Month: August 2016

เรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับสุขภาพ

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่รู้ว่า ปัญหาสุขภาพในพื้นที่เกิดจากการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช คนทำงานป่วยเป็นโรค บางคนตายคาไร่ และผู้บริโภคก็ป่วยด้วย จึงหาทางแก้ปัญหาที่ต้นตอในระดับพื้นที่ โดยสนับสนุนการปลูกและเปิดช่องทางการขายข้าวและพืชผักต่างๆ ที่เป็นเกษตรอินทรีย์ แทนสินค้าเกษตรที่แถมยาฆ่าแมลงและสารเคมีต่างๆ ให้กับผู้บริโภค เรื่องนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสามารถทำงานร่วมกับ องค์การบริหารส่วนท้องถ่ิน โรงพยาบาลสุขภาพระดับตำบล  อาสาสมัครสาธารณสุข คนจำนวนมากห่วงสุขภาพตนเอง และพยายามดูแลตนเองอยู่่ สังเกตได้จากข่าวสุขภาพใน line ติดอันดับพอๆ กับข่าวลือ (ไม่นับ good morning และดอกไม้สวยๆ ที่ copy แล้ว forward) แต่ความรู้ในไลน์เชื่อได้เพียงไหน องค์กรที่มีความรู้ด้านสุขภาพออกมาพูดเองน่าจะได้น้ำหนักมากกว่า   การให้ความรู้คือการสร้างพลังให้กับประชาชน ไม่ว่าประชาชนผู้นั้นจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้บริโภค และเป็นการตัดข้อแก้ตัวว่า “ไม่รู้” ของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายลงไปได้ รวมทั้งฝ่ายผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ควรออกมาช่วยกันกดดัน เรียกร้องให้ผู้ค้ารายใหญ่ต้องรับผิดชอบกับสินค้าที่วางขายในสถานประกอบการของตนว่าตรงตามคุณภาพ เช่น บอกว่า ปลอดสารเคมี ก็ต้องมีมาตรการดูแลให้ปลอดสารเคมีจริง ระบุว่าออร์แกนิก ก็ต้องออร์แกนิกจริง เป็นต้น ผู้ค้าบางรายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย การสร้างความน่าเชื่อถือยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมโดยตรง เพราะการค้าขายที่เป็นธรรมคือการค้าขายที่ไม่เบียดเบียนผู้ผลิตและผู้บริโภค   งานประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ต่างๆ ถ้าท้องถิ่นหรือราชการส่วนภูมิภาคคิดขึ้นมาได้  ก็น่าจะนำไปเผยแพร่ต่อระดับชาติได้ งานให้ความรู้บางเรื่อง ถ้าส่วนกลางสื่อสารตรงถึงผู้บริโภคและผู้ผลิตน่าจะได้ผลมากกว่า โดยสร้างอิทธิพลทางความคิดผ่านการส่งต่อ ช่วยให้การสำทับย้ำเตือนโดยผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทำง่ายขึ้น หลายเรื่อง ถ้าทำให้เห็นจริงจังเป็นรูปธรรมจะช่วยสร้างความเข้าใจได้ดีขึ้น เช่น เบาหวาน เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาว คนหัวดื้อก็อาจจะเปลี่ยนใจกลายเป็นคนหัวอ่อนดูแลตนเอง เพราะเข้าใจได้ด้วยตนเองแล้วว่า การที่หมอห้ามกินโน่นห้ามกินนี่ไม่ใช่เพื่อหมอ แต่เพื่อตัวผู้ป่วยเอง การใช้ยาไม่ถูกต้อง ใช้ยามากไป – น้อยไป ใช้บ่อยไป ใช้ไม่ครบชุด อาจมีผลเสียต่อระบบในร่างกายอย่างไรบ้าง ก็น่ารู้ อาหารปลอดภัย อาหารปนเปื้อน เกิดอะไรขึ้นภายในร่างกายบ้าง งานให้ความรู้ทางสื่อตอนนี้มักใช้วิธีสัมภาษณ์ที่ชวนให้หมุนไปหาทีวีช่องอื่น ควรเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง   งานด้านสุขภาพเกี่ยวพันถึงกรมแรงงาน กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ เพราะเกี่ยวกับคน ถ้ากระทรวงสาธารณสุขไม่เป็นฝ่ายรุกและป้องกัน ก็จะต้องเป็นฝ่ายรับที่ปลายทาง เมื่อคนดีกลายเป็นคนป่วย เงินทำเร่ื่องให้ความรู้ระดับประเทศมีอยู่มากมายในองค์กรต่างๆ เนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายมีอยู่ที่โรงพยาบาล กรมอนามัย มหาวิทยาลัย ฯลฯ ขอเพียงกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนเคาะ จัดระบบ และริเริ่มงานนี้ระดับชาติ เพื่อสู้กับข่าวสารสุขภาพที่ไลน์บอก (อ้างหมอ) เพื่อเสริมข้อมูล และสร้างความสะดวกให้กับงานในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนทุกคนรับรู้ว่า สุขภาพเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ตนต้องดูแล เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรับรู้ว่า สิ่งใดเป็นอันตราย ไม่ควรทำ หรือห้ามทำ หรือเป็นภาระหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลไม่ให้เกิดขึ้น   ถ้าเงินไม่พอสำหรับทำโครงการให้ความรู้ ก็อาจคิดเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าต้นเหตุ เช่น ขนมและนมที่หวานเกินขนาด  พลาสติก โฟม ยาเคมีต่างๆ ในการเกษตร ผู้ผลิตที่ไม่อยากเสียภาษีเพิ่มก็คงจะผลิตสินค้าคุณภาพที่ต้องประสงค์มากขึ้น   ตอนนี้ผู้ที่พยายามดูแลสุขภาพต้องเสาะแสวงหาความรู้ และหาอาหารปลอดภัยเอาเอง จนดูเหมือนเป็นคนอยู่ยากกินยาก ส่วนอีกบางคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่คิด ได้ใช้เงินเพื่อทำลายสุขภาพตนลงไปเรื่อยๆ การซ่อมสุขภาพแม้จะฟรีก็ไม่คุ้มกับการเจ็บตัว จิตตก และความลำบากของญาติพี่น้องในยามต้องดูแลคนป่วย   สิทธิพื้นฐานอันหนึ่งของประชาชนควรเป็นสิทธิในการได้กินได้อยู่อย่างปลอดภัย คนไทยควรได้บริโภคทุกอย่างที่ได้คุณภาพ ซึ่งเราทำได้ แต่เราผลิตแล้วเราส่งออกเกือบหมด ไม่เก็บไว้บริโภคกันเองในประเทศ Health Literacy คืองาน promotion & prevention ในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการป้องกันไม่ให้คนจำนวนหนึ่งใช้เงินซื้ออาหารที่กินแล้วทำร้ายตนเอง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว  

โรงภาพยนตร์สกาลา 1

 ไปดูภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music ที่โรงภาพยนตร์สกาลา เพื่อรำลึกถึงความหลัง และเพื่อให้หลานตัวน้อยๆ เห็นหนังจอใหญ่ แทนดูจากจอคอมพิวเตอร์ที่บ้าน สิ่งที่ยังประทับใจอยู่คือล้อบบี้ของโรงภาพยนตร์ ที่มีโคมระย้าดวงโต จำได้ว่าในเวลานั้นเจ้าของโรงทุ่มเงินทำให้โรงนี้เป็นโรงที่โอ่อ่างดงามที่สุดในภูมิภาค                  ความงดงามยังอยู่ แต่อนาคตของโรงไม่แน่นอน ดังที่คุณนันทา ตันสัจจา เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่พาดหัวว่า “ตัวไม่อยู่ ขอให้โรงหนังอยู่” ว่า สัญญาจะหมดมกราคม 2560 ข้อเสนอให้เก็บอาคารโรงภาพยนตร์สกาลาไว้เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรม ผ่านทางเวปไซต์ Change.org ที่มีผู้ร่วมลงชื่อเกินหมื่นคน ในเวลาอันรวดเร็ว ต่อมามีรายงานการให้สัมภาษณ์รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ว่า จะต่อสัญญาถึง มกราคม 2563 เพราะว่ายังไม่รู้ว่าจะพัฒนาเป็นอะไร เป็นโครงการใหญ่เกินจะทำเอง ต้องให้เอกชนมาเสนอแนวคิด และต้องทำตามพระราชบัญญัติร่วมทุน ต้องจ้างคนมาศึกษาก่อนว่าทำอะไรจะเหมาะสมที่สุด ท่านยังได้กล่าวต่อไปว่า ไม่อยากให้คนโฟกัสไปแต่ที่สยามสแควร์ ยังมีที่อีกหลายแห่งเช่นสามย่าน สวนหลวง เรื่องโรงภาพยนตร์สกาลาเปิดประเด็นให้ตั้งข้อสังเกตได้หลายประการ เรื่องนี้เป็นเรื่องชาวเมือง และเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และธุรกิจ ผสมผสานอยู่ในเรื่องเดียวกัน เป็นกรณีที่น่าสนใจจะยกขึ้นมาส่องดูหลายๆ แง่มุม เรื่องการต่อสัญญา เป็นที่รู้กันดีว่า ถ้าหากสัญญาเช่าใกล้ครบกำหนดผู้เช่าจะไม่ปรับปรุงพื้นที่ เพราะไม่สามารถถอนทุนได้ทัน ตึกที่สัญญาไม่แน่นอนหรือไม่นานพอจะทรุดโทรม ดังที่เราเห็นพื้นที่ส่วนใหญ่หลังสามย่านหรือแถวสวนหลวง ที่ผู้เช่าเดิมย้ายออกไปผู้เช่าใหม่ทำกิจการที่พร้อมถอนสมอได้ในทันที เช่น อู่ซ่อมรถแบบไม่ต้องใช้เครื่องจักรดีๆ แพงๆ เราจะเห็นดงตึกที่มีน้ำมันเครื่องเป็นคราบและลามมาเปื้อนลื่นอยู่บนถนนจนน่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่จักรยานยนต์ และน่าสืบค้นมากทีเดียวว่าน้ำมันเครื่องเหล่านี้ลงไปในดิน ลงไปในท่อระบายน้ำด้วยหรือเปล่า และไปทำปฏิกิริยาหรือมีผลอย่างไรต่อท่อน้ำทิ้งของ กทม. และคุณภาพของดินในบริเวณนั้นที่มีน้ำมันเครื่องปนเปื้อนมายาวนาน จุฬาฯ ในฐานะเสาหลักของแผ่นดิน และแหล่งอ้างอิงของแผ่นดินมีการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมจากการกระทำนี้ไว้บ้างหรือไม่ ถ้าต่อสัญญาโรงภาพยนตร์ ๓ ปี ผู้เช่าก็คงลงทุนเท่าที่จะคุ้มค่ากับเวลา ๓ ปี ไม่เหมือนครั้งแรกที่ลงทุนได้เต็มที่เพราะสัญญาเช่า ๓๐ ปี ดังนั้นถ้าสกาลาโทรมลงไปจนน่ารื้อ คงไม่มีใครสืบสาวหาดูว่าที่โทรมลงไปนั้นเป็นเหตุที่เกิดจากฝ่ายเจ้าของที่ดิน เรื่องการพัฒนาพื้นที่ ถ้าคำให้สัมภาษณ์ได้รับการถ่ายทอดมาถูกต้องทั้งหมด ก็แปลว่าจุฬาคิดขึ้นโครงการใหญ่ โดยตั้งใจรอให้นายทุนมาเสนอ กลุ่มทุนในประเทศไทยมีกี่กลุ่มก็พอเห็นอยู่ และการพัฒนาของเอกชนก็ต้องให้ได้คุ้มที่สุด จึงเชื่อว่าต้องขึ้นตึกสูงเต็มพื้นที่แน่นอน ส่วนการศึกษาความเป็นไปได้นั้นเท่าที่เคยมีประสบการณ์มาด้วยตนเอง ผู้ศึกษาจะนำเสนอตามโจทย์ที่ผู้ว่าจ้างต้องการ การมีพื้นที่สวนกว่า ๒๐ ไร่ เพื่อทำอุทยาน ๑๐๐ ปี ที่ประชาสัมพันธ์กันอยู่ในปีนี้ เป็นนโยบายของเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่การนำเสนอของผู้จะพัฒนาที่ดิน เป้าหมาย จุดประสงค์ วิสัยทัศน์ต้องมาก่อนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ กุศโลบาย เพ็ญพรรณ โกวิทางกูร เขียนไว้ใน Change.or ว่า “ต่อลมหายใจสกาล่า 3 ปี ไม่ใช่ทางออก แต่แค่ ‘พักยก’… เพราะเป้าหมายหลักของการรณรงค์ไม่ใช่แค่การต่อสัญญาเช่า (ซึ่งไม่อยากให้เข้าใจว่า เราต้องการรณรงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักธุรกิจ) แต่เราเห็นว่าจุฬาฯ ควรตั้งคณะกรรมการและมีแผนการอนุรักษ์สกาล่า เพราะตระหนักและมองเห็นคุณค่าด้านสถาปัตยกรรม และริเริ่มโครงการใช้ประโยชน์ของอาคารนี้อย่างยั่งยืนในอนาคต ไม่ใช่ฝากความหวังไว้กับภาคเอกชนรายใหม่ที่จะเข้ามาบริหารต่อ อาจจะดียิ่งขึ้นหากพวกเรา ช่วยกันคิด เสนอแนะแนวทางและโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนสกาล่าให้มีชีวิต และมีความหมายสำหรับคนรุ่นหลัง เพราะเราไม่ต้องการให้จุฬาฯ เก็บอาคารสกาล่าไว้เป็นแค่อนุสาวรีย์ของโรงหนังเท่านั้น ทั้งยังไม่มีหลักประกันใดๆ ได้ว่าเมื่อจุฬาฯ เปลี่ยนคณะผู้บริหาร นโยบายรื้อทิ้งสกาล่าจะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาอีก…” จุฬาฯ ยังไม่ได้ขยับในทิศนี้อย่างเห็นได้ชัด ส่วนสกาลาขยับแล้ว ด้วยการนำภาพยนตร์ดียุคเก่ามาฉาย แม้จะรอบเดียวในหนึ่งเดือน ก็ถือเป็นบททดสอบสำหรับผู้สนับสนุน ถ้าได้ความร่วมมือสามประสาน จากฝ่ายมหาวิทยาลัย ที่เป็นเจ้าของที่ มีนิสิต มีภาควิชาเกี่ยวกับศิลป การละคร และภาพยนตร์อยู่ในมือ ฝ่ายผู้ประกอบการ และฝ่ายผู้ชม ก็นับว่ายอดเยี่ยม ถ้าหากว่าเสาหลักของแผ่นดินผู้เป็นเจ้าของที่ดินและมีนิสิตอยู่ในมือยังเฉยๆ และปล่อยให้สยามสแควร์ส่วนเก่ารกรุงรังยิ่งขึ้นทุกที เราผู้ที่ห่วงใยอยากเก็บอาคารหลังนี้ และบรรยากาศส่วนหนึ่งของสยามตรงนี้ไว้ เป็นที่ระลึกที่มีชีวิต ก็ต้องยอมเหนื่อยพยายามร่วมคิด ร่วมช่วยกัน ตามความสามารถที่มี นวพร เรืองสกุล ดัดแปลงจากเรื่องที่ลงในคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ชาวเมือง สกุลไทย เล่มที่ 3225 ปี พ.ศ. …

Benjamin Franklin’s Final Speech in the Constitutional Convention from the notes of James Madison

รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ   คนไทยผู้มีสิทธิิออกเสียงเลือกตั้งกำลังจะไปลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ นี้แล้ว ได้พบสุนทรพจน์ของเบนจามิน แฟรงกลิน รัฐบุรุษคนหนึ่งของอเมริกา ในช่วงประกาศอิสระภาพและตั้งประเทศ  ที่กล่าวในสภาร่างรัฐธรรมนูญอเมริกัน ชี้ประเด็นว่าไม่มีใครพอใจกับสิ่งที่ร่างขึ้นมาเต็มร้อย มึคนถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้างในบางประเด็น แต่โดยรวมแล้วทุกคนก็ได้ตั้งใจทำออกมาดีที่สุดเท่าที่ทำได้ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเวลานี้ จึงขอแปลและนำมาเผยแพร่ต่อ ณ ที่นี้ Portrait of Benjamin Franklin   สุนทรพจน์ของเบนจามิน แฟรงกลิน ปิดท้ายการประชุมร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา จากบันทึกของเจมส์ แมดิสัน   Mr. President: I confess that I do not entirely approve of this Constitution at present, but Sir, I am not sure I shall never approve it: For having lived long, I have experienced many Instances of being oblig’d, by better Information or fuller Consideration, to change Opinions even on important Subjects, which I once thought right, but found to be otherwise. It is therefore that the older I grow the more apt I am to doubt my own Judgment, and to pay more Respect to the Judgment of others. ท่านประธาน ข้าพเจ้ายอมรับว่าข้าพเจ้าไม่เห็นพ้องด้วยกับทั้งหมดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเวลานี้ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะไม่เห็นด้วยตลอดไป เพราะการที่มีอายุยืนยาวมาถึงปานนี้ทำให้ มีประสบการณ์ว่า บางครั้งก็จำต้องเปลี่ยนใจเมื่อมีข้อมูลที่ดีกว่า มีการพิจารณาไตร่ตรองที่รอบคอบขึ้น แม้ในเรื่องสำคัญๆ ที่ข้าพเจ้าเคยคิดว่าถูกต้อง แต่กลับไม่ใช่  ดังนั้น ยิ่งอายุมากขึ้น ข้าพเจ้าก็มักจะตั้งคำถามกับการตัดสินถูกผิดของตนเองมากขึ้น และให้ความเคารพต่อความคิดและการตัดสินของผู้อื่นมากขึ้น     Most Men indeed as well as most Sects in Religion, think themselves in Possession of all Truth, and that wherever others differ from them it is so far Error. Steele, a Protestant in a Dedication tells the Pope, that the …