเสรีไทย เป็นคู่ชีวิตของจำกัด พลางกูร ผู้สนับสนุนงานของสามีและสนับสนุนอุดมการณ์ของสามีเสมอมาแม้สามีจะเสียชีวิตไปแล้วในช่วงสงครามขณะปฏิบัติหน้าที่ในการเจรจาให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับการมีอยู่และบทบาทของเสรีไทย เพื่อเอกราชของประเทศไทย (ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๖) ในตอนนั้นอนาคตของประเทศไทยล่อแหลมมากกับการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อท่านผู้นำที่ปลุกความรักชาติด้วยเพลงและบทละครต่างๆ  ตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๒๔๘๐ ได้ยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศ (ซึ่งถนอมประเทศไว้ไม่เผชิญหน้ากับทัพญี่ปุ่นแต่เท่ากับพาประเทศไปเป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร)  จึงกลายเป็นบทของ จำกัด พลางกูร เลขาธิการขององค์การที่มีชื่อว่าองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ที่ต้องเป็นฝ่ายแก้สถานการณ์ที่จะทำให้ไทยไม่เสียเอกราช –ตามเพลงปลุกใจสมัยท่านผู้นำที่ว่า “ชีวิตร่างกาย เราไม่เสียดาย ตายแล้วก็เผา ทุกสิ่งยอมคลาด เว้นแต่ชาติของเรา ไม่ให้ใครเข้า เหยียบย่ำทำลาย”    บทบาทของคุณฉลบชลัยย์เป็นบทบาทของสตรีแกร่ง ที่รับหน้าที่เป็นแม่และเป็นครูให้กับเด็ก เยาวชน กระทั่งนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุค ๖ ตุลาคม ดังข้อเขียนของหลายคนในหนังสือเล่มนี้  เธอดูแลเสมือนคนเหล่านั้นเป็นญาติ เป็นลูก เป็นหลานของเธอเอง ยังไม่หมดแค่นั้น เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านจะ “ได้” อะไรอีกมากมายตามความสนใจ  เช่น เข้าใจคำว่า “รักชาติยิ่ิงชีพ” และ “ชีวิตต้องสู้” ได้อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้  และยังสัมผัสได้ถึงความรักอันลึกซึ้งที่บุรุษและสตรีคู่หนึ่งจะพึงมีให้กัน ขอเล่าเรื่องอื่นที่ติดใจ ๓ เรื่อง เรื่องแรก เรื่องใหญ่ที่สุดคือได้รับรู้ประวัติศาสตร์ไทย จากแง่มุมที่ไม่มีการบอกเล่าในหนังสือเรียนหรือประวัติศาสตร์ไทยสายหลัก  คือชีวิตในช่วงสงครามที่น่านำไปปะติดปะต่อกับงานเขียนอื่นๆ ในช่วงสมัยเดียวกันเพื่อให้ภาพประวัติศาสตร์สังคมไทยในช่วงนั้นรอบด้านขึ้น ชีวิตและงานบ้างด้านของคุณปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และยังมีบางตอนที่พอให้ผู้ที่ติดตามการเมืองได้เข้าใจเบื้องหลังการเมืองไทยในยุคต่อมา แม้ในข้อเขียนจะไม่ได้เล่าอะไรเลยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง แต่ชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบย่อมส่องสะท้อนความเป็นไปบ้างตามสมควร เรื่องที่สอง คุณฉลบชลัยย์เล่าว่า เธอเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษ “แต่ระหว่างปิดภาคเรียนได้ถูกส่งตัวไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมที่กรุงปารีส” เพียงประโยคเดียวที่อาจจะอ่านผ่านเลยไปได้ง่ายๆ แต่สะกิดใจดิฉันอย่างยิ่งว่าสมัยนั้นผู้ดูแลนักเรียนทุนใจกว้าง มองไกล สมัยต่อมาดิฉันเคยขอข้ามจากอเมริกาไปเรียนภาษาที่ฝรั่งเศส โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดเพิ่มจากปกติที่ทางผู้ดูแลนักเรียนต้องจ่าย กลับไม่ได้รับอนุญาตด้วยเหตุผลเพียงว่า อยู่อเมริกาต้องเรียนที่อเมริกา มีสถาบันที่สอนภาษาต่างประเทศเด่นๆ อยู่ (เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มก็ไม่เป็นไร) เรื่องที่สาม เมื่อไม่กี่วันมานี้มีวิดิทัศน์แพร่สะพัดในไลน์และ facebook ชื่นชมที่โรงเรียนที่ญี่ปุ่นให้เด็กๆ ทำความสะอาดห้องเรียนของตนเอง  เรื่องนี้สำหรับรุ่นดิฉันไม่แปลก นักเรียนโรงเรียนผดุงดรุณีทุกคนมีเวรทำความสะอาดห้องเรียน รวมทั้งขัดพื้นกระดานในห้องเรียนจนเงาปลาบ เช่นเดียวกับโรงเรียนอื่นๆ อีกหลายโรงเรียน  นักเรียนโรงเรียนดรุโณทยาน ในหนังเล่มน้ีก็เล่าไว้ทำนองเดียวกัน “ต้องฝึกเรื่องการทำเวร  ตอนเย็นต้องทำความสะอาดห้อง ลบกระดานดำ … มีภาพจำติดตาว่า ต้องยกเก้าอี้หงายขึ้นวางบนโต๊ะด้วย” การที่ชาวเฟซ และชาวไลน์ ตื่นเต้นกับโรงเรียนในญี่ปุ่น หมายว่า ระบบโรงเรียนของเราถอยหลังทิ้งเรื่องดีๆ ไปอีกเรื่องหนึ่งแล้วหรือไร ถ้ามีโอกาสลองหามาอ่านนะคะ เพียงบางตอนของบันทึกที่คุณจำกัดเขียนไว้ขณะปฏิบัติการในฐานะเสรีไทยในจีน และข้อเขียนของคุณฉลบชลัยย์เล่าเรื่องท่านผู้หญิงพูนศุข ก็มีค่าล้นเหลือ  สำหรับท่านที่สนใจงานเสรีไทยของ จำกัด พลางกูร   ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้วิจัยเอาไว้ ต่อมาได้นำไปเล่นเป็นละคร ชื่อ เพื่อชาติ เพื่อ humanity   (หนังสือของสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พ.ศ. ๒๕๔๙) และยังมีเรื่องเกี่ยวกับเสรีไทยจากมุมต่างๆ กันอีกหลายเรื่องที่ควรอ่านแล้วนำมาปะ-ติด-ปะ-ต่อ กัน เพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองในช่วงนั้นให้รอบด้านมากขึ้น  นวพร เรืองสกุล …