Taxi, Uber, Grab, etc. เอาไงแน่ ทำไงดี
มีข่าวส่งมาทางไลน์เรื่องคนไร้สัญชาติ ที่ต้องใช้เวลาอันยาวนาน สิ้นเปลืองทั้งเงินและกำลังใจ ในการพิสูจน์สัญชาติหรือขอสัญชาติ ระหว่างนั้นก็ประสบความยากลำบากต่างๆ นานา และก็เคยได้อ่านเรื่องอาจารย์ท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ที่ต้องใช้เวลายาวนาน เงินทองอีกจำนวนหนึ่ง และเอกสารอีกหลายปึก เพียงเพื่อพิสูจน์วันเดือนปีเกิดของตนเอง ทำให้คิดว่าสังคมนี้ จะทำอะไรให้ถูกต้องนั้นยาก การทำอะไรที่ผิดกฎแบบทำไปก่อนแล้วค่อยคุยทีหลังกลายเป็นทัศนคติ และ การที่บางคนหรือบางอย่างดำรงอยู่อย่างผิดกฎหมายเป็นผลประโยชน์ต่อบุคคลบางกลุ่ม สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดแรงจูงใจในการพยายามรักษาสภาพการผิดกฎหมายเอาไว้ ข่าวรอบตัวทำให้ถึงข้อสรุปนี้ *หาบเร่แผงลอยผิดกฎหมาย แต่คนที่ทำผิดได้ (เงิน) ดี ทั้งคนขาย คนให้เช่าหน้าร้าน ฯลฯ *บุกรุกที่ทำกินไปก่อน แล้ววันหนึ่งก็ได้เอกสารสิทธิ (คนไม่บุกก็ไม่ได้อยู่นั่นเอง) ไม่มีเหตุไม่มีรางวัลสำหรับการเป็นคนดี เชื่อฟังกฎหมายเอาเสียเลย *รถคล้ายตุ๊กๆ จดทะเบียนได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับกรมการขนส่งทางบก จึงมีทั้งรถแบบนี้ที่มีทะเบียนและไม่มีทะเบียน คันที่ไม่มีทะเบียนเมื่อนำออกไปขับก็ถูกปรับบ้าง ไม่ถูกปรับบ้าง แล้วแต่ (ดวง?) ฯลฯ ผ่านปฏิวัติและปฏิรูปมาหลายครั้งหลายคราว เรื่องนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ขอถามว่าเราคิดจะธำรงสังคมแบบนี้ต่อไปอีกนานสักเพียงใด เกริ่นมายาว เพื่อจะเข้าสู่กรณีแท็กซี่ กับรถรับจ้างอื่นๆ ที่มีข่าวเป็นระยะๆ แท็กซี่เป็นรถที่ควรเรียกได้ทั่วไปและคิดเงินตามระยะทาง คนขับควรจะรู้เส้นทางพอสมควร และทำงานตามอาชีพอย่างซื่อตรง แต่ปรากฎว่าหลายปีมานี้ คนขับไม่รู้ทาง กริยา วาจาและการแต่งกายไม่เรียบร้อย ผู้โดยสารเรียกได้แต่ว่าคนขับปฏิเสธไม่รับด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเวลาเช้า กลางวัน เย็น ในเมืองหรือนอกเมือง ครั้งหนึ่งเคยถามเขาว่าคุณจะไปทางไหน บอกมาเลย คนขับไม่ตอบและไม่ไป พยายามเจรจาที่จะไม่ใช้มิเตอร์ โดยเฉพาะอย่างย่ิงกับลูกค้าต่างด้าว การร้องเรียนแจ้งเหตุและการบ่นทั่วไปไม่ประสบผล ผู้กำกับ (และการท่องเที่ยว ฯ กรณีนักท่องเที่ยว) ทำอย่างไรก็แล้วแต่ ที่เห็นก็คือบริการคงกระพร่องกระแพร่งดังเดิม แต่ก่อนนี้มีทางเลือกเช่ารถลิมูซีน ซึ่งเป็นรถรับจ้าง (อักษรเขียว)คนอื่นจะจดทะเบียนประกอบการบ้างก็ยากมาก เพราะต้องเป็นนิติบุคคล รับผู้โดยสารได้ทางเดียวจากต้นทาง เร่รับ หรือรับทั่วไปไม่ได้ บัดนี้มีทางเลือกสำหรับผู้บริโภคอีกทาง ที่มาแรงคือเรียกรถรับจ้างผ่านแอ็บในมือถือ หาได้สะดวก รับงานแน่นอนในราคาที่ระบุไว้ชัดเจน และคนขับรู้ทาง กริยามารยาทดี เคยเล่าไว้ในหนังสือ Sharing Economy ลองมาแล้ว ที่ออกเมื่อต้นปี 2560 ถึงบริการรถรับจ้างแบบใหม่คือ อูเบอร์ ซึ่งต่อมามี Grab ซึ่งมีทั้งที่เป็นแท็กซี่และรถพรีเมี่ยม (นครไทยแท็กซี่เป็นแท็กซี่ชั้นดี แต่มีน้อยไม่พอกับจำนวนความต้องการของผู้โดยสาร) เหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาพอสรุปประเด็นได้ว่า ผิดกฎหมาย ตำรวจจับได้ แต่จะจับหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ ไม่มีทางทำให้ถูกกฎหมายปัจจุบัน ในขณะที่รัฐบาลกำลังพูดนโยบายเศรษฐกิจ 4.0 เกษตร 4.0 มหาวิทยาลัย4.0 และสารพัดเรื่อง 4.0 การปฏิบัติกลับตรงกันข้าม บริการรถรับจ้างผ่านแอ็บเป็นบริการ 4.0 แท้ๆ กลับผิดกฎหมาย และกักไว้ไม่ให้เติบโตอย่างถูกต้อง แม้ว่าผู้ประกอบการและคนขับจะพยายาม ประตูการจะเป็นคนขยันอย่างถูกกฎหมายกลับปิดตาย ส่วนราชการไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความแน่นอน ทั้งๆ ที่ความไม่แน่นอนที่ไม่จำเป็นคือการซ้ำเติมความเครียดของประชาชน และเชื้อเชิญให้คนจำนวนหนึ่งทำผิดกฎหมาย หรือไม่สนใจกฎหมาย เราจะเป็น civil society กันได้ละหรือ ความไม่แน่นอนก่อให้เกิดการบาดหมางถึงขั้นผู้เสียประโยชน์ ที่ไม่ยินดีบริการแต่ไม่ต้องการคู่แข่งใช้กฎหมู่กับผู้เข้ามาให้บริการใหม่ในบางพื้นที่ ดังที่ปรากฎเป็นข่าว การไม่เข้มงวดของเจ้าหน้าที่ของรัฐกับแท็กซี่ โดยไม่ลงโทษเมื่อทำผิด ยอมให้บริการได้ตามใจชอบ เท่ากับเจ้าหน้าที่ละเลย เท่ากับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมแท็กซี่ให้ได้ใจ กล้าละเมิดกฎหมายยิ่งขึ้นเพราะมีกฎหมายให้ท้าย และเท่ากับลำเอียงไม่ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคขาดทางเลือก ในกรณีที่เอาผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ทางการควรเปิดให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ให้สมกับที่พูดถึงเศรษฐกิจแบบเสรี ทางการเล่นบทผู้ควบคุมกำกับที่เป็นธรรม ให้ทุกคนอยู่ในกติกาและทุกกฎเป็นไปเพื่อความเป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภค ถึงเวลาหรือยังที่จะลดอุปสรรคลง (de – obstructing) จะออกกฎหมายหรือกำหนดระเบียบใดก็ให้เร็วขึ้น เพราะความล่าช้าคือการปฏิเสธบริการที่ดีที่ประชาชนและสังคมพึงได้ เป็นการสร้างความไม่เสมอภาคและเลือกปฏิบัติ ดังคำกล่าวที่ว่า Justice delayed is justice denied. (หรือ To delay justice is injustice.)• ในทุกพัฒนาการที่ผ่านมาแล้วและที่จะเกิดขึ้นต่อไป มีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ (เขียนภาพใหญ่ไปแล้ว https://thaidialogue.wordpress.com/2017/01/03/new-world/) เมื่อกล้องใช้ฟิล์มถูกแทนด้วยกล้องดิจิทอล ก็มีช่างล้างรูปตกงาน เมื่อปากกาลูกลื่นมาแทนปากกาหมึกซึม ผู้ผลิตปากกาหมึกซึม หมึก และกระดาษก็ต้องปรับตัวในตลาดที่หดหาย ทุกคนทุกอาชีพจำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจงกับการเรียกรถผ่านแอ็บ (ที่ผู้เป็นลูกค้าประจำของอูเบอร์ และแกร็บ …