จากนา (และสวน) มาเป็นเมือง
น้ำท่วมขังในเมืองทุกครั้งที่ฝนตกหนัก นอกจากพลเมืองจะไม่ช่วยกันรักษาคูและท่อระบายน้ำให้สะอาดเพื่อให้น้ำไหลสะดวกแล้ว ยังเป็นเรื่องการใช้ที่ดินที่ขาดการวางผังอย่างดีอีกด้วย และการไม่วางผังอย่างดีมีผลข้างเคียงอื่นๆ อีก เช่น ทุเรียนนนท์ตอนนี้แพงลิบ ฯลฯ เรื่องนี้เขียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ลงพิมพ์ในนิตยสาร สตรีสาร และรวมพิมพ์เป็นตัวอย่างบทความในหนังสือน้ำหมึกหลากสี ฯ ตอน นักเขียนฝึกหัด เห็นว่ายังใช้ได้อยู่กับสภาพวันนี้ และยังแพร่กระจายไปสู่เมืองหลักในภูมิภาคต่างๆ อีกด้วย จึงนำมาเสนอไว้อีกครั้ง – นวพร เรืองสกุล 28 พ.ค. 2557 ตอนที่เครื่องบินพร้อมจะร่อนลงสนามบินดอนเมือง ผู้โดยสารมีโอกาสได้เห็นกรุงเทพมหานครทางอากาศถนัดตา ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ทอดคดเคี้ยว คลังน้ำมันแถวคลองเตย ตึกสูงอันเป็นจุดสังเกตถนนสุขุมวิท ย่านบ้านจัดสรรหลังคาบ้านติด ๆ กัน นาน ๆ จะเห็นสีเขียวให้พักหายใจสักหย่อมหนึ่ง เช่น บริเวณวัดและสนามกอล์ฟ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่มีอาคารปลูกสร้างประปรายชิดริมทาง ถัดออกไปจะเห็นสีเขียวเป็นพืด แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ดินที่ใช้เพื่อการเกษตร ผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่าเขตพระโขนงนั้นเดิมเป็นท้องนา คนสมัยใหม่พอนึกภาพได้จากภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ซึ่งฉากในเรื่องสมมุติว่าเป็นเรื่องของหนุ่มสาวบ้านนาริมคลองแสนแสบ มองจากท้องฟ้าจะเห็นว่าปัจจุบันนี้ตึกกำลังรุกที่นาให้ถอยร่นออกไป “เป็นเรื่องจริงที่แปลก” เพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งปรารภ “เรามีที่ดินทำการเกษตรดี ๆ กลับเอามาถมที่สร้างเป็นเมือง แล้วคนที่จะทำการเกษตรก็ต้องไปหักร้างถางพงทำการเพาะปลูกในที่ที่บุกเบิกใหม่ ซึ่งเนื้อดินอาจไม่เหมาะเท่าของเดิม” เรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกที่พอมีเหตุผลอธิบายได้ เมื่อคนเราแรกตั้งถิ่นฐานจะเลือกพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ การคมนาคมสะดวก ซึ่งหมายถึงที่ดินที่จะทำการเพาะปลูกได้ดีและอยู่ใกล้น้ำ เมื่อพัฒนามากเข้ากลายเป็นชุมชน ส่วนหนึ่งของพื้นที่จะแปรสภาพเป็นย่านตัวเมืองมีหน้าที่สำคัญในการให้บริการ เมื่อคนอยู่มากเข้า ความเป็นเมืองก็มีมากขึ้น และเพราะคนในเมืองใช้พื้นที่ในการประกอบอาชีพน้อยกว่าคนที่ทำการเกษตร คนหนาแน่นเข้า ที่ดินมีราคาแพงขึ้น ท้องนาก็ขยับห่างออกไปเพราะถูกตึกเบียด “(สวน)ตรอกจันทน์ก็หมดไปแล้ว เดี๋ยวนี้แม้แต่นนทบุรีและนครปฐมซึ่งเป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่ขึ้นชื่อ ก็กำลังกลายเป็นย่านบ้านจัดสรร กลายเป็นชานเมืองของกรุงเทพฯ อีกหน่อยเราอาจไม่มีวาสนาได้กินทุเรียนนนท์ จะได้กินก็แต่ทุเรียนนอก เขตรังสิตที่มีคูคลองมากมาย น้ำท่าหาได้ง่าย ก็กำลังจะกลายเป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรม แล้วเราก็ต้องไปทำการขุดคูขุดคลองใหม่ที่อีสาน แปลกดี” ถ้ามีการวางแผนให้ถูกต้อง ที่ซึ่งทำการเพาะปลูกไม่สู้ได้ผลต่างหากที่ควรจะเป็นที่ตั้งของเมือง ในยุคที่ประชากรเพิ่มจำนวนขึ้นมาก จนถึงกับบางประเทศหาทางระบายประชาชนออกจากประเทศของตน ความสำคัญของสินค้าประเภทอาหารก็จะยิ่งเพิ่มพูนขึ้น ทั้งอาหารสำหรับคนและสำหรับสัตว์ที่เป็นอาหารของคนอีกทอดหนึ่ง เคยมีผู้กล่าวว่าความสำคัญของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในอนาคตอยู่ที่พื้นที่เพาะปลูกกว้างขวาง และผลิตสินค้าเกษตรได้จนเหลือกินเหลือใช้ เพราะจะใช้สินค้าเหล่านี้เป็นเครื่องมือต่อรองในทางการเมืองระหว่างประเทศได้ ญี่ปุ่นก็เข้าไปทำการเกษตรขนาดใหญ่ในอเมริกาใต้ เพื่อให้มั่นใจว่ามีสินค้าเกษตรสำหรับพลเมืองในประเทศของตน บางคนถึงกับกล่าวว่าเวียตนามบุกเขมรแบบล้างชาติ เพราะอยากได้ลุ่มแม่น้ำโขงที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในประเทศตนเสียหายมากจากการสงครามยืดเยื้อ ประเทศของเราก็เป็นประเทศเกษตร การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากวิทยาการแล้ว สิ่งที่จำเป็นยิ่งอีกสิ่งหนึ่งก็คือ ที่ดิน ถ้าเราไม่มีนโยบายจัดเขตการค้า อุตสาหกรรม และเขตการเกษตรให้ดีแล้ว อีกไม่นานเราอาจจะพบว่า ในขณะที่สินค้าเกษตรเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการต่อรองระหว่างประเทศที่สำคัญ เรากลับไม่มีหลักประกันชิ้นนั้น เพราะที่ดินดี ๆ ของเราได้จมอยู่ใต้พื้นคอนกรีตเสียหมดแล้ว “พรนภา” “จากนามาเป็นเมือง” คอลัมน์วิจัย วิจารณ์ สตรีสาร ปีที่ 32 ฉบับที่ 39 16 ธันวาคม 2522 (ภาพเปิดเรื่อง ริมถนนพุทธบูชาที่ตัดใหม่ นครศรีธรรมราช พ.ศ. 2556 ภาพใน featured image ประสบการณ์น้ำท่วมบ้านที่เชียงใหม่ หลายปีมาแล้ว และภาพปิดเรื่อง ริมทางในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2557) ธรรมชาติที่เคยเห็นเจนตา บัดนี้จางหายไปมากแล้วต้องเสาะแสวงหาจึงเห็น