กาลามสูตร กับกรณีพาราควอต
ก่อนที่ผู้ใดจะหลวมตัวอ่านบทนี้เพื่อหาคำตอบ ขอตอบไว้ตั้งแต่ตรงนี้ว่า บทความนี้มีแต่ประเด็นคำถาม ไม่มีคำตอบ แต่….คำถามบางคำถามก็อาจจะเป็นคำตอบได้เหมือนกันนะ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ไปให้กำลังใจ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ในขณะเดียวกันตามที่ได้ยินมา คนที่ไม่ให้แบนเป็นสายกระทรวงเกษตรฯ จริงไหมไม่รู้และด้วยเหตุผลอันใดไม่ปรากฏในรายงานข่าวที่อ่าน แต่สรุปก็คือ คนที่มีน้ำหนักที่สุดในที่ประชุมด้านการนำไปใช้ ยังเห็นประโยชน์ ส่วนคนที่มีน้ำหนักที่สุดในด้านสุขภาพ อันเป็นผลที่เกิดจากการใช้ เห็นโทษ เคยเห็นด้วยเต็มที่กับฝ่ายที่ต้องการแบนสารพิษนี้ เพราะว่าโดยส่วนตัวไม่ชอบวัสดุเคมีทุกชนิด และโปร ออร์แกนิกมาก ดังนั้นจึงสนับสนุนทุกเรื่องที่จะให้เลิกใช้สารเคมี พอดีได้รับคำถามจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นเกษตรกรว่า “ไม่ให้ใช้สารตัวนี้จะให้ใช้อะไร” คำถามชวนให้สะดุดคิดว่า ทางเลือกมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าหนีเสือแล้วไปปะจระเข้ ต่อมาได้ยินเพิ่มเติมว่า สูตรเคมีตัวที่กำลังเป็นประเด็นกันอยู่นี้สิทธิบัตรหมดอายุแล้ว ใครๆ ก็ผลิตได้ ราคาจึงถูก ส่วนพวกที่ต่อต้านไม่ให้ใช้ บางคนต่อต้านด้วยความจริงใจ แต่บางคนก็อาจจะกระทำโดยมีผลประโยชน์แอบแฝง ให้เกษตรกรหันเหไปใช้สารตัวใหม่ที่ยังมีสิทธิบัตรอยู่ ซึ่งแพงกว่าแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าปลอดภัยกว่าหรือเปล่า เพราะอายุการใช้งานยังสั้น การวิจัยเรื่องผลกระทบจึงยังมีไม่มาก ผิดจากสารตัวแรกที่ใช้มายาวนาน การวิจัยถึงผลกระทบมีมากมาย ในเวลานี้ จึงเกิดกังวลขึ้นมาว่า หรือว่าเรากำลังถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ เข้าทำนองเตะหมูเข้าปากหมา แต่ว่าการจะ “รู้เขา” และ “รู้เรา” ในเรื่องนี้ซับซ้อนมาก ต่างคนต่างหลอก ต่างคนต่างมีผลประโยชน์แฝง และคนมีจุดยืนโดยสุจริตก็มี ทำให้สับสนอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม สารภาพว่าตนเองตั้งจุดยืนโดยตกหลุมดักทั้ง ข้อ ๘ และข้อ ๑๐ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เกสปุตติยสูตร (ที่รู้จักกันทั่วๆ ไปในชื่อ กาลามสูตร) อย่าได้ปลงใจเชื่อ ยึดถือเอาคำสอนคำบอกเล่าใด โดยการรับรู้ตามกันมา โดยการถือสืบๆ กันมา โดยเป็นข่าวลือ โดยการอ้างตำรา โดยตรรก โดยการอนุมาน โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล เพราะเข้ากันได้กับความเชื่อของตน เพราะเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดที่รู้ด้วยตนเอง จึงพึงปฏิบัติ ดร. ระวี ภาวิไล ได้เขียนขยายความไว้ในหนังสือ หลักพุทธธรรมที่ใช้เป็นรากฐานของสังคมไทย ในยุคเทคโนโลยีภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๑ ว่า “ความรู้ด้วยตนเอง จะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร “ปัญญามี ๓ ประเภท จินตามยปัญญา เกิดแต่การพิจารณาหาเหตุผล ตรงกับหลักข้อ ๔ ๖ ๗ ข้างต้น สุตามยปัญญา เกิดจากการสดับเล่าเรียน เทียบได้กับข้อ ๑ ๒ ๓ ๔ ข้างต้น ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดแต่การฝึกอบรม ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ถ้ายึดถือเอาตามข้อ ๘ ๙ ๑๐ ข้างต้น ก็คือเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญา “การเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญา น่าเป็นห่วง ข้อที่คนมักเป็นคือข้อ ๘ กับข้อ ๑๐ ถ้ารุนแรงก็ถึงขั้นคลั่งลัทธิ ‘ครูกู (นายกู หัวหน้ากู) เท่านั้น…ถูก คนอื่นเหลวไหลไม่ได้ความ’ … เริ่มคิดว่าฝ่ายที่ไม่เชื่ออย่างตนเป็นศัตรู เป็นมาร ที่จะต้องกำจัด … แทนที่จะให้ความเคารพต่อความเป็นบุคคลของผู้อื่น ก็มักจะใช้ความรุนแรง ด้วยความยินดี ความทุกข์ได้เกิดขึ้นในโลกมากมายเพราะอกุศลธรรมเช่นนี้” (หน้า ๒๗) ต้องกลับมาถามตัวเองใหม่ว่า ทั้งคนที่สนับสนุนให้ใช้ต่อ และคนที่สนับสนุนให้เลิกใช้ แต่ละคน/องค์กร คือใคร ทำอาชีพใด มีผลประโยชน์ทางตรง หรือทางอ้อมกับประเด็นนี้อย่างไร มีความรู้ลึกซึ้งแค่ไหน น่าเชื่อถือเพียงใด และแต่ละคน/องค์กรยกเหตุผลอะไรขึ้นมาพิจารณาก่อนลงความเห็นสนับสนุนหรือคัดค้าน เหตุผลของกรรมการบางท่านที่ตัดสินใจแบน เราได้ยินได้ฟัง เมื่อท่านเปิดเผยตัว แต่เหตุผลของกรรมการท่านอื่นๆ ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะแบนหรือไม่แบน หาไม่เจอในที่ไหนๆ ยกเว้นที่เล่าลือสืบๆ กันมา (เป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส ที่เป็น governance ข้อหนึ่งในพีงมีสำหรับสังคมที่เน้นความรู้คิดของพลเมือง) คราวนี้ก็ต้องเริ่มจากสุตมยปัญญา …