ต้อง ‘แหกคอก’ อัดฉีดเพื่อนักสู้COVID-19
คราวนี้โลกเราเจอโรคระบาดแบบที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนในชั่วชีวิต มาท้าทายมนุษยชาติ ไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ วิกฤตในลักษณะนี้กระตุ้นให้หาทางจัดการกับปัญหาแบบนอกรูปแบบปกติ แบบที่อาจไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตนี้ด้วยก็ได้ ดังที่เห็นประเทศต่างๆ ต่างก็ทดลองวิธีของใครของมันอยู่ ต่างก็เรียนรู้ข้อผิดพลาดของกันและกัน และทำไปในขอบเขตและความสามารถที่ผู้บริหารแต่ละประเทศมีอยู่ ในกรอบวัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ ที่แตกต่างกัน แล้วเราจะได้เห็นเองว่าประเทศใดประสบความสำเร็จมากน้อยกว่ากัน ตรงไหน อย่างไร ที่แน่ๆ ก็คือ บางชาติคิดเร็ว ทำเร็ว (ทำโดยสุจริตจริงจังในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของตน แต่จะดีหรือไม่ ไว้วัดกันทีหลัง) ดังที่ Zou Yue หัวหน้านักข่าว ประจำปักกิ่งของ CGTN กล่าวว่า “Desperate time asks for desperate measures” (ยามเข้าตาจน ก็ต้องใช้มาตรการแบบเข้าตาจน) เวลาไม่รอท่า ทุกวันความเสียหายยิ่งเพิ่ม และผู้อยู่แนวหน้าเริ่มอ่อนแรง ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาต้องเร็วและเด็ดขาด ถึง “แหกคอก” ก็ต้องทำ เพราะคับขันอย่างยิ่ง กลับมามองประเทศไทย เราได้ยินแต่คำปลอบประโลมประชาชนว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ได้ยินคำหวานๆ ที่โรยให้หมอและพยาบาลแนวหน้า โดยไม่มีใครมุ่งเข้าไปช่วยจัดการในจุดที่กองกำลังเสื้อขาวต้องการมากที่สุดเพื่อต่อสู้กับสิ่งประหลาด นั่นก็คือการส่งกำลังบำรุง (ทั้งคน เงิน และอาวุธ) ที่จำเป็นอย่างพอเพียง เพื่อให้สามารถรบได้โดยไม่ต้องพะวงหลัง ไม่ต้องเสียเวลารอ และไม่ต้องอ้อนวอนร้องขอ ไม่ต้องใจหายใจคว่ำว่าจะต้องรบมือเปล่าและบาดเจ็บล้มตาย ในขณะที่คนที่อยู่แนวหลังที่มีหน้าที่ส่งกำลังบำรุง กำลังค่อยๆ เลื่อนกระดาษผ่านไปทีละโต๊ะๆ เพื่อพิจารณา แก้ไข ท้วงติง กระดึ๊บๆ อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว bureaucracy กลายเป็น “bureau-crazy” ไม่มีใครตอบได้ว่า อีกนานแค่ไหนจึงจะถึงโต๊ะที่จะต้องเซ็นอนุมัติ ทั้งๆ ที่การเซ็นอนุมัติก็แค่ยกปากกามาขีดแกรกเดียว เรามีปัญหาเรื่องระบบราชการ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งกำลังบำรุงอย่างรุนแรง ในสถานการณ์คับขันเยี่ยงเวลานี้ ดิฉันเห็นว่า ใครที่มัวแต่ต้วมเตี้ยมเปิดตำราเก่า หรือกางกฎระเบียบที่เคยใช้ในยามปกติ ควรจับไปขังไว้ (พูดจาให้เห็นภาพ) แล้วหาคนใหม่มาทำแทนทันที คำถามข้อ ๑. ใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยอำนาจที่มีตามกฎหมาย (แต่ตอนนี้อำนาจอยู่ที่ไหนไม่ได้ไปตามดู) เพราะรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติที่ออกมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ และเพิ่งประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นี่เอง คณะกรรมการนี้มีปลัดกระทรวงหรือบุคคลเทียบเท่าอีก ๙ กระทรวงเป็นคณะกรรมการ อธิบดีต่างกระทรวงรวม ๙ กรม รวมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีผู้แทนองค์กรแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน อย่างละ ๑ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนาวยการสำนักระบาดวิทยา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ รวมแล้ว ๒๖ คน นับว่าพลังสูงทีเดียวในแง่ยศตำแหน่งกรรมการ และการครอบคลุมกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (หรืออาจจะมากเกินจนเดินไม่ได้) ในแง่เครือข่าย ครอบคลุมทั้งประเทศ เพราะมีคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอยู่ในทีมด้วย ในแง่อำนาจก็มีมากมาย คือประกาศเขตติดโรคได้ทั้งในและนอกราชอาณาจักร สั่งกักกันตัวได้ โดยผู้เดินทางเข้ามาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เจ้าของยานพาหนะก็ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู รักษาพยาบาลบุคคลที่เข้าข่าย เจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ (รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง) มีอำนาจดำเนินการได้เองในพื้นที่ เพื่อห้ามโรคแพร่และป้องกันการแพร่ระบาด แล้วยังเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ปรับได้ถ้าไม่ทำตามคำสั่งของคณะกรรมการ ก็อยากได้ฟังข้อมูลว่า เคยใช้อำนาจนี้หรือยัง ๒. เงินอยู่ไหน ใครรู้บ้าง ด้านการเงินเกี่ยวกับการทำงานตามหน้าที่ คณะกรรมการที่กล่าวมาแล้วเป็นผู้เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการจ่ายเงินชดเชย ค่าทดแทน ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ป้องกัน และควบคุมโรค โดยนัยนี้ เมื่อกระทำการลงไปตามหน้าที่ รัฐบาลย่อมต้องหาเงินมาให้จ่าย ในกรณีฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขมีงบกลางกว่าพันล้านบาท แต่จะใช้เมื่อไร อย่างไร ก็แล้วแต่จะพิจารณาตามกระบวนการพิจารณา …