Sharing Economy
Leave a Comment

Sharing Economy อีกครั้ง

bigdata

งานสัมมนาเรื่องที่มีคำว่า big data และ 4.0 กำลังมาแรง  (ทั้งๆ ที่บางแห่งระบบลงทะเบียนยังไม่ 4.0 สักนิดเดียว  เมื่อเทียบกับการลงทะเบียนแบบใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลและประหยัดบุคลากร ในการประชุมปี 2017 ของ TDRI https://thaidialogue.wordpress.com/2017/03/19/tdri-2017/)

big data เป็นการนำข้อมูลสารพัดแหล่งมาประมวลรวมเป็นข้อสนเทศเพื่อนำไปใช้งานตามวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน  ใช้ในทางดีก็ได้ ใช้ในทางร้าย (เอาไปตามล่าตามล้างคนที่คิดต่าง) ก็ได้  ใช้ในทางดีก็เช่น

ข้อมูลดินฟ้าอากาศและภูมิศาสตร์พื้นที่ เอาไว้วิเคราะห์ดินและอากาศ เพื่อเพาะปลูกให้ได้พืชผลดีที่สุดในแต่ละปี แต่ละแปลง (TDRI ยกตัวอย่างการปลูกอ้อยด้วยการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างฉลาดของบริษัทหนึ่งในเมืองไทย) 

ข้อมูลนักเรียนและครูทั่วประเทศ ถ้ามีก็อาจจะนำไปใช้วางแผนการเรียนการสอน หลักสูตร การให้การศึกษา และงานอาชีพได้ (ความฝันของผู้สนใจการศึกษา) 

ข้อมูลผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ จะทำให้เห็นแบบแผนการเจ็บป่วยในทุกมิติ เช่น โรคที่เป็นบ่อย โรคเรื้อรัง โยงกับอายุ เพศ พื้นที่ อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ สุดแท้แต่จะตั้งคำถามขึ้นมา  (เป็นผลพลอยได้จากข้อเสนอเรื่องการพัฒนาระบบข้อมูลโรงพยาบาลให้เป็นแบบ single data entry ที่ผู้เขียนนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขไปเมื่อต้นปี 2559 และถ้าทำสำเร็จก็น่าจะเป็นคุณูปการต่อระบบสาธารณสุขและระบบสุขภาพของไทย)

big data เป็นการหยิบข้อมูลทั้งหลายที่มีกระจัดกระจายและมากมายก่ายกองจากสารพัดแหล่ง ออกมาเป็นข้อเท็จจริง (information) และความรู้ใหม่ (knowledge) คำถามที่ต้องการคำตอบสามารถมีข้อมูลจริงมายืนยันได้โดยไม่ต้องใช้สมมติฐาน  การหาข้อมูลไม่ใช่การออกภาคสนามไปเก็บข้อมูลใหม่ทุกครั้งที่ตั้งคำถามใหม่ขึ้นมา และไม่ใช่การไปรื้อค้นข้อมูลจากกระดาษเอกสารนำมาใส่เป็นการเฉพาะกิจเข้าไปในระบบประมวลผล   big data เป็นการ share data, share information เพื่อนำไปต่อยอดเป็นประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าไม่มี data ที่ดีพอ และไม่แชร์กันมากพอ data ที่มีจึงอยู่จะเป็นหย่อมๆ ทำให้ big ยาก

ทันสมัยที่รู้จัก big data ก็เพราะเขียนหนังสือ

หนังสือชื่อ Sharing Economy ลองมาแล้ว  (นวพร เรืองสกุล กับอัจฉรา สุทธิศิริกุล) ออกวางตลาดเมื่อต้นปี 2017 (แนะนำหนังสือไว้ใน https://thaidialogue.wordpress.com/2017/02/01/sharing-economy/) ช่วยให้ผู้เขียนและผู้อ่่านฟังศัพท์แสงต่างๆ ในโลกสมัยใหม่แล้วรู้สึกว่าตามทัน รู้ทัน (แม้ว่าจะทำไม่เป็น)  เช่น 

งาน comp mart ในกรุงเทพฯ เดือนมิถุนายนปีนี้ คน “แห่” ไปซื้อการ์ดจอกันจนเกลี้ยง นัยว่าจะนำไปทำเหมือง (mine) bitcoin เงินตราในโลกไซเบอร์ เรื่องนี้พูดถึงไว้เหมือนกันในหนังสือ Sharing Economy ลองมาแล้ว

ทีนี้มาดู sharing economy ที่แชร์สารพัดสิ่งอีกครั้ง

sharing-every-thing2

Sharing แบบแบ่งปันกัน บานสะพรั่งในโลกไซเบอร์  เช่น  สูตรอาหาร ทำการฝีมือหรืออะไรๆ ที่เป็น DIY หาได้ในอินเทอร์เน็ต จากผู้ที่พร้อมแบ่งปัน

การช่วยเหลือให้ข้อมูลกันและกันในกลุ่มผู้มีความสนใจสิ่งเดียวกันโดยไม่หวังผลตอบแทนก็หาได้ เช่นเทคนิคการเขียนโปรแกรมและการแก้ปัญหา ที่คนรู้จริงมักเข้ามาตอบ เป็นน้ำใจที่น่าชื่นใจ 

อยากรู้เรื่องท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และสารพัดศาสตร์ มีผู้คนและสถาบันใส่ข้อมูลไว้ให้เป็นข้อมูลสาธารณะ อยู่ที่วิจารณญาณของผู้อ่านจะเลือกไปใช้

แต่เมื่อมีคำว่า economy มาต่อท้ายคำว่า sharing กลับกลายเป็นเรื่องของการทำธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาจากฐานของอินเทอร์เน็ต และกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด

Sharing economy มีหลักคิดว่า มีอะไรที่ใช้ให้เต็มที่ เต็มเวลาได้ก็ควรใช้ ไม่ควรมีข้าวของ พื้นที่ รถรา อาคารบ้านเรือน อยู่เฉยๆ ไม่ได้ใช้งานตามประโยชน์ใช้สอยของสิ่งนั้นๆ  เป็นการทำธุรกิจโดยไม่ต้องมีการลงทุนเพ่ิม และการทำแบบนี้ในโลกไซเบอร์ทำให้มีลูกค้ากว้างขวางขึ้น  เช่น

ในบ้านมีห้องเหลือ หรือมีบ้านมากกว่าหนึ่งหลัง แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้ก็เอาออกให้เช่า (เป็นธุรกิจของ Airbnb บริษัทที่ทำกิจการด้านจองห้องพักโดยไม่ต้องมีห้องพักที่ตนเองเป็นเจ้าของเลยสักห้องเดียว)

กระทั่งหนังสือที่อ่านแล้วแต่ไม่ต้องการ ก็อาจนำไปขายเป็นหนังสือมือสองที่เห็นได้ใน amazon.com หรือในเว็บต่างๆ ของไทยเราเอง  (แต่หนังสือยังมีสังคมแห่งการแบ่งปันแบบไม่เอาเงินอยู่ด้วย ตั้งแต่บริจาค ไปจนถึงการเปิดพื้นที่ให้คนที่สนใจหยิบไปได้ ที่ได้ยินมาในออสเตรเลีย  หรือในบ้านเราเพื่อนๆ กันอาจจะแลกหนังสือกันอ่าน แต่การแบ่งปันแบบนี้ยังอยู่ในวงจำกัดของคนรู้จัก ไม่ได้ข้ามไปถึงการแชร์กับใครก็ได้ในโลกกว้างใบนี้แบบที่พูดถึงกันในเรื่อง sharing economy)

ตัวอย่างกิจกรรมอื่นที่ทำได้เป็นธุรกิจการค้ายังมีอีก เช่น มีความรู้เรื่องการทำอาหาร การวาดภาพ งานศิลปประดิษฐ์ เข้าขั้นมืออาชีพ มีเวลาว่าง อยากจะแบ่งปันความรู้ ก็เสนอรับแขกมาเรียนรู้ ได้ทำเรื่องที่ชอบ ได้รายได้ และยังอาจจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติต่างภาษาอีกด้วย (นี่เป็นตลาดแขนงใหม่ของ Airbnb)

ภาคอุดมศึกษาก็มี เช่น มหาวิทยาลัยมีห้องแล็บทันสมัย ห้องปฏิบัติการด้านศิลปะ ห้องประชุมน้อยใหญ่ ห้องถ่่ายทำภาพยนตร์ ห้องฉายภาพยนตร์ และเครื่องมือเครื่องใช้ทันสมัยที่ได้มาด้วยเงินงบประมาณบ้าง เงินบริจาคบ้าง ไม่น่าจะปล่อยให้งานไม่ถึง 1/2 หรือ 2/3 ของเวลา น่าจะคิดเปิดบริการ (เพื่อสังคมก็ได้ เพื่อหารายได้ก็ดี) จะทำให้เงินภาษีจากประชาชนหรือเงินบริจาคที่ได้มา ใช้งานเต็มเม็ดเต็มหน่วย

จะเรียกว่า sharing หรือ co-working space หรืออะไรอื่น ก็แล้วแต่จะบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาให้สะดุดหูสะดุดใจ

เท่าที่ทราบ มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาบางแห่งทำกันมานานแล้ว สำหรับเมืองไทย ขอบอกว่า อยากทำ อยากทำ 

เอ้อ ไม่ใช่ค่ะ ไม่ได้อยากลงมือทำเอง ที่อยากคืออยากเห็นเกิดมีในประเทศนี้น่ะค่ะ

นวพร เรืองสกุล

1 สิงหาคม 2560

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s