All posts tagged: nawaaporn

ไทยพีบีเอส ควรเป็นอย่างไร

คำถามท้าความคิด-  ถ้าคุณเป็นผู้อำนวยการ /กรรมการ/ภาครัฐที่ต้องดูแลองค์กรแบบนี้ คุณจะมีแนวทางอย่างไร คำตอบยาวมากค่ะ ถ้าเป็นผู้อำนวยการ  ดิฉันขอคณะกรรมการที่เข้าใจเรื่องของ PBS หรือ PSB (การแพร่ภาพเป็นบริการสาธารณะ) อย่างแท้จริงด้วย ถ้ากรรมการไม่เข้าใจก็ขอให้ปล่อยให้ดิฉันและทีมงานที่เสนอตัวเข้ามาทำได้ทำ แล้วคอยดูผล ขอให้กรรมการถือพระราชบัญญัติเป็นไม้บรรทัดคอยวัดผลงาน แทนการถือระเบียบราชการคอยวัดทุกฝีก้าว โดยไม่ให้ความสำคัญหลักกับผลงานขององค์กร) คณะกรรมการที่จะรับรู้ว่า ไทยพีบีเอส เป็นทั้งเจ้าของสถานีและผู้ผลิตรายการที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร จึงอาจจะเฉื่อยและหย่อนประสิทธิภาพได้ง่าย ดังนั้นคณะกรรมการและผู้อำนวยการจะต้องมี KPI เพื่อให้บรรลุผลในการเป็น provider ที่มีความสามารถ นำเสนอรายการคุณภาพ และเป็น distributor ที่มีประโยชน์ต่อสังคม สามารถหารายการมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมมาป้อนผู้แพร่ภาพในประเทศได้ ยกตัวอย่างสิ่งที่อาจจะแปลงเป็น KPI ได้ดังนี้ การทำหน้าที่ provider ไม่จำเป็นต้องผลิตเองเพื่อแข่งขันกับเอกชน  แต่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ที่มีสาระได้เติบโต จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า  โดยการคัดเลือกผู้ทำรายการต้องได้สมดุลระหว่างคนมืออาชีพเดิม กับคนหน้าใหม่แต่มีผลงานดีมีศักยภาพที่จะเติบโต วัดผลคุณภาพได้หลายทาง เช่น *สามารถขายรายการที่ผลิตได้ ให้กับสถานีอื่นทั้งในและต่างประเทศ ทั้งสถานีที่ทำเพื่อการค้าและในสถาบันการศึกษา  เพราะนี่คือจุดวัดความสามารถในการแข่งขันที่ดีที่สุด และไทยพีบีเอสก็คงไม่อาจจะอ้างได้ว่ายากไป เพราะประเทศเพื่อนบ้านก็ดูรายการโทรทัศน์ของเราและประเทศเรามีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเป็นสิบล้านคน น่าจะมีผู้สนใจเรื่องราวด้านต่างๆ ของไทย สุวรรณภูมิ หรืออาเซียน จำนวนไม่ใช่น้อย *สามารถขายแผ่น DVD สารคดีเหล่านี้ได้ วัดผลงานจากรายรับค่าขายสินค้า + วัดผลงานจากการได้รับการสนับสนุนรายการ (ทั้งเป็นเงิน และเป็นสินค้าและบริการ) และเงินบริจาคคิดเป็นจำนวนเงิน/ปี ด้วย *ผู้ผลิตมืออาชีพ สามารถนำผลงานไปประกวดหรือขายในต่างประเทศได้ด้วยตนเองด้วย และกลายเป็นผู้ผลิตระดับสากล *ผู้ผลิตอิสระ ผู้ผลิตหน้าใหม่ ทั้งนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจ ฯลฯ  มีเวทีแสดงออกและสามารถก้าวต่อไปเป็นมืออาชีพได้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ  โดยที่ทางไทยพีบีเอสออกไปเสาะแสวงหาและพัฒนาแทนการรอรับข้อเสนอ  และเวลาออกอากาศได้รับการจัดสรรอย่างโปร่งใส ชัดเจน และรายการดีจริง ไม่ใช่สมัครเล่นแบบทำเล่นๆ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้วัดได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การทำหน้าที่ distributor สารคดีของคนอื่นๆ ควรทำและต้องวัดได้ ทั้งด้วย *จำนวนรายการและการกระจายของรายการ  *จำนวนผู้ชม และ *ผู้ร่วมซื้อรายการไปเผยแพร่ งานจัดหาและdistribute เป็นการช่วยสังคมเพราะ ๑. ผู้ชมควรมีโอกาสได้รับชมรายการดีที่ผู้ชมประเทศอื่นๆ ได้ชม หรือสาธารณชนที่อื่นได้เห็น (เช่น ภาพยนตร์สารคดีดีๆ ที่ฉายในพิพิธภัณฑ์ หรือองค์กรที่ให้การศึกษานอกระบบจัดทำขึ้น  เป็นต้น)  เพราะอะไรๆ ก็ไร้พรมแดน เรื่องนี้ก็ควรเช่นเดียวกัน ๒. เมื่อผู้ชมได้ “ชิม” รายการดี ให้ความรู้ที่นำเสนออย่างง่ายและกระชับแล้ว รายการที่ไม่ค่อยดีนักก็จะเอามาหลอกผู้ชมไม่ได้อีกต่อไป ๓. รายการที่เป็นสากลไม่จำเป็นต้องผลิตเอง แต่ควรทำอีกสองประการเพื่อให้ผู้ชมได้ประโยชน์มากขึึ้นคือ ก. ผลิตตอนเสริม เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจสังคมไทยในบริบทโลกด้วย ข. รายการที่ออกอากาศครั้งแรกหรือ รีรัน ควรมีรายการที่พูดภาษาอังกฤษในฟิล์ม และมี subtitle ภาษาอังกฤษด้วย (เผื่อตอนไหนตามไม่ทัน เข้าใจไม่ชัดก็จะได้อ่านประกอบได้)  จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ฝึกภาษาอังกฤษไปด้วยในตัว  ๔. เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ  เพราะสถานีโทรทัศน์ไม่ได้มีเฉพาะที่ออกอากาศ ยังมีสถานีเฉพาะกิจในโรงพยาบาล ฯลฯ  ซึ่งอาจจะซื้อรายการเหล่านี้ไปฉาย แม้แต่ช่องที่มีอยู่ บางครั้งก็อาจจะสนใจโดยที่ไม่ต้องไปแย่งซื้อ เท่ากับเป็นการร่วมกันซื้อหรือวางแผนร่วมกันเพื่อเพ่ิมอำนาจต่อรองในการซื้อรายการ    รายการที่หลากหลาย  รายการที่สมควรนำเผยแพร่มีมากมาย บางข้อเคยพูดตั้งแต่ช่วงระดมสมองออกโทรทัศน์ในระยะแรกตั้งไทยพีบีเอส (โดยก่อนไปพูดในโทรทัศน์ ได้รับฝากความคิดไปจากคณาจารย์ในจุฬาฯ ด้วย) คือ •รายการอภิปราย สัมมนาวิชาการ ปาฐกถา นิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ ธุรกิจ ศิลปะ เทคโนโลยี  รายการคอนเสิร์ต รายการการแสดงบนเวที ทั้งน้อยใหญ่ ทั้งกลางแจ้งและในร่ม ฯลฯ ที่มีจัดเป็นรายวันทั่วกรุงเทพฯ  ซึ่งถ้าทางสถานีทำการบ้าน และตัดต่อรายการให้ดี ก็จะเป็นสารคดีที่ใช้การได้ รายการเช่นนี้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจแต่ไม่มีเวลาหรือโอกาสจะชมของจริงได้ดูทางโทรทัศน์ เป็นการสร้างสังคมแห่งความรู้ที่ทันๆ กันขึ้นมา  และไทยพีบีเอส เคยทำบ้างในระยะแรก แต่ยังไม่ได้ตัดต่ออย่างดี •เทศกาลต่างๆ วันสำคัญต่างๆ  ก็เป็นโอกาสในการนำเสนอสารคดีให้เนื้อหาไปกับวันนั้นๆ  (แต่ไม่ใช่เปิดเวทีนั่งพูดว่าวันนั้นสำคัญอย่างไร ที่ชวนให้หาวแล้วเปลี่ยนช่อง) มีวันต่างๆ ที่ได้ชื่อว่า “แห่งชาติ” หรือ “ของโลก” หลายวันในหนึ่งเดือน ช่วงครึ่งแรกของปี 2560 …

ไทยพีบีเอส ผิดที่โครงสร้างหรือเปล่า

  ติดปีกความคิด ติดอาวุธความรู้ น่าจะเป็นคำขวัญเต็มๆ ของไทยพีบีเอส สถานีนี้เป็นความหวังของผู้ที่อยากเห็นทีวีสาธารณะที่ให้ความรู้กับประชาชนผู้ชมโดยไม่ต้องห่วงการหาโฆษณา ทำตามที่ “ตลาด” สั่งอาจจะไม่เหมาะกับ need ของสังคม ตอนเริ่มต้นทีวีช่องนี้เป็นช่องขวัญใจของเด็กและผู้สูงอายุ (บางคน) ด้วยภาพยนต์สารคดีเรื่องสัตว์ต่างๆ  ดนตรีกวีศิลป์ที่ไพเราะและเปี่ยมด้วยเนื้อหา ทีวีซีรีส์ที่ได้สาระและบันเทิง แต่เกือบ ๑๐ ปีผ่านไป สถานีนี้กลายเป็นความสิ้นหวังสำหรับบางคน เพราะอะไร พินิจแล้ว คิดว่าปัญหาหลักอยู่ที่โครงสร้างการบริหารจัดการในไทยพีบีเอส (Governance structure at TPBS) พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ตั้ง ส.ส.ท. หรือที่รู้จักกันในชื่อไทยพีบีเอส (Thai Public Broadcasting Service) ให้มีคณะกรรมการนโยบาย (ซึ่งเปรียบได้กับคณะกรรมการของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการบริหาร. ผู้อำนวยการ และสภาผู้ชมฯ เป้าหมายของสถานี ๑. สนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรมบนพื้นฐานของความเป็นไทย ผ่านทางบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ ๒.ผลิตข่าวสาร สารประโยชน์ด้านการศึกษาและสาระบันเทิง เน้นความหลากหลายในมิติต่างๆ ปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยึดถือผลประโยชน์สาธารณะ ๓. ให้ความรู้ประชาชนให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อประโยชน์ในระดับชาติและท้องถิ่น ผ่านการให้บริการข่าวสารและสารประโยชน์อื่น ๔. ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน ๕. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการให้บริการขององค์กรเพื่อประโยชน์สาธารณะ เรามาดูกันว่า โครงสร้างที่มีและบุคคลที่รับผิดชอบ ทำงานอย่างไร คณะกรรมการนโยบาย มี ๙ คน (รวมประธาน) (ม. ๑๗)       ประกอบด้วย บุคคลด้านสื่อสารมวลชน ๒ คน ด้านการบริหารองค์กร ๓ คน และด้านส่งเสริมประชาธิปไตย พัฒนาชุมชน การเรียนรู้ คุ้มครองพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว สิทธิของผู้ด้อยโอกาส ๔  คน (ขอรวมเรียกกลุ่มหลังสุดนี้ว่ากลุ่ม NGO) ทุกคนต้องเป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ มีผลงาน และเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นการเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ วิเคราะห์ข้อมูลของผู้เป็นกรรมการนโยบายชุดปัจจุบัน สรุปว่า +เป็นหญิง ๒ คน ชาย ๗ คน +สูงอายุ  คือ มีอายุต่ำกว่า 60 ปีเพียง  ๒ คนเท่านั้น  (อายุ 55 กับ 59) อีก ๗ คน อายุ 60 ปี ขึ้นไป โดย ๒ คนอายุ ๗๑ ปี +คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุในหน่วยงานในกำกับของรัฐ   (ไม่นับว่ามีผลประโยชน์แย้งกับ ไทยพีบีเอส?) เข้ามาในฐานะนักบริหารองค์กร +สื่อ ๔ คน (นับรวมประธานที่เป็น ผอ. สถานีวิทยุ และนักบริหารอีก ๑ คน ที่มาจากกรมประชาสัมพันธ์) +นักบริหาร ล้วนเป็นอดีตข้าราชการ +เป็นนักกฏหมายหรือมีพื้นฐานกฎหมายระดับปริญญาตรี  ๔ คน จากกรรมการ ๙ คน หรือเกือบครึ่งหนึ่ง โครงสร้างนี้แสดงว่า กรรมการด้านสื่อและนักกฎหมายมีตัวแทนมากเกิน ผู้หญิงน้อยไป คนสูงอายุมากไป คนวัยทำงานขาดตัวแทน พื้นความรู้ไม่หลากหลาย   ส่วนขาดที่สำคัญที่สุดคือนักบัญชี (หรือผู้รู้เรื่องการเงินการบัญชี) และนักบริหารที่แท้จริง (คือเคยเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่เท่ากับหรือใหญ่กว่า ไทยพีบีเอส และเคยดูแลเงินจำนวนกว่าสองพันล้านมาแล้ว) สำหรับผู้เขียนคิดว่า ข้อคุณสมบัติกรรมการที่ระบุในการสรรหา ควรจะให้กรรมการทุกคนหรือส่วนมาก เป็นผู้ ทำเป็น/บริหารเป็นด้วยและต้องรู้จักหารายได้เพิ่มจากกิจการที่มี เพราะกรรมการทั้งคณะต้องรับผิดชอบการบริหารองค์กรที่รัฐบาลส่งเงินให้ปีละ ๒ พันล้านบาทให้อยู่รอดอย่างรุ่งเรืองและทำงานได้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ใน พรบ.  เพราะเหตุผลว่ากรรมการนโยบาย (Board of …

เยลเมื่อครบ ๓๐๐ ปี อธิการบดีพูดสิ่งนี้ จุฬาฯ เมื่อครบ ๑๐๐ ปี อธิการบดีจะพูดอะไร

อีกไม่นานเกินรอ แค่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐ จุฬาฯ จะฉลองยิ่งใหญ่ปิดศตวรรษแรกหลังจากที่มีการฉลองรูปแบบต่างๆ มาตั้งแต่ตอนเริ่มย่างเข้าปีที่ ๑๐๐ มาจนจะครบ ๑๐๐ แล้วเริ่มย่างก้าวสู่ศตวรรษที่สองของมหาวิทยาลัย เป็นปีที่ ๑๐๐ กับอีก ๑ วัน ย่างก้าวสู่อนาคตสำคัญมาก สำคัญตรงที่ว่าเราจะเหหัวเรือของสถาบันไปทางไหน ในโลกที่กำลังเปลี่นแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีความมั่นคงอยู่ลึกๆ ว่า ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร มีบางอย่างที่เป็นแก่นเป็นแกนเป็นเนื้อแท้ เฉกเช่นน้ำที่เปลี่ยนได้หลายรูปแบบ แต่คงคุณลักษณะแห่งน้ำไว้เสมอทุกรูปแบบของน้ำนั้น ไม่ว่าจะเย็น ร้อน หรือเจือด้วยสี กลิ่น หรือรสอื่นใด เคยติดใจสุนทรพจน์ที่อธิการบดี Richard Levin กล่าวปิดศตวรรษที่ ๓ ขึ้นศตวรรษที่ ๔ ของมหาวิทยาลัยเยล ที่หน้าอาคารห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เมื่อปี ค.ศ. 2001 จึงขอนำมาเล่าไว้ ณ ที่นี้ (ยังไม่นับผู้บริหารเงินทุนของเยล ที่ดิฉันชื่นชมมาก เพราะผลงานที่เยี่ยมยอดและหลักการการบริหารเงินที่อธิบายได้และผู้บริหารมั่นคงกับหลักการมาก) ก่อนถึงสุนทรพจน์ ขอให้ข้อมูลสรุปสั้นๆ เพื่อให้รู้จักมหาวิทยาลัย เยลเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำและมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่เมือง New Haven มลรัฐ Connecticut  ข้อมูลจากเว็บไซต์ college data ระบุว่า มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีรวม 5,532 คน เป็นชายกับหญิงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน  ระดับบัณฑิตศึกษา 6,853 คน เป็นมหาวิทยาลัยที่เข้ายากที่สุดแห่งหนึ่งในระดับปริญญาตรี คือในจำนวนผู้สมัคร 30,236 คน ได้เข้าเพียง 7% เท่านั้น นักศึกษาต่างชาติจาก 89 ประเทศ คิดเป็น 10.6% ของนักศึกษาทั้งหมด อาจารย์ทำงานเต็มเวลามี 1, 159 คน ขนาดของชั้นเรียนเกือบครึ่งหนึ่ง (44%) มีนักศึกษา 10 – 19 คน อีก 29% เป็นชั้นเรียนมีนักศึกษา 2- 9 คน ชั้นเรียนขนาดใหญ่เกินร้อยคนมี 3% ของจำนวนชั้นเรียนทั้งหมด  ชื่อของเยลโดดเด่นมากเมื่อเอ่ยถึงวิชาด้านศิลปะ (และสังคมศาสตร์) ส่วนอธิการบดีคนนี้ของเยล ก็เป็นผู้ที่มีสุนทรพจน์และคำพูดน่าอ้างถึงจำนวนมาก และเริ่มแสดงจุดยืนตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการแนะนำตัวเป็นอธิการบดีต่อสาธารณชนรวมสื่อมวลชน เมื่อ ค.ศ. 1993 สื่อมวลชนถามว่า “ท่านจะทำอะไรเป็นสิ่งแรก” คำตอบคือ “พอจบการให้สัมภาษณ์ ผมจะไปพบกับนายกเทศมนตรีของเมืองนิวเฮเว่น ท่านนั่งอยู่ ณ ที่นี้ดวย และเริ่มหารือกันว่าจะร่วมมือกันทำอะไรได้บ้างที่จะทำให้เมืองนิวเฮเว่นแข็งแกร่งขึ้น” และงานด้านการพัฒนาชุมชนและเมืองรอบมหาวิทยาลัยโดยอาสาสมัคร และการร่วมมือกับภาคธุรกิจ  ภาครัฐผ่านข้ารัฐการของมลรัฐและของเมือง  พระ และภาคประชาชนผ่านผู้นำชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ความเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยมีสูงขึ้น ย่านกลางเมืองดีขึ้น เกิดธุรกิจด้านไบโอเทคที่กำลังเติบโต  เป็นหุ้นส่วนกับโรงเรียนของรัฐในการปรับระดับการเรียนการสอน สัมพันธภาพระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับมหาวิทยาลัยที่ได้ทำลงไป บัดนี้เป็นต้นแบบระดับชาติ สุนทรพจน์อธิการบดีในงานครบ ๓๐๐ ปีก้าวสู่ศตวรรษที่สี่  พูดถึงอดีต เชื่อมโยงมาปัจจุบัน และมองต่อไปถึงสิ่งที่กำลังทำเพื่ออนาคตของมหาวิทยาลัยและของสังคม http://archives.yalealumnimagazine.com/issues/01_12/levin.html อันดับแรก ทบทวนตัวเลขในช่วง ๑๐๐ ปี จากวันครบ ๒๐๐ ปี มาถึงครบ ๓๐๐ ปีในวันนี้ว่า  นักศึกษาเพิ่มขึ้น  ๔ เท่า อาจารย์เพิ่ม ๘ เท่า หนังสือในห้องสมุดเพิ่ม ๓๐ เท่า และทุนสำหรับหาประโยชน์เพื่อการศึกษา (ปรับสำหรับเงินเฟ้อแล้ว) เพิ่มขึ้น ๑๒๐ เท่า จำนวนวิชาที่เปิดให้เรียนเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง ๑๐๐ วิชา เป็นกว่า ๒,๐๐๐ หัวข้อวิชา  สอนภาษาต่างประเทศ ๕๒ ภาษา และวิชาที่เกี่ยวกับต่างประเทศ มีมากกว่า ๖๐๐ วิชา …

การเมืองเรื่อง (ประธานาธิบดี) ทรัมป์

การเมืองอเมริกันสนุกมาตั้งแต่เลือกตั้งจบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 และสนุกยิ่งขึ้นเมื่อประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งเมื่อมกราคม 2560 การเมืองของอเมริกันสอนอะไรให้คนที่สนใจจะมี “ประชาธิปไตย” แบบมีการเลือกตั้งได้มากมาย ถ้าสนใจจะเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้กำลังเปิดคอร์สสอนวิชา กระบวนการทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญอเมริกัน ให้เรียนฟรี  มีเหตุการณ์ดราม่าเกิดขึ้น “วันต่อวัน” เรื่องที่ ๑. ได้เรียนรู้กระบวนการเลือกประธานาธิบดีชัดเจนมาก เนื่องจากในครั้งนี้คะแนนเสียงรายบุคคล (popular vote) ผู้สมัครคนหนึ่งชนะ แต่คะแนนเสียงกลุ่มคณะที่มาลงคะแนนเลือก (electoral vote) ผู้สมัครอีกคนหนึ่งชนะ คำว่า electoral vote ที่เคยแค่ได้ยินๆ กลับมาอยู่ในสปอตไลท์ ทำให้บางคนเพิ่งเข้าใจว่า บางรัฐคะแนนเสียงแบบ electoral vote คิดสัดส่วนจาก popular vote แต่บางรัฐเป็นแบบ ใครชนะเหมาคะแนนไปหมดทั้งรัฐเลย  และทุกคนที่ได้รับเลือกเป็นผู้แทน ก็ไปลงคะแนนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบมา ไม่ใช่จะไปเปลี่ยนใจตามใจชอบได้ เรื่องที่ ๒. การส่งมอบงานเป็นไปตามลำดับขั้น ไม่ว่าระหว่างหาเสียง สองพรรคจะห้ำหั่นกันด้วยวาจาอย่างไรก็ตาม เมื่อได้คะแนนเสียงมาแล้ว ก็เป็นอันว่าจบช่วงชิงคะแนน มาเป็นช่วงเริ่มงาน ที่ต้องทำงานประสานกันให้การส่งต่ออำนาจราบรื่น เรื่องที่ ๓. เมื่อประธานาธิบดียังไม่วางมือจากธุรกิจอย่างเป็นที่น่าพอใจ ในสภาฯ ก็มีการเคลื่อนไหวจะออกกฎมาบังคับให้ต้องทำ และเรื่องนี้ยังน่าสนใจจะติดตามต่อไป เพราะอเมริกายังตามหลังประเทศไทยในกรณีที่เขาเพิ่งมีผู้บริหารสูงสุดเป็นนักธุรกิจใหญ่ตัวจริง แทนท่ีจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนักการเมืองอาชีพ และยังเป็นผู้บริหารที่ชอบทวีต เพื่อคุยตรงกับประชาชน แบบเดียวกับอดีตนายกฯ ของเราอีกด้วย เรื่องที่ ๔. เมื่อถึงขั้นนำเสนอชื่อผู้บริหารในคณะรัฐบาลและมีการเสนอขอแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงแทนตำแหน่งที่ว่างลง ก็ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติของคำโตๆ หลายคำ ภาคปฏิบัติของคำว่า check and balance หรือการถ่วงดุลอำนาจ  ประธานาธิบดีเป็นผู้เลือกบุคคล และสภาฯ เป็นผู้ลงมติรับหรือไม่รับบุคคลนั้น ภาคปฏิบัติของความโปร่งใส (transparency) และความรับผิดตามหน้าที่ (accountability) สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคน บอกว่าจะไม่ลงคะแนนบางเรื่อง ซึ่งสามารถทำได้ เพราะที่นั่น: สมาชิกไม่ใช่ทาสของพรรค ที่จะต้องลงคะแนนเสียงทุกคะแนนตามคำสั่งพรรค แต่ละบุคคลต้องรับผิดชอบต่อการลงคะแนนของตนเอง ไม่มีธรรมเนียมลงคะแนนลับ ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อคะแนนเสียงที่ลง และลงคะแนนอย่างไร ก็เป็นประวัติการทำงานของคนนั้น เป็น information สำคัญที่ผู้ลงคะแนนเลือกเขาเข้ามาได้รับรู้ เรื่องที่ ๕. คนที่ไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีในเรื่องใด อยากประท้วงก็ประท้วงได้ ภายในขั้นตอนของกฎหมาย และถ้าสนใจก็จะเห็นกระบวนการทักท้วงที่ประชาชนผู้ออกเสียง คิดขึ้นมาเพื่อส่งเสียงต่อ สส. สว. และสื่อ ในอีกหลายรูปแบบ เรื่องที่ ๖. การมีอำนาจอธิปไตย ๓ ขา ที่แท้จริง ส่วนหนึ่งคือที่กล่าวไปแล้วในข้อ ๔. อีกส่วนหนึ่งคือบทบาทของตุลาการ   ประธานาธิบดีใช้อำนาจสูงสุดด้านบริหารสั่งการ แต่ตุลาการก็มีสิทธิใช้อำนาจระงับชั่วคราว (stay order) เมื่อเห็นว่าคำสั่งนั้นอาจจะผิดรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างจากกรณี executive order ไม่ให้คนต่างด้าวบางประเทศเข้าสหรัฐฯ ที่ศาลบางมลรัฐได้ใช้อำนาจตุลาการชลอ การทำตามคำสั่ง เรื่องที่ ๗. เคยมีผู้สงสัยว่า ประธานาธิบดีจะอยู่ได้ครบเทอมละหรือ ตอบได้เลยว่า อยู่ไม่ครบเทอมได้ ถ้าตาย ลาออก หรือถูกให้ออก ตามแต่กรณี ผู้ที่จะให้ออกได้คือรัฐสภาผ่านกระบวนการซักฟอก ซึ่งเคยมีประธานาธิบดีเข้ากระบวนการนั้นมาแล้ว เรื่องที่ ๘. เห็นไม่ตรงกันแบบนี้ ประธานาธิบดีจะบริหารประเทศได้ละหรือ คำตอบก็คือ ประธานาธิบดีทำตามที่หาเสียงเอาไว้ แต่ถ้าสภาไม่ผ่านกฎหมายให้ หรือว่าศาลสูงไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าผิดรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ประธานาธิบดีหาเสียงไว้ไม่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ความผิดของประธานาธิบดี(จริงไหม) ประธานาธิบดีก็ต้องบริหารประเทศไปในกรอบของรัฐธรรมนูญ เพราะประเทศนั้นนไม่มี “พ่อ” ให้ทุกคนวิ่งไปหา เวลาทะเลาะกัน แล้วตกลงกันไม่ได้  ประเทศต้องเดินไปให้ได้ จะเดินได้ดีหรือค่อยๆ เดิน ก้าวๆ หยุดๆ ก็ตามแต่  ทุกฝ่ายก็ต้อง “work it out” โดยมีอำนาจสูงสุดอำนาจเดียวที่ยึดเป็นที่พึ่งได้คือ รัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญบนแผ่นกระดาษ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่มีชีวิต เพราะมีคนหลายฝ่ายเป็นผู้ใช้ ตามอำนาจและหน้าที่ของตน  เรื่องที่ ๙. บทบาทของมหาวิทยาลัยในช่วงที่มีความปั่นป่วนเชิงความคิด  เรื่องนี้มีตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแถวหน้าของสหรัฐอเมริกา ที่ชวนให้คิดถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยไทยในวิกฤติทางการเมืองของประเทศที่ผ่านมา  …

สกุลไทย ฉบับสุดท้าย

ปิดยุคและเปิดตำนาน สกุลไทย ฉบับที่ 3237 ออกวางตลาดเป็นฉบับสุดท้าย ปลายเดือนตุลาคม 2559 ด้วยความอาลัยของผู้อ่านที่ติดตามอ่านนิตยสารฉบับนี้มายาวนานเหมือนเป็นเพื่อนร่วมบ้าน เป็นเพื่อนคุย เพื่อนให้ความบันเทิง ให้ความรู้ พาไปเที่ยว ฯลฯ  ทำนองเดียวกับ ศรีสัปดาห์ และสตรีสาร ที่ได้ปิดตัวไปก่อนหน้านี้นานแล้ว สกุลไทยปิดประวัติตนเองได้งดงามด้วยเรื่องราวและภาพปกย้อนหลังประดุจตำนาน เมื่อประจวบกับว่าเป็นเวลาแห่งความรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่เพิ่งเสด็จสวรรคตเมื่อ 13 ตุลาคม จึงเท่ากับผู้ซื้อได้หนังสือที่มีค่ามากเพราะเป็นที่ระลึกถึงสองโอกาสในเล่มเดียวกัน การปิดตัวของสกุลไทย เป็นการปิดยุคของเจ้าของและผู้จัดพิมพ์ที่เพิ่งล่วงลับไป และยังเป็นการส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงด้านรสนิยมและพฤติกรรมการอ่านที่ชัดเจน ประการแรก ผู้อ่านเปลี่ยนไป คนแต่ละรุ่นมีรสนิยมในการเลือกเรื่องที่อ่านต่างๆ กัน หนังสือ นิตยสาร และสิ่งพิมพ์บางเล่ม บางเนื้อหา จึงเหมาะกับบุคคลบางกลุ่มในบางยุคสมัย แต่กลับตกรุ่นในเวลาต่อมา ประการที่สอง ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ทำให้การสื่อความด้วยอักษรมีสื่ออื่นๆ เป็นทางเลือกเพิ่ม และภาษาก็ไม่ได้มีเพียงตัวอักษรแต่มีสมาชิกใหม่มาเพ่ิมคือตัวอีโมจิ (emoji) อันเป็นภาษาภาพ ทำให้การสื่อความต้องพลิกผันไปจากเดิม และอักษรเองที่สื่อความผ่านกระดาษมาหลายร้อยปี มีเวทีใหม่ให้แสดงตนเพิ่มขึ้นมา ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้อ่าน ผู้เขียน ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้อยู่ในธุรกิจในห่วงโซ่ของสิ่งพิมพ์ต้องหาที่หาทางที่เหมาะกับตนเพื่อรับความท้าทายใหม่ที่มาเร็วและแรง เทคโนโลยีกับหนังสือ เทคโนโลยีใหม่ๆ และวิธีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อสร้างโอกาสและพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ในการใช้งาน ค่อยๆ ก่อเกิดกลางมหาสมุทรแห่งจินตนาการของมนุษย์  กระเพื่อมๆ สะสมพลังเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สูงขึ้นๆ  เมื่อเงื่อนไขครบก็กลายเป็นคลื่นกระทบ กระแทก ซัดสาดฝั่ง เมื่อมีแผ่นดินไหวเข้ามาเป็นแรงกระตุ้นก็อาจกลายเป็นสึนามิ ที่กวาดสิ่งเดิมๆ ออกไปจนไม่เหลือภูมิทัศน์เดิมที่มนุษย์ได้สร้างเอาไว้ คงเหลือแต่ธรรมดาของธรรมชาติ และเริ่มวัฏจักรใหม่อีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น โลก internet เปิดโอกาสให้เกิดธุรกิจในรูป  “ตลาด” (market place) สำหรับสินค้าและบริการ ที่รวมถึงบริการของ “มืออาชีพ” ที่รับงานเป็น “พนักงาน” เฉพาะกิจ โลก internet สร้างทางเลือกที่เพ่ิมขึ้นในการรับข่าวสารข้อมูลและความบันเทิง จากที่ครั้งหนึี่งเรานำคลื่นมาใช้งานผ่านเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ทำวิทยุมาส่งเสียง ผลิตโทรทัศน์มาส่งภาพและเสียง ส่วนการสื่อสารผ่านตัวอักษรนั้นใช้กระดาษในรูปของหนังสือและสิ่งพิมพ์จนชิน มาถึงตอนนี้เสียง ภาพ อักษร สามารถรับส่งถึงกันได้ด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ สื่อเดิมยังคงอยู่ แต่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และสองสื่อต่างก็แข่งกันเพื่อการดำรงอยู่ของธุรกิจของตน นิทานเด็กของรักษิตา ชื่อ “เรื่องเล่าของตัวหนังสือ” ในสกุลไทยเล่มสุดท้าย อุปมาความเป็นไปนี้ในในรูปของนิทานได้อย่างลึกซึ้งโดนใจ  ต้องขอยกให้เป็นดาวเด่นประจำฉบับเลยทีเดียว ทางเลือกของคนทำหนังสือ  บริษัทผู้ผลิตหนังสือ (book) บางรายผันตัวเองไปเป็นผู้ผลิตเนื้อหา (contents) ให้ทุกสื่อ สิ่งพิมพ์ไม่ได้หายไปหมดและคงไม่หายไปหมดแม้ในประเทศที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีไปไกลแล้ว  ผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดหนังสือและนิตยสารและกิจการยังไปได้ดี จับกลุ่มผู้อ่านได้ถูกกลุ่ม  ผู้ที่จะอยู่ด้วยดีไม่ว่าจะเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีหรือโลกที่ผู้บริโภคแตกต่างไปจากเดิม คือผู้ที่รู้จักธรรมชาติของธุรกิจของตน (รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้ต่างจากธุรกิจอื่น) รู้ธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง และพร้อมปรับตัวอย่างคล่องแคล่ว และคว้าโอกาสเพื่อดำรงอยู่ในภูมิทัศน์ใหม่ นักอ่านในสองโลกที่เคียงขนาน นักอ่าน นอกจากโลกของสิ่งพิมพ์ที่คุ้นเคยแล้ว ยังมีโลกใหม่ที่ล้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ในแง่บวก ความรู้ค้นได้ทุกเรื่อง ทุกเวลา ในทุกระดับความเข้าใจ คนที่ค้นคว้าต่อเนื่องจะล้ำหน้าหรือตามทัน ส่วนคนที่เฉื่อยเฉยอาจจะหลุดกระแสไปได้ง่ายๆ และจะกลับมาตามให้ทันก็อาจจะยาก ในแง่ความท้าทาย หนังสือหรือโทรทัศน์มีบรรณาธิการหรือผู้ผลิตรับผิดชอบ มีหน่วยงานกำกับดูแล มียอดขายที่เห็นได้ชัดเจน บริบทนั้นเป็นที่คุ้นเคยตั้งแต่อ่านหนังสือออก  ส่วนข้อมูลข่าวสารออนไลน์นั้น ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการเลือกข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเพียงพอหรือดีพอ ออกจากข้อมูลที่มีอยู่อย่างท่วมท้น สื่อสิ่งพิมพ์อาจจะมีปริมาณลดลง เวทีจำกัดมากขึ้น แต่นักอ่านก็อาจจะพบนักเขียนทั้งใหม่และเก่าได้ทั้งในสื่อออนไลน์ เช่น บล็อก และเฟซบุ๊ก และจากหนังสือเล่ม เพียงแต่ว่าจะต้องหาวิธีใหม่ในการหากันให้เจอ นวพร เรืองสกุล  ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

เรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับสุขภาพ

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่รู้ว่า ปัญหาสุขภาพในพื้นที่เกิดจากการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช คนทำงานป่วยเป็นโรค บางคนตายคาไร่ และผู้บริโภคก็ป่วยด้วย จึงหาทางแก้ปัญหาที่ต้นตอในระดับพื้นที่ โดยสนับสนุนการปลูกและเปิดช่องทางการขายข้าวและพืชผักต่างๆ ที่เป็นเกษตรอินทรีย์ แทนสินค้าเกษตรที่แถมยาฆ่าแมลงและสารเคมีต่างๆ ให้กับผู้บริโภค เรื่องนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสามารถทำงานร่วมกับ องค์การบริหารส่วนท้องถ่ิน โรงพยาบาลสุขภาพระดับตำบล  อาสาสมัครสาธารณสุข คนจำนวนมากห่วงสุขภาพตนเอง และพยายามดูแลตนเองอยู่่ สังเกตได้จากข่าวสุขภาพใน line ติดอันดับพอๆ กับข่าวลือ (ไม่นับ good morning และดอกไม้สวยๆ ที่ copy แล้ว forward) แต่ความรู้ในไลน์เชื่อได้เพียงไหน องค์กรที่มีความรู้ด้านสุขภาพออกมาพูดเองน่าจะได้น้ำหนักมากกว่า   การให้ความรู้คือการสร้างพลังให้กับประชาชน ไม่ว่าประชาชนผู้นั้นจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้บริโภค และเป็นการตัดข้อแก้ตัวว่า “ไม่รู้” ของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายลงไปได้ รวมทั้งฝ่ายผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ควรออกมาช่วยกันกดดัน เรียกร้องให้ผู้ค้ารายใหญ่ต้องรับผิดชอบกับสินค้าที่วางขายในสถานประกอบการของตนว่าตรงตามคุณภาพ เช่น บอกว่า ปลอดสารเคมี ก็ต้องมีมาตรการดูแลให้ปลอดสารเคมีจริง ระบุว่าออร์แกนิก ก็ต้องออร์แกนิกจริง เป็นต้น ผู้ค้าบางรายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย การสร้างความน่าเชื่อถือยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมโดยตรง เพราะการค้าขายที่เป็นธรรมคือการค้าขายที่ไม่เบียดเบียนผู้ผลิตและผู้บริโภค   งานประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ต่างๆ ถ้าท้องถิ่นหรือราชการส่วนภูมิภาคคิดขึ้นมาได้  ก็น่าจะนำไปเผยแพร่ต่อระดับชาติได้ งานให้ความรู้บางเรื่อง ถ้าส่วนกลางสื่อสารตรงถึงผู้บริโภคและผู้ผลิตน่าจะได้ผลมากกว่า โดยสร้างอิทธิพลทางความคิดผ่านการส่งต่อ ช่วยให้การสำทับย้ำเตือนโดยผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทำง่ายขึ้น หลายเรื่อง ถ้าทำให้เห็นจริงจังเป็นรูปธรรมจะช่วยสร้างความเข้าใจได้ดีขึ้น เช่น เบาหวาน เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาว คนหัวดื้อก็อาจจะเปลี่ยนใจกลายเป็นคนหัวอ่อนดูแลตนเอง เพราะเข้าใจได้ด้วยตนเองแล้วว่า การที่หมอห้ามกินโน่นห้ามกินนี่ไม่ใช่เพื่อหมอ แต่เพื่อตัวผู้ป่วยเอง การใช้ยาไม่ถูกต้อง ใช้ยามากไป – น้อยไป ใช้บ่อยไป ใช้ไม่ครบชุด อาจมีผลเสียต่อระบบในร่างกายอย่างไรบ้าง ก็น่ารู้ อาหารปลอดภัย อาหารปนเปื้อน เกิดอะไรขึ้นภายในร่างกายบ้าง งานให้ความรู้ทางสื่อตอนนี้มักใช้วิธีสัมภาษณ์ที่ชวนให้หมุนไปหาทีวีช่องอื่น ควรเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง   งานด้านสุขภาพเกี่ยวพันถึงกรมแรงงาน กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ เพราะเกี่ยวกับคน ถ้ากระทรวงสาธารณสุขไม่เป็นฝ่ายรุกและป้องกัน ก็จะต้องเป็นฝ่ายรับที่ปลายทาง เมื่อคนดีกลายเป็นคนป่วย เงินทำเร่ื่องให้ความรู้ระดับประเทศมีอยู่มากมายในองค์กรต่างๆ เนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายมีอยู่ที่โรงพยาบาล กรมอนามัย มหาวิทยาลัย ฯลฯ ขอเพียงกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนเคาะ จัดระบบ และริเริ่มงานนี้ระดับชาติ เพื่อสู้กับข่าวสารสุขภาพที่ไลน์บอก (อ้างหมอ) เพื่อเสริมข้อมูล และสร้างความสะดวกให้กับงานในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนทุกคนรับรู้ว่า สุขภาพเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ตนต้องดูแล เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรับรู้ว่า สิ่งใดเป็นอันตราย ไม่ควรทำ หรือห้ามทำ หรือเป็นภาระหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลไม่ให้เกิดขึ้น   ถ้าเงินไม่พอสำหรับทำโครงการให้ความรู้ ก็อาจคิดเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าต้นเหตุ เช่น ขนมและนมที่หวานเกินขนาด  พลาสติก โฟม ยาเคมีต่างๆ ในการเกษตร ผู้ผลิตที่ไม่อยากเสียภาษีเพิ่มก็คงจะผลิตสินค้าคุณภาพที่ต้องประสงค์มากขึ้น   ตอนนี้ผู้ที่พยายามดูแลสุขภาพต้องเสาะแสวงหาความรู้ และหาอาหารปลอดภัยเอาเอง จนดูเหมือนเป็นคนอยู่ยากกินยาก ส่วนอีกบางคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่คิด ได้ใช้เงินเพื่อทำลายสุขภาพตนลงไปเรื่อยๆ การซ่อมสุขภาพแม้จะฟรีก็ไม่คุ้มกับการเจ็บตัว จิตตก และความลำบากของญาติพี่น้องในยามต้องดูแลคนป่วย   สิทธิพื้นฐานอันหนึ่งของประชาชนควรเป็นสิทธิในการได้กินได้อยู่อย่างปลอดภัย คนไทยควรได้บริโภคทุกอย่างที่ได้คุณภาพ ซึ่งเราทำได้ แต่เราผลิตแล้วเราส่งออกเกือบหมด ไม่เก็บไว้บริโภคกันเองในประเทศ Health Literacy คืองาน promotion & prevention ในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการป้องกันไม่ให้คนจำนวนหนึ่งใช้เงินซื้ออาหารที่กินแล้วทำร้ายตนเอง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว  

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

ประชุมครั้งที่ ๑๕ (ครั้งที่ ๓ ของปี ๒๕๕๙) ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙ สถาบันวิจัยฯ  สรุปปิดงานโครงการส่วนที่รับทำ ประธานเกริ่นหัวข้อต่างๆ ที่จะบรรจุลงในรายงานส่วนของคณะกรรมการทั้งจากความเห็นที่ได้ในห้องประชุม ในการออกไปพื้นที่ และการสนทนากับกรรมการแต่ละคน ที่ทำมาตลอดปี โดยนำเสนอเป็นแผนภาพ ให้เห็นหลักการคิดเกือบทั้งหมดที่คิดไว้แล้ว และขอความเห็นเพ่ิมเติมจากคณะกรรมการ   ประชุมครั้งที่ ๑๖ (ครั้งที่ ๔ ของปี ๒๕๕๙) ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๙ ในห้องประชุมอันร้อนระอุเพราะแอร์เสีย ของ สวปก. ซึ่งไม่เคยมาประชุมมาก่อน ประธานนำเสนอสิ่งที่เขียนเอาไว้ แต่ลืมพิมพ์ออกมาแจก  รวดเดียวจบ แล้วขอความเห็นเพ่ิมเติมอีกครั้งเพื่อปรับปรุงข้อมูลและข้อเสนอ ทุกฝ่ายรับทราบและให้ข้อคิดความเห็น ประธานรวบเรื่อง จบงานของคณะกรรมการ โดยส่วนที่แก้ไขและรายงานฉบับเต็มจะส่งให้ทุกคนได้อ่านและแก้ไขอีกครั้งทาง อี เมล์ แล้วจัดส่งท่านรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือน เจ้าหน้าที่ของ สป. นำหนังสือนำส่งมาให้ลงนามถึงรัฐมนตรี และสำเนารายงานส่งปลัดกระทรวง เป็นอันจบงาน เอกสารน่าจะออกจากกระทรวงวันที่ ๓๐ มีนาคม น่าประหลาด เป็นวันเดียวกับที่ข้าพเจ้าจบรายงาน ศปร. อันเป็นรายงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งเมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว คราวนั้นข้าพเจ้าเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ หวังว่าสิ่งที่ได้ทุ่มเททำมาตลอดปีจะมีผลดีต่อวงการสุขภาพของประเทศของเราได้พอสมควร   เอกสารรายงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งรวมสรุปรายงานของบริษัทฯ สถาบันฯ และผู้บริหารโครงการฯ เป็นเอกสารของ สธ. แต่ สธ. ไม่มีงบจะจัดพิมพ์เผยแพร่  ใครที่สนใจน่าจะขอได้ โดยตรง และ สป. จะส่งให้แบบที่ถูกเงินที่สุดคือทาง อีเมล์     ข้อคิดปิดท้ายบันทึก ว่าด้วย เก่ง ดี กล้า จะปกป้องคนดีไหม ระบบราชการ เช่น สธ และระบบงบประมาณของไทย ลงโทษคนเก่งที่ดี ด้วยการลดเงินสนับสนุน เพราะทำงานได้ดี ก็ไม่ต้องการงบประมาณมาก ถูกแล้วหรือ คนไม่ดีที่กล้า สามารถเข้าครองอำนาจและตำแหน่งผ่านพรรคพวกเพื่อนพ้อง และการข่มขู่คุกคาม ส่วนคนเก่งและดี เมื่อไม่มีความกล้า ก็ไม่อาจทำสิ่งสำคัญๆ ให้สำเร็จได้ และอาจจะแย่ยิ่งกว่าคนเก่งกล้าที่ไม่ดี เพราะดีหรือไม่ดี อาจจะเห็นผลได้ชัดในอนาคต แต่ถ้าไม่กล้าเสียแล้ว ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด   เรื่องสืบเนื่อง ๑๑ เมษายน ๒๕๕๙ มีนัดไปรายงานท่านรัฐมนตรี  ที่ปรึกษา และผู้ช่วยของท่าน และปลัดฯ ทำรายงานออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือเอง เพื่อมอบให้ท่านรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะ   ๒ พฤษภาคม ได้รับนัดไปนำเสนอเรื่องต่อ คณะกรรมการ สปสช.