current social and economic issue, Management
Comment 1

เดินหน้าประเทศไทย…ลงทุนด้วยกัน รวยด้วยกัน (Investment Co-Payment)

“ต่างชาติเริ่มมากว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยในราคาถูกๆ” อดีตนักการเงินที่ผันตัวเองไปเป็น นักกลยุทธ์ (strategist)  เอ่ยอย่างกลุ้มใจ  

“ประเทศเราเสียเปรียบ ๒ เด้ง 

เด้งที่ ๑  อเมริกาพิมพ์เงินฟรีๆ ออกมาไล่ซื้อของไปทั่วโลก  (ประเทศเล็กๆ อย่างเราพิมพ์เงินออกมาตามใจตัวเองแบบนั้นไม่ได้)

เด้งที่ ๒  ผู้ประกอบการกำลังขายของในราคาถูกๆ เพราะโคโรนาไวรัสที่ไม่เลิกระบาด บางรายกำลังจม  ไปต่อไม่ไหวแล้ว  ยังไงๆ ก็ต้องขาย”

ตอนนี้เป็นตลาดเป็นของคนมีเงิน + พร้อมลงทุนเพื่อโอกาสกำไรในระยะยาว   

เหตุการณ์ครั้งนี้ต่างจากครั้งปี ๒๕๔๐ (1997) ที่อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยราคาตก แต่ครั้งนั้นอเมริกาไม่ได้พิมพ์เงินออกมาปลิวว่อนแบบรอบนี้  

ทางแก้แบบสามัญที่เคยใช้มาไม่เข้ากับสถานการณ์ในยามนี้เราต้องคิดต่าง

เมืองไทยใช่ว่าจะไม่มีเงิน 

๑. เงินไหลเข้ามาเรื่อยๆ  ตลาดหุ้นพองเอาๆ   ดอกเบี้ยเงินฝากเรี่ยติดดิน  ชัดเจนว่าประเทศเรามีเงินเหลือเฟือ 

๒. สัดส่วนเงินออมของไทยสูงติดอันดับโลก   รัฐบาลใส่ใจกระตุ้นการออมเงินระยะยาวเพื่อเกษียณเสมอมา  ดังนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา เงินออมระยะยาวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)  กองทุนประกันสังคม (สปส.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เงินระยะยาวแบบนี้ เป็นโอกาสที่จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์   เพื่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว  

แต่เรามีปัญหาในเรื่อง กฏระเบียบ และทัศนคติ (mindset) ของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งภาครัฐสมควรเข้าไปช่วยผลักดัน

“ลงทุนด้วยกัน” รวยด้วยกัน   

ครั้งที่เป็นเลขาธิการ กบข. ถือว่าเป็นคนในสังเวียนลงทุน  ตอนนั้น คนมีเงินสดในมือมีน้อย  ผู้ประกอบการต้องการเงินสด  กบข. ลงทุน​ซื้ออาคารสูงชิ้นงาม มาได้ ๒ ชิ้น

แม้ในเวลานี้เป็นคนนอกสังเวียน ก็ไม่อยากเห็นต่างชาติเข้ามาหยิบอสังหาริมทรัพย์ชิ้นงามๆ ของเราไป จึงขอเสนอให้รัฐบาลเริ่มโครงการ “ลงทุนด้วยกัน”  เพื่อแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์หมวดโรงแรมที่กำลังตกต่ำมาก    

ข้อเสนอที่แหวกแนว (beyond convention) ครั้งนี้คือ

๑  ภาครัฐสนับสนุนให้ตั้งกองทุนรวม เพื่อรวมโรงแรมที่มีปัญหาเพราะโคโรนาไวรัส (โควิด-๑๙) เข้าด้วยกัน โดยภาครัฐใส่เงินบางส่วนเป็นกำลังใจ

๒. ธนาคารพาณิชย์ ดึงสินเชื่อหมวดโรงแรมที่มีโอกาสฟื้นตัวสูง มารวมกันเป็นกองทุน 

๓. นักลงทุนสถาบันต่างๆ ที่มีเงินลงทุนระยะยาว เข้ามาร่วมลงทุน   

๔. โครงสร้างการเงินของกองทุนคือ หน่วยลงทุน  ที่เกิดจากธนาคารแปลงสินเชื่อส่วนหนึ่งเป็นหน่วยลงทุน และการขายหน่วยลงทุนให้นักลงทุน  เงินของกองทุนรวมนำไปซื้อโรงแรม  ร่วมลงทุน หรือให้สินเชื่อกับโรงแรม ตามความเหมาะสม      

ทำแบบนี้ได้ สินทรัพย์ในที่ตั้งงามๆ ในประเทศไทย จึงจะอยู่ในมือคนไทยได้ในระยะยาว  ส่วนหนึ่งอาจจะอยู่ในมือกองทุนตลอดไป อีกส่วนหนึ่งขายออกไปให้ผู้อื่น หรือเจ้าของเดิมไถ่คืนไป เมื่อถึงเวลารุ่งเรืองอีกครั้ง

กองทุนที่เสนอนี้ไม่ใช่กองทุนรวมที่มีอยู่ท้องตลาดในเวลานี้ เพราะ 

ก.   ธนาคารพาณิชย์ต้องทำเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ของอสังหาริมทรัพย์แต่ละชิ้นก่อน

ข. การควบคุมภายใน  เช็คแอนด์บาลานซ์ และความโปร่งใสทางการเงิน   (internal control, check and balance, and financial transparency) ของกองทุน เป็นเรื่องสำคัญมาก    ต้องการผู้บริหารสายการเงิน (Chief Financial Officer – CFO) มือดี มีความสามารถ เข้ามาคุม

ค. คุณค่าเพิ่มของกองทุนรวมนี้คือ  (๑) ผู้ประกอบการไทย มีทางเลือกที่จะรักษาสินทรัพย์ของตนเอาไว้   (๒) สร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีความตั้งใจจะพัฒนาตนเอง ให้พร้อมเดินออกไปอย่างโรงแรมที่มีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการที่ดี และมีคุณภาพมาตรฐานโลก   

บทบาทของแต่ละภาคส่วนใน investment co-payment

  ภาครัฐสำคัญที่สุดในฐานะผู้ริเริ่มผู้วางและปรับกฎกติกาที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและเป็นแกนกลาง  

. ในระดับโครงสร้าง 

จ่ายเงินเข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุน (co-pay)  รัฐไม่ได้คิดว่าจะได้กำไรจึงทำ แต่คิดว่าเป็นการสนับสนุนให้เกิดโครงการที่จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม   การได้ผลตอบแทนเมื่อกองทุนมีกำไรเป็นผลพลอยได้   (ปันเงินมาจาก เงินสี่แสนล้านบาท เงินซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ แล้วแต่จะหามา)

มอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นแกนกลางในโครงการนี้  เพราะธนาคารพาณิชย์อยู่ในกำกับของ ธปท.   ซึ่งอาจจะต้องแก้ไขกฎระเบียบบางด้านที่เกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ด้วย และให้ ธปท. ประสานงานเรื่องการออกกองทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นผู้ร่วมมือในการให้ตั้งหรือผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการตั้งกองทุนรวมกองพิเศษนี้ 

ให้ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทหลักในโครงการ 

ธนาคารพาณิชย์แต่ละธนาคาร  มีหลักทรัพย์พึงลงทุนได้อยู่ในมือ สามารถดึงหลักทรัพย์และลูกหนี้ที่มีศักยภาพในอนาคตออกมากองรวมกันเพื่อตั้งกองทุนได้ไม่ยาก และจะสะดวกกว่าและเร็วกว่าให้ผู้อยู่ในตลาดทุนไปเสาะแสวงหาเป็นรายชิ้น 

ทางการกำหนด (๑) ขนาดขั้นต่ำของทุนไม่ต่ำกว่า  2-3 หมื่นล้านบาทต่อกอง เพื่อให้ใหญ่พอที่จะกระจายความเสี่ยง ถืออสังหาริมทรัพย์หลากหลาย (diversification) ได้ประหยัดจากขนาดของการบริหารกองทุน (economy of scale) หน่วยลงทุนของกองทุนมีสภาพคล่อง (liquidity) โดยที่การบริหารจัดการสินทรัพย์แต่ละชิ้น อาจจะมีผู้บริหารต่างๆ กันไปได้ 

(๒) สนับสนุนให้ตั้งกองทุนแบบนี้อย่างน้อย ๓ กอง (ธนาคารเดียว หรือหลายธนาคารรวมกันทำกองแต่ละกองก็ได้)  เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักลงทุน ผู้ประกอบการโรงแรม มีทางเลือก  และเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด (โมโนโปลี)  ที่ทำให้งานไร้ประสิทธิภาพ เพราะขาดการแข่งขันและการเปรียบเทียบกัน

๓. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ข้อติดขัดด้านกฎระเบียบที่ทำให้เงินทุนระยะยาวมีอยู่แล้วในประเทศไทยไม่อาจลงทุนได้หรือลงทุนได้น้อยเกินไปในยามนี้  

แต่ละกองทุนอาจติดขัดคนละที่ เช่น 

กบข.  สปส.  (ขึ้นกับนโยบายลงทุนของคณะกรรมการ และกระทรวงการคลัง)   บริษัทประกันชีวิต ขึ้นกับกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  มูลนิธิ   องค์กรเพื่อสาธารณกุศลต่างๆ และเงินกองทุนที่ให้ใช้แต่ดอกผล (endowment fund) ของมหาวิทยาลัย ล้วนเป็นเงินระยะยาว แต่ละแห่งมีข้อจำกัดต่างๆ กันไป  

การลงทุนในรูปของหน่วยลงทุน แก้ปัญหาเรื่องคณะกรรมการไม่เข้าใจ ไม่คุ้นเคย และไม่มีเงินพอจะซื้ออสังหาริมทรัพย์เดี่ยวๆ ได้เป็นอย่างดี  และการลงทุนด้วยกัน โดยมีภาครัฐสนับสนุน ก็อาจจะเพิ่มความมั่นใจได้

อสังหาริมทรัพย์คือเรื่องระยะยาว

การลงทุนในกองทุนแบบนี้ ไม่อาจหวังผลตอบแทนแค่ข้ามคืน ข้ามเดือน หรือข้ามปีได้ ต้องไปยาวกว่านั้น ดังนั้นคนตัดสินใจต้องกล้าทวนกระแส กล้ามองระยะไกล  

สมัยที่ กบข.  ซื้ออาคารช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐  ได้รับคำถามบ่อยๆ ว่า “ซื้อทำไม อสังหาริมทรัพย์เป็น ‘หนี้เน่า’ ไม่รู้หรือ”  แต่เมื่อประเทศไทยพ้นมรสุมมาแล้ว มีคนมองย้อนหลังและบอกว่า “ตัดสินใจดี ได้ของมาในราคาถูก”  เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การลงทุนระยะยาว ต้องมองไกล เพื่อหวังผลระยะยาวจริงๆ  (คือหลายๆ ปีข้างหน้า) 

“In the midst of every crisis, lies great opportunity”

Investment Co-payment ในครั้งนี้ ภาครัฐสมทบลงทุนด้วย   +  ลงมือแหวกข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ  ธนาคารลดหนี้บางส่วน  ผู้ประกอบการลดค่าของเงินทุนของตนลงบางส่วนเพื่อให้ราคาน่าสนใจสำหรับนักลงทุน   นักลงทุนจ่ายเงินซื้อหน่วยลงทุน ได้อสังหาริมทรัพย์ราคาดีกว่าที่พึงได้ในยามปกติ  เวลาฟ้าเปิด ทุกคนได้กำไรร่วมกัน และอสังหาริมทรัพย์ผืนงามๆ ยังอยู่ในมือคนไทย ในมือนักลงทุนรายย่อย (ผ่านกองทุนต่างๆ) และกลับสู่มือเจ้าของเดิมที่ต้องการ   แทนที่จะตกเป็นของยักษ์ใหญ่ไทย + ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ไปทั้งหมด

เห็นด้วย ช่วยกันแชร์ให้ถึงภาครัฐด้วย  เมื่อทุกฝ่ายที่จะได้ประโยชน์ร่วมกันลงมือช่วยกันพัฒนาความคิดเป็นการกระทำ เราคงเห็นอะไรดีๆ เกิดขึ้นมาอีกในบ้านเมืองของเรา

แผ่นดินไทย คนไทยลงทุน คนไทยได้กำไร

รีบลงมือเลย โอกาสแบบนี้อาจไม่มีมาเป็นครั้งที่สอง

นวพร เรืองสกุล 12 12 2020

เรื่องก่อนหน้าคือ วิเคราะห์ “คนละครึ่ง” กับ “เราเที่ยวด้วยกัน” ในหัวข้อ “เดินหน้าประเทศไทย …. Consumer Co-Payment

1 Comment

  1. Pingback: December (2) จาก Co-Payment ถึง Co-Investment – History Boxes

Leave a comment