All posts tagged: การเงิน

Paper Money and Crypto Coin: แบงก์กงเต๊กกับเหรียญกาโม่

สหรัฐฯ กำลังพิมพ์เงินอย่างไม่ยั้งมือ และรัฐบาลสหรัฐเป็นหนี้ท่วมตัว นี่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ใหญ่โต และอิทธิพลด้านการเงินยังมีอยู่มหาศาล ถ้าเป็นประเทศเล็กๆ สักประเทศหนึ่ง ป่านนี้เงินดอลล่าร์คงจะเป็นแบงก์กงเต็กไปแล้ว เหมือนที่เงินของเยอรมนีเคยเป็นก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ และอีกหลายๆ ประเทศในโลกในเวลาต่างๆ กัน ส่วนสกุลเงินคริปโต ก็มีคนเข้าไปเล่นกันมากมาย หลายคนนำมากล่าวถึงอย่างภาคภูมิใจว่าลูกๆ เล่นเก่งมาก ได้เงินเป็นแสนเป็นล้าน เพื่อไม่ให้ตกเทรนต์ ขอนำสองเรื่องที่มามองในมิติของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสักหน่อย (แบบพยายามเขียนให้อ่านง่าย) ประวัติศาสตร์จะส่องสะท้อนอนาคตหรือไม่ อยู่ที่ผู้วิเคราะห์มองออกหรือไม่ และมีปัจจัยอื่นใดจะมาเบี่ยงเบนภาพอนาคตไปได้บ้าง อนาคตเท่านั้นจึงยืนยันได้ว่า ปัจจุบันที่เป็นประวัติศาสตร์ในอนาคต จะเป็นเช่นไร แบงก์กงเต๊ก ลองจัดหมวดดู ได้เป็น ๓ กลุ่ม​  ๑.  กระดาษที่พิมพ์ราคาขึ้นมา ไว้ส่งไปให้ใช้ในปรโลก  พวกเราที่มีเชื้อสายจีน หรือรู้จักธรรมเนียมจีน รู้จักแบงก์กงเต๊กกันดี เวลาต้องการให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วมีกินมีใช้อย่างมั่งคั่ง เราจะเผากระดาษเงินกระดาษทอง ธนบัตร รถยนต์ บ้านช่อง ไปให้   ธนบัตรที่ส่งไปให้นั่นแหละคือแบงก์กงเต๊ก  เคยไปซื้อมาทำพิธี จึงเพิ่งรู้ว่าแบงค์ใบหนึ่งราคาตั้ง 500,000 บาท ก็มี เป็นล้านๆ ก็มี  แบงก์แบบนี้ ใครๆ ก็พิมพ์ได้   ส่งเงินไปให้ได้ทีละเป็น 10 เป็น 100 ล้านเลย ไม่รู้ทำให้เกิดเงินเฟ้อในโลกโน้นหรือเปล่า   ๒. ธนบัตรที่กลายเป็นเศษกระดาษ แรกเริ่มเดิมที เป็นธนบัตรที่ใช้ได้ตามกฏหมาย แต่รัฐบาลออกประกาศยกเลิกการใช้ เช่น ช่วงสงคราม ในหลายประเทศมีการพิมพ์ธนบัตรกันมากจนเงินเฟ้อ  หลังสงครามมีการเก็บธนบัตรกลับและถ้าไม่นำไปส่งมอบในเวลาที่กำหนดธนบัตรนั้นก็จะกลายเป็นเศษกระดาษไร้ค่าไป    ในยามสงบ ก็มีบางประเทศออกนโยบายยกเลิกการใช้ธนบัตรบางแบบ เช่น อินเดียเคยยกเลิกธนบัตรมูลค่าสูงเพื่อแก้ลำพวกที่รับสินบน  หรือพม่าเคยยกเลิกธนบัตรชุดหนึ่งแล้วออกธนบัตรอีกชุดหนึ่งที่มีราคาบนหน้าธนบัตรแตกต่างไปจากเดิม เป็นต้น ธนบัตรที่ถูกยกเลิกจึงหมดสภาพธนบัตร กลายเป็นเศษกระดาษเปื้อนหมีกพิมพ์เท่านั้นเอง เห็นโยนทิ้งกันเกลื่อนกลาด  แบงก์แบบนี้ รัฐบาลเท่านั้นมีสิทธิประกาศออกใช้  และประกาศยกเลิกการใช้ คนอื่นทำไม่ได้    ๓. แบงก์กงเต๊กสมัยปัจจุบัน ธนบัตรทั้งหมดที่ออกใช้ในปัจจุบันนี้ ถ้าเป็นของสหรัฐอเมริกา ก็เทียบได้กับแบงก์กงเต๊ก คือพิมพ์กระดาษออกมาแล้วบอกว่าเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย  คนที่ถือไว้ ถือกันโดยสมัครใจ   ที่ยอมรับกันเรื่อยมาทั่วโลกตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ก็เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งมาก มีดอลลาร์ไว้ จะไปซื้ออะไรที่ไหนก็ได้ เพราะใครๆ ประเทศไหนๆ ก็ต้องการ   (แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มมีคนบอกว่าไม่รับ เพราะไม่รู้จะไปใช้ที่ไหน  ก็จะใกล้เป็นแบงค์กงเต๊ก)   รัฐบาลใดก็มีโมโนโปลีในการออกแบงก์สกุลของประเทศตน แต่เงินไม่ใช่มีแค่ธนบัตรเท่านั้น เงินยังเป็นตัวเลขในบัญชีอีกด้วย แต่สุดท้ายแล้วฐานที่มาของเงินในบัญชี อันเป็นตัวเลขที่ผู้คนโอนไปโอนมา ก็คือธนบัตรนั่นเอง พฤติกรรมของแบงก์กงเต๊ก   บางคนคิดว่า แบงก์กงเต๊กเป็นของจริง  ก็จะถือไว้ หรือเก็บไว้ แต่บางคนฉวยโอกาสที่แบงก์ออกมาเพ่นพ่านอยู่ในตลาด  เอาไปไล่ซื้อหุ้น ไล่ซื้อทองคำ ฯลฯ   ได้ตัวเลขกำไรมากมาย  และเมื่อหมดสินค้าในตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ให้ไล่ซื้อแล้ว ก็หันไปไล่ซื้อที่ดิน ซื้ออาคาร (คือ ซื้ออสังหาริมทรัพย์) ที่ระหว่างที่ถือก็ได้ค่าเช่า  นานๆ ไปที่ดินขึ้นราคาก็ได้กำไร   พอไล่ซื้อ ราคาก็สูงขึ้น  สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ พวกที่ต้องใช้น้ำพักน้ำแรงตนเองเก็บออมไปซื้อบ้านซื้อคอนโดเพื่ออยู่อาศัย เก็บไม่ทัน หาเงินไม่ทัน เมื่อเทียบกับคนมีแบงก์กงเต๊กเป็นฟ่อนๆ   เกิดปัญหาสังคมเมื่ออาคารมีมากมายแต่คนไม่มีที่อยู่ เพราะไม่มีเงินซื้อบ้านที่แพงลิบลิ่ว   เมื่อใดที่แบงก์กงเต๊กเสื่อมค่า  อสังหาริมทรัพย์อาจจะยังมีราคา มีมูลค่าอยู่จริง  ตอนนั้นแหละจะเห็นความแตกต่างระหว่างคนถือเงิน (ที่เล็กลง)  กับคนถือทรัพย์สินที่จับต้องได้ (ซึ่งราคาลอยขึ้นตามเงินเฟ้อ และกลับกับการเสื่อมค่าของเงิน)      เหรียญกาโม่  คล้ายกับแบงก์กงเต๊ก เพราะเกิดจากการเสกหรือปั้นขึ้นมา แบงก์กงเต๊กเป็นกระดาษพิมพ์ และเป็นเงินฝากในธนาคาร ส่วนเหรียญกาโม่เป็นเงินดิจิทัล สร้างจากพลังงานไฟฟ้าและการให้รหัส   คนบางกลุ่มบางพวกสร้างเหรียญขึ้นมาเป็นสกุลเงินของตนเอง ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ให้น่าเชื่อถือแบบเงินตรา ด้วยวิธีการที่ใหม่เอี่ยมไม่เคยมีประสบการณ์กันมาก่อน  ทำให้ดูทันสมัยมาก และยังมีศัพท์แสงสมัยใหม่ไฮเทคอีกด้วย  …

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

ประชุมครั้งที่ ๑๕ (ครั้งที่ ๓ ของปี ๒๕๕๙) ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙ สถาบันวิจัยฯ  สรุปปิดงานโครงการส่วนที่รับทำ ประธานเกริ่นหัวข้อต่างๆ ที่จะบรรจุลงในรายงานส่วนของคณะกรรมการทั้งจากความเห็นที่ได้ในห้องประชุม ในการออกไปพื้นที่ และการสนทนากับกรรมการแต่ละคน ที่ทำมาตลอดปี โดยนำเสนอเป็นแผนภาพ ให้เห็นหลักการคิดเกือบทั้งหมดที่คิดไว้แล้ว และขอความเห็นเพ่ิมเติมจากคณะกรรมการ   ประชุมครั้งที่ ๑๖ (ครั้งที่ ๔ ของปี ๒๕๕๙) ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๙ ในห้องประชุมอันร้อนระอุเพราะแอร์เสีย ของ สวปก. ซึ่งไม่เคยมาประชุมมาก่อน ประธานนำเสนอสิ่งที่เขียนเอาไว้ แต่ลืมพิมพ์ออกมาแจก  รวดเดียวจบ แล้วขอความเห็นเพ่ิมเติมอีกครั้งเพื่อปรับปรุงข้อมูลและข้อเสนอ ทุกฝ่ายรับทราบและให้ข้อคิดความเห็น ประธานรวบเรื่อง จบงานของคณะกรรมการ โดยส่วนที่แก้ไขและรายงานฉบับเต็มจะส่งให้ทุกคนได้อ่านและแก้ไขอีกครั้งทาง อี เมล์ แล้วจัดส่งท่านรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือน เจ้าหน้าที่ของ สป. นำหนังสือนำส่งมาให้ลงนามถึงรัฐมนตรี และสำเนารายงานส่งปลัดกระทรวง เป็นอันจบงาน เอกสารน่าจะออกจากกระทรวงวันที่ ๓๐ มีนาคม น่าประหลาด เป็นวันเดียวกับที่ข้าพเจ้าจบรายงาน ศปร. อันเป็นรายงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งเมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว คราวนั้นข้าพเจ้าเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ หวังว่าสิ่งที่ได้ทุ่มเททำมาตลอดปีจะมีผลดีต่อวงการสุขภาพของประเทศของเราได้พอสมควร   เอกสารรายงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งรวมสรุปรายงานของบริษัทฯ สถาบันฯ และผู้บริหารโครงการฯ เป็นเอกสารของ สธ. แต่ สธ. ไม่มีงบจะจัดพิมพ์เผยแพร่  ใครที่สนใจน่าจะขอได้ โดยตรง และ สป. จะส่งให้แบบที่ถูกเงินที่สุดคือทาง อีเมล์     ข้อคิดปิดท้ายบันทึก ว่าด้วย เก่ง ดี กล้า จะปกป้องคนดีไหม ระบบราชการ เช่น สธ และระบบงบประมาณของไทย ลงโทษคนเก่งที่ดี ด้วยการลดเงินสนับสนุน เพราะทำงานได้ดี ก็ไม่ต้องการงบประมาณมาก ถูกแล้วหรือ คนไม่ดีที่กล้า สามารถเข้าครองอำนาจและตำแหน่งผ่านพรรคพวกเพื่อนพ้อง และการข่มขู่คุกคาม ส่วนคนเก่งและดี เมื่อไม่มีความกล้า ก็ไม่อาจทำสิ่งสำคัญๆ ให้สำเร็จได้ และอาจจะแย่ยิ่งกว่าคนเก่งกล้าที่ไม่ดี เพราะดีหรือไม่ดี อาจจะเห็นผลได้ชัดในอนาคต แต่ถ้าไม่กล้าเสียแล้ว ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด   เรื่องสืบเนื่อง ๑๑ เมษายน ๒๕๕๙ มีนัดไปรายงานท่านรัฐมนตรี  ที่ปรึกษา และผู้ช่วยของท่าน และปลัดฯ ทำรายงานออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือเอง เพื่อมอบให้ท่านรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะ   ๒ พฤษภาคม ได้รับนัดไปนำเสนอเรื่องต่อ คณะกรรมการ สปสช.  

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

  เลียบประเทศลาวทางฝั่งไทย 7 วัน 2,300 กิโลเมตร 27 กย – ๓ ตุลาคม ๒๕๕๘ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เลย อุบลราชธานี   สปสช. เขตพิษณุโลก นั่งรถเก๋งออกจากกรุงเทพฯ วันอาทิตย์เช้า พร้อมผู้บริหารโครงการฯ  แวะคุยกับ สปสช. เขต ได้พบคุณหมอ ๓ คน ที่ช่วยให้ความรู้เรื่องการทำงานระดับเขต ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเปิดสำนักงานคุยกันวันอาทิตย์บ่าย สรุปเองว่า สปสช. เป็นผู้จัดสรรเงิน ให้รางวัลการทำดีเด่น (บางครั้งมีงบให้ สสจ. ไปดูงานต่างประเทศ) วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ   identify need ได้มีโอกาสแหย่คุณหมอเรื่องเกี่ยวกับหมอๆ เป็นคำถามชวนคุย เช่น ? เรามีหมอ specialist มากเกินหรือเปล่า  และ specialist สามารถมาทำงานของแพทย์ทั่วไปได้ด้วย ไม่แฟร์หรือเปล่าที่สามารถแย่งงานได้แบบ one way  ผิดกับระบบอังกฤษ ที่ผู้ป่วยต้องผ่านแพทย์ทั่วไป GP ก่อน  GP ดูคนไข้ทั้งตัว รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพด้วย เพื่อไม่ให้ป่วย ระบบออกแบบให้หมอและประชากรในพื้นที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในการที่จะไม่มีผู้ป่วย และสังคมโดยรวมก็ได้ประโยชน์ด้วยที่พลเมืองสุขภาพดี ? คุณหมอบริหาร คุณหมอนักวิชาการ มีสัดส่วนเท่าไหร่แน่เทียบกับหมอที่ยังปฏิบัติงานในวิชาชีพโดยตรงอยู่ ที่เราขาดแคลนแพทย์เพราะส่วนหนึ่งไม่ทำงานแพทย์หรือเปล่า และคุณหมอที่คุยด้วยนี่ คิดถึงวิชาชีพ คิดถึงคนไข้บ้างไหม ทำไมลาออกจากราชการเสียล่ะ            เรื่องนี้น่าทำวิจัยจริงๆ วิจัยว่าหมอเรียนจบแล้วไปทำอะไรกันบ้าง อยู่ในวิชาชีพโดยตรงกี่คน ที่ไม่อยู่เพราะอะไรบ้าง เคยได้คำตอบที่หลากหลาย ทั้งเรื่องไม่ชอบระบบ ไม่ชอบอาชีพ คิดว่าทำอย่างอื่นได้ประโยชน์มากกว่า ทำราชการต้องทำตามวาระระดับชาติที่สั่งต่อกันลงมา บางเรื่องก็อึดอัด และหลายครั้งไม่ได้ทำอย่างที่อยากทำ อยู่ไปก็ไฟมอดหมด  ถ้ามีงานวิจัยที่ชัดเจนก็น่าจะแก้ได้ตรงจุดขึ้น และ สธ. ต้องไม่ลืมว่า หมอในเวลานี้มีทางเลือกมากขึ้นกว่าหมอสมัยก่อนโน้นมาก ไม่อาจชี้นิ้วผู้ที่ลาออกว่า “เห็นแก่เงิน” จนกว่าจะศึกษาหาข้อเท็จจริงมาประกอบ   ? แพทย์เรียน ๖ ปี ทำไมได้ปริญญาใบเดียว  (จำได้ว่าเดิมเรียน ๔ ปีก็ได้ วท. บ แล้วเรียนอีก ๒ ปี ได้ พ.บ. แปลว่าเทียบเท่าปริญญาโท)  เคยถามตัวเองว่าเป็นคนนอกวงการไปยุ่งอะไรกับหมอ ตอบได้แต่ว่าเป็นคนชอบให้มีทางเลือก (choice, way out, exit strategy เป็นคำปกติของอาชีพการเงิน) ไม่ชอบที่คนเก่งมาก เรียนไม่จบแพทย์ จึงได้อะไรที่เทียบเท่า วท.บ. คนที่เรียนจบก็เป็น พ.บ.  โดยส่วนตัวเป็นการตีตราว่า “เธอเรียนไม่จบ”  แทนที่จะเป็นการให้ทุกคน ซึ่งเป็น choice ว่า เธอจะเรียนต่อหรือไม่เรียนก็ได้นะ ความรู้สึกมันต่างกันเยอะเลย แต่เท่าที่ถามๆ ดูหมอหลายรายในหลายสถาบัน คำตอบที่จับความได้คือหมอทั้งหลายไม่รู้สึกเดือดร้อนกับเรื่องนี้ ? นโยบายด้านการผลิตแพทย์ทุกระดับอยู่กับใครหนอ ? ควรทำงานให้ความรู้และงานส่งเสริมป้องกันแบบ mass media หรือไม่ คำตอบมีสุดขั้วทั้งสองทาง และระหว่างกลาง คือ อยากให้ส่วนกลางทำ อยากให้ส่วนกลางช่วยนำร่องให้ซึ่งจะช่วยให้งานในพื้นที่ง่ายขึ้น ไปจนถึงไม่จำเป็น เสียเงิน ไม่ได้ผล ต้องทำระดับบุคคลเท่านั้น และไม่ใช่ธุระของ สปสช. ที่จะรณรงค์ระดับชาติ ตามประสาคนเชื่อในสื่อและอิทธิพลของสื่อต่อทัศนคติและพฤติกรรมของคน ข้าพเจ้าเคยชี้ประเด็นว่า สปสช. มีงบสำหรับงานส่งเสริมใน กทม. ที่มักเหลือ จะยกเงินยกงบให้ สธ. ทำได้ไหม ทำเพื่อ กทม. หรือเพื่อประเทศก็เหมือนกัน เพราะการสื่อสารใน กทม. ต้องใช้สื่ออยู่แล้ว คน กทม. มีญาติพี่น้องอยู่ต่างจังหวัด สื่อออกไปแล้วคน กทม. ดู …

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ 2

ปัญหาการขาดทุน สาเหตุ และทางแก้ สุ. จิ. ปุ. ลิ. เมื่อกลับไปทวนอ่านรายงานการประชุมครั้งที่  ๑ ใหม่ จึงพบว่าความจำสั้นนัก และมักจำที่อยากจำ แถมผิดเพี้ยนอีกต่างหาก อันที่จริงการประชุมครั้งแรกได้เนื้อหามากมาย คือตั้งธงและภาระหน้าที่ไว้เกือบหมดแล้ว ส่วนผลลัพธ์นั้นต้องรอก่อน ตามหลักการเรียนรู้ที่ดี เริ่มจาก สุ. (ฟัง) พร้อมกับ จิ. (คิดตาม) แล้วก็ ปุ. (ถามขอความเข้าใจ)  ก่อนที่จะลงความเห็นแล้วออกเป็นรายงาน  การจดบันทึกไม่นับเป็น ลิ.(เขียน) เพราะแค่จดๆ ไว้ตามประสาคนขี้ลืม สุ. จิ. ปุ. นี่ต้องทำหลายรอบ วงเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เรื่องระดับพื้นที่บ้าง ระดับส่วนงานกลางบ้าง เวลานั้นเรื่องที่เต็มสองหูคือ โรงพยาบาลของรัฐขาดทุน ขาดสภาพคล่อง เงินขาดมือ ฯลฯ คุณหมอเลขาฯ จาก สปสช. เล่าท้าวความการดำเนินงานสืบเนื่องจากหนังสือของกลุ่มโรงพยาบาลที่มีวิกฤติการเงินระดับรุนแรง ตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน  2557 เป็นลำดับมา จึงเพิ่งถึงบางอ้อว่า รัฐมนตรีเคยตั้งคณะกรรมการมาชุดหนึ่งแล้ว เมื่อกลางธันวาคม 2557 ช่ือคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำเนาเรื่องนี้ทั้งเรื่องได้มาแล้วก็เก็บลงแฟ้มไว้รอใช้ เป็นเอกสารเขียนดีอ่านแล้วเห็นภาพชัดเจน (หมายความว่าอ่านใหม่ในเดือนมกราคม 2558 หลังจากผ่านการติวเข้มของคุณหมอทั่วราชอาณาจักรมาแล้ว) ขอบอกว่า ตอนที่ฟังครั้งแรกนั้น ไม่รู้เรื่องเลยค่า รู้แต่ว่า “ที่นี่มีปัญหาหนัก” ฝ่าย สธ. บอกว่า ประเทศนี้โรงพยาบาล “รวยกระจุก จนกระจาย” คือโรงพยาบาลทั่วๆ ไปมีปัญหารายได้น้อยกว่ารายจ่าย  เงินบำรุงของโรงพยาบาลที่เคยมีกลับหดหายไปเป็นส่วนมาก แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่พอไปรอดเพราะรายได้มาจากค่ารักษาพยาบาลกรณียากๆ ที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่นๆ จึงต้องคอย “อุ้ม” น้องๆ ทั้งโดยเต็มใจ คือยกหนี้ให้ ไม่ต้องให้ตามมาจ่ายเวลาส่งผู้ป่วยมา และโดนเบี้ยวหนี้ คือน้องๆ  โรงพยาบาลเล็กๆ บอกว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เพราะไม่มีจะจ่าย” หมายเหตุไว้ในใจตรงนี้ว่า เงินบำรุงหาย เพราะ (๑)เอาไปใช้ฟุ่มเฟือยในเรื่องมิควรจ่าย (๒) เอาไปใช้ตามนโยบายของส่วนกลางหรือรัฐบาล ที่ลงมติให้จ่ายเพิ่มเรื่องโน่นเรื่องนี่  แล้วก็จบลงดื้อๆ ว่าให้ใช้เงินจากเงินบำรุง หรือ (๓) ใช้อย่างสมเหตุสมผล และต้องใช้เพราะรายได้แต่ละปีไม่พอกับค่าใช้จ่าย “ธง” การทำงาน คุณหมอคนหนึ่งเสนอว่า ให้โฟกัส ๒ เรื่อง ก่อนความคิดกระจาย คือ ๑) โรงพยาบาลขาดทุนมีมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (๑) โรงพยาบาลชายขอบหรือไกลปืนเที่ยง เพราะประชากรน้อย  (๒) ปัญหาด้าน social determinant (???)  เช่น โรงพยาบาลที่ต่างด้าวไม่จ่ายเงินมาใช้บริการมาก หรือโรงพยาบาลบนเกาะเล็ก ไม่มีตัวช่วยอื่น เช่นสิทธิข้าราชการ หรือสิทธประกันสังคม ที่เชื่อกันว่าทำรายได้ให้โรงพยาบาลได้มากกว่า และ (๓) การบริหารจัดการมีปัญหา เช่น ลูกจ้างมากไป ค่าใช้จ่ายอื่นๆ สูงไป หรือบัญชีคลาดเคลื่อน    ๒) ปัญหามีต่างๆ นานา ทุกระดับ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ก็ต้องช่วยกันแก้ทุกระดับ แต่กรรมการควรดูกลางน้ำและปลายน้ำ ต้นน้ำอาจจะอยู่นอกหน้าที่  (ต้นน้ำแปลว่าการจัดสรร และจำนวนเงินทั้งสิ้นที่ได้รับมาเป็นงบประมาณ กลางน้ำ คือระบบในจังหวัด ส่วนปลายน้ำคือ โรงพยาบาล) ควรเปลี่ยน mind set จากวิธีคิดเดิมๆ ให้เกิดการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ คุณหมออีกคนเสริมว่า ปัญหาก็รู้ๆ กันแล้ว ต้องตั้งใจจะแก้ปัญหาร่วมกันจริงๆ ไม่เอาแบบต่างคนต่างพาย (สำนวนประธาน)    สำนักงบประมาณไม่ลงความเห็นด้วย แต่อยากรู้ว่า ทำไงจะรู้แน่ๆ ว่าขาดทุนจากบริการไหน จากบริการหลักๆ ให้กับสามกลุ่มคือ …

ก้าวต่อไปของธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) เกิดเมื่อวันที่  10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 นับถึงปี พ.ศ. 2558 ก็อายุกว่า 70 ปีแล้ว ถ้าเป็นคนก็สูงอายุ รอวันไปโรงพยาบาล รอวันไปวัด แต่องค์กรกลับดูมั่นคงและสง่างามตามวันเวลาที่ล่วงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการตั้งสถาบัน เมื่อเหลียวหลังมองแล้วพบว่า เป็น 70 ปีที่เต็มไปด้วยการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และการเห็นการณ์ไกล เป็นที่พึ่งของประเทศได้ ธปท ให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก ก่อนรัฐบาลจะมีนโยบายเน้นเรื่องส่งออก ออกไปเปิดสาขาในภูมิภาคเพื่อสามารถเข้าใจพื้นที่และเป็นจุดกระจายการให้บริการต่างๆ ของธนาคารกลาง ก่อนที่เรื่องความสำคัญของท้องถิ่นจะได้รับความสนใจกว้างขวาง ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรเพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองมากขึ้นในการผลิตธนบัตรสนองความต้องการใช้ในประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงให้ระบบธนาคารของไทยด้วย พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฉบับใหม่ ควบคู่ไปกับรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประชาชนฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากอยู่หลายสิบปี จนกระทั่งธนาคารพาณิชย์ไทยก้าวขึ้นเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ เมื่อธนาคารพาณิชย์ไทยมั่นคงแล้ว ธปท ก็ก้าวต่อไปพัฒนาตลาดทุน เช่น ริเริ่มตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนให้มีสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งกำกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ธนาคารเคยกำกับเองอยู่ด้วย  ช่วยตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยพร้อมทั้งยกธุรกิจด้านการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกให้ธนาคารใหม่ทั้งหมด ในทุกกรณี ธปท สนับสนุนสถาบันใหม่ๆ ด้วยเงิน และด้วยคนที่ให้ยืมไปใช้ ในช่วงที่เริ่มก่อตั้ง จนกระทั่งตั้งตัวได้ ทั้งหมดนี้ยังไม่นับเรื่องที่มีส่วนช่วยทำทางอ้อมอีกนานาประการ เพื่อให้ประเทศของเราเข้มแข็งขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปรับปรุงระบบการเงินอย่างสม่ำเสมอให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลีี่ยนแปลงไป ตอนนี้ก็ต้องรอดูว่า ผู้ว่าการคนใหม่วัยฉกรรจ์ กับสภาพแวดล้อมใหม่ในการเป็นประชาคมอาเซียน และสภาพสังคมใหม่ที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมองไกลและสร้างองค์กรหรือการปฏิบัติงานเช่นไร เพื่อบันทึกในอนาคตว่า เป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ สองเรื่องที่น่าจะอยู่ในความสนใจ ไม่ว่าจะทำโดยตรงหรือโดยอ้อมก็คือ 1. เรื่องผู้สูงอายุ 2. เรื่องการช่วยให้เกิดความมั่นคงในสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ของประเทศ สังคมผู้สูงอายุต้องการกฎหมาย กติกา ข้อบังคับเพิ่มเติม เพื่อสนองตอบพลเมืองชุดใหม่ที่มีความต้องการและความจำเป็นต่างไปจากพลเมืองชุดเดิมที่เป็นเด็ก หรือเป็นคนวัยทำงาน กฎหมายที่หลายประเทศมี แต่ไทยยังไม่มี เช่น กฎหมายทรัสต์เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลเงินของผู้สูงอายุ ตามที่ผู้สูงอายุเจ้าของเงินมอบหมาย เพื่อประโยชน์ของผู้สูงอายุคนนั้นๆ ตราบเท่าที่ผู้สูงอายุคนนั้นยังมีชีวิตอยู่  เป็นการเอื้อให้คนที่หาเงินมาทั้งชีวิตได้จัดการกับเงินของตนเองเพื่อตนเองในบั้นปลายของชีวิต เพื่อให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีสมกับที่ได้หาเงินเลี้ยงตนเองมาตลอดชีวิตการทำงาน กฎหมายให้ธนาคารพาณิชย์ทำทรัสต์ได้ เพื่อให้ธนาคารสามารถตั้งแผนกดูแลเงินและบริการที่เกี่ยวข้องกับเงินของผู้สูงอายุ ตลอดจนให้ทำ reverse mortgage หรืออะไรทำนองนั้นได้ เพื่อแปลงสินทรัพย์ถาวรที่มีมูลค่าของผู้สูงอายุ กลับเป็นกระแสเงินสดเพืื่อเลี้ยงเจ้าของสินทรัพย์นั้นเอง ผลักดันสถาบันการเงิน และเสนอแนะกระทรวงการคลังให้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีทางเลือกในการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณของตนเอง กฎหมายคุ้มครองเงินและสินทรัพย์ของผู้สูงอายุ เพื่อให้ปลอดภัย และเท่ากับเอื้ออำนวยให้ผู้สูงอายุแต่ละคนมีอิสระภาพทางการเงินอย่างยั่งยืน  ไม่เป็นภาระของลูกหลานและสังคมโดยไม่จำเป็น กฎหมายควบคุมดูแลผู้ประกอบการด้านที่การเงิน ที่พัก และด้านบริการที่ให้กับผู้สูงอายุ ที่ไม่อาจพึ่งตนเองด้านการบริหารจัดการเงิน ที่อยู่อาศัย และการดำรงชีวิตอย่างปรกติได้ ให้ได้มีความสุขตามอัตภาพในวัยปลายของชีวิต เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นสังคมผู้สูงอายุ อันเกิดจากครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ครอบครัวเดี่ยวมีมากขึ้น และคนอายุยืนขึ้น ส่วนเรื่องการกำกับสถาบันการเงินอื่นๆ  ตอนนี้กิจการประกันชีวิตกับสถาบันการเงินของรัฐ มีความร่วมมือด้านกำกับดูแลกับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว  คงขาดสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่กระทรวงต้นสังกัดยังปล่อยให้นำเงินของสมาชิกไปลงทุนได้อย่างโลดโผน ผิดจากวัตถุประสงค์ของการให้สมาชิกฝากและกู้กันในวงของตนเอง เรื่องนี้เป็นงานที่ต้องทำอย่างจริงจัง ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายกลายเป็นปัญหาแก้ยากในอนาคต ธปท อาจจะทำทุกเรื่องไม่ได้ แต่ก็สามารถรับเป็นธุระให้กับรัฐบาลได้อย่างแน่นอน เพราะหน้าที่หนึ่งของ ธปท คือ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับรัฐบาล ลงในสกุลไทย ฉบับที่ 3189 ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นวพร เรืองสกุล

บ้านประหยัดพลังงาน

  ประหยัดพลังงาน ประหยัดทรัพยากร   การประหยัดเพื่อลดภาวะการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินสมควร แจงรายละเอียดได้เป็น ๕ คือ refuse reduce reuse repair และ recycle บ้านฉลาดด้านประหยัดพลังงาน (Smart City) ที่ Shioashiya ในเขต Kyogo ของญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างในเชิงปฏิบัติของความคิด ๕ เรื่องนี้   ระบบ ซีโร่ คาร์บอน บ้านประหยัดพลังงาน และหมู่บ้านประหยัดพลังงาน กำลังแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น ทได้ถึงขั้นเป็นบ้านที่ไม่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลย แต่อิงการใช้พลังธรรมชาติของผืนดิน สายลม และแสงแดด คือนำความอุ่นจากผืนดินในฤดูหนาวมาใช้ ได้ลมเย็นจากใต้บ้านมาใช้ในฤดูร้อน พร้อมระบบระบายอากาศ และระบบฉนวนกันความร้อนความเย็นจากลมฟ้าอากาศ เป็นการกลับไปหาภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาควบคุมให้เราอยู่สบายในหลายๆ สภาพอากาศ บรรพบุรุษไทยสร้างบ้านกันฝนและแดดด้วยหลังคาเอียงลาดเป็นมุมแหลม ใต้ถุนสูงได้ลมเย็น และสูงพอรับน้ำท่วมในหน้าน้ำ เพียงแต่เราคนสมัยใหม่ทิ้งวิธีการเดิมไปจนหมด เวลานี้เราอยู่ห้องในคอนโดมิเนียมที่ส่วนมากต้องติดแอร์และเปิดไฟฟ้าทั้งวันทั้งคืน จนลืมไปว่าถ้าปล่อยให้ลมมีทางผ่านเข้าออกทะลุบ้าน แท้จริงแล้วอากาศในกรุงเทพเย็นสบายพอประมาณ เมื่อญี่ปุ่นประสบพิบัติภัยจากแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จากบ้านที่ใช่้พลังงานธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งคือ บ้านควรมีระบบสำรองไฟเพื่อใช้ยามฉุกเฉินด้วย ถึงตรงนี้ งานสร้างบ้านกับงานเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เข้ามาผนวกกัน เกิดเป็นบ้านรุ่นใหม่ที่ทำเทคโนโลยีด้านพลังงานมาใช้เพื่อบ้านทั้งหลัง ที่ยังคงหลักการของการเป็นบ้านที่มี ซีโร คาร์บอน ฟุตพริ้น เอาไว้ (คือบ้านทั้งหลังพยายามไม่เพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกใบนี้) และมีระบบพลังงานสำรองด้วย   หมู่บ้านประหยัดพลังงาน พานาโซนิก เซ็นเตอร์ ในเมืองโอซากา มีพื้นที่ส่วนหนึ่งแสดง สมาร์ตโฮม – – บ้านที่บริหารจัดการพลังงานได้ฉลาดกว่าบ้านท่ั่วไป โดยเจ้าของบ้านอยู่ได้อย่างสบายไร้กังวลกับการจัดการพลังงานด้วยตนเอง และยังเป็นบ้านที่พึ่งตนเองได้ด้านพลังงานอีกด้วย เมื่อเดินทางไปถึงชิโอะอะชิยะ เราก็ได้เห็นบ้านที่ใช้งานจริง มีคนอยู่แล้วจริงๆ ในหมู่บ้านจัดสรรอันประกอบด้วยบ้านกว่า ๔๐๐ หลัง ดำเนินการโดยบริษัทพานาโฮม บริษัทหนึ่งในเครือของกลุ่มพานาโซนิก ณ หมู่บ้านจัดสรร มีโอกาสได้ชมกระบวนการสร้างบ้านที่ประหยัดคนเป็นผลพลอยได้  นับดูคนทำงาน เห็นมีเพียง ๗ คน คนหนึ่งขับรถ อีกสองคนกำลังนำวัสดุก่อสร้างขึ้นไปชั้นบน อีกสองคนทำงานติดตั้ง อีก ๒ คนทำงานอื่นอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กันนั้น คนทำงานไม่ได้ส่งเสียงเอะอะอึกทึกคุยกันหรือว่าสั่งงานกัน เป็นที่รบกวนบ้านใกล้เคียงที่มีผู้เข้าอยู่อาศัยแล้ว ต่างคนต่างทำงานอย่างรู้หน้าที่ของตน บ้านใช้โครงสร้างเหล็ก วัสดุส่วนมากทำสำเร็จจากโรงงานแล้วนำมาติดตั้ง แสดงว่ามีคนอีกจำนวนมากอยู่เบื้องหลังงาน ไม่ได้นำคนงานทั้งหมดออกหน้ามาอยู่ที่พื้นที่ก่อสร้าง กระนั้นบ้านทั้งหลังก็ถูกห่อไว้อย่างดีตามลักษณะงานก่อสร้างทั่วไป ดูเรียบร้อยสะอาดตา ผู้บริหารบริษัทสยามสตีล ผู้พาเราไปทัศนศึกษาครั้งนี้เล่าว่า บริษัทสยามสตีลเองก็สร้างบ้านสำเร็จรูปสำเร็จเร็วเหมือนกัน ผลงานการสร้างบ้านเฉพาะกิจครั้งใหญ่คือสร้างบ้าน ๒๐,๐๐๐ หลัง ในเวลาประมาณ ๔ เดือน ให้กาชาดสากล เพื่อช่วยผู้ประสบภัยจากสึนามิที่อาเจะห์ และยังสร้างเพื่อใช้ครั้งสึนามิที่ญี่ปุ่นด้วย บ้านโครงเหล็กที่เป็นที่อยู่อาศัยถาวร ออกแบบสวยๆ ก็สร้างได้เหมือนกัน เพียงแต่บริษัทยังไม่ได้ก้าวไปทำบ้านจัดสรรด้วยตนเอง   หมู่บ้านจัดสรรมีความเป็นหมู่บ้านก็เมื่อมีสังคม ชุมชน ของคนหมู่บ้านเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ทางบริษัทจัดสรรจึงสร้างส่วนกลางทั้งในแง่กายภาพ และสังคม (ขอเรียกเองเป็นภาษาอังกฤษว่า hard scape กับ social scape) ให้ด้วย ส่วนของกายภาพ เช่น สนามเด็กเล่น ห้องเด็ก และห้องน้ำส่วนกลางใกล้สนามเด็กเล่น และพอร์ตัลไซท์ สำหรับอินเทอร์เน้ต ในส่วนของสังคม ได้เริ่มวางแผนสำหรับการทำกิจกรรมร่วมกัน   ประหยัดพลังงานในบ้าน แนวคิดการประหยัดพลังงานในบ้าน แยกองค์ประกอบได้เป็น 4 ขา คือ สร้างพลังงาน สะสมพลังงานไว้ใช้ ประหยัดพลังงานด้วยระบบติดตามการใช้พลังงาน  และการหมุนเวียนอากาศ โยงพลังงานแหล่งต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อบริหารจัดการ สลับแหล่งพลังงานที่จะใช้ในแต่ละระยะเวลา ตามความเหมาะสม   ระบบประหยัดพลังงานที่ดีคือรู้จักเก็บความร้อนมาไว้ใช้ เหมือนกับระบบประหยัดน้ำที่ดีคือ การเก็บน้ำมาใช้ ไม่ให้เสียไปเปล่าๆ (นึกถึงของเราแต่ดั้งเดิมที่ทุกบ้านมีรางน้ำ มีโอ่ง มีบ่อ) พานาโซนิกมีโชว์รูมบ้านประหยัดพลังงานเรียก Eco Nation Center …

หน้ากากเงิน

นวนิยาย เขียนหนังสือนวนิยายหนา ๕๕๐ ได้อย่างไร ก็ไม่นึกว่าจะเขียนได้ยาวขนาดนี้ แต่เมื่อลงมือเขียนเรื่องก็พาเดินไปเรื่อยๆ จนถึงที่สมควรจบ ก็จบ เนื้อเรื่องเดินตามชีวิตจริงในส่วนที่เกี่ยวกับตำแหน่งงาน และเป็นตอนต่อจากเรื่อง เงินพาไป? และทำงานในวัง (บางขุนพรหม) เรื่องเงินพาไป? พาไปดูงานเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ สมัยที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา ในทำนองว่า เงินพาไปไหน ก็ตามไปดูตรงนั้น เพื่อให้เข้าใจการทำงานของธนาคารพาณิชย์และธนาคารกลางเท่าที่นักศึกษาผู้ไม่มีประสบการณ์การทำงานจะดูได้ ในเรื่องทำงานในวังฯ ตัวเอกกลับมาอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นบันทึกเรื่องราวความประทับใจในฐานะพนักงานหน้าใหม่ ที่ได้หัวหน้างานหลายๆ คนที่สอนงาน ให้ความอบอุ่นและเป็นตัวอย่างที่ดี แนะนำ ตักเตือน สั่งสอน อยู่เสมอ ผู้อ่านจะเดินทางไปตามงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมกับตัวเอกในเรื่อง ที่ย้ายงานไปอยู่ฝ่ายต่างๆ ในธนาคาร อ่านแล้วได้ความรู้ว่า ธนาคารกลางทำอะไรบ้าง มีฉากเศรษฐกิจการเมืองสมัยนั้นประกอบเล็กน้อย คือช่วง ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ – ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และอเมริกันออกจากเวียดนาม กับผลกระทบที่มีต่อธนาคารไทย หน้ากากเงิน เดินเรื่องต่อจาก ๒ เรื่องแรก คือตัวละครเอกโตขึ้นจากพนักงานหน้าใหม่ในธนาคารแห่งประเทศไทย ไปเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ แต่คงความหน้าใหม่เอาไว้เพราะย้ายที่ทำงาน เรื่องราวในหน้ากากเงิน กว้างออกไปเป็นเรื่องระดับนโยบายที่เกี่ยวพันกับลูกหนี้ ผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการธนาคาร ตลอดจนเหตุการณ์ในตลาดทุน ผิดกับสองเรื่องแรกที่เป็นเรื่องแคบๆ ของนักศึกษาฝึกงาน และเรื่องของพนักงานใหม่ หน้ากากเงินมีความเป็นนวนิยายมากกว่า ๒ เรื่องแรก ตรงที่ตัวละครหลากหลาย และทำท่าเหมือนจะมีผู้ร้าย แต่ผู้ร้ายของนวพร ไม่ร้ายจริง เพราะไม่ได้ร้ายในสันดาน และให้เขียนร้ายๆ แบบนั้น เจ้าตัวสารภาพว่าเขียนไม่เป็น เขียนให้ตัวเอกตกระกำลำบากก็เขียนไม่ค่อยเป็น ด้วยความที่ตัวเองไม่เคยตกระกำลำบาก หรือมีเรื่องโศกสะเทือนใจจริงๆ จังๆ มิใยวานิช จรุงกิจอนันต์ ผู้เคยเชียร์ให้เขียนนิยาย แนะว่า “เขียนให้ร้ายมากๆ ก็ไม่เป็นไร พระเอกนางเอกมันหาทางกลับมาได้เองแหละ” ก็ยังทำไม่เป็น เพราะมักมองทุกเรื่องเป็นเหตุเป็นผล เข้าอกเข้าใจไปหมดว่า ทุกคนมีแรงจูงใจของตนเอง                 ดังนั้นจึงวางเรื่องไปในลักษณะที่ว่า แรงจูงใจ บุคลิกและความมุ่งหวังที่แตกต่างกัน สร้างปมขัดแย้ง การเขียนนวนิยายเป็นหนีี่งในความอยากมานานเป็นสิบๆ ปี ตั้่งแต่ยังนั่งเล่นยามเย็นอยู่ที่สตรีสาร ซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำงานที่วังบางขุนพรหม และคุยกับวานิชฯ สม่ำเสมอ เคยเล่าพล็อตเรื่อง “นายธนาคาร” ให้วานิชฯ ฟัง เป็นเรื่องที่พระเอกเป็นหลานเจ้าของธนาคาร และเป็นผู้ตรวจสอบที่พบเรื่องไม่ชอบมาพากลในธนาคาร เล่าได้กระทั่งตอนจบว่าจะเป็นยังไง ทุกคนลงความเห็นว่าสนุก ให้ลงมือเขียนได้แล้ว แต่ว่าเมื่อเล่าให้ใครต่อใครฟังหลายหน ก็เบื่อแล้ว เหมือนกับว่าได้เขียนไปแล้ว คราวเขียนหน้่ากากเงิน ก็เลยอุบพล็อตไว้แล้วลงมือเขียนเลย จึงสำเร็จเป็นเล่มได้ ที่คิดเขียนนวนิยายเพราะมีเรื่องอยากเล่า ที่่เล่าในรูปนวนิยายจะเหมาะที่สุด เพราะสามารถโฟกัสประเด็นไปที่เรื่องเดียวหรือสองเรื่องได้ ตัดสร้างตัวละครให้ชัดเจนได้ ผู้อ่านสามารถคิดเองจากบุคลิกของตัวละครได้ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องในห้องประชุมคณะกรรมการธนาคาร ที่ไม่รู้จะเขียนสารคดีได้อย่างไร และเล่าบรรยายกาศในรูปสารคดียังไงก็ไม่เหมือนกับการเขึียนเป็นนวนิยาย ในหน้ากากเงิน เรื่องราวที่ดำเนินไปเป็นเรื่องในระดับบริหารธนาคารพาณิชย์  เช่น การวางกลยุทธ์ วางตำแหน่งทางการตลาด การหาบริการใหม่มานำเสนอเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่ง สลับการกิจกรรมเพื่อสังคมที่ตัวเอกและเพื่อนๆ ทำเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องในหน้ากากเงินสะท้อนสภาพธุรกิจการเงินช่วงก่อนฟองสบู่แตกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นตอนที่กิจการของทุกธุรกิจขยายตัว เงินทองหาง่าย การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และธุรกิจต่างๆ เกี่ยวพันกันทางการเงินในหลากลักษณะ เช่น เมื่อธนาคารพาณิชย์ไม่ให้กู้เงิน ลูกหน้าก็หันไปกู้บริษัทเงินทุนในเครือธนาคาร หรือผู้บริหารธนาคารเองบางทีก็ส่งต่อลูกหน้ีไปให้บริษัทเงินทุนในเครือ ที่หันมากู้เงินธนาคารไปให้กู้ต่อ เมื่อมีเวลาลูกหนี้มีปัญหาที่พันกลับมาถึงบริษัทเงินทุน จึงลามมาถึงธนาคารด้วย ส่วนที่ยากคือการเขียนนวัตกรรมทางการเงิน เพราะอะไรที่ “ใหม่” ในยุคที่เรื่องเกิดขึ้น มาสมัยนี้ก็มักเกิดขึ้นไปแล้ว จึงเป็นความท้าทายมากๆ ที่จะคิดบริการที่ “ใหม่” ในสมัยโน้น และยังดูใหม่เมื่อเวลาล่วงไปเกือบ ๒๐ ปี เมื่อทำตรงนี้ได้ก็รู้สึกยินดีกับตัวเองอย่างมาก เคยถามผู้อ่านบางคนที่รู้จักใกล้ชิดว่า ชอบหนังสือเล่มนี้หรือไม่ ชอบตัวละครตัวไหน คนหนึ่งบอกว่า อ่านเอาข้อคิด คำคม เขาเปิดให้ดูหนังสือที่ขีดไฮไลท์เหลืองไว้หลายตอนเหมือนกับเป็นตำราเรียน อีกคนหนึ่งบอกว่า อ่านแล้วลุ้นว่า เมื่อไหร่นางเอกจะเจอพระเอก และคนไหนเป็นพระเอกแน่ อีกคนหนึ่งสั่งก่อนเขียนว่า ห้ามพระเอกตายตอนจบอีกนะ ปกติเมื่อเขาจะอ่านนวนิยาย เขาจะเปิดดูตอนจบก่อน จบเศร้าจะไม่อ่าน ตอนที่อ่านเรื่องทำงานในวังฯ …

เรื่องเงินๆ ทองๆ ในเวนิสวาณิช

เวนิสวาณิช ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงร้อยกรองไว้เป็นภาษาไทย อ่านสมัยเป็นนักเรียนให้อารมณ์แบบหนึ่ง คือประทับใจความฉลาดของนางปอร์เชีย ไม่ชอบใจความยิวของพ่อค้าเงินอย่างไชล็อก และยังจำกลอนเพราะๆ ได้หลายบท บางบทเป็นเพลงที่ขับขานกันมาจนทุกวันนี้ เช่น @ความเอยความรัก เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน? เริ่มเพาะเหมาะกลางวางหัวใจ, หรือเริ่มในสมองตรองจงดี? (ลอเร็นโซ)      ชนใดที่ไม่มีดนตรีการ ในสันดาน, เป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ, เขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษ์ หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก; มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี, และดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรก: ชนเช่นกล่าวมานี่ ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้. เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ. อ่านหนังสือเล่มเดียวกันน้ีเมื่อผ่านประสบการณ์การทำงานมายาวนาน เห็นบทเรียนอื่นหลายเรื่อง เชกสเปียร์แต่งเรื่องเวนิสวาณิช ประมาณปี ๑๕๙๗/๒๑๔๐ คำพูดของตัวละครสะท้อนเรื่องราวของผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ ไปด้วยในตัว เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และนายประกัน บัสสานิโย หนุ่มผู้ดีแต่จน ดังที่คนใช้บรรยายไว้ว่า “นายเก่ากับนายใหม่ของกระผมพอจะกล่าวได้ว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติ  : คือใต้เท้า (บัสสานิโย) มีคุณ, นายยิว (ไชล็อก) แกมีสมบัติ” บัสสานิโยขอยืมเงินอันโตนิโยผู้เป็นเพื่อนเพื่อเดินทางไปหาสาวที่ตนหมายปอง แต่ในเวลานั้นอันโตนิโยก็ไม่มีเงินเหมือนกัน เพราะ “เพื่อนก็รู้อยู่ว่าบรรดาทรัพย์ ของฉันสรรพอยู่ทะเลสิ้นทั้งผอง: ไม่มีเหลืออยู่เลยทั้งเงินทอง, หรือสิ่งของที่จะค้าหากำไร:” จึงให้ไปขอยืมเงินจากไชล็อก โดยตนเองรับเป็นผู้ค้ำประกันให้ จะเห็นว่า เงินสำหรับแต่ละคนมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน และความมีหรือไม่มีเงินของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ใครเป็นนายของเงิน หรือเงินเป็นนายของใครเป็นเรื่องน่าพิเคราะห์ บัสสานิโยติดขัดเรื่องการเงินอยู่เสมอ แบบคนชักหน้าไม่ถึงหลัง มี “หนี้สินรุงรังที่คั่งค้าง” เพราะ “เพื่อนรู้แล้วว่าทรัพย์ของฉันนี่ ได้ชักไปใช้จ่ายฟูมฟายทวี, เพราะเหตุที่หน้าใหญ่เกินกำลัง.” อันโตนิโยเป็นพ่อค้า ตอนนั้นเขาไม่มีเงินติดตัวเพราะเงินไม่ว่าง เขาส่งสำเภาไปค้าขายยังเมืองไกลหลายเมือง เงินของเขาใช้ไปในการลงทุนเพื่อให้ได้เงินเป็นกำไรกลับมา ไชล็อกเป็นคนมั่งคั่ง แต่ก็เหมือนไม่มีเงิน เขาใช้ชีวิตอย่างเขม็ดแขม่ เงินของไชล็อกก็ไม่เคยว่างเหมือนกัน เขาเป็นพ่อค้าเงินกู้ บัสสานิโยเป็นคนดี มีเพื่อนมาก แต่แค่นั้นไม่พอจะทำให้เขาเป็นคนมีเครดิตดี ตรงกันข้าม เขาเป็นคนที่มีความเสี่ยงด้านเครดิต เครดิตของผู้ขอกู้ดูกันที่ความสามารถในการจะใช้เงินกู้คืนในเวลาที่กำหนดได้ และบัสสานิโยดูจะไม่มีอะไรจะแสดงให้เห็นว่าเขาจะใช้คืนเงินกู้ได้ เมื่อบัสสานิโยต้องการเงิน จึงจำเป็นต้องมีนายประกันคือคนที่มีเครดิตพอที่เจ้าหนี้ คือไชล็อก จะสบายใจว่า ถ้าบัสสานิโยไม่ใช้คืนเงินกู้ตามกำหนด นายประกันซึ่งในที่นี้คืออันโตนิโย จะเป็นผู้รับผิดชอบชำระแทน นี่เป็นบทเรียนว่าด้วยความเสี่ยงด้านเครดิต บัสสานิโยกลายเป็นคนมีเครดิตดีก็ตอนกลางๆ เรื่อง เพราะไปได้เมียรวย ไชล็อกรับได้ว่า อันโตนิโยเป็นบุคคลที่มีเครดิตเชื่อถือได้ เพราะเป็นพ่อค้าผู้มั่งคั่ง แต่ความมั่งคั่งของอันโตนิโยก็มีความเสี่ยงสูง ไชล็อกประเมินความเสี่ยงของอันโตนิโยไว้ว่า “ทุนรอนของเขาก็ไม่สู้จะแน่นอนนัก: เขามีกำปั่นลำหนึ่งไปค้าทางตริโปลิส, อีกลำหนึ่งไปทางอินเดีย นอกนี้ฉันได้ยินเขาพูดกันที่กลางตลาดว่า มีลำที่สามไปทางเม็กซิโค, ลำที่สี่ไปทางเมืองอังกฤษ, กับยังมีการค้าขายยภายนอกเมืองอีกหลายราย, ที่เขาได้ลงทุนไว้มาก.  แต่เรือหรือก็เป็นแต่กระดาน, และกะลาสีก็เป็นแต่เพียงมนุษย์ มีทั้งหนูบกหนูน้ำ, โจรบกและโจรน้ำ คือสลัด; อีกทั้งมีอันตรายคลื่น, ลม, และศิลา.” การค้าสำเภานั้นจะได้กำไรมาก เมื่อเรือสินค้าเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย พร้อมสินค้าที่ได้ราคาดี แต่ว่าเรือสินค้าอาจอับปาง ทำให้หมดตัวได้ อันโตนิโยก็รู้ความเสี่ยงนี้ และได้วางแผนคุมความเสี่ยงไว้ในระดับหนึ่ง ด้วยการกระจายความเสี่ยงออกไป คือเขาแต่งสำเภาไปค้าหลายลำ หลายทิศทาง ในการให้กู้เงินจะต้องมีเงื่อนไขในกรณีชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนดไว้ด้วย ในกรณีนี้นำไปสู่การต่อรองเชิงล้างแค้นกันขึ้น โดยที่ถ้าหากว่าอันโตนิโยไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ในฐานะนายประกัน จะยอมให้ไชล็อกรับชำระหนี้ด้วยเนื้อใกล้หัวใจของตน เป็นข้อตกลงที่อันโตนิโยมั่นใจว่าไม่เกิดขึ้นแน่ เพราะเรือสินค้าของเขาจะกลับมาก่อนถึงกำหนดชำระหนี้ แต่ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง เพราะวันหนึ่งมีข่าวว่าเรือสำเภาของเขาอับปางลงทั้งหมด หรืออย่างน้อยไม่มีเรือสักลำกลับมาก่อนกำหนดชำระหนี้ที่ทำสัญญาไว้กับไชล็อก ไชล็อกจึงเรียกร้องถึงขึ้นศาลให้อันโตนิโยทำตามสัญญา กรณีผิดนัดชำระหนี้ เรื่องราวนี้มีบทเรียนด้านการเงินแฝงอยู่หลายประเด็นด้วยกัน เครดิตดีหรือไม่อยู่ที่ความประพฤติด้านการเงิน คนที่เครคิตไม่ดี ทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการมีผู้ค้ำประกันที่มีเครดิตดี ผู้คำ้ประกันควรคิดให้รอบคอบก่อนค้ำประกันใคร เพราะต้องมั่นใจว่าตนเองจะสามารถจ่ายเงินแทนลูกหนี้ได้ กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ การค้าขายมีความเสี่ยง จะทำกิจการใดต้องเข้าใจความเสี่ยงของกิจการนั้นๆ และพยายามปิดความเสี่ยงให้ดีที่สุด มีความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ เช่น ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เป็นต้น “ในกระแสแห่งยุตติธรรมา ยากจะหาความเกษมเปรมใจ” ในกระแสแห่งการเรียกร้องให้ทำทุกอย่างตามตัวบทกฎหมายและเสียงเรียกร้องให้สังคมเป็น “นิติรัฐ” เวนิสวาณิชมีข้อชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องนิติธรรม และบทบาทของนักกฎหมายในสังคมยุโรปสมัยนครรัฐ เมื่อมีข้อพิพาทกัน ก่อนจะใช้การตัดสินคดีทางกฎหมาย นางปอร์เชีย ที่ปลอมตัวมาเป็นเนติบัณฑิต ได้ใช้ขั้นตอนของการเจรจาเกลี้ยกล่อมให้เจ้าหนี้รอมชอมยอมความ โดยใช้หลักการุณยธรรม ซึ่งนางเยินยอว่าเหนือกว่าอำนาจ เพราะเป็นคุณของความเป็นเทพ ดังคำกล่าวที่คุ้นหู คือ …