Digital Money ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566
ในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป เดือนเมษายน ๒๕๖๖ พรรคหนึ่งนำเสนอว่าจะแจกเงินดิจิทัลให้ราษฎร มีผู้ส่งข้อเขียนหนึ่งมาให้ซึ่งผู้เขียนชี้แจงแสดงเหตุว่าถูกต้อง เหมาะสม ทันสมัย และอธิบายว่าเป็นนโยบายการเงิน (เอาดิจิทัลมันนีที่หาเสียงไปโยงว่าเป็นบาทดิจิทัล ที่ธนาคารชาติกำลังศึกษาอยู่) อ่านแล้วกุมขมับว่าพูดอะไร (วะ) ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้ เพราะว่ารู้ และจำเป็นต้องชี้ การเมืองเรื่องนี้ “ธุระมันใช่” ไม่เข้าใจ รู้ไม่ทัน หายนะจะมาเยือน วิชานี้ขอเรียกว่า เศรษฐศาสตร์ 100.1 มี ๓ หัวข้อ ข้อ 1 เงิน เงินกระดาษ อีมันนี ดิจิทัลมันนี เงินคืออะไร คือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ที่สังคมตกลงร่วมกันว่าจะใช้เงินนี้เป็นตัวกลางวัดค่าและแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการกัน เบี้ยกุดชุม เป็นเงินในหมู่บ้านกุดชุม เงินบาทเป็นเงินในประเทศไทย จะไปใช้เงินนี้ที่อื่น ต้องแลกเป็นเงินที่สังคมนั้นๆ ยอมรับ เงินมีหลายหน้าที่ [วันนี้เว้นเรื่องนี้ไปก่อน] สังคมทั่วไปในยุคที่ค้าขายกันมากๆ ใช้โลหะเงินหรือทองคำเป็นเงินตรา แต่สมัยที่เราเกิดมาก็รู้จักแต่เงินกระดาษ เท่านั้น เงินกระดาษ ออกโดยธนาคารกลาง หรือรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง แล้วแต่แต่ละประเทศจะตกลงกันภายในประเทศนั้นเอง (หยิบธนบัตรออกมาดูเลยค่ะ) การจะออกเงินมาได้มีกฎหมายกำหนดไว้ ไม่ใช่ว่านึกอยากจะใช้เงินก็พิมพ์เงินออกมาดื้อๆ ง่ายๆ เพื่อความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย เราไม่หอบเงินกระดาษไปเป็นฟ่อนๆ (เว้นแต่บางกรณี) แต่เอาไปฝากธนาคารพาณิชย์ไว้เป็นบัญชีเงินฝาก เมื่อต้องการใช้เงินก็ถอนเงินสด หรือใช้เช็คสั่งจ่าย สั่งโอนจ่าย สมัยนี้ใช้วิธีสั่งจ่ายทางอีเลิกทรอนิกส์ได้ด้วย เงินอีเล็กทรอนิกส์มีหลายรูปแบบ ทดลองกันเรื่อยมาตั้งแต่เดบิตการ์ด และสุดท้ายไร้การ์ด เป็น App. ที่แทบทุกคนใช้ (และถูกมิจฉาชีพหลอกจนเงินเกลี้ยงกระเป๋าก็มี) รวมเงินในกระเป๋าสตางค์ที่รัฐใส่เงินหรือร่วมจ่ายให้เมื่อผู้มีสิทธินำไปใช้จ่าย เช่น โครงการเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เป็นต้น สุดแท้แต่จะเรียกชื่อกันไปให้แตกต่าง แต่ทุกอันเหมือนกัน คือตั้งต้นที่มีเงินฝากในธนาคาร เงินดิจิทัล เช่น บาทดิจิทัล หยวนดิจิทัล เงินนี้ไม่ต้องมีคนกลางรับฝาก เป็นเงินที่ล่องลอยอยู่เหมือนลม อยู่ได้เพราะไฟฟ้า มืคือมี ธนาคารกลางเป็นผู้ออก (ต่างจากเงินคริปโต หรือ crypto curency ต่างๆ ที่คนหรือนิติบุคคลพยายามออกมาใช้แทนเงิน โดยหาตัวสร้างความมั่นคงให้คนเชื่อมั่นต่างๆ กัน) ตอนนี้หยวนดิจิทัลออกใช้แล้ว ส่วนบาทดิจิทัล ไทยเรากำลังศึกษากันอยู่ ***กติกาการออกเงินดิจิทัล เป็นแบบเดียวกับเงินกระดาษ*** ต่างกันที่ตัวเงิน แต่ ไม่ต่างกันในวิธีการนำออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เงินกระดาษออกมาทางไหน เงินดิจิทัลออกมาทางนั้น เอาเงินกระดาษออกมาไม่ได้ เงินดิจิทัลก็ไม่ออกมาเช่นเดียวกัน ดังนั้นกระเป๋าเงิน จะเป็นกระเป๋าหนังจรเข้ หนังควาย หรือ e wallet หรือ digital wallet ถ้าไม่มีเงินใส่เข้าไปก็เป็นแค่ “เป๋า” แห้งๆ ข้อ 2 นโยบายการคลังกับนโยบายการเงิน กระทรวงการคลังกับธนาคารชาติเป็นคู่แฝดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ มีการแบ่งงานกันทำ ส่วนที่เหลื่อมกันก็คุยตกลงกันก่อน นโยบายการคลัง คือเรื่อง หารายได้จากไหน จะใช้จ่ายอย่างไร เงินไม่พอทำไง เงินเหลือทำไง ก. รายได้มาจากภาษี ถ้าคิดจะลดภาษี แปลว่ารายได้ของรัฐจะลด ขึ้นภาษี รายได้ของรัฐก็เพิ่ม (แต่ถ้ามากเกินไป ก็อาจได้ผลกระทบทางลบได้ เพราะคนหมดแรงทำงาน) และต้องคิดว่าจะเพิ่ม/ลดให้ใคร เพราะมีผลกระทบอีกหลายเรื่องตามมา (หมายถึงภาษีเงินได้นะ ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต้องคิด เก็บแค่น้ีก็ต่ำมากแล้ว) ข. รายจ่ายอยู่ในกรอบของงบประมาณรายจ่าย นักการเมืองแย่งกันทำหน้าที่นี้กันจัง ขอเพิ่ม ขอย้ายงบเข้าท้องถิ่นตน ขอตัดงบที่ตัวไม่เกี่ยวหรือไม่ได้หน้า นักการเมืองชอบลดภาษี และชอบเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ทำให้เกิดการชักหน้าไม่ถึงหลังเป็นประจำบางประเทศจึงผูกงบประมาณสองด้านนี้ไว้ด้วยกัน จะเพิ่มรายจ่าย ต้องพิจารณาเรื่องเพิ่มภาษีไปพร้อมกันด้วย …