All posts tagged: การบริหารเงิน

โรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ

ประชุมครั้งที่ ๑๕ (ครั้งที่ ๓ ของปี ๒๕๕๙) ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙ สถาบันวิจัยฯ  สรุปปิดงานโครงการส่วนที่รับทำ ประธานเกริ่นหัวข้อต่างๆ ที่จะบรรจุลงในรายงานส่วนของคณะกรรมการทั้งจากความเห็นที่ได้ในห้องประชุม ในการออกไปพื้นที่ และการสนทนากับกรรมการแต่ละคน ที่ทำมาตลอดปี โดยนำเสนอเป็นแผนภาพ ให้เห็นหลักการคิดเกือบทั้งหมดที่คิดไว้แล้ว และขอความเห็นเพ่ิมเติมจากคณะกรรมการ   ประชุมครั้งที่ ๑๖ (ครั้งที่ ๔ ของปี ๒๕๕๙) ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๙ ในห้องประชุมอันร้อนระอุเพราะแอร์เสีย ของ สวปก. ซึ่งไม่เคยมาประชุมมาก่อน ประธานนำเสนอสิ่งที่เขียนเอาไว้ แต่ลืมพิมพ์ออกมาแจก  รวดเดียวจบ แล้วขอความเห็นเพ่ิมเติมอีกครั้งเพื่อปรับปรุงข้อมูลและข้อเสนอ ทุกฝ่ายรับทราบและให้ข้อคิดความเห็น ประธานรวบเรื่อง จบงานของคณะกรรมการ โดยส่วนที่แก้ไขและรายงานฉบับเต็มจะส่งให้ทุกคนได้อ่านและแก้ไขอีกครั้งทาง อี เมล์ แล้วจัดส่งท่านรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือน เจ้าหน้าที่ของ สป. นำหนังสือนำส่งมาให้ลงนามถึงรัฐมนตรี และสำเนารายงานส่งปลัดกระทรวง เป็นอันจบงาน เอกสารน่าจะออกจากกระทรวงวันที่ ๓๐ มีนาคม น่าประหลาด เป็นวันเดียวกับที่ข้าพเจ้าจบรายงาน ศปร. อันเป็นรายงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งเมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว คราวนั้นข้าพเจ้าเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ หวังว่าสิ่งที่ได้ทุ่มเททำมาตลอดปีจะมีผลดีต่อวงการสุขภาพของประเทศของเราได้พอสมควร   เอกสารรายงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งรวมสรุปรายงานของบริษัทฯ สถาบันฯ และผู้บริหารโครงการฯ เป็นเอกสารของ สธ. แต่ สธ. ไม่มีงบจะจัดพิมพ์เผยแพร่  ใครที่สนใจน่าจะขอได้ โดยตรง และ สป. จะส่งให้แบบที่ถูกเงินที่สุดคือทาง อีเมล์     ข้อคิดปิดท้ายบันทึก ว่าด้วย เก่ง ดี กล้า จะปกป้องคนดีไหม ระบบราชการ เช่น สธ และระบบงบประมาณของไทย ลงโทษคนเก่งที่ดี ด้วยการลดเงินสนับสนุน เพราะทำงานได้ดี ก็ไม่ต้องการงบประมาณมาก ถูกแล้วหรือ คนไม่ดีที่กล้า สามารถเข้าครองอำนาจและตำแหน่งผ่านพรรคพวกเพื่อนพ้อง และการข่มขู่คุกคาม ส่วนคนเก่งและดี เมื่อไม่มีความกล้า ก็ไม่อาจทำสิ่งสำคัญๆ ให้สำเร็จได้ และอาจจะแย่ยิ่งกว่าคนเก่งกล้าที่ไม่ดี เพราะดีหรือไม่ดี อาจจะเห็นผลได้ชัดในอนาคต แต่ถ้าไม่กล้าเสียแล้ว ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด   เรื่องสืบเนื่อง ๑๑ เมษายน ๒๕๕๙ มีนัดไปรายงานท่านรัฐมนตรี  ที่ปรึกษา และผู้ช่วยของท่าน และปลัดฯ ทำรายงานออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือเอง เพื่อมอบให้ท่านรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะ   ๒ พฤษภาคม ได้รับนัดไปนำเสนอเรื่องต่อ คณะกรรมการ สปสช.  

วัยรุ่นกับ Smile Money

เด็กวัยรุ่นมีพลังล้นเหลือ ทั้งทำงานทั้งเล่นไม่มีเหนื่อย แล้วยังมีจินตนาการอันแทบจะไร้ขีดจำกัด ได้พบกับพลังแบบนี้ด้วยตนเองเมื่อจัดอบรมว่าด้วยเรื่องการเงิน แล้วสรุปด้วยการให้นักเรียนทั้งหมดประกวดเขียน app การเงิน ความเป็นมาของเรื่องนี้เกิดจากการดำริของ สสส. ว่า ครัวเรือนเป็นหนี้เป็นสินกันมากมาย ความสุขในที่ทำงานและครอบครัวหายไป เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเงินมารบกวนจิตใจ ความเป็นมาอีกด้านเกิดจากกลุ่มคนวัย ๓๐ เศษ มีแบบสอนด้านการเงินสนุกๆ ที่เคยทดลองใช้มาแล้ว ในการสอนนักเรียน และสอนเรื่องความรับผิดชอบทางการเงินให้กับเจ้าหน้าที่สินเชื่อกิจการที่ทำเรื่องให้กู้ด่วนๆ ประเภทที่ว่า มีรถยนต์ก็แปลงเป็นเงินกู้ได้ ทางบริษัทคิดว่า ให้เจ้าหน้าที่อบรมหรือชี้แนะลูกค้าเรื่องการรับผิดชอบกับเงินๆ ทองๆ น่าจะช่วยให้ลูกค้าเงินกู้ เป็นลูกค้าที่ดี ใช้เงินกู้อย่างรับผิดชอบ ใช้คืนตรงเวลา ด้านที่สาม ผู้ทำกิจการด้่านซอฟท์แวร์ทางการเงินรายหนึ่งปรารภว่า app สนุกๆ ที่ให้ความรู้ด้านการเงินไม่ค่อยมี สามด้านมาบวกกัน กลายเป็น โครงการสไมล์มันนี่ งานอบรมดำเนินไปในกลุ่มนิสิตนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ทั้งอบรมเอง และชักชวนผู้ที่เห็นดีด้วยให้เป็นอาสาสมัครอบรมต่อ แบบเพื่อนสอนเพื่อน โครงการนี้ทำ ๒ ปี งานอบรมในปีแรก ส่วนที่อบรมเองดำเนินไปได้ตามเป้า ส่วนที่ต้องการสร้างอาสาสมัครไม่บรรลุผล มีแต่คนอยากเรียนไม่อยากสอน จึงแปลงเป็นการทำเว้ปไซท์ http://www.piggybanks.co ใครอยากรู้ดูเอาเอง ด้านการประกวดสร้าง app เพื่อใช้กับมือถือ จัดประกวดระดับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย จบงาน ผู้จัดไม่ติดใจทำซ้ำปีที่สอง เมื่อได้ไปอบรมให้นักเรียนมัธยม ในอำเภอศรีณรงค์ จ. สุรินทร์ ตามที่คุณครูคนหนึ่งในโรงเรียนติดต่อขอมา ได้เห็นความกระตือรือล้นของคณะครู ความใส่ใจของนักเรียน คนจัดประกวดก็เลยมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ เบนเข็มจากการประกวด app ระดับอุดมศึกษา เป็นการนำนักเรียนต่างจังหวัดมาเรียน แล้วสอนให้้ทำ app ง่ายๆ ประกวดกัน สมมติฐานคือ นักเรียนบางคนอาจจะไม่ได้เรียนต่อ วัตถุประสงค์ของการอบรมคือ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้เรื่องการเงินติดตัวไว้ และใช้คอมพิวเตอร์เป็น สองอย่างนี้จะทำให้เขาสามารถเรียนรู้ต่อ และทำธุรกิจหลายอย่างได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่หนใดในประเทศไทย ไม่ต้องเข้ามากระจุกกันอยู่ในเมืองใหญ่ ทางโครงการคัดเลือกนักเรียน ม. ๕ จากโรงเรียนที่ไม่ใช่อำเภอเมือง กระจายไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โรงเรียนละ ๑๐ คน ให้ครูมาด้วย ๑ คน ได้มา ๙ โรงเรียน จาก ๘ จังหวัด เหนือสุดคือพะเยา ใต้สุดคือสตูล จังหวัดนครศรีธรรมราช ขอมา ๒ โรงเรียน โรงเรียนละ ๕ คน โดยเลือกครูเองว่าจะให้ครูคนไหนมา โครงการให้ค่าเดินทางไปเป็นเงินก้อน ด้านผู้สอน จัดจ้างทีมที่ชนะการประกวดมาเป็นผู้สอน และรวบยอดเป็นพี่เลี้ยงด้วย ทีม ๒ มหาวิทยาลัย ๘ คนรวมพลังกัน ร่วมกันคิด แบ่งกันทำ เขาทำงานจริงจังมาก เพราะเป็นงานแรก และเป็นการก้าวไปบนเส้นทางที่ไม่เคยเดินมาก่อน การให้เงินก้อนเป็นค่าเดินทาง เจ้าหน้าที่โครงการไม่ต้องทำงานด้านเอกสาร และยังได้เห็นการบริหารเงินตั้งแต่ก่อนเริ่มเดินทาง คุณครูพยายามคิดวิธีเดินทางที่ประหยัด แต่ก็ปลอดภัย ทุกคนมาถึงตรงเวลานัดหมาย การให้คุณครูมาด้วย เป็นสิ่งที่ดี เพราะคุณครูกำกับนักเรียนของตนเองอยู่ห่างๆ และเอาใจช่วยลูกศิษย์ ในขณะเดียวกันก็รวมกลุ่มกันนั่งอยู่หลังห้อง เรียนตามนักเรียนไปด้วย ครูบางคนบอกว่าจะเอากลับไปสอนต่อ เลือกนักเรียน ม. ๕ เพื่อให้เขามีเวลากลับไปสอนน้องอีกปีกว่าๆ  และตั้งหลักว่าตนเองจะทำอะไรต่อหลังจบมัธยมศึกษา เด็กเอาจริงทั้งเรื่อเรียน เรื่องเล่น เรื่องกิจกรรม และการประกวด ทำงานกันตั้งแต่ ๙ โมงเช้า ถึงเกือบเที่ยงคืน ไม่เหนื่อย ไม่เพลียให้เห็น และยังได้เพื่อนต่างโรงเรียนอีกกลุ่มใหญ่ใน social network ของตน ผู้จัดมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ มาเล่าให้ฟัง นักเรียนคนหนึ่งทำให้ตัวการ์ตูนเดินได้ ๓- ๔ ก้าว แล้วล้มแผละ ทุกคนหัวเราะ เจ้าตัวบอก “อย่าหัวเราะซิครับ แค่ผมเขียนโปรแกรมให้มันเดินได้ ผมก็ดีใจที่สุดแล้ว” นักเรียนที่ได้รางวัลแอบไปร้องไห้ด้วยความดีใจที่ได้ tablet ซึ่งให้เป็นรายบุคคล แม้จะประกวดเป็นทีม ทีมละ …

ออมก่อน ดอท คอม

ออมก่อน รวยกว่า ตอนนี้มีคนนำไปขึ้นเว้ปแล้วค่ะ อยากอ่านโดยไม่เสียเงินซื้อหนังสือ หรือไม่อยากมีหนังสือให้รกบ้าน เปิดดูได้ที่ ออมก่อน.com หรือ diy4wealth.com ประชาสัมพันธ์ให้หน่อย เพราะแตกต่างจากคราวอื่นๆ ที่ผู้หยิบไปใช้ หยิบไปเฉยๆ คราวนี้เขาขอมาเป็นกิจลักษณะ เมื่อเปิดเข้าไปในเว้ป จะเห็นหนังสือเรื่องออมก่อนรวยกว่า ครบทุกบท เรียงลำดับบท แต่เลือกอ่านได้ในบทที่สนใจ ก้อปปี้ออกมาเหมือนที่จัดเรียงพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มล่าเลยค่ะ ที่มากกว่านั้นคือมีเกมให้เล่นด้วย เป็นเกมสนุกๆ ทดสอบความรู้ด้านการเงินของผู้เล่น ส่วนคนที่ไม่อยากเล่น เขามีเซียมซีให้เสี่ยงทายด้วย เป็นเซียมซีเสี่ยงทายเรื่องเงินๆ ทองๆ  อยากรู้ว่าทายยังไง ลองไปเปิดเสี่ยงทายดูนะคะ ส่่วนคนที่อยากให้เครื่องคิดเลขให้ เขามีการคำนวณตัวเลขทางการเงินให้ด้วย ไม่ต้องคิดเองให้ลำบาก คนทำเว้ปบอกว่า นี่เป็นขั้นแรก ต่อๆ ไป จะมีเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจตามมาอีก ให้คอยติดตาม ระหว่างนี้ก็เล่นเกมและอ่านหนังสือไปพลางๆ ก่อน หนังสือเรื่อง ออมก่อนรวยกว่า พิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ และพิมพ์ซ้ำพร้อมปรับปรุงใหม่เรื่อยมา เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันแล้วในวงการเงิน และสูตรด้านการเงินที่ใช้ ผู้เรียนด้านการเงินมารู้อยู่แล้วทุกคน ไม่ได้ใหม่อะไรสำหรับนักการเงิน สิ่งที่แตกต่างคือการนำเสนอแบบอ่านง่าย เข้าใจง่าย สำหรับคนทั่วไป คนกลุ่มหนึ่งนำเรื่องความรู้ด้านการเงินไปทำเป็นโครงการร่วมกับ สสส. และมหาวิทยาลัย เพื่ออบรมนักเรียน นักศึกษา พนักงานกินเงินเดือน และบุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระ เพราะทาง สสส. เองก็เห็นว่า ปัญหาในครอบครัว ปัญหาในชีวิตของคนสมัยนี้ส่วนมากเกิดจากเรื่องเงิน หรือพูดให้ชัดก็คือ ความไม่สามารถบริหารจัดการการเงินของตนให้เรียบร้อยเป็นสาเหตุของความทุกข์ และปัญหาที่ลามจากปัญหาส่วนตัวไปเป็นปัญหาในที่ทำงาน และปัญหาสุขภาพ และสุขภาวะด้วย แต่การสอนเรื่องการเงินส่วนบุคคล และความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลในเรื่องการเงินของตนเองและครอบครัว เป็นเรื่องไม่ง่าย ไม่ง่ายเพราะคนส่วนมากตั้งหลักในใจว่า “รู้แล้ว” ส่วนคนที่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการก็มักมีทัศนคติหรือแรงต่อต้านว่า “ไม่อยากรู้” “ทำไม่ได้” “มายุ่งกับชีวิตฉันทำไม” “เรื่องส่วนตัว” ที่ทำงานจะมีความสุข คนงานทำงานให้ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ไม่ได้ ถ้าหากว่ายังมีเรื่องเงินรบกวนจิตใจ และเวลาทำงานอยู่ เช่น ความกังวลเรื่องชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือการเสียเวลากับการต้องตอบโทรศัพท์คนมาตามหนี้ หรือหนีหน้าเจ้าหนี้ เป็นต้น การสอนในเรื่องนี้ได้ผลแค่บางส่วน คือผู้ฟังได้รู้จักและเข้าใจการบริหารจัดการเงินของตัวเอง ตามเงื่อนไขและความจำเป็นของแต่ละคน ไม่มีสูตรสำเร็จที่ “ต้องทำ” เป็นสูตรตายตัว เว้นแต่สูตรหลักการ ที่ว่า “หาให้พอใช้” “ควรมีเงินเหลือใช้”  และ “ออมก่อนใช้” การสอนจะได้ผลจริงจังต่อเมื่อลงมือปฏิบัติ และตรงนี้เป็นส่วนขาดที่บริษัทและผู้บริหารบริษัทเท่านั้นจะช่วยเติมให้เต็มได้ เท่าที่พบมา บริษัทส่วนมากยินดีให้เงิน คือจ้างทีมอบรมไปอบรมพนักงานทั้งบริษัท แต่ไม่ให้เวลาและไม่ให้ใจ ไม่มีการย้ำเตือนใดในองค์กรหนึ่งจะดีเท่ากับ พนักงานเรียนรู้ที่จะสอนกันเอง สอนกันเรื่อยๆ สอนกันต่อเนื่อง และพนักงานในองค์กรมีเพื่อนร่วมงาน และผู้บริหารเป็นผู้กระตุ้นเตือน ผู้แนะนำ และผู้ปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่าง องค์กรส่วนมากทำงานจิตอาสาด้วยการออกไปปลูกป่าบ้าง ทำกิจกรรมสาธารณกุศลอ่ื่นๆ บ้าง จะมีกลไกและแรงจูงใจเช่นไร ให้งานบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลกับพนักงานใกล้ตัว เป็นงานจิตอาสาด้วย และเป็นงานจิตอาสาของคนทุกระดับในองค์กร การจัดการเงินทองส่วนบุคคลต้องการวินัยและการให้กำลังใจจากทุกคนรอบตัว ในท่ามกลางกระแสแห่งการหลอกล่อ ชักชวน ให้บริโภคด้วยการสร้างหนี้สินดังเช่นทุกวันนี้ ผู้จัดทำเวป ออมก่อน.com หวังว่า เวปนี้จะเป็นหนึี่งในส่ิงแวดล้อมที่เอื้อให้คนที่ทำงานหาเงิน รู้จักและเข้าใจเงินมากขึ้น จะได้ทำตนเป็นนายของเงินแทนที่จะตกเป็นทาสของเงิน

การบริหารเงินและบริหารคน

การบริหารเงินและบริหารคน สนทนา+บรรยาย สำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๕ การบริหารเป็นไปเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ 2.  องค์ประกอบในขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ ต้องมี คน เงิน และอุปกรณ์ (รวมที่ดิน อาคาร) และมีการบริหารจัดการเพื่อให้สามสิ่งแรกสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ                 3.  การบริหารคนมีหลายขั้นตอน การคัดเลือกพนักงานเป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น ขั้นตอนอื่นๆ สำคัญพอๆ กันหรือมากกว่า เพื่อให้ผู้เข้ามาเป็นพนักงานทำงานอย่างมีความสุขและทำได้เต็มตามศักยภาพของตน ขั้นตอนอื่นๆ เพื่อนร่วมงานสำคัญมาก องค์กร นโยบาย และการพนักงานเป็นส่วนประกอบ คณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานเป็นเพื่อนร่วมงานแต่อยู่ลำดับสำคัญกว่าผู้อื่น คือเป็น first among equals 4.  คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการบริหารคนคือความเที่ยงธรรม  หรืออีกนัยหนึ่งคือการวางโครงสร้างการบริหารจัดการให้เป็นระบบที่ดี หรือให้มีธรรมภิบาล องค์ประกอบสำคัญที่สุดคือ ความเป็นที่ไว้วางใจ มีระบบที่ชัดเจนให้รู้บทบาทและความรับผิดตามหน้าที่ มีการทำงานอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ และมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ผู้เป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งงานควรระวังการติดในกับดักของการสั่ง how to แทนที่จะกำหนดผลที่ต้องการ การสั่งทุกขั้นตอนทำให้ไม่มีความคิดและวิธีการทำงานตามความถนัดเกิดขึ้นในองค์กร ลองคิดดูว่าการสอนจะน่าเบื่อเพียงใด ถ้าอาจารย์ผู้สอนวิชาหนึ่งๆ ไม่มี authority ในการสอนในห้องเรียน หรือต้องรับคำสั่งรายชั่วโมงว่าให้สอนอะไรบ้างอย่างละเอียด แทนการกำหนดวัตถุประสงค์และสิ่งที่ต้องการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในวิชานั้นๆ การสั่งที่ดีคือสั่งเป้าหมาย ด้วยคำสั่งที่ผู้จะดำเนินการเข้าใจได้ แล้วผู้สั่งคอย monitor ความก้าวหน้าเป็นระยะ คอยแก้ไข แนะนำหรือปรับปรุงเพื่อให้ได้ผลงานที่ต้องการ ในการบริหารองค์กรไม่ว่าระดับใด งานติดตามเป็นงานที่สำคัญมาก แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสำคัญในระบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป 5.  ในเรื่องการเงิน ในประสบการณ์ส่วนตัว รู้สึกว่าผู้อยู่ในแวดวงอุดมศึกษาภาครัฐมักมีความเข้าใจในเรื่องความรับผิดชอบด้านการเงินแตกต่างจากภาคเอกชนค่อนข้างมาก และโดยส่วนตัวคิดว่านี่เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การบริหารสถาบันการศึกษาภาครัฐขาดมิติด้านการคำนึงถึงการใช้่จ่ายให้เหมาะสมและคุ้มค่าไปมาก การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายเพื่อลงทุน (capital expenditure) และการดูแลใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ประกอบกับการงบประมาณที่ยืดหยุ่น เน้นประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ให้หมดๆ น่าจะได้รับความใส่ใจมากกว่าที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน องค์กรไม่แสวงหากำไร (not for profit organization) ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องคิดถึงการหารายได้ หรือไม่ควรมีกำไร แต่ควรหมายความว่าไม่ได้คิดถึงกำไรสูงสุดที่เป็นตัวเงินในทุกสิ่งที่ทำ การหารายได้ เพื่อพึ่งตนเองให้ได้ และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแน่นอน   6.  การหารายได้เป็นเรื่องที่มักน่าสนใจน้อยกว่าการคิดเรื่องการใช้เงิน ดังนั้น ควรหารายได้ควบคู่ไปกับการคิดเรื่องรายจ่าย ส่วนจะคิดอะไรก่อนอะไรหลังก็แล้วแต่กรณีไป คิดเรื่องรายจ่ายก่อน แล้วคิดหารายได้มาเพื่อการนั้น อาจจะได้รับความร่วมมือร่วมใจกันด้วยดี เพราะมีจุดหมายร่วมกัน แต่บางครั้งการคิดรายจ่ายก่อนอาจจะจำกัดวิสัยทัศน์ในการใช้่จ่ายได้ เมื่อผู้คิดเกรงว่าไม่อาจหารายได้ได้ จึงคิดแต่โครงการเล็กๆ  จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสมดุลให้ดีระหว่างสองด้านนี้ 7. การหารายได้ทำได้จากทุกปัจจัยการผลิตที่ได้กล่าวไปแล้วใน slide 2 แต่ละมหาวิทยาลัยต้องกลับไปดูความสามารถที่มีเพื่อสร้างจุดแข็งอันเป็นจุดหารายได้ ตัวอย่างการหารายได้เช่นนี้มีโครงการให้เลือกศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยไทย และต่างประเทศ  ในต่างประเทศ ตัวอย่างของการใช้อุปกรณ์คือการเป็น business incubator หรือ ให้ใช้เครื่องมือทดสอบทางวิทยาศาสตร์ สำหรับบริษัทขนาดเล็ก เป็นต้น ด้านทรัพย์สินทางปัญญา จะเห็นตัวอย่างในมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายแห่งทีเดียว สำหรับในประเทศไทยกรณีที่ดินอาคาร หรือเงินลงทุน มีตัวอย่างที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง เช่น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ มศว เป็นต้น 8.  การลงทุนในปัจจัยการผลิตต่างๆ นั้น เมื่อได้ทำไปแล้ว ก็ต้องนำมาใช้ให้เกิดผลตอบแทนให้มากที่สุด ตัวอย่างการลงทุนที่อาจจะไม่ชัดเจนนัก คือ การลงทุนในคน การลงทุนในนักศึกษา นอกจากในห้องเรียน ก็คือการให้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ให้ได้ประสบการณ์ในด้านการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคม การเป็นพลเมืองที่ดี และการมีจิตอาสา เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้พลเมืองดีที่มีความรอบรู้ เป็นบุคคลมีค่ามีประโยชน์ต่อสังคม การลงทุนในพนักงานสายสนับสนุน ก็เพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้าในงาน ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งส่งผลเป็นความสะดวกของอาจารย์และนักศึกษา การลงทุนในอาจารย์ ก็เพื่อให้มีความรู้ความชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นในงานสอน งานวิจัย หรืองานบริหาร ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ เช่น ฝึกอบรม หรือให้ได้ดูงานเฉพาะเจาะจง เป็นต้น และเม่ื่อได้ลงทุนไปแล้วในด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ต้องมีระบบรองรับให้อาจารย์สามารถทำงานที่ตนถนัดได้อย่างเต็มที่ ไม่เสียเวลาไปกับงานธุรการ หรืองานกึ่งบริหาร ซึี่งเบียดบังเวลาที่ให้กับนักศึกษา การสอน และการวิจัย …