การสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารเป็นกระจกส่องคณะกรรมการ
ในช่วงกลางปี 2560 มีข่าวผู้อำนวยการไทยพีบีเอส และเลขาธิการ กบข. ลาออก ผู้บริหารระดับนี้ล้วนผ่านการคัดเลือกหลายขั้นตอนกว่าจะผ่านด่านเข้ามาได้ แต่เมื่อถึงกับลาออกก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทและความรับผิดชอบของกรรมการสรรหาและกรรมการทั้งคณะ ประเด็นปัญหา คำลือ “คนที่เลือกมาเป็นคนของ….(ผู้มีอำนาจคนใดก็ตามที่ไม่ใช่กรรมการ)” ถ้าคนนั้นเก่งก็ถือว่าท่านผู้มีอำนาจช่วยคัดสรรให้ แต่ถ้าคุณคนนั้นไม่เก่งเอาเสียเลย ก็น่าฉงนว่าจริงหรือที่กรรมการที่ล้วนเป็นผู้มีเกียรติ มีศักดิ์ บางคนมีสถานะสูงสุดในส่วนราชการแต่ละแห่ง จะยอมทิ้งทุกอย่างที่ว่ามาเพื่อทำตาม “ใบสั่ง” ซึ่งแม้คนสั่งจะลับไปแล้วตามวิถีการเมือง คนที่ตนทิ้งไว้ยังอาจจะให้คุณหรือโทษต่อองค์กรต่อไปอีกหลายปี เรื่องนี้พอจะทำใจได้ถ้าฝ่ายการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งในขั้นตอนสุดท้าย แต่เข้าใจยากในกรณีที่คณะกรรมการมีอำนาจเต็ม สำหรับในกรณีของ กบข. มีกรรมการผู้แทนสมาชิก ซึ่งก็ล้วนเป็นข้าราชการระดับสูงๆ ถ้าคนที่มาผลงานไม่ดี สมาชิกไม่ส่งเสียงถึงกรรมการเลยหรือ ถ้าทุกคนไม่ใส่ใจกับสิทธิและหน้าที่ การจะเรียกร้องหา “ประชาธิปไตย” ในระดับประเทศก็ไม่มีน้ำหนัก ประเมินว่า “ผลงานไม่เข้าตา (กรรมการและพนักงาน)” จะหมายความว่า “กรรมการเลือกคนผิด” ก็ได้ “องค์กรไม่เหมาะกับคนที่เลือกมา” ก็ได้ กรรมการควรฉุกคิดและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และป้องกันไม่ให้ผิดซ้ำในการเลือกครั้งต่อๆ ไป การป้องกันสำหรับอนาคตรวมถึง “กรรมการสรรหาควรจะได้รับรู้เป็นระยะๆ ว่า คนที่ได้แต่งตั้งนั้นเหมาะจริงดังที่มองไว้หรือไม่ …ทุกคนที่ทำหน้าที่สรรหาอย่างรับผิดชอบ คือคงจะดีใจถ้าเลือกแล้วผู้นั้นทำงานได้ดี กิจการไปโลด และรู้สึกไม่สบายใจถ้าผู้ที่เลือกไปไม่เป็นไปตามที่คาด” https://thaidialogue.wordpress.com/2012/07/02/ประเมิน-๐-๓๖๐-องศา-กับเปล/ วินิจฉัยว่า “มีปัญหาเรื่องการบริหารงาน” บางองค์กรอดทนจนหมดวาระผู้บริหารคนนั้นโดยยอมให้ผลงานขององค์กรด้อยถอยลง บางองค์กรกรรมการมีมติเลิกจ้างกลางคัน หรือผู้บริหารถูกแรงกดดันต่างๆ จนลาออกไปก่อนครบวาระการจ้างงาน เรื่องนี้สร้างคำถามให้ทบทวนว่า “กรรมการได้ช่วยกันทำอะไรเพื่อสนับสนุนผู้ที่ตนเลือกมาให้ทำงานได้” และคำถามเพื่อก้าวไปข้างหน้าว่า “กรรมการทำอะไรบ้างเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีกในอนาคต” ทางออก อยู่ที่ผู้เลือก ตัวเลือก และวิธีการเลือก มีผู้ให้คำอธิบายว่า “การเลือกผู้บริหารองค์กรสาธารณะบางองค์กรเป็นเรื่องยากมาก เพราะตอนออกพระราชบัญญัติก็ตั้งกรรมการจากหลายกลุ่มเพื่อมาช่วยกันมองให้รอบด้านทั้งสังคม แต่เอาเข้าจริงกรรมการกลับพยายามคานกันเอง แบ่งเป็นกลุ่ม เป็นพวก ได้ใครเข้ามาบริหารก็ไปได้ยาก เพราะกลุ่มที่ไม่ยอมก็คอยค้านดะไปทุกเรื่อง” สรุปว่ามีปัญหาทั้งผู้เลือก ตัวเลือกและวิธีการเลือก แต่ถ้ากรรมการ คน/ชุด ที่เลือกผู้บริหารรายนั้นนั่นแหละที่เล่นงานคนที่ตนเลือกเข้ามาด้วยมือ แบบนี้ต้องถามแล้วละว่าเกิดอะไรขึ้น วิธีการเลือก ทางออกหนึ่งคือ กำหนดให้ผู้สมัครต้องได้คะแนนเสียง ๒/ ๓ ในทุกกลุ่ม (แปลว่าให้ลงคะแนนแบบแบ่งเขตและได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่ม) ไม่ใช่ได้คะแนนเสียงข้างมากเฉยๆ แบบฉิวเฉียด เช่นได้คะแนนเกินครึ่งมาแค่คะแนนเดียว ซึ่งจะมีกลุ่มที่แพ้เสียงคอยตีรวนอยู่เสมอ เพราะกรรมการที่เข้าไปร่วมกันเป็นคณะ ไม่ได้ร่วมใจกันทำงานเป็นองค์คณะเพื่อความยั่งยืนและรุ่งเรืองขององค์กร (อาจจะเป็นเพราะต่างคนต่างมีวาระฝ่ายที่ตนเห็นว่าสำคัญและเกรงว่าอีกฝ่ายละเลย จึงคุมเชิงกัน) ตัวเลือก การสรรหา (nomination) แบบไทยๆ ในภาครัฐหรือกึ่งรัฐ มักเป็นการเลือกจากรายชื่อที่มีผู้เสนอตามสิทธิ หรือรอให้มีผู้สมัคร (selection) ไม่ได้ใช้วิธีเสาะแสวงหา (search) การเสาะหาคนแล้วชวนเชิญมารับตำแหน่งน่าจะดีกว่าการรอให้คนมาสมัคร เรื่องนี้คิดได้แต่ไม่มีผู้กล้าทำ เกรงว่าตน “จะต้องรับผิดชอบ” หรือเกรงว่าจะหาว่า “เป็นเด็กเส้น” ซึ่งเป็นลอจิคกลับข้างกับตอนที่ทำการร่วมกันทั้งคณะ ที่คำว่า “ต้องรับผิดชอบ” กับ “ใช้เส้น” ไม่ถูกนำมาเอ่ย จึงวนกลับไปถึงผู้เลือกว่า ควรให้ออกเสียงเลือกแบบเปิดเผยเป็นรายบุคคล กรรมการแต่ละคนไม่สามารถซ่อนตนอยู่ในคำรวมของคำว่า “เสียงข้างมากของคณะกรรมการที่ลงคะแนนลับ” ได้ จาก ไทยพีบีเอส ถึง กบข. เวลานี้ ไทยพีบีเอสได้ผู้อำนวยการคนใหม่แล้ว ซึ่งก็คือรองผู้อำนวยการที่เคยร่วมงานกับผู้อำนวยการคนเดิมตั้งแต่ครั้งอยู่ สสส. และเป็นภรรยาของผู้อำนวยการ สสส.คนปัจจุบัน กรณีของ ไทยพีบีเอส เกิดคำถามในสังคมตามมาอีกประเด็นหนึ่งว่าด้วย conflict of interest https://thaidialogue.wordpress.com/2012/02/25/board-practice-2/ สามีภรรยาถ้าเก่งทั้งคู่ จะดีกว่าไหมถ้าจะไปแสดงฝีมือในองค์กรแบบอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรงเช่นสององค์กรนี้ (คือกรรมการชุดที่เลือกผู้อำนวยการไทยพีบีเอสคนก่อน รับรองว่าท่านมีคุณสมบัติมีประสบการณ์งานด้านสื่อจากการทำงานที่ สสส จึงเลือกท่าน) บทความในหัวข้อนี้มีอีกหลายเรื่อง เช่น https://thaidialogue.wordpress.com/2012/10/31/ประโยชน์ที่ขัดกัน-conflict-of-interest/ https://thaidialogue.wordpress.com/2013/12/19/ผลประโยชน์ทับซ้อน/ https://thaidialogue.wordpress.com/2017/04/22/ไทยพีบีเอส-ควรเป็นอย่าง/ ส่วน กบข. กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเลือกเลขาธิการ สมาชิกก็คงจะติดตามได้ว่า คณะกรรมการรับการพลาดครั้งที่แล้วมาเป็นบทเรียนหรือไม่ และตามต่อไปว่า คณะกรรมการมองคนได้เก่งเพียงใดเมื่อเห็นผลงานในอนาคตของเขา ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ และองค์กรสาธารณะต่างๆ รวมทั้ง ไทยพีบีเอส และ กบข.ที่กล่าวถึงข้างต้น คือผู้นำองค์กรที่จะกำหนดบทบาทและภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นๆ ต่อสังคมสืบไปในอนาคต ผลของส่ิงที่ได้กระทำลงไปและแรงสะเทือนที่เขาก่อไว้ไม่ได้จบลงที่การลาออกหรือการหมดวาระ สิ่งที่องค์กรต่างๆ เป็นอยู่ในวันนี้เป็นผลมาจากอดีตจนถึงเมื่อวานนี้ และจะเป็นไปอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้กระทำไปแล้วในอดีตประกอบกับสิ่งที่คณะกรรมการกำลังทำอยู่ในปัจจุบันเพื่อเลือกผู้บริหารคนใหม่ให้กระทำการต่อไปในอนาคตผสมผสานกันไป ผู้บริหารที่มาจากการสรรหาคือกระจกสะท้อนคณะกรรมการและประชาคมนั้นๆ นวพร …