Month: June 2017

ปรับรื้อ สธ และจัดโครงสร้างระบบสุขภาพใหม่ ตอนที่ 2

ตอนที่ ๑ ได้เสนอแนะโครงสร้างของระบบสุขภาพที่ควรมีการปรับใหม่ แยกให้ชัด ระหว่าง ผู้วางนโยบาย (policy maker)  ผู้ให้บริการ (provider) ผู้ซื้อบริการ (purchaser) และผู้กำกับ (regulator)  ครั้งนี้เป็นข้อเสนอแนะที่เหลือ ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม การมีท้องถิ่นเป็นเจ้าของโรงพยาบาล ในเรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า แต่ละประเทศมีผู้ให้บริการแบบใดบ้างจะขึ้นอยู่กับความเป็นมาและบริบทสังคมของแต่ละประเทศนั้น ประเทศที่ท้องถิ่นเป็นเจ้าของโรงพยาบาลมักมีประวัติศาสตร์การเมืองและการปกครองแบบอิสระต่อกันมาก่อน หรือว่าท้องถิ่นมีขนาดใหญ่แบบมณฑลในสมัยก่อนหรือเขตในสมัยนี้ และค่อนข้างอยู่ตัวไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ซอยย่อยแบบที่ประเทศไทยเพิ่มจังหวัดและอำเภอ กระทรวงน่าจะพิจารณาประเด็นนี้แล้วสร้างทางเลือกหลายๆ ทาง เช่น ก. ด้านการให้บริการ ชักชวนให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นร่วมลงทุนในโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดสำนักงานปลัดฯ หรือลงทุนในบริการบางด้านโดยโรงพยาบาลร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ โดยท้องถิ่นมีส่วนเข้ามาร่วมบริหาร จะประหยัดงบประมาณส่วนกลาง ได้ความมีส่วนร่วมในท้องถิ่นและป้องกันปัญหาการเกิดโรงพยาบาลขนาดเล็กที่อาจไม่ได้คุณภาพในการให้บริการ ข. ด้านการซื้อบริการ โรงพยาบาลและงานในส่วนภูมิภาคพัฒนาบริการระดับชุมชนและท้องถิ่นแล้วนำเสนอให้ท้องถิ่นเลือกซื้อเป็นบริการเสริมสำหรับประชาชนในพื้นที่ งานด้านส่งเสริม ป้องกันระดับชุมชนน่าจะเป็นงานที่ท้องถิ่นมีบทบาทได้สูง ในเรื่องนี้มีผู้เขียนไว้ว่า การตกลงกันซื้อ package ทำได้หลายลักษณะ เช่น ทำเป็นสัญญาที่ระบุผลการดำเนินงาน (performance contract) สัญญาให้บริการในบางเรื่อง (service contract) สัญญาที่อิงกับต้นทุนโรงพยาบาล (input contract) และตกลงให้บริการเหมา (block) หรือกำหนดเป็นจำนวนชิ้นงาน เป็นต้น ภาพที่ 8.4.1 การให้บริการทางการแพทย์ระดับต่างๆ ในปัจจุบัน ภาพที่ 8.4.2 ข้อเสนอปรับปรุง ผลกระทบต่อภาครัฐจากการเกิดขึ้นของโรงพยาบาลเอกชน รัฐบาลมีนโยบายให้ประเทศไทยเป็น medical hub และประชาสัมพันธ์ส่งเสริม medical tourism น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ผลกระทบเท่าที่ได้รับฟังมา คือ ก. ผลกระทบด้านบุคลากร  มีการดึงบุคลากรทางการแพทย์ไปจากโรงพยาบาลในภาครัฐ ซึ่งแทบจะเป็นผู้จ้างงานรายเดียวในอดีต ทำให้บุคลากรขาดแคลน ค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนสูงขึ้นและยังมีกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนเป็นแพทย์บางเวลาจากโรงพยาบาลของรัฐที่มีชื่อเสียง การทำงานให้รัฐจึงอาจจะไม่เต็มที่ ข. ผลกระทบด้านการรักษาพยาบาล  ผู้ป่วยถูก “คัดกรอง” ไปโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลของรัฐได้ผู้ป่วยกรณีรักษายาก เรื้อรัง ใช้เวลาแพทย์มาก มีต้นทุนการรักษาแพง และเก็บเงินยากมาเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนในการรักษาพยาบาลรายหัวสูงขึ้นและความแออัดที่มีมากขึ้นก็ผลักให้คนเดินไปเข้าโรงพยาบาลของเอกชนยิ่งขึ้น ค. ผลกระทบด้านสังคม ผู้ป่วยหลายประเทศในโลกเริ่มมาใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐที่ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน เท่ากับเพิ่มผู้ป่วยให้มากขึ้นไปอีกทั้งในกทม. และต่างจังหวัด เป็นการใช้งบประมาณของรัฐเพื่ออุดหนุนต่างชาติในขณะที่บริการเพื่อผู้ป่วยไทยก็ยังไม่พอเพียง นโยบายต่างๆ ที่กระทบถึงแพทย์ในฐานะบุคคลและบุคลากร ก. โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดฯ อ่อนแอลงเพราะการขาดทุนและขาดการลงทุนปรับปรุงอย่างเป็นระบบ ทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานไม่เป็นไปดังที่แพทย์ได้ร่ำเรียนมา ข. แพทย์ส่วนมากถูกบ่มมาให้ทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่สภาพแวดล้อมตั้งแต่เริ่มทำงานตอกย้ำให้ทำงานเพื่อเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์จบใหม่ที่ถูกส่งไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขนาดเล็กทั้งๆ ที่ประสบการณ์ยังไม่พร้อมรับงานดังกล่าว ค. นโยบายการจ่ายเงินของสปสช. ในด้านที่จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยบริการตามชิ้นงานที่ทำเป็นการทำงานแลกเงิน บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เห็นว่า เงื่อนไขด้านการจ่ายเงินทำให้งานที่หน่วยบริการเห็นว่าจำเป็นกว่าสำหรับพื้นที่นั้นทำไม่ได้เท่าที่ควร ง. มีข้อพึงพิจารณาว่า ฝ่ายรัฐเป็นฝ่ายผลักให้แพทย์เดินเข้าโรงพยาบาลเอกชน ด้วยการจ้างงานในราคาต่ำแต่ความไม่มั่นคงสูง (คือไม่มีอัตรากำลังข้าราชการ) ด้วยหรือไม่ เพียงใด การศึกษาอย่างเป็นระบบด้วยข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงสถาบันน่าจะให้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น การทำงานในภาครัฐใช้คนจำนวนมากเกินไป ควรมีการปรับปรุงระบบงานและวิธีการทำงานให้ได้ผลผลิตต่อคน (productivity) สูงขึ้นและคนทำงานตรงตามวิชาชีพมากขึ้นด้วยการปรับกระบวนการทำงานให้กระชับขึ้น พัฒนาคนให้มีทักษะมากขึ้น และนำเครื่องมือเครื่องใช้เข้ามาช่วยลดแรงงาน ส่วนการทำงานที่ให้บุคลากรทางการแพทย์รับผิดชอบงานที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลก็ต้องมีการปรับปรุงให้ลดลงเช่นเดียวกัน เพื่อให้แพทย์มีเวลาเหลือสำหรับงานรักษาพยาบาลมากขึ้น ในความรู้สึกทั่วไป การเป็นข้าราชการมีศักดิ์ศรี มีสวัสดิการและได้ทำประโยชน์ให้ประชาชน สิ่งเหล่านี้ตีราคาไม่ได้ชัดเจน แต่ก็มีค่าพอจะให้คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะรับราชการ แต่ “ระบบ” กลับผลักคนออกจากราชการ ด้วยการสร้างความไม่มีเสถียรภาพด้านการจ้างงาน ลักลั่น ขาดความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคระหว่างคนที่ทำงานในหน้าที่เดียวกัน ในองค์กรหรือสถานประกอบการเดียวกันที่บางคนเป็นข้าราชการ บางคนเป็นลูกจ้าง เป็นระบบที่ไม่สร้างเส้นทางอาชีพให้ชัดเจน และยังหลอกตัวเองว่าจำนวนข้าราชการไม่เพิ่มมาก แต่แท้จริงจำนวนคนไปโป่งในการจ้างงานหมวดอื่นๆ จากการศึกษาข้อมูลโรงพยาบาลหลายแห่งพบว่า มีหลายกรณีที่อัตรากำลังกับตัวผู้ครองอัตรากำลังอยู่กันคนละแห่ง คำอธิบายหนึ่งคือกรอบอัตรากำลังไม่ตอบสนองต่อภารกิจและไม่อาจปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที ระบบจึงเป็นตัวสร้างความไม่ตรงไปตรงมาแฝงไว้ในระบบ การตั้ง ก.สธ. เรื่องอัตรากำลังและการจัดคนให้ตรงกับงานเป็นเรื่องที่ก.พ. และกระทรวงควรทำให้ถูกต้องและคล่องตัวขึ้น ถ้ามีข้อติดขัดควรพิจารณาตั้งคณะกรรมการด้านงานบุคคลขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลเรื่องอัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์ทั้งระบบเป็นการเฉพาะ รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานและกำหนดแนวทางการบริหารจัดการงานบุคคล และให้เขตมีหน้าที่จัดอัตรากำลังในเขต โดยส่วนกลางวัดผลงานของเขตที่ความเหมาะสมในการจัดคนลงอัตรากำลัง pricing policy ก. โรงพยาบาลเอกชนเข้าโครงการเหมาจ่ายรายหัวน้อยลง แต่เป็นผู้รับส่งต่อและลงทุนรับเคสพิเศษมากขึ้น น่าจะเป็นข้อบ่งชี้ตัวหนึ่งว่าสปสช. น่าจะจ่ายเงินแพงไปในระดับรายกรณีและถูกไปในระดับ OP  เรื่องนี้ควรหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นปรับปรุงการจ่ายเงินและวางแผนการซื้อบริการของสปสช. ด้วย เพราะ equity ด้านการจ่ายเงินผู้ให้บริการก็สำคัญไม่แพ้  equity ด้านการได้รับบริการ ข. อัตราการเก็บค่ารักษาพยาบาลล้าสมัยไม่พร้อมรับมือกับการที่ผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเดินเข้ามารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ เสมือนประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งดึงงบประมาณและทรัพยากรอีกหลายประการไปจากการดูแลคนไทย …

ปรับรื้อ สธ และจัดโครงสร้างระบบสุขภาพใหม่

รายงานของคณะกรรมการพิจารณาปัญหาสถานะทางการเงินและปรับปรุงระบบการเงินและบัญชีของหน่วยบริการ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องโรงพยาบาลสุดแดนสยามสามทิศ ที่ลงไปปี 2559 เป็นเบื้องหลังของการทำงาน  คราวนี้ขอนำบางส่วนของรายงานมาเสนอ   (บทที่ 8) สถานการณ์เชิงระบบ ความเห็นและข้อเสนอแนะ การสาธารณสุขของไทยเป็นเสาหลักที่แข็งแกร่งของประเทศ มีโรงพยาบาลครอบคลุมทั่วประเทศ มีบุคลากรที่มีความสามารถกระจายทั่วประเทศ แต่เวลานี้โรงพยาบาลจำนวนหลายร้อยโรงกำลังมีปัญหาด้านการเงินขาดมือ อันเป็นปัญหาเฉพาะหน้า และยังก่อให้เกิดคำถามว่า เงินขาดมือจริงหรือ ข้อมูลถูกต้องน่าเชื่อถือเพียงใด คณะกรรมการชุดนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ใน 3 ระดับคือ ก. แก้ปัญหาการทำข้อมูลทางการเงินและบัญชีในปัจจุบัน ในระดับโรงพยาบาลและระดับกระทรวง ข.  แก้ไขปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลมากระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงการทำงานด้านการเงินและการบัญชีของโรงพยาบาลในระดับส่วนงาน เพื่อลดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ค. พัฒนาระบบด้านการเงินและการบัญชีและข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน เป็นระบบ ใช้งานได้ง่าย ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่องเฉพาะหน้า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและสปสช. ต่างก็รับรู้ปัญหาและออกมาตรการเยียวยาต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มีข้อสงสัยเสมอว่าข้อมูลดีพอหรือไม่ ในครั้งนี้จึงขอเสนอว่า ก.          ควรยุติการหาข้อมูลที่ยังไม่ค่อยเป็นระบบมายืนยันว่ามีปัญหา แต่ควรลงมือปรับปรุงข้อมูลให้เป็นระบบ (ต้นทุนในการลงมือเก็บข้อมูลที่จะต้องทำเพิ่ม 1 รายงานทุกเดือน ถ้าเจ้าหน้าที่ใช้เวลาเพียง 1 วันต่อรายงาน สำหรับ 800 โรงพยาบาล จะเป็นเงินเกิน 10 ล้านบาทต่อรายงานต่อปี) ข.          การกู้ชีพกลุ่มโรงพยาบาลขาดทุนแบบฉุกเฉินไม่ได้แก้ที่ต้นตอของโรคขาดทุน ควรตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ที่ต้นเหตุ ในส่วนของเหตุที่พอเห็นได้และแก้ไขได้ง่ายในระดับโรงพยาบาล และระดับกระทรวงทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อลดปัญหาที่ผุดขึ้นมาทีละเรื่อง ปีต่อปี การปฏิรูประบบบริหาร เหตุเชิงระบบเป็นปัญหาระดับลึกต้องการการปฏิรูปความคิดและปรับรื้อการบริหารจัดการครั้งใหญ่อีกครั้ง นับแต่การปฏิรูปครั้งล่าสุดเมื่อ 15 ปีมาแล้ว ด้วยการแยกผู้ซื้อบริการกับผู้ให้บริการออกจากกัน ในระหว่างนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกอีกหลายประการที่รุมเร้าเข้ามาและท้าทายการบริหารจัดการระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งทั้งกระทรวงฯ และสปสช. จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตนเองครั้งใหญ่ เพื่อเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ประเทศคงความเป็นเลิศด้านงานสาธารณสุขต่อไปในอนาคต สี่ด้านของงานสุขภาพ กระแสความคิดของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ พยายามแบ่งงานด้านสุขภาพออกเป็น 4 ด้านหลักๆ คือ งานนโยบาย (policy maker) งานกำกับ (regulator) งานให้บริการประชาชน (provider) และงานทำหน้าที่ซื้อบริการแทนประชาชน (purchaser) โดยเปลี่ยนจากระบบ command and control ซึ่งรัฐรับหน้าที่เป็นผู้ให้การรักษาพยาบาลและดูแลประชาชน เป็นระบบ purchaser – provider เพื่อเป็นการคานกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ให้บริการ โดยหวังว่าการซื้ออย่างมีกลยุทธจะช่วยให้ได้บริการที่ดีและได้ระบบสุขภาพที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ โดยแต่ละประเทศต่างก็มีแนวทางการดำเนินงานต่างๆ กันขึ้นอยู่กับระบบการเมืองการปกครองและความเป็นมาของการให้บริการทางการแพทย์ของประเทศนั้นๆ สี่เสาหลักสำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขในช่วงต่อไป ควรแยกงานการเป็นผู้วางนโยบาย เป็นผู้ให้บริการ และเป็นผู้กำกับให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และกำกับดูแล (monitor) ผู้ให้บริการอย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบยิ่งขึ้น โดยปรับเพิ่ม/ลด ส่วนงานระดับกรมในกระทรวงให้รับกับบทบาทเหล่านี้อย่างชัดเจน และแต่ละกรมหรือสำนักงาน (ที่มีฐานะเทียบเท่ากรม) มีความรับผิดชอบ และสามารถบริหารจัดการงานอย่างค่อนข้างอิสระ ภายใต้นโยบาย การกำกับ และความรับผิดรับชอบ (accountable) ต่อปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีตามลำดับ health authority งานด้านนโยบายสุขภาพของประเทศมีความสำคัญและมีขอบเขตกว้างขวาง เพราะครอบคลุมประชาชนทุกช่วงชีวิตและทุกระดับชั้นทางสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชนในประเทศด้านการดูแลสุขภาพตนเองให้ปลอดโรคภัย การมีสภาพแวดล้อมทั้งเรื่องอาหาร น้ำ ยา อากาศ ฯลฯ ที่ปลอดภัยและการเข้าถึงบริการตามสถานภาพและระดับของสุขภาพ งานระดับนโยบายหรือเสนอนโยบายที่มากระทบสุขภาพของประเทศ ทั้งในเชิงรุกและตั้งรับให้ทันท่วงที นอกจากที่ทำอยู่แล้วในกระทรวง เช่น ก. นโยบายเพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ดูแลตนเองให้กับประชาชนในระดับบุคคลและนโยบายต่างๆ ที่มุ่งผลเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสุขภาวะ เพื่อให้มีสุขภาพดี ข. นโยบายและมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อรับกับ aging society ค. นโยบายด้านการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ ง. หาทางเลือกของนโยบายเพื่อลดภาระการเงินการคลังของประเทศในอนาคต เช่น การเพิ่มผู้ซื้อบริการให้มากกลุ่มขึ้น การให้โรงพยาบาลเปิดใหม่ของเอกชนต้องเป็นหน่วยบริการของสปสช. หรือไม่ สนับสนุนเอกชนในการเปิดบริการผู้สูงอายุที่น่าเชื่อถือ ฯลฯ เพื่อแบ่งเบาภาระการลงทุนในโรงพยาบาลของภาครัฐ ฯลฯ จ. กำหนดแนวทางด้านปริมาณ คุณภาพ บริการที่ให้ ในส่วนที่เกี่ยวกับสถานบริการ โรงพยาบาล และงานบริบาลภาครัฐและเอกชน ฉ.          มีส่วนมีเสียงในการให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐที่เพิ่มผู้ป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับระบบรักษาพยาบาลของไทย เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว (medical tourism) การชูการรักษาพยาบาลว่าเป็นจุดเด่น (medical …

วางเถิดวาง: villanelle สำหรับใจ

วางเถิดวาง  ไปเบาๆ ไปดีๆ น้อมใจสู่พระธรรมนำจิตนิ่ง สุขแท้จริงอยู่ที่ความไม่มี ยศถาบรรดาศักดิ์ สังขารนี้ ล้วนหนักหนาถ้าแบกหามไปทุกส่ิง วางเถิดวาง ไปเบาๆ ไปดีๆ โดนนินทา ประสบทุกข์ เสื่อมศักดิ์ศรี ใจจึงหมองเพราะใจไร้ที่พิง สุขแท้จริงอยู่ที่ความไม่มี รู้ใช่ไหม   แล้วใยจึงติดมี ทั้งแก้วแหวนสรรพสมบัติ โลภะสิง วางเถิดวาง ไปเบาๆ ไปดีๆ สระสนานกายจิตปลิดราคี พ้นกิเลสที่ชักใจให้วนวิ่ง สุขแท้จริงอยู่ที่ความไม่มี ละเถิดละโลกธรรมคู่ทั้งสี่ สุขแท้จริงอยู่ที่เลิกฉกชิง วางเถิดวาง ไปเบาๆ ไปดีๆ สุขแท้จริงอยู่ที่ความไม่มี “Dusty Shingle”   8 Feb. 2017 ลอกมาจาก conversationroundtable.wordpress.com เป็นบทกลอนใช้ฉันทลักษณ์แบบ villanelle ของฝรั่ง เห็นว่าเหมาะกับโอกาสวันสำคัญทางศาสนาที่กำลังจะมาถึงคือวันอาสาฬหบูชา กับวันเข้าพรรษา จึงขอนำมาฝาก  โลกธรรมคู่ทั้งสี่คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ หรือพูดทีละชุดคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  และ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ขอให้ทุกท่านมีเกราะคุ้มใจกันทุกคน นวพร เรืองสกุล

เปลี่ยนกับขาย เป็นทางเลือกไหม กับกรณีของนิตยสารบ้านเรา

นิตยสารเปิดใหม่และนิตยสารปิดตัวลงอาจจะเป็นเรื่องปกติ  แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ การปิดตัวของนิตยสารอายุยืนยาวกว่า ๖๐ ปี ข้ามบรรณาธิการมาได้ ๒ ชั่วคน แบบ สกุลไทย และนิตยสารอายุ ๒๕ ปี กับชั่วอายุของบรรณาธิการหนึ่งคนอย่าง พลอยแกมเพชร ทำให้หันมาตั้งคำถามกับตนเองว่า “เกิดอะไรขึ้น” คำตอบ “ขาดทุน” “ยอดขายตก” “สายส่งลดจำนวนลงทำให้กระจายหนังสือยาก”  เป็นอาการของปัญหา สาเหตุที่รับกันทั่วไปคือ “สื่อใหม่เข้ามาเบียด”  แต่ว่าง่ายไปหรือเปล่าที่จะยกเรื่องเทคโนโลยีที่เร็วและแรงในเวลานี้มาเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุเดียว สาเหตุที่คาดเดาเอาเอง มีอย่างน้อย ๓ ประเด็น คือ  (๑) สื่อใหม่  (๒) ตนเอง  (๓) สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป  เช่น  “คนไม่สนใจหนังสือประเภทนี้” เป็นรสนิยมที่เปลี่ยน และอาจมีสื่อแบบใหม่มาแข่งขันในเนื้อหาใหม่ (เพราะหนังสือเดิมแต่ทำเป็น อีบุ๊กส์ ก็ยังไม่ใช่คำคอบ)  “คนไม่อ่านหนังสือ” (ไม่ว่าจะอ่านจากสื่อไหนๆ) กับ  “คนซื้อหนังสืออ่านน้อยลง” (แต่ยังอ่านเท่าเดิม) เป็นเรื่องเชิงพฤติกรรม  การไม่ซื้อหนังสืออ่าน อาจจะมากับแนวคิดเรื่อง sharing economy (หนังสือ Sharing Economy ลองมาแล้ว ของนวพร เรืองสกุล กับอัจฉรา สุทธิศิริกุล ยกธุรกิจขนาดใหญ่เช่น Airbnb กับ โรงแรม เป็นต้น)  ซึ่งกระทบได้ทุกระดับ  เช่น จัดระบบยืมกันอ่านในกลุ่มเพื่อน หรือทำธุรกิจแบ่งนิตยสารกันอ่าน แบบให้เช่าเป็นชุดแล้วหมุนเวียนนิตยสารไปหลายสถานประกอบการ ธุรกิจแบ่งกันอ่านถ้ามีน้อยก็ไม่กระเทือนยอดขาย แต่ถ้าทำกันมากก็ทำให้ยอดขายหนังสือแต่ละเล่มลดลงได้ “เจ้าของไม่สนใจทำต่อเพราะรวยแล้ว” เป็นเรื่องส่วนบุคคล   เพราะ “หาคนทำต่อไม่ได้”  “หาคนสานต่อในสไตล์ที่ต้องการไม่ได้”  สองคำตอบนี้เป็นเรื่องทัศนะ  เหล่านี้เป็นตัวอย่าง แต่เมื่อมองในเชิงทฤษฎีโดยไม่หมายถึงนิตยสารฉบับหนึ่งฉบับใด หรือไม่เกี่ยวกับธุรกิจสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้ด้วย กิจการหนึ่งที่มีทีมงานดี (ยกตัวอย่างนิตยสารก็คือกองบรรณาธิการ และพนักงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญทำให้หนังสือเล่มหนึ่งออกมาได้ตรงเวลาทุกสัปดาห์ ทุกปักษ์ ตลอดปี ทุกปี) เมื่อประสบกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เลือกได้อย่างน้อย ๓ ทางคือ (๑) ขยับปรับตัว (๒) ขายกิจการ  (๓)  ปิดกิจการ การขยับปรับตัว ปรับตำแหน่งทางการตลาด ซึ่งต้องปรับเนื้อหา ปรับภาพลักษณ์ ตลอดจนปรับทัศนะของผู้ผลิตสินค้าต่อตลาดที่เปลี่ยนแปลง  การขยับแต่ละแบบสร้างอนาคตที่ต่างกัน และแต่ละแบบล้วนมีความเสี่ยง แต่ว่าการไม่ขยับเลยก็เสี่ยงเหมือนกัน *เลือกวัย (กรณีนิตยสาร และสินค้าอีกบางอย่างที่เป็นสินค้าที่ต้องการลูกค้าสม่ำเสมอ) ปรับเลื่อนไปตามวัยของลูกค้าเดิม  เลือกแบบนี้ได้ลูกค้าประจำแต่ว่าจุดเสี่ยงคือลูกค้าประจำค่อยๆ สูงวัยขึ้น ถึงระดับหนึ่งแล้วลูกค้ากลุ่มนั้นมีอำนาจการซื้อลดลงตามวัย บางคนอาจจะเลิกซื้อ (แต่ยังอ่าน) หรือกลายเป็นกลุ่มที่นับวันจะลดจำนวนลง เลือกตลาดลูกค้าวัยหนึ่งที่แน่นอน เลือกวัยเด็ก ได้ลูกค้าไม่กี่ปี  และไม่ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับวัยรุ่น ที่ต้องปรับให้ทันกับความนิยมที่เปลี่ยนเร็ว  ถ้าเลือกวัยทำงาน/วัยสร้างครอบครัวสร้างตัว (อายุ ๓๕ – ๔๕) จะได้ตลาดที่มั่นคงกว่า โดยต้องปรับตัวให้ทันหรือนำตลาดเพื่อรักษาคุณลักษณะของสินค้าไว้ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าวัยนี้ตลอดไป ไม่สูงวัยไปตามลูกค้าชุดเดิม *เลือกความสนใจ ทำให้ได้ตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เลือกกีฬา แต่ถ้าเจาะจงกีฬาเดียว ตลาดอาจจะวายเมื่อกระแสความนิยมเปลี่ยน เช่น มวย จักรยาน ฟุตบอล กอล์ฟ ถ้าเลือกกีฬาที่กว้างขึ้นเช่น กีฬากลางแจ้ง หรือชีวิตกลางแจ้ง จะปรับตัวง่ายขึ้นและลูกค้ากว้างขึ้น เลือกจุดยืนทางการเมืองเฉพาะหน้าก็เช่นเดียวกัน ตลาดอาจจบเมื่ออารมณ์ในสังคมเปลี่ยน เลือกเป็นนิตยสารที่อ่านในวันสุดสัปดาห์  หรือนิตยสารที่อ่านกันทั้งครอบครัว ซึ่งก็ต้องจัดให้มีเนื้อหาหลายความสนใจ แต่มีลักษณะบางประการที่ตั้งใจมี ไม่ถึงกับเปะปะหาเอกลักษณ์ไม่เจอ    * การปรับในเรื่องอื่นๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป การขยับปรับปรุงกิจการไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าเรื่องนี้ไม่ใช่วิถีขององค์กร ถ้าพนักงานคงเดิม และผู้บริหารไม่ทันกระแส ไม่สนใจกระแส หรือไม่ให้ความสนใจกับกระแส (เช่น ต้องการทำหนังสือที่มีจุดยืนด้านคุณค่าบางประการอันเป็นเนื้อในที่ต้องการรักษาไว้ในทุกสถานการณ์) หรือถึงปรับแล้วก็ยังไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะมีสิ่งแวดล้อมภายนอกและภายในอีกหลายประการที่เป็นแรงฉุด  ทำให้เมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็ต้องเลือกว่า จะทนทำต่อไปในตลาดที่เล็กลง หรือว่าจะเลิกทำ การขายกิจการ ข่าวจากต่างประเทศมีให้ได้รับฟังอยู่บ่อยๆ ว่า หนังสือพิมพ์เปลี่ยนเจ้าของ …

Taxi, Uber, Grab, etc. เอาไงแน่ ทำไงดี 

มีข่าวส่งมาทางไลน์เรื่องคนไร้สัญชาติ ที่ต้องใช้เวลาอันยาวนาน สิ้นเปลืองทั้งเงินและกำลังใจ ในการพิสูจน์สัญชาติหรือขอสัญชาติ ระหว่างนั้นก็ประสบความยากลำบากต่างๆ นานา  และก็เคยได้อ่านเรื่องอาจารย์ท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ที่ต้องใช้เวลายาวนาน เงินทองอีกจำนวนหนึ่ง และเอกสารอีกหลายปึก เพียงเพื่อพิสูจน์วันเดือนปีเกิดของตนเอง ทำให้คิดว่าสังคมนี้ จะทำอะไรให้ถูกต้องนั้นยาก การทำอะไรที่ผิดกฎแบบทำไปก่อนแล้วค่อยคุยทีหลังกลายเป็นทัศนคติ  และ การที่บางคนหรือบางอย่างดำรงอยู่อย่างผิดกฎหมายเป็นผลประโยชน์ต่อบุคคลบางกลุ่ม สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดแรงจูงใจในการพยายามรักษาสภาพการผิดกฎหมายเอาไว้ ข่าวรอบตัวทำให้ถึงข้อสรุปนี้ *หาบเร่แผงลอยผิดกฎหมาย แต่คนที่ทำผิดได้ (เงิน) ดี  ทั้งคนขาย คนให้เช่าหน้าร้าน ฯลฯ​ *บุกรุกที่ทำกินไปก่อน แล้ววันหนึ่งก็ได้เอกสารสิทธิ (คนไม่บุกก็ไม่ได้อยู่นั่นเอง) ไม่มีเหตุไม่มีรางวัลสำหรับการเป็นคนดี เชื่อฟังกฎหมายเอาเสียเลย *รถคล้ายตุ๊กๆ จดทะเบียนได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับกรมการขนส่งทางบก จึงมีทั้งรถแบบนี้ที่มีทะเบียนและไม่มีทะเบียน  คันที่ไม่มีทะเบียนเมื่อนำออกไปขับก็ถูกปรับบ้าง ไม่ถูกปรับบ้าง แล้วแต่ (ดวง?) ฯลฯ ผ่านปฏิวัติและปฏิรูปมาหลายครั้งหลายคราว เรื่องนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ขอถามว่าเราคิดจะธำรงสังคมแบบนี้ต่อไปอีกนานสักเพียงใด เกริ่นมายาว เพื่อจะเข้าสู่กรณีแท็กซี่ กับรถรับจ้างอื่นๆ ที่มีข่าวเป็นระยะๆ แท็กซี่เป็นรถที่ควรเรียกได้ทั่วไปและคิดเงินตามระยะทาง คนขับควรจะรู้เส้นทางพอสมควร และทำงานตามอาชีพอย่างซื่อตรง แต่ปรากฎว่าหลายปีมานี้ คนขับไม่รู้ทาง กริยา วาจาและการแต่งกายไม่เรียบร้อย ผู้โดยสารเรียกได้แต่ว่าคนขับปฏิเสธไม่รับด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเวลาเช้า กลางวัน เย็น ในเมืองหรือนอกเมือง  ครั้งหนึ่งเคยถามเขาว่าคุณจะไปทางไหน บอกมาเลย  คนขับไม่ตอบและไม่ไป  พยายามเจรจาที่จะไม่ใช้มิเตอร์ โดยเฉพาะอย่างย่ิงกับลูกค้าต่างด้าว   การร้องเรียนแจ้งเหตุและการบ่นทั่วไปไม่ประสบผล ผู้กำกับ (และการท่องเที่ยว ฯ กรณีนักท่องเที่ยว) ทำอย่างไรก็แล้วแต่ ที่เห็นก็คือบริการคงกระพร่องกระแพร่งดังเดิม แต่ก่อนนี้มีทางเลือกเช่ารถลิมูซีน ซึ่งเป็นรถรับจ้าง (อักษรเขียว)คนอื่นจะจดทะเบียนประกอบการบ้างก็ยากมาก เพราะต้องเป็นนิติบุคคล รับผู้โดยสารได้ทางเดียวจากต้นทาง เร่รับ หรือรับทั่วไปไม่ได้ บัดนี้มีทางเลือกสำหรับผู้บริโภคอีกทาง ที่มาแรงคือเรียกรถรับจ้างผ่านแอ็บในมือถือ  หาได้สะดวก รับงานแน่นอนในราคาที่ระบุไว้ชัดเจน และคนขับรู้ทาง กริยามารยาทดี เคยเล่าไว้ในหนังสือ Sharing Economy ลองมาแล้ว ที่ออกเมื่อต้นปี 2560 ถึงบริการรถรับจ้างแบบใหม่คือ อูเบอร์ ซึ่งต่อมามี Grab ซึ่งมีทั้งที่เป็นแท็กซี่และรถพรีเมี่ยม  (นครไทยแท็กซี่เป็นแท็กซี่ชั้นดี แต่มีน้อยไม่พอกับจำนวนความต้องการของผู้โดยสาร) เหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาพอสรุปประเด็นได้ว่า ผิดกฎหมาย ตำรวจจับได้ แต่จะจับหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่  ไม่มีทางทำให้ถูกกฎหมายปัจจุบัน ในขณะที่รัฐบาลกำลังพูดนโยบายเศรษฐกิจ 4.0 เกษตร 4.0 มหาวิทยาลัย4.0 และสารพัดเรื่อง 4.0  การปฏิบัติกลับตรงกันข้าม  บริการรถรับจ้างผ่านแอ็บเป็นบริการ 4.0 แท้ๆ กลับผิดกฎหมาย และกักไว้ไม่ให้เติบโตอย่างถูกต้อง แม้ว่าผู้ประกอบการและคนขับจะพยายาม ประตูการจะเป็นคนขยันอย่างถูกกฎหมายกลับปิดตาย ส่วนราชการไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความแน่นอน  ทั้งๆ ที่ความไม่แน่นอนที่ไม่จำเป็นคือการซ้ำเติมความเครียดของประชาชน และเชื้อเชิญให้คนจำนวนหนึ่งทำผิดกฎหมาย หรือไม่สนใจกฎหมาย เราจะเป็น civil society กันได้ละหรือ ความไม่แน่นอนก่อให้เกิดการบาดหมางถึงขั้นผู้เสียประโยชน์ ที่ไม่ยินดีบริการแต่ไม่ต้องการคู่แข่งใช้กฎหมู่กับผู้เข้ามาให้บริการใหม่ในบางพื้นที่ ดังที่ปรากฎเป็นข่าว การไม่เข้มงวดของเจ้าหน้าที่ของรัฐกับแท็กซี่ โดยไม่ลงโทษเมื่อทำผิด ยอมให้บริการได้ตามใจชอบ เท่ากับเจ้าหน้าที่ละเลย เท่ากับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมแท็กซี่ให้ได้ใจ กล้าละเมิดกฎหมายยิ่งขึ้นเพราะมีกฎหมายให้ท้าย  และเท่ากับลำเอียงไม่ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคขาดทางเลือก  ในกรณีที่เอาผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ทางการควรเปิดให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ให้สมกับที่พูดถึงเศรษฐกิจแบบเสรี  ทางการเล่นบทผู้ควบคุมกำกับที่เป็นธรรม ให้ทุกคนอยู่ในกติกาและทุกกฎเป็นไปเพื่อความเป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภค ถึงเวลาหรือยังที่จะลดอุปสรรคลง (de – obstructing) จะออกกฎหมายหรือกำหนดระเบียบใดก็ให้เร็วขึ้น เพราะความล่าช้าคือการปฏิเสธบริการที่ดีที่ประชาชนและสังคมพึงได้ เป็นการสร้างความไม่เสมอภาคและเลือกปฏิบัติ ดังคำกล่าวที่ว่า  Justice delayed is justice denied. (หรือ To delay justice is injustice.)• ในทุกพัฒนาการที่ผ่านมาแล้วและที่จะเกิดขึ้นต่อไป  มีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ (เขียนภาพใหญ่ไปแล้ว https://thaidialogue.wordpress.com/2017/01/03/new-world/) เมื่อกล้องใช้ฟิล์มถูกแทนด้วยกล้องดิจิทอล ก็มีช่างล้างรูปตกงาน  เมื่อปากกาลูกลื่นมาแทนปากกาหมึกซึม ผู้ผลิตปากกาหมึกซึม หมึก และกระดาษก็ต้องปรับตัวในตลาดที่หดหาย  ทุกคนทุกอาชีพจำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจงกับการเรียกรถผ่านแอ็บ (ที่ผู้เป็นลูกค้าประจำของอูเบอร์ และแกร็บ …

ประวัติศาสตร์สังคมที่บันทึกไว้ในนวนิยาย…วรางคณา นวนิยายของ ‘สราญจิตต์’

จำเรื่อง วรางคณา ได้เพียงเลาๆ แต่คิดถึงจนอยากอ่านอีกครั้ง เล่าโครงเรื่องเท่าที่จำได้ให้เพื่อนนักอ่านประจำรุ่นฟัง ก็ไม่มีใครตอบรับ เขาคงไม่ติดใจเหมือนเรา ในที่สุดก็ตามหาจนพบ เป็นหนังสือใหม่ (แต่กรอบเพราะความอาวุโส ต้องหยิบจับอย่างระมัดระวังมาก) ได้มาจากร้านขายหนังสือเก่าในเว็บ นวนิยายเรื่องนี้ลงพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ ในนามปากกา สราญจิตต์ (ม.ล. จินตนา นพวงศ์) รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ.​2499 เล่มที่ได้มาพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2522 อ่านใหม่จึงรู้ว่าที่จำได้กับที่ผู้เขียนเขียนไว้นั้นห่างกันไกล ที่จำได้ไม่พลาดคือ ตัวเอกฝ่ายหญิงเป็นฝาแฝดที่บุคลิกต่างกัน ชื่อบุษบงกับบุษกร บุษกรคนใจดีไปพบชายคนหนึ่งเจ็บหนักอยู่ในกระท่อมของเพื่อนบ้านริมสวนของญาติผู้ใหญ่ของตน  สายสร้อยข้อมือประดับเพชรรูปไพ่มีบทอยู่ในเรื่องด้วย ที่เหลือ ความทรงจำแต่งเติมเรื่องให้เอง เช่น คิดว่าพระเอกจำนางเอกได้เพราะสายสร้อยไพ่เส้นนี้ แต่กลายเป็นว่าคนอ่านจำผิด แม้แต่คำแปลชื่อเรื่องก็จำไม่ได้ ต้องพึ่งพจนานุกรมอีกครั้ง  วรางคณา ไม่ใช่ชื่อนางเอก  วรางคณาแปลว่า หญิงผู้ประเสริฐ​ อ่านเรื่องนี้ใหม่ในวัยเกษียณ (คล้ายกับอ่านเวนิสวาณิช ตอนอายุมากแล้ว และเคยเขียนเล่าไว้แล้ว) ความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมของคนกรุงเทพฯ​ สมัยนั้นกลับมาโลดแล่นในมโนจักษุ  สำหรับผู้อ่านสมัยนี้ถือเป็นความรู้ย้อนยุค เช่น สาวทันสมัยในสมัยนั้นนุ่งกระโปรงบานกว้าง ลายฉวัดเฉวียน  สมัยนั้นกระโปรงบางตัวทั้งย้วยทั้งจีบรูด ถ้าเป็นกระโปรงจีบรอบตัวเกินวงกลม   บางคนใส่เป็ตติโค้ทหลายชั้นให้กระโปรงบานพองคงรูป บุษกรซื้อผ้าตัดเสื้อจากพาหุรัดไปฝากเพื่อน  สมัยพ.ศ. 2500 พาหุรัดกับสำเพ็งเป็นตลาดผ้าที่ใครๆ ก็ไปซื้อ สมัยนั้นไม่มีเสื้อสำเร็จรูปขาย มาสมัยนี้ร้านตัดเสื้อเป็นสิ่งพ้นสมัย และอาจจะหมดไปในเวลาไม่นาน นักเรียนนักศึกษาสมัยนั้นใช้ปากกาหมึกซึม ปาร์กเกอร์ 21 คือรุ่นปากกาที่เคยใช้เอง ทำให้เมื่ออ่านเรื่องถึงตอนนี้บรรยากาศเดิมๆ หวนคืนมา  ยังไม่แน่ใจว่ายังมีเพื่อนรุ่นเดียวกันกี่คนที่ยังใช้ปากกาหมึกซึมอยู่จนทุกวันนี้ ฝั่งธนบุรียังเป็นบ้านสวนที่ร่มรื่น  คนรุ่นใหม่คงพอนึกภาพออกเลาๆ แต่ก็คงจะนึกออกน้อยลงเป็นลำดับ เพราะสวนผลไม้หายไปเมื่อถนนใหญ่ตัดเฉียดไปใกล้ๆ  ตอนนี้ใครอยากจะบันทึกภาพสวยเป็นธรรมชาติ รีบๆ บันทึกไว้ ยังพอมีให้ถ่ายภาพได้จากสถานีรถไฟฟ้าย่านนนทบุรีและธนบุรีที่เปิดเดินรถในปี พ.ศ. 2559  ก่อนที่สวนผลไม้จะกลายเป็นสวนบ้านจัดสรร และป่าคอนกรีต  (ภาพนี้คงมีส่วนคล้ายๆ แต่ว่าในเรื่องบ้านใหญ่ต้องอยู่ลึกเข้าไปด้านใน ไม่ติดน้ำเหมือนในภาพที่ถ่ายมาจากแม่กลอง แต่พอช่วยจินตนาการได้  ภาพได้รับความเอื้อเฟื้อจากช่างกล้องจำเป็น)   ชอบวิธีการให้ความช่วยเหลืออย่างแนบเนียน   ‘ผู้ใจบุญ’ ในเรื่องให้สิ่งที่ผู้รับต้องการจริงๆ และให้เพื่อให้ผู้รับสามารถยืนได้ และยังคงมีความเคารพตนเองอยู่ เป็นการให้ที่ผู้รับซาบซึ้งว่าใจดี เอื้อเฟื้อ อาจจะเป็นหนี้น้ำใจแต่ไม่ตกเป็นทาสบุญคุณ ตัวละครฝาแฝดปรากฏในนวนิยายหลายเรื่อง  ผู้เขียนมักสร้างให้ตัวแฝดมีบุคลิกตรงกันข้ามกัน จนแทบจะเป็นกฎตายตัว  ในชั้นเตรียมอุดมฯ เรียนนวนิยายที่ตัวเอกเป็นคนหน้าเหมือนกันโดยบังเอิญถึงสองเรื่องติดๆ กัน  (เป็นแฝดแบบธรรมชาติสร้างผิด หรือว่าพระเจ้าลืม)  คือเรื่อง  The Prisoner of Zenda กับเรื่อง A Tales of Two Cities และยังตามไปอ่านเรื่องคนหน้าเหมือนอีกเรื่องคือ The Scapegoat ของ Daphne du Maurier (ผู้แต่งเรื่อง Rebecca กับ The Birds) อ่านหนังสือ วรางคณา รวมเล่ม ทำให้เห็นส่วนที่ผู้เขียนนวนิยายหลงลืม คือตัวละครตัวหนึ่งและนามสกุลของตัวเอก ที่กล่าวถึงในบทที่ 1  พอถึงบทท้ายๆ กลายเป็นอีกชื่อหนึ่งไป น่าจะเป็นเพราะว่าเนื้อความตอนเขียนรายสัปดาห์ห่างกันหลายเดือน รวมเล่มเราอ่านรวดเดียว กระนั้นก็มาสะดุดเอาตอนอ่านรอบสอง  ตามประสาคนอ่านหนังสือแบบใจร้อน อ่านรอบแรกอ่านเอาความ แล้วละเลียดอ่านเอารสในรอบที่สอง เช่น การใช้ถ้อยคำสำนวน กลวิธีของผู้แต่งในการปูพื้นเรื่อง การสร้างบุคลิกของตัวละคร  ฯลฯ นามปากกา ‘สราญจิตต์’ โด่งดังเพราะ วนาลี และปดิวรัดา ที่มีผู้นำไปทำเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง และในนามปากกา ‘จินตะหรา’ ยังได้เขียนเรื่องที่ตัวเอกเป็นฝาแฝดไว้อีกเรื่องหนึ่งคือ แสงสูรย์ ซึ่งก็เคยเป็นภาพยนตร์เหมือนกัน  นวพร เรืองสกุล  มิถุนายน 2560