ประวัติศาสตร์สังคมที่บันทึกไว้ในนวนิยาย…วรางคณา นวนิยายของ ‘สราญจิตต์’
จำเรื่อง วรางคณา ได้เพียงเลาๆ แต่คิดถึงจนอยากอ่านอีกครั้ง เล่าโครงเรื่องเท่าที่จำได้ให้เพื่อนนักอ่านประจำรุ่นฟัง ก็ไม่มีใครตอบรับ เขาคงไม่ติดใจเหมือนเรา ในที่สุดก็ตามหาจนพบ เป็นหนังสือใหม่ (แต่กรอบเพราะความอาวุโส ต้องหยิบจับอย่างระมัดระวังมาก) ได้มาจากร้านขายหนังสือเก่าในเว็บ นวนิยายเรื่องนี้ลงพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ ในนามปากกา สราญจิตต์ (ม.ล. จินตนา นพวงศ์) รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ.2499 เล่มที่ได้มาพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2522 อ่านใหม่จึงรู้ว่าที่จำได้กับที่ผู้เขียนเขียนไว้นั้นห่างกันไกล ที่จำได้ไม่พลาดคือ ตัวเอกฝ่ายหญิงเป็นฝาแฝดที่บุคลิกต่างกัน ชื่อบุษบงกับบุษกร บุษกรคนใจดีไปพบชายคนหนึ่งเจ็บหนักอยู่ในกระท่อมของเพื่อนบ้านริมสวนของญาติผู้ใหญ่ของตน สายสร้อยข้อมือประดับเพชรรูปไพ่มีบทอยู่ในเรื่องด้วย ที่เหลือ ความทรงจำแต่งเติมเรื่องให้เอง เช่น คิดว่าพระเอกจำนางเอกได้เพราะสายสร้อยไพ่เส้นนี้ แต่กลายเป็นว่าคนอ่านจำผิด แม้แต่คำแปลชื่อเรื่องก็จำไม่ได้ ต้องพึ่งพจนานุกรมอีกครั้ง วรางคณา ไม่ใช่ชื่อนางเอก วรางคณาแปลว่า หญิงผู้ประเสริฐ อ่านเรื่องนี้ใหม่ในวัยเกษียณ (คล้ายกับอ่านเวนิสวาณิช ตอนอายุมากแล้ว และเคยเขียนเล่าไว้แล้ว) ความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมของคนกรุงเทพฯ สมัยนั้นกลับมาโลดแล่นในมโนจักษุ สำหรับผู้อ่านสมัยนี้ถือเป็นความรู้ย้อนยุค เช่น สาวทันสมัยในสมัยนั้นนุ่งกระโปรงบานกว้าง ลายฉวัดเฉวียน สมัยนั้นกระโปรงบางตัวทั้งย้วยทั้งจีบรูด ถ้าเป็นกระโปรงจีบรอบตัวเกินวงกลม บางคนใส่เป็ตติโค้ทหลายชั้นให้กระโปรงบานพองคงรูป บุษกรซื้อผ้าตัดเสื้อจากพาหุรัดไปฝากเพื่อน สมัยพ.ศ. 2500 พาหุรัดกับสำเพ็งเป็นตลาดผ้าที่ใครๆ ก็ไปซื้อ สมัยนั้นไม่มีเสื้อสำเร็จรูปขาย มาสมัยนี้ร้านตัดเสื้อเป็นสิ่งพ้นสมัย และอาจจะหมดไปในเวลาไม่นาน นักเรียนนักศึกษาสมัยนั้นใช้ปากกาหมึกซึม ปาร์กเกอร์ 21 คือรุ่นปากกาที่เคยใช้เอง ทำให้เมื่ออ่านเรื่องถึงตอนนี้บรรยากาศเดิมๆ หวนคืนมา ยังไม่แน่ใจว่ายังมีเพื่อนรุ่นเดียวกันกี่คนที่ยังใช้ปากกาหมึกซึมอยู่จนทุกวันนี้ ฝั่งธนบุรียังเป็นบ้านสวนที่ร่มรื่น คนรุ่นใหม่คงพอนึกภาพออกเลาๆ แต่ก็คงจะนึกออกน้อยลงเป็นลำดับ เพราะสวนผลไม้หายไปเมื่อถนนใหญ่ตัดเฉียดไปใกล้ๆ ตอนนี้ใครอยากจะบันทึกภาพสวยเป็นธรรมชาติ รีบๆ บันทึกไว้ ยังพอมีให้ถ่ายภาพได้จากสถานีรถไฟฟ้าย่านนนทบุรีและธนบุรีที่เปิดเดินรถในปี พ.ศ. 2559 ก่อนที่สวนผลไม้จะกลายเป็นสวนบ้านจัดสรร และป่าคอนกรีต (ภาพนี้คงมีส่วนคล้ายๆ แต่ว่าในเรื่องบ้านใหญ่ต้องอยู่ลึกเข้าไปด้านใน ไม่ติดน้ำเหมือนในภาพที่ถ่ายมาจากแม่กลอง แต่พอช่วยจินตนาการได้ ภาพได้รับความเอื้อเฟื้อจากช่างกล้องจำเป็น) ชอบวิธีการให้ความช่วยเหลืออย่างแนบเนียน ‘ผู้ใจบุญ’ ในเรื่องให้สิ่งที่ผู้รับต้องการจริงๆ และให้เพื่อให้ผู้รับสามารถยืนได้ และยังคงมีความเคารพตนเองอยู่ เป็นการให้ที่ผู้รับซาบซึ้งว่าใจดี เอื้อเฟื้อ อาจจะเป็นหนี้น้ำใจแต่ไม่ตกเป็นทาสบุญคุณ ตัวละครฝาแฝดปรากฏในนวนิยายหลายเรื่อง ผู้เขียนมักสร้างให้ตัวแฝดมีบุคลิกตรงกันข้ามกัน จนแทบจะเป็นกฎตายตัว ในชั้นเตรียมอุดมฯ เรียนนวนิยายที่ตัวเอกเป็นคนหน้าเหมือนกันโดยบังเอิญถึงสองเรื่องติดๆ กัน (เป็นแฝดแบบธรรมชาติสร้างผิด หรือว่าพระเจ้าลืม) คือเรื่อง The Prisoner of Zenda กับเรื่อง A Tales of Two Cities และยังตามไปอ่านเรื่องคนหน้าเหมือนอีกเรื่องคือ The Scapegoat ของ Daphne du Maurier (ผู้แต่งเรื่อง Rebecca กับ The Birds) อ่านหนังสือ วรางคณา รวมเล่ม ทำให้เห็นส่วนที่ผู้เขียนนวนิยายหลงลืม คือตัวละครตัวหนึ่งและนามสกุลของตัวเอก ที่กล่าวถึงในบทที่ 1 พอถึงบทท้ายๆ กลายเป็นอีกชื่อหนึ่งไป น่าจะเป็นเพราะว่าเนื้อความตอนเขียนรายสัปดาห์ห่างกันหลายเดือน รวมเล่มเราอ่านรวดเดียว กระนั้นก็มาสะดุดเอาตอนอ่านรอบสอง ตามประสาคนอ่านหนังสือแบบใจร้อน อ่านรอบแรกอ่านเอาความ แล้วละเลียดอ่านเอารสในรอบที่สอง เช่น การใช้ถ้อยคำสำนวน กลวิธีของผู้แต่งในการปูพื้นเรื่อง การสร้างบุคลิกของตัวละคร ฯลฯ นามปากกา ‘สราญจิตต์’ โด่งดังเพราะ วนาลี และปดิวรัดา ที่มีผู้นำไปทำเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง และในนามปากกา ‘จินตะหรา’ ยังได้เขียนเรื่องที่ตัวเอกเป็นฝาแฝดไว้อีกเรื่องหนึ่งคือ แสงสูรย์ ซึ่งก็เคยเป็นภาพยนตร์เหมือนกัน นวพร เรืองสกุล มิถุนายน 2560