All posts tagged: กระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงอุดมศึกษาแกัปัญหาอุดมศึกษาไทยได้จริงหรือ

  เรื่องของกระทรวงอุดมศึกษาเป็นหัวข้อการสัมมนาที่หลายสถาบันจัดขึ้นในเดือนกันยายน – ตุลาคม  ที่ได้รับฟังมาคือ (๑) กฎหมาย“ยังอยู่ระหว่างร่าง” จึงเท่ากับเป็นการเล่าสู่กันฟังและวิจารณ์ร่างกฎหมาย เรื่องกระทรวงอุดมศึกษาจะทำหน้าที่อะไร หน้าตาเป็นอย่างไร  (๒) ได้ยินความเป็นห่วงกังวลของผู้บริหารและกรรมการบางมหาวิทยาลัยที่มีพันธกิจแตกต่างกันว่า แล้วสถาบันของตนจะเป็นอย่างไรต่อไป กระทั่งมหาวิทยาลัยในกำกับก็เริ่มมึนงงว่า หรือว่านี่จะเป็นก้าวกลับไปอยู่ในระบบราชการส่วนกลางเต็มรูปแบบอีก แม้ว่าในเวลานี้จะมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับก็ตาม และ (๓) กระทรวงนี้อาจจะเป็นกระทรวงอุดมศึกษาพ่วงด้วยวิจัยและนวัตกรรม แต่ พรบ. จัดตั้งส่วนราชการใหม่ไม่ได้มาลำพัง ยังมีพระราชบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เช่น พรบ. การอุดมศึกษา  สำหรับตนเองซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย ฟังแล้วมีคำถามแทนที่จะได้คำตอบ *วัตถุประสงค์ของการตั้งกระทรวงอุดมศึกษาคืออะไร ลึกกว่านั้นก็คือปรัชญาหรือหลักคิดในการกำกับดูแลสถาบันระดับอุดมศึกษาที่รัฐบาลหรือผู้ร่างกฎหมายใช้อ้างอิง คืออะไรแน่  *อุดมศึกษาคืออะไร *ปัญหา (ของอุดมศึกษาไทย) คืออะไร    กระทรวงอุดมศึกษา เกาไม่ถูกที่คัน จากที่ได้รับฟังมา ได้ความรู้สึกว่า (๑) จะมีการตัดเสื้อไซส์เดียวให้ทุกคนสวม สร้างบ้านแบบเดียวให้ทุกครอบครัวอยู่  ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแบบทั่วไป มหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏ กลุ่มราชมงคล แล้วยังมีคำถามว่ามหาวิทยาลัยเอกชนจะถูกกำกับอย่างไร ด้วยกฎหมายและกฎระเบียบกี่ฉบับ รวมทั้งมหาวิทยาลัยในกำกับด้วย ความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐมนตรี กระทรวง และมหาวิทยาลัย ไม่ชัดเจนว่าควรเป็นเช่นไร (๒) กฎหมายอุดมศึกษาจะแก้ปัญหาครอบคลุมทุกสถาบันทั้งที่มีและไม่มีปัญหาเหมือนๆ กัน ทั้งๆ ที่ปัญหาที่หยิบยกโดยวิทยากร ชี้ไปที่การบริหารจัดการที่ขาดกลไกที่ชัดเจน (ขาด governance)  ขาดการรับผิดตามหน้าที่ที่ชัดเจน (accountability)  เช่น (ก) การพัฒนาหลักสูตรที่ผ่านหลายกรรมการแต่ดูเหมือนไม่มีชุดใดดูจริงจัง เพราะคิดว่า ชุดอื่น “ดูมาแล้ว” (ข) กรรมการไม่เข้าใจระบบ ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารกิจการในภาครัฐ  (ค) ผู้บริหาร “ซุก” ปัญหา จนเกิดเรื่องโดยที่สภาไม่ได้รับรู้  เป็นต้น  ผู้บริหารจาก สกอ. ให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยส่วนน้อย ๘ – ๑๐% เท่านั้นที่มี “ปัญหา” เชิงบริหารจัดการที่รอการแก้ไข ให้ความรู้สึกว่า “ปลาตัวเดียว เน่าทั้งเข่ง” และจะโยนสิ่งดี (ถ้ามี) ทิ้งไปพร้อมกันสิ่งที่ไม่ดี (ภาษาอังกฤษว่า “สาดเด็กทารกทิ้งไป พร้อมกับน้ำที่ใช้อาบเด็กแล้ว”)    (๓) วิธีการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยของ สกอ. ก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่งเพราะ (ก) เรียกร้องรายงานกระดาษจำนวนมาก (ข) ทำงานกำกับและอนุมัติเรื่องต่างๆ โดยที่ผู้ถูกกำกับไม่แน่ใจว่าเป็นงานของ สกอ. หรือไม่ (ค) ตั้งบรรทัดฐานที่เหมือนกันหมดทั้งระบบโดยไม่คำนึงถึงบทบาท ภาระหน้าที่ และลักษณะเฉพาะของมหาวิทยาลัยต่างๆ   (ง) ตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ที่มีผลต่อนักศึกษาอย่างล่าช้า จนเกิดความเสียหายต่อบุคคลและสังคมโดยรวม   (จ) บางเรื่องที่ สกอ. กำหนด อาจจะฉุดรั้งมหาวิทยาลัยที่เติบโตเองได้อย่างดี มีเอกลักษณ์ให้หยุดชะงักการก้าวหน้า เพราะผู้กำกับไม่เข้าใจ ไม่ยืดหยุ่น (แบบตัดเสื้อไซส์เดียวให้ทุกคนสวม) ยิ่งเวลานี้มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งถดถอยในเรื่องอันดับโลก สกอ. จึงเป็นจำเลยร่วมไปโดยปริยาย  เป็นการชี้ประเด็นว่าปัญหาอยู่ที่คนและที่การปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่ตัวโครงสร้างทั้งหมด  ข้อคิดและข้อขอเสนอแนะ (๑) กระทรวงอุดมศึกษาควรเป็นกระทรวงที่กำกับดูแลสถาบันทุกแห่งที่นำเสนอหลักสูตรสูงกว่าระดับมัธยมศึกษา (secondary school) และจัดหมวดหมู่การกำกับดูแลให้เหมาะกับพันธกิจของสถาบันนั้นๆ (๒) การกำกับดูแลควรสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างผู้กำกับกับผู้อยู่ภายใต้การดูแล  เพราะหมายถึงการ monitor and assist ตามความจำเป็น ไม่ใช่ command and control แบบที่ส่วนราชการไทยถนัด           (๓) command and control ไม่สามารถสร้างสถาบันระดับอุดมศึกษาที่แตกต่างกันได้ และไม่น่าจะสามารถสั่งให้เกิดนวัตกรรมได้ เพราะนวัตกรรมเกิดจากความอยากรู้อยากเห็น จากการต้องการสร้างสิ่งใหม่ การคิดนอกกรอบ และมีเครื่องมือ ปัจจัย หรือ “สาธารณูปโภค” ที่เอื้ออำนวยให้ความคิดสร้างสรรค์ผลิบานและเกิดเป็นการสร้างสิ่งใหม่ (๔) อุดมศึกษาไม่ควรเป็นสถาบันที่ “อุดม” ไปด้วย “การศึกษา” ทั้ง …