Culture, Thought on Financial Market Practice
Leave a Comment

เก็บความทรงจำของยุคสมัยไว้ใน blog:  historyboxes.wordpress.com

gail's chula

                                                                                   ภาพ:  Puckpan Tipayamontri  สิงหาคม ๒๕๖๐

ขอแจ้งข่าวว่า กำลังขึ้น blog คู่ขนานกับ thaidialoque.wordpress.com ชื่อ blog ตามหัวเรื่องนี้

เหตุจาก ๒ ด้านมาบรรจบกันพอดี

เหตุแรกคือ ใครๆ ก็บอกว่าแก่แล้วให้รื้อของ ทิ้งของ ทำตัวให้เบา แต่พอรื้อแล้วกลับทิ้งไม่ลงเพราะเก็บมาครึ่งศตวรรษแล้ว เป็นเอกสารสำคัญก็เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ไปแล้ว  แต่นี่เป็นสมุดพกชั้นประถม   สมุดจดงานตอนเรียนโรงเรียนเตรียม บันทึกเมื่อเริ่มงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อริเร่ิมก่อนจะเป็นนโยบายใหม่  คนรุ่นใหม่ใกล้ตัวบอกว่า นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเรียน การสอน การทำงานที่ดี คนจะใช้ประโยชน์ได้มีแน่ๆ …  (แต่ไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน  เราอาจจะไม่มีวันเจอกันเลยก็ได้) 

ทำหนังสือชื่อ น้ำหมึกหลากสี  ๗๒ ปีแห่งการเขียนและเรียนรู้  ไปบ้างแล้ว แต่ภาพในนั้นก็ขนาดกระจิ๋วหลิว แถมไม่ชัด บันทึกก็ลงไม่ได้  ก่อนที่จะโยนต้นฉบับทิ้ง ช่วยสแกนใส่บล็อกไว้ได้ไหม ทั้งภาพ ทั้งเอกสาร ใครอยากอ้างอิงชีวิตและสังคมสมัยนั้น ก็อาจจะค้นเจอได้

เหตุที่สอง มีสองเหตุประกอบกันคือ

๒.๑ เรื่องพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙  สำหรับคนที่อยู่มาแทบทั้งชีวิตโดยเห็นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ก็รู้สึกว้าเหว่มาก ความว้าเหว่นั้นเกิดเป็นบทกวี และศิลปะแขนงต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งการช่วยเหลือกันและกันด้วยน้ำใจก็ดูจะสร้างสรรค์อย่างยิ่ง น่าจะบันทึกไว้  อันที่จริงประเทศไทยมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ให้บันทึกอยู่เสมอ เช่น เมื่อ ๑๔ ตุลาคม และ ๖ ตุลาคม ช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐  ในทศวรรษ ๒๕๕๐ ก็มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองใหญ่ แต่ละครั้งที่มีเหตุก็ตัดหนังสือพิมพ์เก็บไว้ เก็บไว้นานเข้าก็ต้องทิ้งไปเพราะไม่มีที่จะเก็บแล้ว

  ๒.๒  ในกลุ่มเพื่อนๆ มีผู้ชอบเขียนร้อยกรองหลายคน จนเคยคิดจะรวมเล่มบทกลอนแต่ตอบกันไม่ได้ว่าใครจะซื้อ ใครจะอ่าน  และยุคของพวกเราวัยเท่าการครองราชย์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ก็เป็นการเปลี่ยนผ่านของชีวิตอีกแบบหนึ่ง เพราะสื่อก็เปลี่ยนไป วิธีระบายความรู้สึกก็คงไม่เหมือนก่อน จึงจับสองเหตุ ๒.๑ กับ ๒.๒ มารวมกัน และคิดรวมกับเหตุในข้อ ๑ เกิดเป็น blog ใหม่ขึ้นมา

ตอนเริ่มงานนี้ ขอเริ่มเล็กๆ จากเหตุการณ์ตั้งแต่ตุลาคม ๒๕๕๙ ก่อน ถือเป็นหมวดแรก  ตั้งชื่อว่า ณ รอยต่อของยุคสมัย

บทกวีและสื่ออื่นๆในช่วงแรกจะเป็นเรื่องรอยต่อหลังจากสิ้นรัชกาล ๙  ไปจนถึงงานพระเมรุ รวมเป็นเวลา ๑ ปี   นอกจากรอยต่อแห่งรัชกาลแล้ว ช่วงนี้ยังเป็นรอยต่อในด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หลายกิจการกำลังสู้กับกระแสธาร ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการศึกษา ที่เผชิญกับการท้าทายทั้งเรื่อง สังคม การเงิน และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนวิธีทำงาน การเรียน การสอน  สังคมเองก็อยู่บนรอยต่อ เช่น รอยต่อระหว่างสังคมคนในวัยทำงานกับสังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ   สำหรับชีวิตของผู้เขียนเองก็ยืนอยู่บนรอยต่อด้วย เป็นรอยต่อระหว่างการเป็นคนที่ดูแลตนเองได้ที่กำลังเดินทางไปสู่การเป็นผู้ต้องพึ่งพิงผู้อื่นในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร  เป็นรอยต่อระหว่างโลกนี้กับโลกหน้าที่จะมาถึงไม่ช้าก็เร็ว 

ไม่ต้องห่วงว่าบันทึกรอยต่อฯ ครั้งนี้จะโศกสลดไปทุกวัน แม้ว่าตอนต้นบางคนอาจจะน้ำตาคลอให้กับความรู้สึกของตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ยังใหม่และสด แต่ในเวลาเดียวกันชีวิตก็ต้องเดินหน้า เราทุกคนกำลังทำวันเวลาของเราให้ดีที่สุด และนี่ควรจะรวมถึงสังคมและประเทศของเราด้วย  จึงเวลาที่ควรบันทึกไว้ เป็นบันทึกการค่อยๆ รูดม่านลงของยุคสมัยหนึ่ง เมื่อม่านของยุคสมัยต่อไปค่อยๆ แง้มเปิด  ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ ล้วนต้องเตรียมกายและเตรียมใจ

อีกไม่นาน บทบันทึกของ ๑ ปีนี้ก็จะเป็นอดีต อาจจะมีลูกหลานมาเยือนมาอ่านเป็นครั้งคราว หวังว่าเขาจะได้รับรู้ถึงความรู้สึกของคนที่อยู่ร่วมสมัยในเหตุการณ์ บันทึกความรู้สึกแบบสดๆ 

ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็คงจะค่อยๆ ทะยอยทำต่อไป

ตอนนี้และในช่วงนี้ต่อไปถึงสิ้นเดือนกันยายน  ขอนำเสนอและเชื้อเชิญให้เข้าไปเยี่ยมเยียนบล็อกนี้นะคะ 

https://historyboxes.wordpress.com 

นวพร เรืองสกุล

๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๐

IMG_4728                                                                                ภาพ:  Puckpan Tipayamontri  มิถุนายน ๒๕๖๐

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s