All posts tagged: big data

Big Data ในกระทรวงสาธารณสุข: เรื่องง่ายที่ยิ่งใหญ่

 Data บ้านเรามีอยู่ทั่วไป แต่…      กระจัดกระจาย (scattered)      ไม่สมบูรณ์ (incomplete)      ไม่เป็นรูปแบบเดียวกัน (not uniformed)      ไม่เชื่อมโยงกัน (not integrated)       ไม่มั่นใจในความถูกต้องเพราะขาดการสอบทานหรือขาดการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ (lack of data integrity) และ       มักไม่เป็นที่เปิดเผยเพื่อผู้อื่น (inaccessible)    จึงทำให้เป็น Big Data ยาก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำไม่ได้ กล่าวโดยเฉพาะสำหรับกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลรวมหาได้ง่ายมาก หรืออันที่จริงไม่ต้องหาเลย ถ้ามีเป้าหมายว่าทุกข้อมูลจะต้องใช้ประโยชน์ได้หลายแบบ โดย… หนึ่ง โรงพยาบาลนำเข้าข้อมูลเป็นรูปแบบเดียวกัน และด้วยคำจำกัดความที่เหมือนกัน)  ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่ใดในประเทศนี้ สอง  นำเข้าครั้งเดียว ใช้ได้ทั่วทั้งระบบเล็กในโรงพยาบาล และระบบใหญ่ทั้งประเทศ  เมื่อมีฐานข้อมูลเดียวกันที่เชื่อถือได้ (ดูภาพจากบทความที่แล้วเรื่อง sharing economy ที่เป็นภาพดาต้าจากท้องฟ้าอากาศ เป็น input เข้ากรวยไปออกมาเป็น output เป็นกลุ่มก้อนอีกหลายแบบ) ก็เหมือนวัตถุดิบที่ได้คุณภาพเดียวกัน  ผู้ใดใคร่นำไปใช้เพื่อตอบโจทย์เรื่องใดก็มาเก็บเกี่ยวไปปรุงในแบบที่ต้องการ  ตัดปัญหาเรื่อง junk in, junk out ลงไปได้เสียที ข้อมูลผู้ป่วยที่มารับการรักษาพยาบาล หรือที่เข้ามาติดต่อที่โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข สำคัญมากด้านนโยบายสุขภาพของประเทศ  ข้อมูลทำนองนี้หาได้ยาก เมื่อต่างโรงพยาบาลต่างก็เก็บข้อมูลตามสไตล์ของตัวเอง หรือตามความพอใจของผู้บริหารหรือผู้ดูแลงานข้อมูลแต่ละโรงพยาบาล  ยิ่งโรงพยาบาลที่ต่างแผนกต่างเก็บข้อมูลของตัวเองในแบบของตัวเอง การนำข้อมูลมารวมกันเพื่อดูภาพรวมยิ่งยากมาก แถมบางครั้งการนำข้อมูลจากแผนกหนึ่งไปใส่ใหม่ในอีกแผนกหนึ่งเพื่องานของแผนกนั้น เกิดความผิดพลาด ข้อมูลไม่ตรงกัน โทษกันไปมา แล้วก็ต่างคนต่างแยกกันทำยิ่งขึ้น ต่างคนต่างก็บอกว่าแบบของตัวเองถูกต้องกว่า ไม่เป็นอันสิ้นสุด ข้อมูลจะเชื่อถือได้ก็ต่อเมื่อนำเข้า ณ จุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว แล้วข้อมูลก็เดินทางไปยังจุดต่างๆ เพื่อทำงานในแต่ละด้าน ไม่มีใครสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ได้บันทึกแล้วได้อีกเลย   โดยมากจุดเดียวนั้นคือจุดตั้งต้น หรือจุดที่จะมีการสอบกระทบยอดทุกวัน  ณ จุดตั้งต้นมักมีผู้สอบทานภายนอกด้วย (เช่นข้อมูลชื่อคนไข้ คนไข้ก็เห็น  หรือลองคิดถึงเรื่องที่คุ้นเคยกันอยู่ คือการฝาก-ถอนเงินที่ธนาคาร  ลูกค้าเจ้าของเงินนั่นเองที่เป็นผู้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูลที่พนักงานธนาคารนำเข้าระบบของธนาคาร)  นี่คือหลัก  SINGLE  DATA  ENTRY ถ้าโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขยึดหลักการทำ single data entry ทั่วทุกโรงพยาบาล  (ทั้ง สำนักงานปลัด และกรมอื่นๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ทั่วประเทศ) เราก็จะได้ data จำนวนมากจากทั่วประเทศ ยิ่งถ้าโรงพยาบาลของรัฐทำด้วยกันหมด คือ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และมหาวิทยาลัย ด้วย ก็ยิ่งได้ data มากยิ่งขึ้น     นี่คือ กองดาต้าจำนวนมหาศาล จะนำไปใช้ก็ดี  ขายก็ได้ (หมายถึง data รายกลุ่ม ไม่ใช่รายบุคคล) สุดแท้แต่เจ้าของข้อมูล และผู้จะใช้ข้อมูล เช่น นักวิจัย นักวางแผน ฯลฯ ผลดีคือ (ก) การทำวิจัยในระยะต่อไปไม่ต้องของบฯ ไปเก็บข้อมูล เพราะข้อมูลมีอยู่แล้ว และ (ข) การทำนโยบายบางด้านไม่ต้องเดา เพราะมีข้อมูลยืนยัน   ทั้งนี้หมายถึงว่าผู้ทำต้องฉลาดที่จะตั้งคำถามและมีทักษะในการหยิบคำตอบออกมาจากกองดาต้า Big data สำหรับงานสุขภาพของชาติที่ทำผ่านระบบโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ใช้ต้นทุนน้อย ได้ประโยชน์ทั้งในงานโรงพยาบาล และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก  เชื่ออย่างยิ่งว่า Big Data จากกระทรวงสาธารณสุขเป็นงานง่าย ขอเพียงเข้าใจและตั้งใจ ทีนี้แหละ จะคุยได้เต็มปากเสียทีว่า เรามี Big Data ของจริง นวพร เรืองสกุล ๑๔ …

Sharing Economy อีกครั้ง

งานสัมมนาเรื่องที่มีคำว่า big data และ 4.0 กำลังมาแรง  (ทั้งๆ ที่บางแห่งระบบลงทะเบียนยังไม่ 4.0 สักนิดเดียว  เมื่อเทียบกับการลงทะเบียนแบบใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลและประหยัดบุคลากร ในการประชุมปี 2017 ของ TDRI https://thaidialogue.wordpress.com/2017/03/19/tdri-2017/) big data เป็นการนำข้อมูลสารพัดแหล่งมาประมวลรวมเป็นข้อสนเทศเพื่อนำไปใช้งานตามวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน  ใช้ในทางดีก็ได้ ใช้ในทางร้าย (เอาไปตามล่าตามล้างคนที่คิดต่าง) ก็ได้  ใช้ในทางดีก็เช่น ข้อมูลดินฟ้าอากาศและภูมิศาสตร์พื้นที่ เอาไว้วิเคราะห์ดินและอากาศ เพื่อเพาะปลูกให้ได้พืชผลดีที่สุดในแต่ละปี แต่ละแปลง (TDRI ยกตัวอย่างการปลูกอ้อยด้วยการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างฉลาดของบริษัทหนึ่งในเมืองไทย)  ข้อมูลนักเรียนและครูทั่วประเทศ ถ้ามีก็อาจจะนำไปใช้วางแผนการเรียนการสอน หลักสูตร การให้การศึกษา และงานอาชีพได้ (ความฝันของผู้สนใจการศึกษา)  ข้อมูลผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ จะทำให้เห็นแบบแผนการเจ็บป่วยในทุกมิติ เช่น โรคที่เป็นบ่อย โรคเรื้อรัง โยงกับอายุ เพศ พื้นที่ อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ สุดแท้แต่จะตั้งคำถามขึ้นมา  (เป็นผลพลอยได้จากข้อเสนอเรื่องการพัฒนาระบบข้อมูลโรงพยาบาลให้เป็นแบบ single data entry ที่ผู้เขียนนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขไปเมื่อต้นปี 2559 และถ้าทำสำเร็จก็น่าจะเป็นคุณูปการต่อระบบสาธารณสุขและระบบสุขภาพของไทย) big data เป็นการหยิบข้อมูลทั้งหลายที่มีกระจัดกระจายและมากมายก่ายกองจากสารพัดแหล่ง ออกมาเป็นข้อเท็จจริง (information) และความรู้ใหม่ (knowledge) คำถามที่ต้องการคำตอบสามารถมีข้อมูลจริงมายืนยันได้โดยไม่ต้องใช้สมมติฐาน  การหาข้อมูลไม่ใช่การออกภาคสนามไปเก็บข้อมูลใหม่ทุกครั้งที่ตั้งคำถามใหม่ขึ้นมา และไม่ใช่การไปรื้อค้นข้อมูลจากกระดาษเอกสารนำมาใส่เป็นการเฉพาะกิจเข้าไปในระบบประมวลผล   big data เป็นการ share data, share information เพื่อนำไปต่อยอดเป็นประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย ถ้าไม่มี data ที่ดีพอ และไม่แชร์กันมากพอ data ที่มีจึงอยู่จะเป็นหย่อมๆ ทำให้ big ยาก ทันสมัยที่รู้จัก big data ก็เพราะเขียนหนังสือ หนังสือชื่อ Sharing Economy ลองมาแล้ว  (นวพร เรืองสกุล กับอัจฉรา สุทธิศิริกุล) ออกวางตลาดเมื่อต้นปี 2017 (แนะนำหนังสือไว้ใน https://thaidialogue.wordpress.com/2017/02/01/sharing-economy/) ช่วยให้ผู้เขียนและผู้อ่่านฟังศัพท์แสงต่างๆ ในโลกสมัยใหม่แล้วรู้สึกว่าตามทัน รู้ทัน (แม้ว่าจะทำไม่เป็น)  เช่น  งาน comp mart ในกรุงเทพฯ เดือนมิถุนายนปีนี้ คน “แห่” ไปซื้อการ์ดจอกันจนเกลี้ยง นัยว่าจะนำไปทำเหมือง (mine) bitcoin เงินตราในโลกไซเบอร์ เรื่องนี้พูดถึงไว้เหมือนกันในหนังสือ Sharing Economy ลองมาแล้ว ทีนี้มาดู sharing economy ที่แชร์สารพัดสิ่งอีกครั้ง Sharing แบบแบ่งปันกัน บานสะพรั่งในโลกไซเบอร์  เช่น  สูตรอาหาร ทำการฝีมือหรืออะไรๆ ที่เป็น DIY หาได้ในอินเทอร์เน็ต จากผู้ที่พร้อมแบ่งปัน การช่วยเหลือให้ข้อมูลกันและกันในกลุ่มผู้มีความสนใจสิ่งเดียวกันโดยไม่หวังผลตอบแทนก็หาได้ เช่นเทคนิคการเขียนโปรแกรมและการแก้ปัญหา ที่คนรู้จริงมักเข้ามาตอบ เป็นน้ำใจที่น่าชื่นใจ  อยากรู้เรื่องท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และสารพัดศาสตร์ มีผู้คนและสถาบันใส่ข้อมูลไว้ให้เป็นข้อมูลสาธารณะ อยู่ที่วิจารณญาณของผู้อ่านจะเลือกไปใช้ แต่เมื่อมีคำว่า economy มาต่อท้ายคำว่า sharing กลับกลายเป็นเรื่องของการทำธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาจากฐานของอินเทอร์เน็ต และกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด Sharing economy มีหลักคิดว่า มีอะไรที่ใช้ให้เต็มที่ เต็มเวลาได้ก็ควรใช้ ไม่ควรมีข้าวของ พื้นที่ รถรา อาคารบ้านเรือน อยู่เฉยๆ ไม่ได้ใช้งานตามประโยชน์ใช้สอยของสิ่งนั้นๆ  เป็นการทำธุรกิจโดยไม่ต้องมีการลงทุนเพ่ิม และการทำแบบนี้ในโลกไซเบอร์ทำให้มีลูกค้ากว้างขวางขึ้น  เช่น ในบ้านมีห้องเหลือ หรือมีบ้านมากกว่าหนึ่งหลัง แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้ก็เอาออกให้เช่า (เป็นธุรกิจของ Airbnb บริษัทที่ทำกิจการด้านจองห้องพักโดยไม่ต้องมีห้องพักที่ตนเองเป็นเจ้าของเลยสักห้องเดียว) กระทั่งหนังสือที่อ่านแล้วแต่ไม่ต้องการ …

TDRI 2017

Boosting the Thai Economy and Reforming the Government by Data Revolution ฟื้นเศรษฐกิจ – ปฏิรูปรัฐ ด้วยปฏิวัติข้อมูล เป็นหัวข้อการประชุมวิชาการประจำปีของทีดีอาร์ไอ เมื่อ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ที่โรงแรมใหญ่กลางกรุงเทพฯ ลงทะเบียน และรับเอกสาร สะดวกสบายด้วยระบบลงทะเบียนล่วงหน้า ทำให้เมื่อถึงหน้างานก็เพียงแต่โชว์คิวอาร์โค้ด เจ้าหน้าที่ยิงข้อมูล แวะไปรับเอกสาร แล้วเข้านั่งฟังได้เลย  เป็นการ reform รูปแบบการประชุมวิชาการที่สัมผัสได้ เอกสารไม่มาเป็นกระเป๋าอีกต่อไป กระดาษ ทีดีอาร์ไอ แจกในงานนี้ คือกระดาษขนาดกระดาษหนังสือพิมพ์หนึ่งแผ่น ที่ตัดครึ่งแล้วพับครึ่ง เป็นเอกสาร ๘ หน้า บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับงาน หัวข้อที่จะนำเสนอพร้อมเนื้อหาย่อ และข้อมูลอื่นที่จำเป็นครบครัน เนื้อหาการนำเสนอ กระทั่งการประเมินผลการประชุม ทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์  ผู้ที่อยากติดตามเรื่องนำเสนอในวันนี้แล้วมาไม่ได้ มีการออกอากาศสด และดูย้อนหลังได้ ทีดีอาร์ไอทำทุกอย่างที่จะบอกว่าประเทศไทย ๔.๐ มาถึงแล้ว หน้างาน บอร์ดแผ่นสูงกว่าตัวคนและกว้างพอจะครอบคลุมแนวโน้มต่างๆ ได้เกินครึ่งศตวรรษ รอต้อนรับอยู่ระหว่างทางเดินเข้างาน ผู้ร่วมงานแต่ละคนนำริบบิ้นชมพูบ้าง ฟ้าบ้าง ไปติดที่บอร์ด time series ข้อมูลสถิติต่างๆ หลายตัว โดยติดให้ตรงตามปีเกิดของตัวเอง  เมื่อเวลาล่วงเลยไป ผู้มาร่วมงานก็ได้เห็นภาพสามมิติที่ให้ข้อมูลหลายประการ   แค่กวาดตามองริบบิ้นสองสีที่ติดเอาไว้ ก็ประเมินได้ว่า ญ กับ ช มาร่วมงานในสัดส่วนประมาณใด  ผู้มาร่วมงานกระจายตัวหรือกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอายุใด และถ้าใครสนใจพินิจภาพตอนที่นำริบบ้ินไปติด ก็จะรู้ว่า ปีที่ตนเกิดนั้น สภาพเศรษฐกิจสังคมโดยรวมของไทยอยู่ในแนวโน้มใด ภาพนี้เกิดขึ้นได้จากการคิดและเตรียมการล่วงหน้าอย่างรอบคอบ ขอชื่นชม เวทีและการนำเสนอ ทีดีอาร์ไอใช้ เวทีกว้าง จอใหญ่เต็มพื้นที่อย่างได้ผล การนำเสนอสั้น กระชับ ได้เนื้อหา เกิดขึ้นได้ด้วยการเตรียมการมาอย่างดีทั้งฝ่ายเทคนิคและนักวิชาการ ความดีของการนำเสนอแบบนี้ก็คือ คุมเวลาได้เต็มที่ ไม่มีเสียงเตือนว่า “หมดเวลาแล้ว”  “เดี๋ยว ขออีกนิด” แล้วเวลาก็ล่วงเลยเกินกำหนดทุกครั้งไป   สิ่งที่คงต้องทำต่อไปอีกหน่อยหลังจากที่ทำมามากแล้วคือการกำกับการ “แสดง” บนเวที การให้นักวิชาการขึ้นเวทีกลางแบบนี้ยากอยู่แล้ว แต่จะช่วยได้อีกหน่อยถ้าหากว่าสองคนที่ขึ้นไปนั้นจะต่างคนต่างนำเสนอตามคิวที่จัดวางแบบสลับจังหวะกันโดยเนื้อหากลมกลืนไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพยายามสนทนาถามตอบกันให้ยุ่งยาก   อีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะต้องทำสำหรับวิทยากรสตรีคือมีผู้แนะนำเรื่อง “ลุค” เมื่อยืนอยู่บนเวที (หมายถึงเสื้อผ้า) เคยไปร่วมประชุมประจำปีกับนายหน้ามือทองของกิจการประกันชีวิต (ดิฉันเขียนเล่าไว้ในหนังสือเล่มบางๆ ชื่อ อย่าท้อ ก้าวต่อไป)  การนำเสนอเรื่องวิชาการของธุรกิจประกันภัยหลายแบบ ทั้งพูดคนเดียว สองคน หรือสามคน  ผู้มีประสบการณ์เล่าเบื้องหลังว่า มีการเตรียมสไลด์นำเสนอเป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรก แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก เพื่อสร้าง first impression ให้กับผู้ฟังจากทั่วโลกได้ในเวลาที่จำกัด และต้องพูดเนื้อหาให้ครบถ้วน  การซ้อมใหญ่เป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก เนื้อหา การนำเสนอที่ถูกใจผู้เขียนมากคือยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดหาข้อมูลและนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิต ฯลฯ ในประเทศไทย  ทำให้ผู้ฟังได้มิติของพื้นที่ จากโลกสู่ชนบท สู่โรงงานไทย อีกมิติหนึ่ง ในด้านมิติของเวลา ดร.สมเกียรติฯ เล่าว่า คนใช้เวลาหลายศตวรรษ กว่าจะรู้ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี  และข้อสรุปเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะมีการเก็บข้อมูลสถิติ พร้อมกับมีเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ๆ เพื่อวัดวิถีดาว กล่าวให้ยาวอีกหน่อย (และคงมีบางตอนที่เขียนเพิ่มเอาเองจากความเข้าใจที่ได้ฟังมา) เริ่มจากที่มนุษย์คิดว่า ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก (ก็เราเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตก จะคิดเป็นอย่างอื่นก็ลำบาก) จนมีการพิสูจน์ว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์  (ในใจก็คงนึกว่าหมุนเป็นวงกลม)  เมื่อเครื่องมือถึง และข้อมูลถึง จึงถึงข้อสรุปดังที่รู้กันทุกวันนี้ว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี และรู้ว่าเวลาไหนของปี หมุนอยู่ตรงไหนจากตำแหน่งดาวฤกษ์นอกสุริยจักรวาล (อันเป็นที่มาของราศีต่างๆ ที่ใช้กันในวงการโหราศาสตร์) อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ สถิติของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล สตรีผู้ริเริ่มการดูแลทหารผู้ป่วยเจ็บในแนวหน้า ที่นำเสนอด้วยภาพเป็น Rose Diagram (ยกให้เธอเป็นต้นแบบของการทำ info graphic เลย) ว่า การตายของทหารในช่วงสงครามไม่ใช่ในสนามรบ แต่เป็นในสถานพยาบาล จากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ   ข้อมูลของเธอทำให้มีการปรับนโยบายสาธารณสุขและลดอัตราการตายในสถานพยาบาลลงได้อย่างเห็นชัด และยังมีตัวอย่างอื่นๆ …