All posts tagged: ปัญหาการเงินของโรงพยาบาล

ต้อง ‘แหกคอก’ อัดฉีดเพื่อนักสู้COVID-19

คราวนี้โลกเราเจอโรคระบาดแบบที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนในชั่วชีวิต   มาท้าทายมนุษยชาติ ไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ  วิกฤตในลักษณะนี้กระตุ้นให้หาทางจัดการกับปัญหาแบบนอกรูปแบบปกติ แบบที่อาจไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตนี้ด้วยก็ได้ ดังที่เห็นประเทศต่างๆ ต่างก็ทดลองวิธีของใครของมันอยู่ ต่างก็เรียนรู้ข้อผิดพลาดของกันและกัน และทำไปในขอบเขตและความสามารถที่ผู้บริหารแต่ละประเทศมีอยู่ ในกรอบวัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ ที่แตกต่างกัน แล้วเราจะได้เห็นเองว่าประเทศใดประสบความสำเร็จมากน้อยกว่ากัน ตรงไหน อย่างไร  ที่แน่ๆ ก็คือ บางชาติคิดเร็ว ทำเร็ว (ทำโดยสุจริตจริงจังในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของตน แต่จะดีหรือไม่ ไว้วัดกันทีหลัง) ดังที่  Zou Yue หัวหน้านักข่าว ประจำปักกิ่งของ CGTN กล่าวว่า  “Desperate time asks for desperate measures”   (ยามเข้าตาจน ก็ต้องใช้มาตรการแบบเข้าตาจน)  เวลาไม่รอท่า ทุกวันความเสียหายยิ่งเพิ่ม และผู้อยู่แนวหน้าเริ่มอ่อนแรง  ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาต้องเร็วและเด็ดขาด ถึง “แหกคอก” ก็ต้องทำ เพราะคับขันอย่างยิ่ง กลับมามองประเทศไทย เราได้ยินแต่คำปลอบประโลมประชาชนว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ได้ยินคำหวานๆ ที่โรยให้หมอและพยาบาลแนวหน้า โดยไม่มีใครมุ่งเข้าไปช่วยจัดการในจุดที่กองกำลังเสื้อขาวต้องการมากที่สุดเพื่อต่อสู้กับสิ่งประหลาด นั่นก็คือการส่งกำลังบำรุง (ทั้งคน เงิน และอาวุธ) ที่จำเป็นอย่างพอเพียง เพื่อให้สามารถรบได้โดยไม่ต้องพะวงหลัง  ไม่ต้องเสียเวลารอ  และไม่ต้องอ้อนวอนร้องขอ ไม่ต้องใจหายใจคว่ำว่าจะต้องรบมือเปล่าและบาดเจ็บล้มตาย ในขณะที่คนที่อยู่แนวหลังที่มีหน้าที่ส่งกำลังบำรุง  กำลังค่อยๆ เลื่อนกระดาษผ่านไปทีละโต๊ะๆ เพื่อพิจารณา แก้ไข ท้วงติง กระดึ๊บๆ อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว bureaucracy กลายเป็น​ “bureau-crazy”  ไม่มีใครตอบได้ว่า อีกนานแค่ไหนจึงจะถึงโต๊ะที่จะต้องเซ็นอนุมัติ ทั้งๆ ที่การเซ็นอนุมัติก็แค่ยกปากกามาขีดแกรกเดียว    เรามีปัญหาเรื่องระบบราชการ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งกำลังบำรุงอย่างรุนแรง  ในสถานการณ์คับขันเยี่ยงเวลานี้ ดิฉันเห็นว่า ใครที่มัวแต่ต้วมเตี้ยมเปิดตำราเก่า หรือกางกฎระเบียบที่เคยใช้ในยามปกติ ควรจับไปขังไว้ (พูดจาให้เห็นภาพ)  แล้วหาคนใหม่มาทำแทนทันที คำถามข้อ ๑. ใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ตอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยอำนาจที่มีตามกฎหมาย (แต่ตอนนี้อำนาจอยู่ที่ไหนไม่ได้ไปตามดู)  เพราะรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติที่ออกมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘  และเพิ่งประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นี่เอง คณะกรรมการนี้มีปลัดกระทรวงหรือบุคคลเทียบเท่าอีก ๙ กระทรวงเป็นคณะกรรมการ  อธิบดีต่างกระทรวงรวม ๙ กรม รวมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีผู้แทนองค์กรแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์​ โรงพยาบาลเอกชน อย่างละ ๑  อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนาวยการสำนักระบาดวิทยา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ  รวมแล้ว ๒๖ คน นับว่าพลังสูงทีเดียวในแง่ยศตำแหน่งกรรมการ และการครอบคลุมกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (หรืออาจจะมากเกินจนเดินไม่ได้) ในแง่เครือข่าย ครอบคลุมทั้งประเทศ เพราะมีคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอยู่ในทีมด้วย  ในแง่อำนาจก็มีมากมาย  คือประกาศเขตติดโรคได้ทั้งในและนอกราชอาณาจักร สั่งกักกันตัวได้ โดยผู้เดินทางเข้ามาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย  เจ้าของยานพาหนะก็ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู รักษาพยาบาลบุคคลที่เข้าข่าย เจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ (รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง) มีอำนาจดำเนินการได้เองในพื้นที่ เพื่อห้ามโรคแพร่และป้องกันการแพร่ระบาด แล้วยังเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ปรับได้ถ้าไม่ทำตามคำสั่งของคณะกรรมการ    ก็อยากได้ฟังข้อมูลว่า เคยใช้อำนาจนี้หรือยัง ๒. เงินอยู่ไหน ใครรู้บ้าง ด้านการเงินเกี่ยวกับการทำงานตามหน้าที่  คณะกรรมการที่กล่าวมาแล้วเป็นผู้เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการจ่ายเงินชดเชย ค่าทดแทน ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ป้องกัน และควบคุมโรค โดยนัยนี้ เมื่อกระทำการลงไปตามหน้าที่  รัฐบาลย่อมต้องหาเงินมาให้จ่าย     ในกรณีฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขมีงบกลางกว่าพันล้านบาท  แต่จะใช้เมื่อไร อย่างไร ก็แล้วแต่จะพิจารณาตามกระบวนการพิจารณา …

สาเหตุที่โรงพยาบาลของรัฐ (เฉพาะในสังกัด สำนักงานปลัด) ขาดทุน

ปวดหัวอาจจะมาจากหลายสาเหตุ ต้องพิเคราะห์ความเป็นไปได้เป็นเรื่องๆ ไป ไม่มียาวิเศษขนานเดียวแก้โรคปวดหัวจากทุกสาเหตุ  เรื่องโรงพยาบาลขาดทุนก็ทำนองเดียวกัน คราวที่แล้วนำข้อเสนอปฏิรูประดับระบบการให้บริการสุขภาพมาเสนอแล้ว คราวนี้ขอกลับไปที่สาเหตุของปัญหาในโรงพยาบาลแยกตามลักษณะของปัญหา  และทางแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม   สาเหตุของปัญหาทางการเงินของหน่วยบริการและข้อเสนอแนะทางแก้ปัญหา  ปัญหาด้านการเงินที่เกิดกับหน่วยบริการอันมีที่มาจากส่วนกลางหรือภาพรวมมี 3 ด้านคือ ก. เงินจำนวนรวมไม่พอ   ข. การจัดสรรไม่เหมาะสม และ ค. การบริหารจัดการไม่ดี ข้อมูลจากการศึกษาของผู้บริหารจัดการโครงการจากงบทดลองโดยรวม มีข้อบ่งชี้ว่าจำนวนเงินโดยรวมเริ่มไม่พอ และถ้าหากว่ายังหาข้อสรุปไปในทางอื่นไม่ได้ สปสช. ควรหยุดการเพิ่มสิทธิประโยชน์ไว้ก่อน แต่เรื่องนี้อยู่นอกขอบเขตการทำงานของคณะกรรมการฯ ส่วนอีกสองด้านที่เหลือเป็นเนื้อหาของบทนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย (ปัญหาของโรงพยาบาลไม่ใช่ปัญหาของบุคคล) ที่ต้องการการแก้ไขระดับกระทรวงหรือกระทรวงร่วมกับสปสช.  ข้อเสนอแนะที่ 1 ปัญหาเกิดมาจน แก้ปัญหาด้วยการจ่ายแบบขั้นบันไดเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนโรงพยาบาล โรงพยาบาลขนาดเล็กบางแห่งจำเป็นต้องให้เกิดมาเพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่ประชากรเบาบาง ตามนโยบายของรัฐที่จะให้มีโรงพยาบาลชุมชนในทุกอำเภอของประเทศไทย  โรงพยาบาลแบบนี้ไม่ได้ economy of scale ในการดำเนินการ จึงมีค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งเป็นต้นทุนคงที่ที่สูงกว่ารายได้ที่หาได้  ดังนั้น การขาดทุนจากการดำเนินงานเป็นปัญหาของตัวโรงพยาบาลนั้นเองและนานไปก็กลายเป็นปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว  เรื่องนี้ไม่อาจเยียวยาอาการร่อแร่ได้ด้วยการหยอดน้ำเกลือ แบบให้เงินไปทีละครั้งเพื่อพยุงไว้ตามแต่จะมีเสียงเรียกร้อง แต่ควรแก้ไขให้ฟื้นได้จริง โดยดำเนินการจาก 2 ด้านคือ ก. กระทรวงสาธารณสุขประเมินต้นทุนคงที่ที่จำเป็น เพื่อให้ดำรงการให้บริการขั้นต่ำที่หน่วยบริการหนึ่งพึงมีในระดับคุณภาพที่กำหนดเอาไว้ให้ได้ โดยไม่ใช้จำนวนเตียงเป็นบรรทัดฐานเพียงปัจจัยเดียว เพราะอัตราการครองเตียงของหน่วยบริการขนาดเล็กก็ค่อนข้างต่ำ ข. สปสช. เปลี่ยนการเหมาจ่ายรายหัว โดยคำนึงถึงจำนวนประชากรด้วยและจ่ายเงินรายหัวเพิ่มให้โรงพยาบาลขนาดเล็กเพื่อสะท้อนความพยายามจะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการได้ในพื้นที่ได้และสะท้อนความเป็นจริงที่ว่า โรงพยาบาลชุมชนส่วนมาก ให้บริการประชากรในระบบสปสช. เกือบทั้งหมด ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เป็นการจ่ายเพื่อให้คุ้มกับค่ามีบริการในพื้นที่ที่ไม่คุ้มกับการบริการตามปกติ 704. ข้อเสนอแนะมี 2 แบบ คือ เหมาจ่ายแบบกำหนดจำนวนประชากร UC ขั้นต่ำที่ 30,000 คน กับเหมาจ่ายแบบขั้นบันไดเพื่อให้เป็นธรรมมากขึ้นกับโรงพยาบาลที่มีประชากร UC ต่างกัน และสอดคล้องกับหลักการประกันภัยด้วย เช่น จ่ายเป็น 2 ช่วง ตัดช่วงแรกที่ 15,000 คน กับจ่ายเป็น 3 ช่วง ตัดทีละ 10,000 คน การตัด 3 ช่วง จะเป็นธรรมมากกว่า 705.  แสดงการเหมาจ่ายรายหัวแบบขั้นบันได โดยเหมารวมงบ OP และ IP แบบง่าย ที่โรงพยาบาลขนาดเล็กให้บริการได้ ภาพที่ 7.1 ตัวอย่างจำนวนเงินที่โรงพยาบาลขนาดเล็กได้รับถ้าจ่ายเงิน UC แบบขั้นบันได 706. การจ่ายเงินให้พอกับความจำเป็นของโรงพยาบาลจะลดภาระและความกังวลของแพทย์ผู้อำนวยการด้านการเงิน ทำให้แพทย์สามารถใส่ใจกับการให้บริการด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น 707. โรงพยาบาลที่ประชากรน้อยและมีปัญหาเพิ่มในด้าน geographical location ทำให้ transportation cost และ transaction cost สูง หากจำเป็นต้องจัดสรรเงินเพิ่ม ควรพิจารณาเพิ่มเติมด้วยหลักการอื่น หลังจากจัดสรรเงินตามจำนวนประชากรในสิทธิ UC แล้ว 708. สิ่งที่พึงแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อแก้ไขปัญหารายปีได้แล้ว จำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการสะสางหนี้เก่าที่พอกพูนอยู่อย่างเป็นขั้นตอนต่อไป  ข้อเสนอแนะที่ 2 ปัญหาสายน้ำเปลี่ยนทาง แก้ปัญหาด้วยทีมพัฒนาธุรกิจ โรงพยาบาลที่ over capacity คือ มีประชากรทุกสิทธิน้อย แต่มีอาคาร อุปกรณ์ ฯลฯ แล้ว ซึ่งอาจเกิดได้แม้ในปัจจุบัน เช่น ประชากรจำนวนหนึ่งย้ายสิทธิไปตามการแบ่งอำเภอ แบ่งจังหวัด ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข ควรจัดทีมพัฒนาธุรกิจศึกษาเป็นรายโรงพยาบาล และกำหนดแผนร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงบางส่วนเป็นสถานพักฟื้น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง ฯลฯ ตามศักยภาพของพื้นที่และความเป็นไปได้ในด้านความยั่งยืน ในเรื่องนี้ควรจัดจ้างผู้มีความรู้ความชำนาญและมีผลงานด้านการทำ turn around ธุรกิจ หรือพัฒนาธุรกิจมาก่อนแล้ว เป็นผู้ศึกษาและนำเสนอจนถึงขั้นลงมือดำเนินการ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและส่วนงานในกระทรวงร่วมกันทำให้เกิดต่อไป ข้อเสนอแนะที่ 3 ปัญหาแย่งผู้ป่วยจากการแยก ขยาย และยกระดับโรงพยาบาล แก้ปัญหาด้วยการวางแผนการลงทุนเป็นเครือข่าย การที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งลงทุนขยายงาน ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลอื่นหรือหวังว่าจะได้รายได้เพิ่มจากค่ารักษาพยาบาล ก็เป็นการแบ่งผู้ป่วยสิทธิต่างๆ มาจากโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้ว …

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

ประชุมครั้งที่ ๑๕ (ครั้งที่ ๓ ของปี ๒๕๕๙) ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙ สถาบันวิจัยฯ  สรุปปิดงานโครงการส่วนที่รับทำ ประธานเกริ่นหัวข้อต่างๆ ที่จะบรรจุลงในรายงานส่วนของคณะกรรมการทั้งจากความเห็นที่ได้ในห้องประชุม ในการออกไปพื้นที่ และการสนทนากับกรรมการแต่ละคน ที่ทำมาตลอดปี โดยนำเสนอเป็นแผนภาพ ให้เห็นหลักการคิดเกือบทั้งหมดที่คิดไว้แล้ว และขอความเห็นเพ่ิมเติมจากคณะกรรมการ   ประชุมครั้งที่ ๑๖ (ครั้งที่ ๔ ของปี ๒๕๕๙) ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๙ ในห้องประชุมอันร้อนระอุเพราะแอร์เสีย ของ สวปก. ซึ่งไม่เคยมาประชุมมาก่อน ประธานนำเสนอสิ่งที่เขียนเอาไว้ แต่ลืมพิมพ์ออกมาแจก  รวดเดียวจบ แล้วขอความเห็นเพ่ิมเติมอีกครั้งเพื่อปรับปรุงข้อมูลและข้อเสนอ ทุกฝ่ายรับทราบและให้ข้อคิดความเห็น ประธานรวบเรื่อง จบงานของคณะกรรมการ โดยส่วนที่แก้ไขและรายงานฉบับเต็มจะส่งให้ทุกคนได้อ่านและแก้ไขอีกครั้งทาง อี เมล์ แล้วจัดส่งท่านรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือน เจ้าหน้าที่ของ สป. นำหนังสือนำส่งมาให้ลงนามถึงรัฐมนตรี และสำเนารายงานส่งปลัดกระทรวง เป็นอันจบงาน เอกสารน่าจะออกจากกระทรวงวันที่ ๓๐ มีนาคม น่าประหลาด เป็นวันเดียวกับที่ข้าพเจ้าจบรายงาน ศปร. อันเป็นรายงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งเมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว คราวนั้นข้าพเจ้าเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ หวังว่าสิ่งที่ได้ทุ่มเททำมาตลอดปีจะมีผลดีต่อวงการสุขภาพของประเทศของเราได้พอสมควร   เอกสารรายงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งรวมสรุปรายงานของบริษัทฯ สถาบันฯ และผู้บริหารโครงการฯ เป็นเอกสารของ สธ. แต่ สธ. ไม่มีงบจะจัดพิมพ์เผยแพร่  ใครที่สนใจน่าจะขอได้ โดยตรง และ สป. จะส่งให้แบบที่ถูกเงินที่สุดคือทาง อีเมล์     ข้อคิดปิดท้ายบันทึก ว่าด้วย เก่ง ดี กล้า จะปกป้องคนดีไหม ระบบราชการ เช่น สธ และระบบงบประมาณของไทย ลงโทษคนเก่งที่ดี ด้วยการลดเงินสนับสนุน เพราะทำงานได้ดี ก็ไม่ต้องการงบประมาณมาก ถูกแล้วหรือ คนไม่ดีที่กล้า สามารถเข้าครองอำนาจและตำแหน่งผ่านพรรคพวกเพื่อนพ้อง และการข่มขู่คุกคาม ส่วนคนเก่งและดี เมื่อไม่มีความกล้า ก็ไม่อาจทำสิ่งสำคัญๆ ให้สำเร็จได้ และอาจจะแย่ยิ่งกว่าคนเก่งกล้าที่ไม่ดี เพราะดีหรือไม่ดี อาจจะเห็นผลได้ชัดในอนาคต แต่ถ้าไม่กล้าเสียแล้ว ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด   เรื่องสืบเนื่อง ๑๑ เมษายน ๒๕๕๙ มีนัดไปรายงานท่านรัฐมนตรี  ที่ปรึกษา และผู้ช่วยของท่าน และปลัดฯ ทำรายงานออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือเอง เพื่อมอบให้ท่านรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะ   ๒ พฤษภาคม ได้รับนัดไปนำเสนอเรื่องต่อ คณะกรรมการ สปสช.  

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

ประชุมครั้งที่ ๑๓ (ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๙) ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ผู้รับผิดชอบทั้ง ๓ โครงการ มานำเสนออย่างพร้อมเพรียงกัน   รวบความคิดเข้าด้วยกัน ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าเอารายงานการประชุม เอกสารและหนังสือทั้งหมดที่ได้รับ และบันทึกที่จดไว้ตั้งแต่เริ่มงานออกมาเรียงเต็มชั้นในบ้าน แล้วเริ่มอ่านรอบอีกครั้งเพื่อปะติดปะต่อภาพทั้งหมด ทบทวนปัญหาทั้งหลายและเช็คสอบกับแผนยุทธศาสตร์ สธ. พ.ศ. 2559 ทั้งแบบย่อและแบบยาวพร้อมตัวชี้วัด  เพื่อดูว่า ที่จะเสนอนี้อยู่ในกรอบความฝันของ สธ หรือเปล่า หลังจากนั้นก็เริ่มเขียนแผนภาพ และแผนผังความคิดและสิ่งที่จะนำเสนอ อันเป็นปกติของการทำงานของข้าพเจ้า ที่เริ่มทำภาพก่อนจะใส่เนื้อหา   การเมืองมีทุกแห่ง จากเอกสารต่างๆ มีเรื่องน่าสนใจ (แต่นอกเรื่องที่กำลังศึกษาคราวนี้) หลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ก้ำกึ่ง ขอนำมาคิดดังๆ ไว้ตรงนี้ หลายคนคิดว่าการตั้งองค์กรอิสระจะทำให้ปลอดจาก “การเมือง” เอาเข้าจริง ไม่ปลอดค่ะ  ดูตัวอย่างจากข่าวที่แพลมๆ ออกมา ว่าด้วยการเมืองภายในในการสรรหา (แต่เกือบกลายเป็นการเลือกตั้ง) ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยต่างๆ พูดในฐานะที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการ และเคยเป็นผู้บริหารที่มาจากการสรรหา ในคณะกรรมการระดับประเทศแล้ว บอกได้ว่า องค์กรจะปลอดหรือไม่ปลอดจาก “การเมือง” ระดับประเทศ  อยู่ที่ว่าคณะกรรมการขององค์กรนั้นและผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ยอมให้ “การเมือง” ระดับประเทศ เข้ามาแทรกไหม  และตนเองมาด้วยวิธีทางการเมืองที่ต้องตอบสนองความประสงค์ของ “การเมือง” หรือไม่ คำฟ้องและคำวินิจฉัยของศาล ที่สำนักงาน ป.ป.ช. จัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ เปิดแฟ้ม 10 คดีทุจริต บทเรียนราคาแพงของคนไทย พิมพ์ครั้งที่ ๒, ธันวาคม ๒๕๕๘ บอกว่า “คณะกรรมการ…ประกอบด้วย .. ประธาน  .. รองประธาน และกรรมการ แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง …จำนวนไม่เกิน ๙ คน จึงเห็นได้ว่าทุกตำแหน่งอยู่ในสถานะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถให้คุณให้โทษได้ และนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเป็นผู้กำกับดูแลกระทรวงการคลังอีกชั้นหนึ่ง”  เป็นข้อสรุป (หน้า 163) ที่อนุกรรมการตรวจสอบสรุปความเห็น เพื่อเป็นข้อฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2550     ประชุมครั้งที่ ๑๔ ๑๙ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๙ ผู้บริหารโครงการฯ นำเสนอข้อมูลรวมทั้งระบบโรงพยาบาล ที่ทำขึ้นมาจากงบการเงิน เพื่อดูรายได้ ค่าใช้จ่าย ฯลฯ ที่เป็นภาพรวมทั้งระบบ สรุปว่า เกือบ 1/3 ของโรงพยาบาล มีเงินสดไม่พอใช้ทำงานในระหว่างปี ฯลฯ ฯลฯ   ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ บริษัทฯ ส่งรายงานให้ สป.  และจัดอบรมเจ้าหน้าที่เรื่องการทำต้นทุน ฯลฯ ตามที่ตกลงกันไว้   สถาบันวิจัยฯ จัดประชุม และนำเสนอข้อเสนอแนะ ให้ผู้บริหารส่วนกลาง และกลุ่มโรงพยาบาลที่เคยได้ข้อมูลได้รับฟังและออกความเห็นอีกครั้ง    

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

เรื่องดีๆ ที่ได้มาจากการเดินทางดูโรงพยาบาล   •  health workforce เป็นจุดแข็งของระบบสุขภาพของประเทศเสมอมา หมอส่วนมากทำด้วยความรับผิดชอบ ด้วยความรู้จริงในงาน แต่ต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ในท่ามกลาง โรงพยาบาลเอกชนที่มากหลาย ที่ทำให้หมอและบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับมีทางเลือกมากขึ้น เป็นแรงดูด และ ปัญหาการเงินที่หมอต้องเผชิญเมื่อทำงานในโรงพยาบาลสังกัด สป. และการไม่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง เป็นแรงผลัก • เกิดอะไรขึ้นในระบบ หมอจึงทำงานหนักแต่ถูกวิจารณ์และคนไข้ก็ไม่รัก แถมหมอด้วยกันบอกว่า งานไม่หนักเท่าไหร่ จากการอ่านพบว่า คำวิจารณ์และตำหนิติเตียนหมอมักมาจากหมอด้วยกันเอง แต่หมอดี หมอเก่ง หมอตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยก็มีมาก สปสช.จะดังระดับโลกไม่ได้ถ้าหมอไม่ทำงาน  หรือคำตินั้นเป็นเพราะรู้ว่าศักยภาพมี แบบดุลูกคนเก่ง เพราะรู้ว่ามันเก่งได้มากกว่านั้นอีก ส่วนคนที่ไม่เอาไหน ก็ทำใจไปแล้ว แต่คำติเหมือนดาบสองคม ทางหนึ่งกระตุ้น แต่อีกทางหนึ่งบั่นทอน แบบไหนจะให้กำลังใจและได้ผลงานสูงกว่ากัน (ไม่ได้หมายความว่าให้ปกป้องไม่ว่าหมอคนนั้นทำผิดหรือถูก แต่ควรทำตามหลักว่า ติคนที่พึงติ ชมคนที่พึงชม) • ระบบราชการเป็นไง ใครๆ ก็ไม่รัก ข้อนี้ตอบไม่ได้ • ระบบ สปสช. กับ สธ. เป็นยังไง จึงเป็นคู่กรณีกันอยู่เสมอ เรื่องนี้สำคัญที่ทัศนคติ ขอยกไปไว้เดือนธันวาคม หัวข้อ provider / purchaser (ตอนสุดท้าย)   การเดินทาง (เกือบ) ทั่วไทยคราวนี้ ได้คำพังเพยมาหนึ่งบท ไม่ทราบว่าเก่าหรือใหม่  สสจ. ท่องให้ฟัง แทนภาษิตน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าฯ ช่างกลึงพึ่งช่างชัก ช่างสลักพึ่งช่างเขียน ช่างติเตียน ไม่ต้องพึ่งใคร   ประชุมครั้งที่ ๑๒ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ บริษัทฯ รายงานผลการทำงานเท่าที่ทำมาแล้ว และยืนยันส่งมอบงานได้ตามกำหนด วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ คณะกรรมการเริ่มเตรียมตัวจะเขียนรายงานส่วนของตน รายงานมี ๓ ส่วนหลักๆ ส่วน background สป. และสปสช. เขียนในส่วนของตนๆ รายงานจาก ๓ โครงการ เป็น input และข้อเสนอแนะจากแต่ละมุมมองที่แตกต่างกัน บทนำและบทสรุปเพื่อเสนอนโยบายในภาพรวม คงเป็นงานที่กรรมการทำเอง จะจัดจ้างให้ใครทำแทนคงไม่ได้ ประธานไม่เกี่ยงที่จะเป็นผู้เขียน ขอให้ได้ข้อความเห็นมาเพ่ิมจากกรรมการทุกท่านให้ครบ ส่วนที่ผ่านมาได้บันทึกไว้เป็นลำดับแล้ว ในที่ประชุม ผู้ลงพื้นที่รายงานด้วยว่า การส่งเงินมาโรงพยาบาล จากการเบิกจ่ายไปยังสปสช. มักไม่มาเป็นรายรายการ ทำให้ลงบัญชีไม่ได้ หาค้างรับเพื่อล้างบัญชีไม่เจอ จึงทำให้ปรับปรุงตัวเองไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าที่เบิกไป ก้อนไหนไม่ได้เงินเพราะเหตุใด ฟังเรื่องการเงินและตัวเลขฝ่าย สปสช. มามาก คิดว่า สปสช. ควรได้รับการตรวจสอบระบบบัญชี และงบการเงินจาก ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี และผู้สอบบัญชีภายนอกสักครั้งหนึ่ง น่าจะดีกับทุกฝ่าย เพื่อก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคงบนพื้นฐานการเงินและบัญชียิ่งขึ้น   เก็บงาน ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ พบคุณหมอทั้งหลายที่เป็นกรรมการ หรือร่วมประชุมคณะกรรมการ ทั้งฝ่าย สธ. และ สปสช.  และเสริมด้วย คุณหมอวิชัย โชควิวัฒน อีกหนึ่งในหมอผู้เป็นหัวแรงการทำระบบสาธารณสุขระยะหลังของไทย หมอวิชัยให้หนังสือมาหลายเล่ม เป็นหนังสือที่อัดแน่นด้วยความรู้ ทั้งเรื่องภายในและเรื่องที่ค้นคว้ามาเล่าสู่กันฟัง   ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ ไปพบ สสจ. ที่จังหวัดสระแก้ว ผ่านโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ ฉลองที่รัฐบาลให้เครดิตภาษีถ้าใช้เงินซื้อของช่วงปลายปี อุดหนุนสินค้าที่อภัยภูเบศร์มาเป็นของขวัญปีใหม่ให้ญาติผู้ใหญ่ปีนี้ แต่นัดยังไงไม่รู้ เราไม่พบ สสจ. ที่สระแก้ว ต้องตามไปพบกลางทาง อีกอำเภอบนทางผ่านไปจันทบุรี และเราไปไม่ถึงจังหวัดตราด เป็นอันปิดงานเดินทางที่ตะวันออกสุดในสยาม ที่สระแก้วแทนที่จะเป็นตราด แต่ก็สุดแดนไทยเหมือนกัน เรื่องที่ประทับใจที่สุดจาก street fair ที่สระแก้วคือ ร้านค้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราไม่ใช้โฟมบรรจุอาหาร เพราะท่าน …

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

ประชุมครั้งที่ ๙ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๘   ประชุมครั้งนี้หารือสอบถามกันนานเรื่อง inception report (รายการการเริ่มงาน)  รายงานเบื้องต้น  รายงานความคืบหน้า ฝีมือการขอร้องของ สนป. ทำให้ในตอนท้ายการทำงาน บริษัทจะฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ เพื่อให้รู้แนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงิน สอบทานระบบการควบคุมภายในของข้อมูล การวิเคราะห์ต้นทุนเบื้องต้น และได้โปรแกรมการคำนวณต้นทุนที่เจ้าหน้าที่จะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้นำไปใช้งานต่อได้ การอบรมทำกันในวันปิดโครงการส่งรายงาน เมื่อ  ๒๓ – ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙   กรรมการสายคุณหมอห่วงว่า บัญชีของ สธ. ซับซ้อน ผู้จะออกไปปฏิบัติงานต้องเข้าใจ และดูให้ด้วยว่าถูกต้องไหม คณะทำงานตามโครงการไม่ห่วงตนเอง เพราะต่างก็เป็นมือดีในยุทธจักรตัวเลข กลับหันไปเป็นห่วงว่า งานบัญชีซับซ้อนเกินไปสำหรับ รพ เล็กๆ ผังบัญชีไม่น่าจะมีมากมายแบบที่เห็นมาแล้วในการทำ desk top research  จึงตั้งใจจะประเมินระบบให้คณะกรรมการได้รับฟังในโอกาสต่อไป   คุณหมอย้ำว่า “ต้องเข้าใจการจัดสรรเงินสปสช นะ” คำตอบ “ค่ะ ประชุมและถาม สปสช. มาแล้วเมื่อเช้านี้”   ผลงานส่งมอบของทีมบริษัทฯ ที่ไปดูระบบบัญชีคือ ดูแล้ว (๑) สรุปกับโรงพยาบาลเจ้าของข้อมูล (๒)  สรุป ๕ แห่ง ให้กรรมการรับทราบ และ สนป. เริ่มนำบางส่วนไปดำเนินการต่อ และ (๓) สรุปภาพใหญ่จากทั้งหมดที่ไปทำงานมา  และสรุปรายแห่งให้แต่ละโรงพยาบาล ด้วย   ยังงงๆ กันอยู่เป็นครั้งคราว เรื่องไม่ตรวจสอบตัวเลขให้ถูกต้อง แต่ตรวจสอบระบบ นี่คือคำชี้แจงของผู้บริหารโครงการต่อคณะกรรมการฯ ทั้งในมุมของวัตถุประสงค์และ output “วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบบัญชีกับการตรวจสอบเชิงระบบแตกต่างกัน การตรวจสอบบัญชีเป็นการตรวจสอบว่างบการเงินมีความน่าเชืื่อถือในระดับใด ผลการตรวจสอบคืองบการเงินถูกต้องหรือไม่ สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ต้องการทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะการเงิน การวิเคราะห์ต้นทุนของหน่วยบริการสังกัด สนป. การตรวจสอบบัญชีไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รายงานการประชุมเขียนเรื่องบัญชีได้ชัดมาก ด้วยว่าผู้จดเป็นนักบัญชี   คณะทำงานทั้งสามชุด รายงานประสบการณ์การไปทำงานที่โรงพยาบาลตรัง และโรงพยาบาลอินทร์บุรี ว่าไปได้ด้วยดี  สนป. ได้ประสานไปล่วงหน้าว่าไม่ใช่การตรวจสอบบัญชี เจ้าหน้าที่ให้ความร่ามือในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มใจ มีการเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเพื่อให้ระบบดีขึ้น และได้ตอบข้อซักถามด้านการลงบัญชีให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย  ทุกคนค่อนข้างดีใจที่การไปทำงานครั้งนี้ มีส่วนช่วยการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้านการเงินการบัญชีของโรงพยาบาล แทนที่จะเป็นภาระหนักใจ หนักกายของโรงพยาบาล   จะได้กรรมการคนใหม่อีกแล้วเรา ท่านรองปลัดฯ ตัวแทนของ สธ. กำลังจะย้ายไปรับตำแหน่งใหม่เป็นอธิบดี หลังการประชุม ท่านคุยกับทีมงานทั้งสามทีมอีกยาว ฝากความเป็นห่วงของท่าน ฝากประเด็นงาน ให้ข้อแนะนำ ฯลฯ คณะทำงานฯ รู้สึกมีกำลังใจมาก ผู้ทำงานฯ ได้เห็นผู้ตั้งใจทำงานเป็นส่วนมาก ————————      

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

14 กันยายน ๒๕๕๙ แผนพัฒนาธุรกิจ โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี   ก้าวเข้าไปในห้องประชุมของโรงพยาบาล สิ่งแรกที่เห็นคือกระเป๋าเดินทางขนาดเล็กแบบมีล้อลากเรียงอยู่เป็นตับกว่าสิบใบ  บอกให้รู้ว่าบริษัทฯ ที่มาทำงานด้านตัวเลขข้อมูล และระบบบัญชี เอาจริง ตั้งใจมาค้างในพื้นที่ ทำงานให้จบไม่มีการเทียวไปเทียวมา แม้ว่าสิงห์บุรีจะใกล้กับกรุงเทพฯ ขนาดไปเช้าเย็นกลับก็พอได้ และจำนวนคนที่มามากกว่าจำนวนที่บริษัทฯ เคยเสนอไว้ในแผนทำงาน ได้ทราบว่า ส่วนหนึ่งคือมาช่วยกันดู เพื่อจะได้แตกออกเป็น ๒ ทีมได้ในการทำงานครั้งต่อๆ ไป ได้รับคำบอกเล่าตั้งแต่ก่อนออกเดินทางว่า โรงพยาบาลบางแห่งจนตั้งแต่เกิด บางแห่งจนเพราะเกเร (ใช้เงินเกิน บริหารแบบไม่สนใจประสิทธิภาพ) และบางแห่งเป็นปัญหาเพราะจังหวัดมีปัญหา โรงพยาบาลที่อินทร์บุรีจนแบบสาม เพราะสายน้ำเปลี่ยนทาง เมื่อเลิกระบบงบประมาณผ่านกระทรวงแบบเดิม (เงินที่ สปสช. จ่ายเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง แทนเอาโรงพยาบาลว่าเล็กใหญ่แค่ไหนเป็นตัวตั้ง) และเมื่อถนนสี่เลนทำให้อินทร์บุรีเป็นทางผ่านมากกว่าเป็นจุดหมายปลายทาง คนไม่ใช้สิทธิ UC มีทางเลือกอื่นอีกหลายทาง สธ. ยังไม่ได้ลงมือปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลตามสายน้ำที่เปลี่ยนไป โรงพยาบาลจึงมีกำลังเตียง อาคาร และบุคลากรเหลือเฟือ ทิ้งไว้เฉยๆ กลายเป็นค่าใช้จ่ายแทนที่จะเป็นแหล่งรายได้ น่าเสียดาย   คิดๆ ๆ ในที่สุด ผู้จัดการโครงการก็คิดออกว่า โรงพยาบาลแบบนี้เรียกว่า โรงพยาบาล over capacity ต้องทำแผนพัฒนาธุรกิจ (business development plan) เพราะตึก คน เตียง มีครบหมด ต้องรอกระทรวงรับลูก เรื่องแบบนี้โรงพยาบาลทำเองไม่ได้ถนัดนัก จะลดคน ก็สงสารผู้อำนวยการที่ต้องอยู่คนละข้างกับพนักงาน จะให้คิดแผนธุรกิจ ก็ไม่ใช่ความถนัดของคุณหมอ ถ้าคุณหมอเก่งจริงๆ คงไปคิดแผนให้คนอื่น บริษัทอื่นแล้วละ ไม่นั่งกลุ้มใจกับการขาดทุนอยู่หรอก การคิดแผนธุรกิจจะว่าง่ายก็ง่าย (ถ้าทำเป็น) จะว่ายากก็ยาก (ถ้าทำไม่เป็น แล้วพยายามกางตำราทำ) เงื่อนไขสำคัญที่ต้องคิดให้ครบ คือ จะใช้อาคารทำอะไร สิ่งที่ทำนั้นมีตลาดอยู่ที่ไหน ใครจะเข้ามาเป็น “หุ้นส่วน” สำคัญได้บ้างเพื่อให้งานเดินและสำเร็จ คนลักษณะไหนควรจะมาบริหาร ทีมงานควรเป็นอย่างไร เงินทุนจะมาจากไหน เงินแค่ไหนจึงจะพอให้เดินได้และรุ่งเรืองต่อไปได้ แล้วจึงคิดหาคน หาเงิน และแก้ระเบียบ (ถ้าจำเป็น) คิดแค่ว่าจะทำกิจการอะไรลอยๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ หรือเกิดขึ้นก็อาจไม่ลุล่วงด้วยดี แถมทำให้คนที่สนับสนุนร้อนใจในภายหลัง นี่พูดจากประสบการณ์ของนักการเงินที่เคยทำมาแล้วทั้งปล่อยสินเชื่อ วางแผนทำธุรกิจร่วมทุนให้กับองค์กร และก่อตั้งองค์กรใหม่ ที่ลงนั่งคิดพร้อมๆ กับมือทำดีล ที่ทำทั้งตัวเลข การเจรจา และการ “วางแผน” ก่อตั้งองค์กร บริษัท และส่วนงานใหม่ในภาครัฐมาแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าทำที่อยู่ของผู้สูงอายุ ทางด้านการตลาดนอกจากการสำรวจความต้องการแล้ว ต้องวางขอบเขตว่า (๑) จะเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงไปไหนมาไหนได้เองอยู่กันเป็นชุมชน หรือผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้เป็นส่วนใหญ่ของเวลา หรือพวกที่ต้องการการบริบาล ถ้าทำแบบที่สอง ก็ต้องคิดต่อไปว่า ถ้าผู้สูงอายุอยู่ถึงระดับสาม จะทำอย่างไร ส่งไปไหน  (๒) จะทำสำหรับคนกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจระดับใด เพราะบริการข้างเคียงและการจัดบริเวณและห้องพักจะแตกต่างไป ยกตัวอย่างโรงแรมยังมีแบบหลายดาวแตกต่างกัน หมู่บ้านก็มีหลายระดับ (๓) ด้านการเงิน จะให้ผู้สูงอายุจ่ายเงินอย่างไรเพื่อให้โรงพยาบาลได้รับเงินตามกำหนด ไม่กลายเป็นภาระของโรงพยาบาล เช่น  จะให้ญาติจ่าย หรือจะทำระบบการเงินที่ผู้สูงอายุมีเงินทะยอยมาจ่ายทุกเดือนตลอดไป  (๔) จะดึงใครเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง เช่น อปท. โรงพยาบาลศูนย์ วิทยาลัย กลุ่มอาสาสมัครสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกสถานที่ ฯลฯ เรื่องนี้ต้องการทีมงาน ทีมพัฒนาธุรกิจเป็นข้อเสนอหนึ่งในรายงานของคณะกรรมการฯ อยากเห็นธุรกิจเกิดขึ้นได้จริงๆ จะมีความสุขทั้งคนทำงาน ทั้งกระทรวง ทั้งคนคิดดีล และยังเป็นต้นแบบวิธีการคิดสำหรับโรงพยาบาลอื่นๆ ที่สายน้ำเปลี่ยนทางอีกหลายๆ โรง   ————————– ๑๘ กันยายน ๒๕๕๘ พบหนึ่งในบุคคลในตำนาน สปสช. นัดพบคุณหมอวิโรจน์ เพราะ   *อยากถามความเดิมตอนตั้ง สปสช. ว่าตอนนั้นคิดหวังตั้งใจอะไรไว้ และสิ่งที่คลี่คลายมาเป็นกระบวนการที่สำนักงานฯ ทำในทุกวันนี้ เมื่อ ๑๔ ปีให้หลัง …

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

กันยายน ๒๕๕๘ ๒ กันยายน เตรียม ซีเอฟโอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่ โดยทั้งทีมได้เวลาอธิบาย ๔ กันยายน ที่ปรึกษาประชุมกับ ๓ ทีม ๗ กันยายน ตรัง ๑๔ กันยายน อินทร์บุรี ๑๘ กันยายน พบคุณหมอวิโรจน์ ๒๓ กันยายน พบคุณหมอวีรวัฒน์ สปสช. ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๙ ๒๗ กันยายน – ๒ ตุลาคม พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เลย อุบล ————————–   ศุกร์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘ ทีมที่ปรึกษานัดพบกับทีมทำงาน   พบคณะที่ปรึกษา ข้าพเจ้าไม่ได้ไปร่วมประชุมด้วย แต่ย้ำเป้าหมายกับผู้บริหารโครงการว่า ต้องการให้ที่ปรึกษาช่วยชี้แนะให้กับคณะที่จะลงทำงานในพื้นที่ เพราะนักบัญชีรู้เรื่องหมอๆ ในฐานะผู้ป่วย ไม่ใช่ในฐานะผู้ให้การรักษาพยาบาล ส่วนหมอก็รู้บัญชีแบบผู้ใช้ตัวเลข ไม่รู้ลึกถึงหลักคิดของวิชาชีพบัญชี คราวนี้หวังว่า 1 + 1 > 2 หลักคิดของคณะที่ลงไปทำงาน ได้บันทึกบางส่วนไว้ดังนี้ (ไม่แน่ใจว่าจดจากไหน ใครพูด) “ไม่เน้นโรงพยาบาลขาดทุน แต่ศึกษาสถานการณ์การเงินที่โรงพยาบาลจะอยู่ได้ในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง  ทุนหรือสภาพคล่องที่ควรมี ดูว่ามีปัญหาที่ตรงไหน บางครั้งรายได้กับต้นทุนไม่สัมพันธ์กัน จึงต้องเน้นที่จะดูต้นทุนที่ต้องใช้ และต้นทุนประสิทธิภาพการทำงาน แล้วกลับมาดูรายได้ว่าพอไหม  เป็นภาระจริงไหม” “ในการประสานงานครั้งแรก ต้องการให้บริษัทฯ ดำเนินการตรวจสอบบัญชี แต่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา และเห็นว่าการตรวจสอบบัญชีนั้น หลักการเป็นเพียงการให้ความเห็นต่องบการเงิน เพื่อที่จะบอกว่าตัวเลขน่าเชื่อถือหรือไม่ แต่จะไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา ส่วนการทำงานในครั้งนี้ ในเบื้องต้นเราสามารถให้ความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่งจากตัวเลขที่นำมาใช้ จากการสัมภาษณ์ ลงดูระบบงาน พื้นที่ที่มีความเสี่ยง แล้วมุ่งประเด็นในส่วนที่มีความเสี่ยง โดยวัตถุประสงค์ไม่ได้ให้ความเห็นต่องบการเงิน แต่จะเป็นการสะท้อนปัญหาสถานะการเงิน และประเมินประสิทธิภาพการควบคุมภายในเพื่อดูว่าสามารถเชื่อมั่นในงบการเงินได้เพียงใด และทีมจะทดสอบตัวเลขด้วยเทคนิคต่างๆ ให้ได้ผลที่ต้องการคือหาต้นทุนการให้บริการในโรงพยาบาล” ส่วนการดูงบการเงินย้อนหลัง ๓ ปี เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มรวมทั้งอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เพื่อจะทำความเข้าใจว่าข้อมูลไปในทางเดียวกันในภาพรวมประเทศ และภาพย่อยรายหน่วยบริการ สำหรับ ๕ โรงพยาบาล แล้วนำมาปรับเครื่องมือในการดำเนินการใหม่ให้เป็นมาตรฐาน” ฮ่า! ตรงนี้อ่านทวนซ้ำ ๒ – ๓ รอบกว่าจะเข้าใจ  เนื้อหาเป็นศัพท์ที่เจาะจงของวิชาชีพ คนในวงการเดียวกันพูดแล้วเข้าใจตรงกัน เหมือนหมอๆ เอ่ยชื่อโรคหรือศัพท์แพทย์อะไรสักคำ แล้วหมอด้วยกันเข้าใจทะลุปรุโปร่ง สรุปได้ว่านักบัญชีจะไม่ไปตรวจสอบเพื่อบอกว่างบเชื่อถือได้ไหม แต่จะไปดูที่มาของตัวเลข การคุมตัวเลข แล้วประเมินฐานะการเงินออกมา คือ่ไปดูให้แน่ด้วยตาแล้่วช่วยกันหาทางแก้   เริ่มออกเดินทางไป “ฟัง” เพื่อหา “สมุทัย” ของปัญหาการเงินของโรงพยาบาล ๗ – ๑๑ กันยายน ๒๕๕๙ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก สุดแดนที่โรงพยาบาลศูนย์ จังหวัดตรัง ไปไกลกว่านี้ไม่ได้ บริษัทฯ บอกว่าสำนักงานห้ามไปสุดชายแดนใต้บางจังหวัด เพราะทำประกันไม่ได้ ต้นแบบรายแรกจึงอยู่ที่จังหวัดตรัง บริษัทฯ ไปกันเกินพิกัด คือไปสองชุดเพื่อช่วยกันดู ช่วยกันคิด ช่วยกันหาประเด็นที่จะกลับมาปรับปรุงโมเดลการทำงานในโรงพยาบาลอื่นๆ ที่จะตามมา ทีมทำงานไปทำงาน ข้าพเจ้าในฐานะประธานไปสังเกตการณ์ว่า งานเดินได้ดีหรือไม่ และไปฟังผู้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาคเล่าความคิดของเขา บริษัทฯ รายงานว่า ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่อธิบายวิธีทำงาน ส่วนบริษัทฯ ก็แอบเสนอแนะบางเรื่อง เช่น หลักการ RCA    –>Recording –>Custody of Assets –> Authorization การบันทึกบัญชี การเก็บรักษาทรัพย์สิน และการอนุมัติจัดซื้อต่างๆ  เขาไม่ไว้ด้วยกันนะคะ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องต้องห้ามค่ะ ทราบแล้วลงมือแก้ไขเลย   หมอเมืองตรัง จากการคุยกับคุณหมอได้ข้อเสนอแนะดีๆ มาอีกชุดใหญ่ อยู่ที่ว่าจะนำไปประมวลรวมไว้ตรงไหนได้ …