All posts tagged: Thailand

เปลี่ยนยุค– ผลัดแผ่นดิน

                       เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2559 ดาวมฤตยูย้ายเข้าราศีเมษ อันเป็นเรือนลัคนาของกรุงเทพฯ และราศีเมษก็นับกันว่าเป็นลัคนาของโลกด้วย  มฤตยูจะอยู่ในราศีหนึี่งๆ ประมาณ ๗ ปี ยอดธง ทับทิวไม้ ผู้เขียนตำราโหราศาสตร์เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม กล่าวว่า ในแง่ของเศรษฐกิจการเมือง ภพที่ ๑ หรือภพที่ลัคนาสถิตหมายถึง ประชาชนของประเทศ ชีวิตจิตใจของประชาชน สุขภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิตและลักษณะเฉพาะของประชาชนในประเทศนั้น ส่วนคุณสมบัติของมฤตยู ได้แก่ความเบี่ยงเบนหรือเรื่องที่ไม่เป็นไปตามที่ควร หรือการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง และการเปลี่ยนแปลงสภาพต่างๆ ในลักษณะการปรับปรุงสิ่งเก่าๆ ขึ้นมาเป็นส่ิงใหม่ (deviation & transformation)  นี่เป็นคำกล่าวอย่างกลางๆ  ซึ่งอาจจะเป็นด้านสร้างสรรค์ที่ดี หรือเป็นด้านทำลายให้ร้ายกับดวงชะตาก็ได้ทั้งสองด้าน เช่นการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน ในส่วนที่ดีคือการมีความคิดสร้างสรรค์ ความก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งใหม่ แต่ในส่วนที่ร้ายก็คือการไม่มีกฎมีเกณฑ์ ไม่มั่นคง ไม่มีความรับผิดชอบ ความวุ่นวายสับสน ความไม่สามารถจะไว้วางใจได้ เป็นต้น แม้ว่าตำราดาวที่มีอยู่หลายตำราจะให้วันเวลาที่ดาวใหญ่ๆ เคลื่อนย้ายราศีต่างๆ กัน แต่ก็ตรงกันในประเด็นที่ว่า ในช่วงเวลาที่มฤตยูอยู่ในราศีเมษ จะมีเหตุพลิกผันหลายประการที่กระทบถึงประชาชนบ้านเมืองและในโลกใบนี้ ผู้ที่เคาะอินเทอร์เน้ตให้บอกว่า มฤตยูย้ายมาเข้าราศีเมษ ปี ค.ศ. 1849 และปี ค.ศ. 1932 ถ้ามองย้อนอดีตเราก็อาจจะโยงเรื่องราวได้เหมือนกัน แต่ในเมื่อไม่มีความรู้ทางโหราศาสตร์ ก็อาจจะกลายเป็นการลากเหตุการณ์เข้าหาตำรา  สิ่งที่มีผู้ชี้บอกก็ใส่ใจไว้สำหรับใช้ชีวิตและมองเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงรอบตัวอย่างเอาใจใส่มากขึ้นกว่าเดิม โดยคิดว่าเรากำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนอย่างไม่คาดกันมาก่อน  เราพูดกันถึงไทยแลนด์ 4.0  โลกพูดกันถึงการมาถึงของคลื่นใหญ่ลูกที่สาม และยุโรปบางประเทศพูดถึงอุตสาหกรรม 4.0 หรือการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในงานอุตสาหกรรม ทางด้านการเมือง สหรัฐอเมริกาที่เน้นนักหนาเรื่องประชาธิปไตย แต่แสดงให้ชาวโลกเห็นว่าการหาเสียงเลือกตั้งประมุขและผู้บริหารสูงสุดของประเทศคราวนี้ไม่ต่างอะไรกับเกมโชว์สามัญ ชวนให้ rethink คำว่า “ประชาธิปไตย”   ส่วนทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ โลกกำลังตึงเครียดกับการประลองสงครามประสาทระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ ในเมืองไทยเราเอง ณ เวลานี้ดูจะไม่มีเรื่องใดสำคัญและมีผลกระเทือนต่อทุกคนมากเท่ากับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙  ทรงเป็นดวงอาทิตย์ที่ทอแสงส่องสว่างให้ประเทศไทยมาเป็นเวลา ๗๐ ปี เริ่มตั้งแต่แสงอ่อนๆ แห่งอรุโณทัยเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ จนถึงช่วงเปล่งแสงประกายเจิดจ้ายามเที่ยงวัน แม้บางครั้งบางคราวจะมีเมฆมาบัาง ก็เป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว ดวงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนจนลับฟ้า สาดแต่แสงงดงามค้างไว้บนท้องฟ้า กลางคืนค่อยๆ คืบเข้ามา ในความสลัวราง ต่างคนต่างก็กวาดตามองท้องฟ้าเพื่อหาดวงจันทร์ ดวงดาว ไฟฉาย หรือแสงนำทางบางอย่าง ในใจก็รอการเริ่มขึ้นของวันใหม่ ที่อาทิตย์จะโผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมาอีกครั้ง หวังว่าคงไม่นาน และตะวันดวงใหม่ก็คงจะส่องสว่างให้ได้อุ่นใจอีกครั้ง การปิดยุคหนึ่ง คือการขึ้นต้นของอีกยุคหนึ่ง เวลาเช่นนี้เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน และในทุกครั้งแห่งการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีสิ่งไม่แน่นอนเจืออยู่ด้วยเสมอ สิ่งนั้นจะดีหรือร้ายก็อยู่ที่เราแต่ละคนด้วยเหมือนกัน มีผู้เขียนย้อนรำลึกไว้ว่า ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ “หลังความสับสนช่วงเช้ามืดที่เกิดการปะทะกันระหว่างขบวนนิสิตนักศึกษาประชาชนกับกองกำลังติดอาวุธของทางการข้างพระราชวังสวนจิตรลดา ทรงเปิดวังให้นักศึกษาเข้าไปหลบภัย และเสด็จลงเยี่ยม” เหตุการณ์วันนั้นคือการพลิกผันของสถานการณ์ที่กำลังคับขัน ที่นำไปสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นการปฏิวัติของประชาชนที่จบลงได้อย่างรวดเร็ว และสันติคืนมาโดยประเทศและประชาชนไม่ต้องประสบกับสงครามยืดเยื้อที่มีแต่จะนำความเสียหายยับเยินมาสู่ประเทศชาติ นี่คือช่วงที่ดวงอาทิตย์เปล่งประกายและยังความอุ่นใจให้กับประชาชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เรียกกันในตอนนั้นว่าวันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ เป็นวันมหาวิปโยคอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นวันแห่งความเศร้าเสียใจเมื่อประชาชนกราบถวายบังคมดวงอาทิตย์ที่ลับโลกไปแล้ว  ด้วยการ “น้อมเกล้ารำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”  ยุคเดิมสิ้นสุดลง ยุคใหม่ที่เริ่มก่อเกิดมาแล้วก็เริ่มเผยโฉมออกมามีบทบาท    แต่ละยุคมีทั้งสุขและทุกข์ แต่ระหว่างยุคคือการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นช่วงที่ยากลำบากและท้าทาย  ซึ่งจะดีหรือร้ายต่อใคร หรือดีหรือร้ายในภาพรวมเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้และรอให้อนุชนเป็นผู้ประเมิน  สำหรับผู้ที่อยู่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ก็สุดแท้แต่ “ดวง” และ “กรรม” ของแต่ละคน นวพร เรืองสกุล  ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๙

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

ประชุมครั้งที่ ๑๕ (ครั้งที่ ๓ ของปี ๒๕๕๙) ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙ สถาบันวิจัยฯ  สรุปปิดงานโครงการส่วนที่รับทำ ประธานเกริ่นหัวข้อต่างๆ ที่จะบรรจุลงในรายงานส่วนของคณะกรรมการทั้งจากความเห็นที่ได้ในห้องประชุม ในการออกไปพื้นที่ และการสนทนากับกรรมการแต่ละคน ที่ทำมาตลอดปี โดยนำเสนอเป็นแผนภาพ ให้เห็นหลักการคิดเกือบทั้งหมดที่คิดไว้แล้ว และขอความเห็นเพ่ิมเติมจากคณะกรรมการ   ประชุมครั้งที่ ๑๖ (ครั้งที่ ๔ ของปี ๒๕๕๙) ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๙ ในห้องประชุมอันร้อนระอุเพราะแอร์เสีย ของ สวปก. ซึ่งไม่เคยมาประชุมมาก่อน ประธานนำเสนอสิ่งที่เขียนเอาไว้ แต่ลืมพิมพ์ออกมาแจก  รวดเดียวจบ แล้วขอความเห็นเพ่ิมเติมอีกครั้งเพื่อปรับปรุงข้อมูลและข้อเสนอ ทุกฝ่ายรับทราบและให้ข้อคิดความเห็น ประธานรวบเรื่อง จบงานของคณะกรรมการ โดยส่วนที่แก้ไขและรายงานฉบับเต็มจะส่งให้ทุกคนได้อ่านและแก้ไขอีกครั้งทาง อี เมล์ แล้วจัดส่งท่านรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือน เจ้าหน้าที่ของ สป. นำหนังสือนำส่งมาให้ลงนามถึงรัฐมนตรี และสำเนารายงานส่งปลัดกระทรวง เป็นอันจบงาน เอกสารน่าจะออกจากกระทรวงวันที่ ๓๐ มีนาคม น่าประหลาด เป็นวันเดียวกับที่ข้าพเจ้าจบรายงาน ศปร. อันเป็นรายงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งเมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว คราวนั้นข้าพเจ้าเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ หวังว่าสิ่งที่ได้ทุ่มเททำมาตลอดปีจะมีผลดีต่อวงการสุขภาพของประเทศของเราได้พอสมควร   เอกสารรายงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งรวมสรุปรายงานของบริษัทฯ สถาบันฯ และผู้บริหารโครงการฯ เป็นเอกสารของ สธ. แต่ สธ. ไม่มีงบจะจัดพิมพ์เผยแพร่  ใครที่สนใจน่าจะขอได้ โดยตรง และ สป. จะส่งให้แบบที่ถูกเงินที่สุดคือทาง อีเมล์     ข้อคิดปิดท้ายบันทึก ว่าด้วย เก่ง ดี กล้า จะปกป้องคนดีไหม ระบบราชการ เช่น สธ และระบบงบประมาณของไทย ลงโทษคนเก่งที่ดี ด้วยการลดเงินสนับสนุน เพราะทำงานได้ดี ก็ไม่ต้องการงบประมาณมาก ถูกแล้วหรือ คนไม่ดีที่กล้า สามารถเข้าครองอำนาจและตำแหน่งผ่านพรรคพวกเพื่อนพ้อง และการข่มขู่คุกคาม ส่วนคนเก่งและดี เมื่อไม่มีความกล้า ก็ไม่อาจทำสิ่งสำคัญๆ ให้สำเร็จได้ และอาจจะแย่ยิ่งกว่าคนเก่งกล้าที่ไม่ดี เพราะดีหรือไม่ดี อาจจะเห็นผลได้ชัดในอนาคต แต่ถ้าไม่กล้าเสียแล้ว ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด   เรื่องสืบเนื่อง ๑๑ เมษายน ๒๕๕๙ มีนัดไปรายงานท่านรัฐมนตรี  ที่ปรึกษา และผู้ช่วยของท่าน และปลัดฯ ทำรายงานออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือเอง เพื่อมอบให้ท่านรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะ   ๒ พฤษภาคม ได้รับนัดไปนำเสนอเรื่องต่อ คณะกรรมการ สปสช.  

มหกรรมอาหาร ๕ ชนเผ่า

จับพลัดจับผลูได้ไปเดินเล่นอยู่ที่ถนนคนเดิน ในงานมหกรรมอาหาร ๕ ชนเผ่า ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ ได้สนุกกับอาหารอร่อยในงาน บนถนนเจ้าพระยาบดินทร์ ที่ปิดเป็นถนนคนเดิน (หมายความว่าปิดเพื่อเปิดขายอาหารและจัดกิจกรรมบนถนน) ตั้งแต่หอนาฬิกาเข้าไปในชุมชน กิจกรรมมีตั้งแต่เย็นจนสี่ทุ่ม งานนี้จัดโดยหอการค้าจังหวัดสระแก้ว การท่องเที่ยวฯ สาขานครนายก สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระแก้ว และกลุ่มกรรมการพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ ห้าชนเผ่าคือ จีน เวียดนาม กัมพูชา ญ้อ ลาว นับแบบไม่รวมไทย แต่ดูอีกทีทุกคนก็เป็นไทยนั่นแหละ จะเป็นไทยแบบชาติเดิมเป็นอะไรก็สืบสาวกันอีกที ในจำนวนนี้ที่ไม่รู้จักที่สุดคือญ้อ จึงได้ทราบว่า ญ้อมีถิ่นฐานเดิมอยู่เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี ในล้านช้าง แล้วย้ายมาอยู่ที่ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ปัจจุบันพบไทยญ้อได้ในบางอำเภอของสกลนคร นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม รวมทั้งอรัญประเทศ และพนัสนิคม  ติดใจเด็กหญิงชายและสาวหนุ่ม ที่มาร่วมออกร้านและร่วมทำกิจกรรมในงาน ทำให้ได้บรรยากาศว่าเป็นงานของชุมชนทำกันแบบสบายๆ เพื่อชุมชนคนย่านเดียวกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย ขายกันเองซื้อ กินกันเอง แสดงกันเอง และชมกันเอง ร้านอาหารแต่ละร้านไม่ได้ขายของมากมาย ไม่ได้ทำบูธเป็นหลักเป็นฐาน แค่ตั้งโต๊ะตัวเดียว มีจานชาม ถ้วย และภาชนะบรรจุอาหารปรุงสำเร็จหรือหม้อต้มสักใบ เตาปิ้งอาหารสักเตา ก็เปิดกิจการได้แล้ว หมูปิ้ง ส้มตำ ไก่ทอด มีขายทุกงานอยู่แล้ว ที่ต่างออกไปคือมีอาหารเวียดนามหลายอย่าง และขนมจีบปูก้อนเบ้อเริ่ม อร่อยด้วยเนื้อปูจริงๆ คุณแม่มานั่งกำกับโต๊ะที่ลูกๆ และหลานๆ ต่างก็เปิดขายของกันคนละชนิด คุณแม่เล่าว่า “ให้ความร่วมมือกับคนจัดงานเขาน่ะ เขามาขอให้ช่วยออกร้าน” ลูกสาวขายน้ำแข็งบดใส่ผลไม้ ลูกชายขายกระเพาะปลา หลานชายขายน้ำ น่าสนุกที่เจ้าของกิจการร้านค้ารายใหญ่บนถนนสายนั้น เปิดหน้าร้านออกมาเล่นสนุกด้วย ไม่ได้ปล่อยให้เป็นงานออกร้านของแม่ค้าพ่อค้ามืออาชีพทั้งหมด แม่ค้าวัยใสมือสมัครเล่นคนหนึ่งขายของจนมึน รับเงินลูกค้าคนหนึ่งแต่กลับส่งของให้ลูกค้าอีกคนหนึ่ง เพราะ “พี่ใส่เสื้อสีดำๆ เหมือนกัน” อ้าว แล้วกัน เวทีรำพื้นถิ่นเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เล่าเรียนฝึกซ้อมมา ได้มีเวทีแสดงความสามารถ มาเพลินเอาตอนจบที่วงดนตรีเด็ก สาวน้อยตัวจิ๋วเป็นมือกลองที่หนักแน่น หนุ่มน้อยท่าทางเขินๆ เป็นนักร้อง ส่วนกีต้าร์สองตัวนั่นรุ่นพี่คุ้นเวทีอยู่แล้ว เขาทั้งวงเล่นดนตรีเปิดหมวก มีคนวางธนบัตรให้หลายใบ น่าอิจฉาเด็กเมืองในต่างจังหวัด แทนเด็กเมืองหลวงที่ขาดเวทีให้ได้แสดงออกเช่นนี้ ประทับใจที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ที่ไม่ใช่โฟม ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์อันตราย (ตามที่มีข้อมูลส่งต่อๆ กันทางอินเทอร์เน้ต ถ้าเป็นเรื่องอื่นอาจจะไม่เชื่อ แต่เรื่องนี้ยอมเชื่อเพราะรู้ว่าบางประเทศห้ามใช้โฟมใส่อาหารทั้งประเทศไปแล้ว) บางร้านใช้จานชามกระดาษ บางร้านใช้กล่องบรรจุอาหารทำจากมันสำปะหลัง เมื่อสังเกตกล่องใส่อาหารแล้ว ก็พลอยสังเกตเลยไปด้วยว่า งานนี้ขยะไม่เกลื่อน ใครกินตรงไหน ร้านค้าตรงนั้นเก็บ เป็นความใส่ใจแบบผู้มีวัฒนธรรมพึงทำ ไม่กินแล้วทิ้งเรี่ยราดให้คนอื่นต้องตามเก็บตามกวาดทำความสะอาดตามหลัง ได้รับทราบจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในภายหลังว่า การไม่ใช้โฟมใส่อาหารเป็นการรณรงค์และขอความร่วมมือร่วมกันระหว่างฝ่ายราชการกับผู้ประกอบการ ทางราชการหาทางชักจูงให้ทำกันทั่วๆ และกลายเป็นนโยบายของชาติได้จะเป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อประเทศและประชาชนอย่างแน่นอน นวพร เรืองสกุล มกราคม 2559 

ก้าวต่อไปของธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) เกิดเมื่อวันที่  10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 นับถึงปี พ.ศ. 2558 ก็อายุกว่า 70 ปีแล้ว ถ้าเป็นคนก็สูงอายุ รอวันไปโรงพยาบาล รอวันไปวัด แต่องค์กรกลับดูมั่นคงและสง่างามตามวันเวลาที่ล่วงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการตั้งสถาบัน เมื่อเหลียวหลังมองแล้วพบว่า เป็น 70 ปีที่เต็มไปด้วยการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และการเห็นการณ์ไกล เป็นที่พึ่งของประเทศได้ ธปท ให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก ก่อนรัฐบาลจะมีนโยบายเน้นเรื่องส่งออก ออกไปเปิดสาขาในภูมิภาคเพื่อสามารถเข้าใจพื้นที่และเป็นจุดกระจายการให้บริการต่างๆ ของธนาคารกลาง ก่อนที่เรื่องความสำคัญของท้องถิ่นจะได้รับความสนใจกว้างขวาง ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรเพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองมากขึ้นในการผลิตธนบัตรสนองความต้องการใช้ในประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงให้ระบบธนาคารของไทยด้วย พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฉบับใหม่ ควบคู่ไปกับรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประชาชนฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากอยู่หลายสิบปี จนกระทั่งธนาคารพาณิชย์ไทยก้าวขึ้นเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ เมื่อธนาคารพาณิชย์ไทยมั่นคงแล้ว ธปท ก็ก้าวต่อไปพัฒนาตลาดทุน เช่น ริเริ่มตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนให้มีสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งกำกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ธนาคารเคยกำกับเองอยู่ด้วย  ช่วยตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยพร้อมทั้งยกธุรกิจด้านการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกให้ธนาคารใหม่ทั้งหมด ในทุกกรณี ธปท สนับสนุนสถาบันใหม่ๆ ด้วยเงิน และด้วยคนที่ให้ยืมไปใช้ ในช่วงที่เริ่มก่อตั้ง จนกระทั่งตั้งตัวได้ ทั้งหมดนี้ยังไม่นับเรื่องที่มีส่วนช่วยทำทางอ้อมอีกนานาประการ เพื่อให้ประเทศของเราเข้มแข็งขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปรับปรุงระบบการเงินอย่างสม่ำเสมอให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลีี่ยนแปลงไป ตอนนี้ก็ต้องรอดูว่า ผู้ว่าการคนใหม่วัยฉกรรจ์ กับสภาพแวดล้อมใหม่ในการเป็นประชาคมอาเซียน และสภาพสังคมใหม่ที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมองไกลและสร้างองค์กรหรือการปฏิบัติงานเช่นไร เพื่อบันทึกในอนาคตว่า เป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ สองเรื่องที่น่าจะอยู่ในความสนใจ ไม่ว่าจะทำโดยตรงหรือโดยอ้อมก็คือ 1. เรื่องผู้สูงอายุ 2. เรื่องการช่วยให้เกิดความมั่นคงในสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ของประเทศ สังคมผู้สูงอายุต้องการกฎหมาย กติกา ข้อบังคับเพิ่มเติม เพื่อสนองตอบพลเมืองชุดใหม่ที่มีความต้องการและความจำเป็นต่างไปจากพลเมืองชุดเดิมที่เป็นเด็ก หรือเป็นคนวัยทำงาน กฎหมายที่หลายประเทศมี แต่ไทยยังไม่มี เช่น กฎหมายทรัสต์เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลเงินของผู้สูงอายุ ตามที่ผู้สูงอายุเจ้าของเงินมอบหมาย เพื่อประโยชน์ของผู้สูงอายุคนนั้นๆ ตราบเท่าที่ผู้สูงอายุคนนั้นยังมีชีวิตอยู่  เป็นการเอื้อให้คนที่หาเงินมาทั้งชีวิตได้จัดการกับเงินของตนเองเพื่อตนเองในบั้นปลายของชีวิต เพื่อให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีสมกับที่ได้หาเงินเลี้ยงตนเองมาตลอดชีวิตการทำงาน กฎหมายให้ธนาคารพาณิชย์ทำทรัสต์ได้ เพื่อให้ธนาคารสามารถตั้งแผนกดูแลเงินและบริการที่เกี่ยวข้องกับเงินของผู้สูงอายุ ตลอดจนให้ทำ reverse mortgage หรืออะไรทำนองนั้นได้ เพื่อแปลงสินทรัพย์ถาวรที่มีมูลค่าของผู้สูงอายุ กลับเป็นกระแสเงินสดเพืื่อเลี้ยงเจ้าของสินทรัพย์นั้นเอง ผลักดันสถาบันการเงิน และเสนอแนะกระทรวงการคลังให้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีทางเลือกในการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณของตนเอง กฎหมายคุ้มครองเงินและสินทรัพย์ของผู้สูงอายุ เพื่อให้ปลอดภัย และเท่ากับเอื้ออำนวยให้ผู้สูงอายุแต่ละคนมีอิสระภาพทางการเงินอย่างยั่งยืน  ไม่เป็นภาระของลูกหลานและสังคมโดยไม่จำเป็น กฎหมายควบคุมดูแลผู้ประกอบการด้านที่การเงิน ที่พัก และด้านบริการที่ให้กับผู้สูงอายุ ที่ไม่อาจพึ่งตนเองด้านการบริหารจัดการเงิน ที่อยู่อาศัย และการดำรงชีวิตอย่างปรกติได้ ให้ได้มีความสุขตามอัตภาพในวัยปลายของชีวิต เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นสังคมผู้สูงอายุ อันเกิดจากครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ครอบครัวเดี่ยวมีมากขึ้น และคนอายุยืนขึ้น ส่วนเรื่องการกำกับสถาบันการเงินอื่นๆ  ตอนนี้กิจการประกันชีวิตกับสถาบันการเงินของรัฐ มีความร่วมมือด้านกำกับดูแลกับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว  คงขาดสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่กระทรวงต้นสังกัดยังปล่อยให้นำเงินของสมาชิกไปลงทุนได้อย่างโลดโผน ผิดจากวัตถุประสงค์ของการให้สมาชิกฝากและกู้กันในวงของตนเอง เรื่องนี้เป็นงานที่ต้องทำอย่างจริงจัง ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายกลายเป็นปัญหาแก้ยากในอนาคต ธปท อาจจะทำทุกเรื่องไม่ได้ แต่ก็สามารถรับเป็นธุระให้กับรัฐบาลได้อย่างแน่นอน เพราะหน้าที่หนึ่งของ ธปท คือ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับรัฐบาล ลงในสกุลไทย ฉบับที่ 3189 ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นวพร เรืองสกุล

New Year Wishes for Thailand

“A society where discussion on any issue is based upon information and reason rather than on emotion, rhetoric. and cliche.” “A society where rules of law prevail and everyone, regardless of economic and social status, is treated equally under the same legal violation. This is the true basic of a democratic society, not the one man one vote issue while people of different ranks and status are treated differentially.” “Central and provincial arms of the central government should allow communities and local government to decide and determine affairs in their own jurisdiction. Local self government is a priority.” “A society where citizens respect fellow citizens’ rights while guarding their own rights. A society where citizens understand and do their duty and being law abiding citizens even when not being monitored by any law enforcing body.” “Every one should live within one’s means and should provide for one own’s financial security.” “Corruption should be contained or lessened. Transparency is important.  Please give relevant and timely information on new projects so citizens can help monitor government projects.” …

การบริหารเงินและบริหารคน

การบริหารเงินและบริหารคน สนทนา+บรรยาย สำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๕ การบริหารเป็นไปเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ 2.  องค์ประกอบในขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ ต้องมี คน เงิน และอุปกรณ์ (รวมที่ดิน อาคาร) และมีการบริหารจัดการเพื่อให้สามสิ่งแรกสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ                 3.  การบริหารคนมีหลายขั้นตอน การคัดเลือกพนักงานเป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น ขั้นตอนอื่นๆ สำคัญพอๆ กันหรือมากกว่า เพื่อให้ผู้เข้ามาเป็นพนักงานทำงานอย่างมีความสุขและทำได้เต็มตามศักยภาพของตน ขั้นตอนอื่นๆ เพื่อนร่วมงานสำคัญมาก องค์กร นโยบาย และการพนักงานเป็นส่วนประกอบ คณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานเป็นเพื่อนร่วมงานแต่อยู่ลำดับสำคัญกว่าผู้อื่น คือเป็น first among equals 4.  คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการบริหารคนคือความเที่ยงธรรม  หรืออีกนัยหนึ่งคือการวางโครงสร้างการบริหารจัดการให้เป็นระบบที่ดี หรือให้มีธรรมภิบาล องค์ประกอบสำคัญที่สุดคือ ความเป็นที่ไว้วางใจ มีระบบที่ชัดเจนให้รู้บทบาทและความรับผิดตามหน้าที่ มีการทำงานอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ และมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ผู้เป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งงานควรระวังการติดในกับดักของการสั่ง how to แทนที่จะกำหนดผลที่ต้องการ การสั่งทุกขั้นตอนทำให้ไม่มีความคิดและวิธีการทำงานตามความถนัดเกิดขึ้นในองค์กร ลองคิดดูว่าการสอนจะน่าเบื่อเพียงใด ถ้าอาจารย์ผู้สอนวิชาหนึ่งๆ ไม่มี authority ในการสอนในห้องเรียน หรือต้องรับคำสั่งรายชั่วโมงว่าให้สอนอะไรบ้างอย่างละเอียด แทนการกำหนดวัตถุประสงค์และสิ่งที่ต้องการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในวิชานั้นๆ การสั่งที่ดีคือสั่งเป้าหมาย ด้วยคำสั่งที่ผู้จะดำเนินการเข้าใจได้ แล้วผู้สั่งคอย monitor ความก้าวหน้าเป็นระยะ คอยแก้ไข แนะนำหรือปรับปรุงเพื่อให้ได้ผลงานที่ต้องการ ในการบริหารองค์กรไม่ว่าระดับใด งานติดตามเป็นงานที่สำคัญมาก แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสำคัญในระบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป 5.  ในเรื่องการเงิน ในประสบการณ์ส่วนตัว รู้สึกว่าผู้อยู่ในแวดวงอุดมศึกษาภาครัฐมักมีความเข้าใจในเรื่องความรับผิดชอบด้านการเงินแตกต่างจากภาคเอกชนค่อนข้างมาก และโดยส่วนตัวคิดว่านี่เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การบริหารสถาบันการศึกษาภาครัฐขาดมิติด้านการคำนึงถึงการใช้่จ่ายให้เหมาะสมและคุ้มค่าไปมาก การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายเพื่อลงทุน (capital expenditure) และการดูแลใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ประกอบกับการงบประมาณที่ยืดหยุ่น เน้นประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ให้หมดๆ น่าจะได้รับความใส่ใจมากกว่าที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน องค์กรไม่แสวงหากำไร (not for profit organization) ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องคิดถึงการหารายได้ หรือไม่ควรมีกำไร แต่ควรหมายความว่าไม่ได้คิดถึงกำไรสูงสุดที่เป็นตัวเงินในทุกสิ่งที่ทำ การหารายได้ เพื่อพึ่งตนเองให้ได้ และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแน่นอน   6.  การหารายได้เป็นเรื่องที่มักน่าสนใจน้อยกว่าการคิดเรื่องการใช้เงิน ดังนั้น ควรหารายได้ควบคู่ไปกับการคิดเรื่องรายจ่าย ส่วนจะคิดอะไรก่อนอะไรหลังก็แล้วแต่กรณีไป คิดเรื่องรายจ่ายก่อน แล้วคิดหารายได้มาเพื่อการนั้น อาจจะได้รับความร่วมมือร่วมใจกันด้วยดี เพราะมีจุดหมายร่วมกัน แต่บางครั้งการคิดรายจ่ายก่อนอาจจะจำกัดวิสัยทัศน์ในการใช้่จ่ายได้ เมื่อผู้คิดเกรงว่าไม่อาจหารายได้ได้ จึงคิดแต่โครงการเล็กๆ  จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสมดุลให้ดีระหว่างสองด้านนี้ 7. การหารายได้ทำได้จากทุกปัจจัยการผลิตที่ได้กล่าวไปแล้วใน slide 2 แต่ละมหาวิทยาลัยต้องกลับไปดูความสามารถที่มีเพื่อสร้างจุดแข็งอันเป็นจุดหารายได้ ตัวอย่างการหารายได้เช่นนี้มีโครงการให้เลือกศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยไทย และต่างประเทศ  ในต่างประเทศ ตัวอย่างของการใช้อุปกรณ์คือการเป็น business incubator หรือ ให้ใช้เครื่องมือทดสอบทางวิทยาศาสตร์ สำหรับบริษัทขนาดเล็ก เป็นต้น ด้านทรัพย์สินทางปัญญา จะเห็นตัวอย่างในมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายแห่งทีเดียว สำหรับในประเทศไทยกรณีที่ดินอาคาร หรือเงินลงทุน มีตัวอย่างที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง เช่น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ มศว เป็นต้น 8.  การลงทุนในปัจจัยการผลิตต่างๆ นั้น เมื่อได้ทำไปแล้ว ก็ต้องนำมาใช้ให้เกิดผลตอบแทนให้มากที่สุด ตัวอย่างการลงทุนที่อาจจะไม่ชัดเจนนัก คือ การลงทุนในคน การลงทุนในนักศึกษา นอกจากในห้องเรียน ก็คือการให้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ให้ได้ประสบการณ์ในด้านการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคม การเป็นพลเมืองที่ดี และการมีจิตอาสา เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้พลเมืองดีที่มีความรอบรู้ เป็นบุคคลมีค่ามีประโยชน์ต่อสังคม การลงทุนในพนักงานสายสนับสนุน ก็เพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้าในงาน ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งส่งผลเป็นความสะดวกของอาจารย์และนักศึกษา การลงทุนในอาจารย์ ก็เพื่อให้มีความรู้ความชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นในงานสอน งานวิจัย หรืองานบริหาร ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ เช่น ฝึกอบรม หรือให้ได้ดูงานเฉพาะเจาะจง เป็นต้น และเม่ื่อได้ลงทุนไปแล้วในด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ต้องมีระบบรองรับให้อาจารย์สามารถทำงานที่ตนถนัดได้อย่างเต็มที่ ไม่เสียเวลาไปกับงานธุรการ หรืองานกึ่งบริหาร ซึี่งเบียดบังเวลาที่ให้กับนักศึกษา การสอน และการวิจัย …

ที่นี่มีความหมาย ภาพฉายที่ 3

ภาพฉายที่ 3 อนาคตที่เป็นไปได้ เมื่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐปรับตัวและก้าวไปข้างหน้า ภาพฉายที่ 1 และ 2 ไม่เป็นผลบวกต่อมหาวิทยาลัยของรัฐ และเชื่อว่าไม่มีมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งใดจะตั้งอกตั้งใจเดินไปในแนวทางที่บรรยายมาแล้ว เว้นแต่จะมองจุดอ่อนและจุดเด่นสลับกัน หรือให้น้ำหนักผิดไป ซึ่งอนาคตเท่านั้นจะบอกได้ว่า อะไรเหมาะสมกับกาลเวลากว่ากัน การจะเติบโตแข็งแรงอย่างงดงามสำหรับอนาคต ที่สภาพแวดล้าอมเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันและอดีตอย่างมาก สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งต้องหันมามองตนเองอย่างจริงจัง หาจุดอ่อนและจุดเด่นที่แท้จริง ลดจุดอ่อนที่บอ่นทำลายศักยภาพหรือเหนี่ยวรั้งการก้าวไปข้างหน้าลง และสร้างหรือเสริมจุดเด่นให้ยิ่งๆ ขึ้น ด้วยคุณภาพของคณาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐมีอยู่ และด้วยคุณภาพของนักศึกษาที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น การปรับเปลี่ยนเพื่อรักษาความเป็นเลิศให้คงนานย่อมเป็นไปได้ มหาวิทยาลัยของรัฐต่างก็ศึกษาแนวทางและวางแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยไว้แล้ว บทต่อๆ ไปของข้อเขียนนี้คือส่วนเสริมที่เพิ่มมิติในด้านการสร้างความรู้รอบให้นักศึกษา เพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพของสังคม การศึกษา 4 ปีในมหาวิทยาลัยไม่ใช่ 4 ปีแห่งการให้ความรู้เพื่อการได้งานทำเฉพาะหน้าทันทีที่เรียนจบ แต่เป็น 4 ปีที่กระตุ้นพุทธิปัญญาในตัวบุคคลให้งอกงาม เพื่อเป็นรากฐานและเครื่องมือในการครองชีวิตอันยาวไกลอีกหลายสิบปีข้างหน้าอย่างคนมีค่าต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชนรอบตัว และต่อสังคม ไม่ว่าจะสังคมใดในโลก

ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี ฯลฯ

ดุลยภาพ ดุลยพินิจ มติชนรายวัน 26 ธันวาคม 2555 Board practice: nomination process ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี ฯลฯ  นวพร เรืองสกุล หลังจากเขียนเรื่องการวางแผนสืบทอดกิจการในมหาวิทยาลัยไปแล้ว ได้เกิดการสนทนาทางหน้าหนังสือพิมพ์มากกว่าหัวข้ออื่นๆ คราวนี้จึงขอนำประเด็นต่างๆ มาถกกันต่อ กติกากำหนดพฤติกรรม บุคคลนอกสภามหาวิทยาลัย เข้าใจว่าสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจเต็มในการคัดเลือกและแต่งตั้งอธิการบดี (และตำแหน่งอื่นๆ) แต่ประสบการณ์ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย พบว่าสภาฯ ไม่ได้มีอำนาจมากขนาดนั้น หรือถึงมีก็ไม่ได้ใช้ ช่องว่างระหว่างสิ่งที่ควรเป็นตามความคาดหวังและสิ่งที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ มีสองเหตุคือ ระเบียบกติกาการสรรหาอธิการบดี (และตำแหน่งอื่นๆ ด้วย) ที่สภาสร้างขึ้นมา โดยความเห็นชอบของประชาคมภายในมหาวิทยาลัย วัฒนธรรมการทำงาน (ทั้งดีและไม่ดี) ของแต่ละสภา วัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่สำคัญที่สุดคือ มักไม่ค่อยมีการ “ไม่อนุมัติ” ข้อเสนอของคณะกรรมการที่สภาฯ ตั้ง การสรรหาชื่อบุคคลเพื่อเสนอต่อสภาฯ โดยคณะกรรมการสรรหา (nomination committee) อาจทำได้หลายแบบ สองแบบหลักๆ ที่ใช้กันคือ (๑) ให้เสนอชื่อโดยส่วนงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย และ/หรือให้ผู้สมัครยื่นใบสมัคร เพื่อคัดเลือก ซึ่งทำให้คณะกรรมการเป็น selection committee กับ (๒) การออกไปเสาะหาอย่างจริงจัง โดยคณะกรรมการเป็น search committee กติกากำหนดผู้ชนะ Inbreeding ที่เกิดขึ้นในแต่ละมหาวิทยาลัยเกิดจากกติกาเพราะแทบทุกมหาวิทยาลัยจะใช้ทางเลือกที่ ๑ ประกอบกับกติกาเพิ่มเติมคือ ผู้สมัครต้องเป็นศาสตราจารย์ หรือ รองศาสตราจารย์ และได้ปริญญาเอก เว้นแต่จะหาไม่ได้จะใช้บุคคลภายนอก จึงมาขอยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งยากที่มหาวิทยาลัยชั้นนำจะรับว่า ไม่มีตัวคน มีการยื้อกันในแนวคิดว่า คณะกรรมการสรรหาควรพิจารณาโดยรวมคะแนนเสียงที่ได้รับมาจากการเสนอชื่อตาม ข้อ ๑. หรือว่า เพียงเอาความถี่มาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ข้อ ๒ นี้เป็นอุปสรรคที่ใหญ่มาก และมักจะเถียงกันไม่รู้จบ ท้ายที่สุด กรรมการสรรหาก็มักจะตัดปัญหาสำหรับตนเองโดยการเลือกคนที่ได้คะแนนเพียงสองลำดับคือ ที่ ๑ กับที่ ๒  กระนั้นเมื่อคณะกรรมการสรรหาเลือกคนได้ไม่ถูกใจผู้ลงคะแนนเสียง บัตรสนเท่ห์ยังปลิวว่อน พร้อมข้อกล่าวหาที่ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องด่างพร้อยแปดเปื้อนไปหมด แนวปฏิบัติในข้อนี้ทำให้ ชื่อบุคคลที่มาจากข้างนอกตกไปเลยตั้งแต่เริ่มเปิดซอง เทียบกันไม่ได้กับคนใน ซึ่งมักจะมีตัวเด่นหรือมีการหาเสียงไปพลางๆ แล้ว กระทั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลงานธุรการออกหนังสือเวียนโน้มน้าวหาเสียงแทนผู้สมัคร ก็เคยมี ด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นกรรมการที่มีสิทธิเสนอชื่อ ดิฉันไม่เคยเสนอชื่อใครเลย เพราะรู้สึกว่าใช้เวลาคิดไปก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อทำให้กระบวนการเดินไปตามครรลอง สภาฯ ที่เป็นจุดสิ้นสุดของการตัดสินใจ ซึ่งดูเหมือนว่ามีอำนาจเต็ม จึงเหลือเพียง  อำนาจดูว่าทุกอย่างถูกต้องตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่วางไว้ การสรรหาจึงไม่ต่างอะไรกับพิธีกรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยจึงได้คนที่คนในมหาวิทยาลัยพอรู้จัก เป็นคนที่ไม่มีปัญหากับใคร และเป็นคนในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอนเพราะกติกาเอื้ออยู่แล้ว เส้นทางที่เลือกเป็นเส้นทางที่เรื่อยๆ สบายๆ ไม่เสี่ยงกับการถูกฟ้องศาลปกครอง แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะ search ต้องมีเป้าหมายชัดๆ ว่าต้องการผู้บริหารมาทำอะไร การสรรหา อาจเป็นการแสวงหาได้ เมื่อสภาฯ และประชาคมในมหาวิทยาลัยมีแผนระยะยาวที่เห็นพ้องกัน และต้องการได้ผู้บริหารมาทำงานนั้น แต่ก็อาจจะไม่เกิดก็ได้ เพราะอาจจะยังใช้วิธีการเสนอชื่อดังเดิม เคยได้เป็นประจักษ์พยานการพยายามสร้างทิศทางที่ประสงค์ก่อนที่จะสรรหา หรือการกำหนดความคาดหวังไว้อย่างเลิศเพื่อความรุ่งโรจน์ของมหาวิทยาลัย แต่ว่าเมื่อถึงเวลาส่งหนังสือไปขอให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อส่งชื่อเข้ามา ปรากฏว่าไม่มีทิศทางหรือความฝันดังกล่าวแนบไปด้วย และผู้สมัครที่ไม่ใช่คนวงในก็ไม่ได้เห็นเหมือนกัน ทิศทางที่ประสงค์ ความฝันที่ตั้งใจ จึงเป็นเพียงตัวหนังสืออยู่ในรายงานการประชุม สิ่งนี้เกิดขึ้นโดยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ผิดขั้นตอนเลย รวมถึงสภามหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งเป็นผู้อนุมัติทิศทางและความคาดหวัง เป็นผู้ตั้งกรรมการสรรหา และเป็นผู้อนุมัติชื่อขั้นสุดท้าย คนนอกหรือคนใน ในความเห็นของผู้เขียนเอง การบริหารจัดการที่ต้องการเห็นเปลี่ยนแปลงไปจากระบบราชการ ควรเกิดขึ้นทันทีในช่วงเปลี่ยนผ่านสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ตอนนั้นการหาคนนอกที่เก่งบริหารเข้ามาเป็นอธิการบดี โดยทำงานร่วมกับบุคคลภายใน น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทุกมหาวิทยาลัยทิ้ง “ช่องว่างให้ฉวยโอกาส” ตรงนี้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะข้ออธิบายว่า สังคมภายในมหาวิทยาลัยกำลังหวั่นไหว ต้องการคนในมาช่วยกันปลอบขวัญหรือสร้างความเชื่อมั่น ด้วยเหตุผลดังนี้ สังคมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยจึงไม่มีโอกาสจะเห็นและประเมินว่า การให้คนนอกที่เก่งบริหาร เข้ามาบริหารงานมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นอย่างไร ถ้าถามว่าเหตุใดจึงไม่เปลี่ยนกฎที่สร้างขึ้นมาเอง ก็มีคำตอบเหมือนกัน เช่น – “ประชาคม”ไม่เห็นด้วย เลือกคนนอกก่อนไม่เหมาะ เพราะ “เขาไม่รู้เรื่องภายใน” และ “คนในจะเสียกำลังใจ” – เลือกโดยใช้วิธีเสาะแสวงหา …