ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
คำว่า “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” (participative democracy) แยกได้เป็นสองคำ คือ “ประชาธิปไตย” กับ “การมีส่วนร่วม” คนที่เป็นประชาธิปไตยต้องมี mindset (ความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม) แบบหนึ่ง คนอื่นจะเป็นผู้ลงความเห็นว่าคนๆ หนึ่ง เป็น “ประชาธิปไตย” หรือไม่ จากการสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของคนๆ นั้น การมีส่วนร่วมทำได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือการลงประชามติในประเด็นหนึ่งประเด็นใด โดยก่อนถึงขั้้นตอนสุดท้ายของการไปลงประชามติ ผู้จะลงประชามติจะต้องรู้เรื่องและเข้าใจประเด็นว่าลงเรื่องอะไร การมีส่วนร่วมจึงตั้งต้นตั้งแต่ตอนที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรณรงค์ โน้มน้าว ชักจูง ให้ลงคะแนนให้กับฝ่ายของตน และผู้มีสิทธิลงคะแนนมีหน้าที่รับฟัง ศึกษาหาความรู้ และไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนจะไปทำหน้าที่ลำดับสุดท้ายคือลงคะแนนเสียง แต่ด้วยวิธีลดรูปแบบไทยๆ ที่สรุปว่า ประชาธิปไตยคือมีเลือกตั้ง เราก็เลยปรับเปลี่ยนการมีส่วนร่วมให้เหลือเพียงการให้มีตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ เช่น ตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส (องค์กรที่เกี่ยวกับสังคม) กลุ่มคณาจารย์ (ในสถาบันอุดมศึกษา) ในคณะกรรมการใหญ่ที่กำหนดนโยบายและบริหารองค์กร เมื่อลองวิเคราะห์ตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ก็มักจะพบว่า (๑) มีไม่ครบทุกกลุ่ม และบางกลุ่มก็มีตัวแทนเกินขนาด (คือ over representation) (๒) ตัวแทนซ้ำหน้า เสมือนหนึ่งว่าคนนั้นๆ มีอาชีพเป็นตัวแทน (๓) บางคนอาจจะไม่ได้แทนจริงๆ เต็มร้อย แต่แทนเพราะความเชื่อ ความเห็นอกเห็นใจ หรือเหตุผลอื่น เช่น ตัวแทนผู้ด้อยโอกาสอาจจะเป็นผู้มีโอกาสสูง ตัวแทนคนพิการอาจไม่พิการ พื้นที่ที่มีเกษตรกรชาวนาทั้งจังหวัดอาจเลือกเจ้าของโรงสีเป็นผู้แทน เป็นต้น ผู้แทนแต่ละคนนึกและคาดหวังว่าตนเป็นกรรมการเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ และเพราะคิดเช่นนี้ เมื่อเกิดปัญหาในองค์กรหรือในการปกครองประเทศ ผู้คนทั่วไปมักพุ่่งความไม่พอใจไปที่องค์กรหรือที่รัฐบาล ไม่ได้หันไปมองบทบาทของกรรมการหรือผู้แทนแต่ละคนในฐานะผู้มีส่วนกำหนดนโยบายรวม ซึ่งวิธีคิดนี้ผิดหลักการเป็นกรรมการตามมาตรฐานที่สถาบันกรรมการฯ ในภาคธุรกิจตลาดทุนพยายามอบรมกรรมการว่า กรรมการต้องมีหน้าที่ดูแลการบริหารองค์กรเพื่อวัตถุประสงค์รวมขององค์กรนั้น อีกด้านหนึ่ง จากประสบการณ์การร่วมประชุมในคณะกรรมการที่มีผู้แทนทำนองนี้ ก็รู้สึกเห็นใจตัวผู้แทนมาก เพราะในองค์กรหนึ่งๆ ไม่ใช่ว่าจะมีทุกเรื่องที่กระทบถึงและต้องการความเห็นของผู้แทนเฉพาะกลุ่ม ส่วนมากเป็นเรื่องนโยบายใหญ่และประเด็นหลักด้านการบริหาร การคัดตัวแทนหนึ่งคนเพื่อร่วมตัดสินเรื่องที่กระทบกับกลุ่มโดยตรง ก็อาจจะไม่เหมาะ เช่น ให้อาจารย์ในคณะหนึ่งคนเป็นหนึี่งในกรรมการ ๕ คน ที่จะเลือกคณบดีคณะตน แบบนี้เป็นการคาดหวังมากเกินไปที่จะให้ผู้แทนหนึ่งคนสามารถสะท้อนกลุ่มที่มีความเห็นกระจัดกระจาย ส่วนทางเลือกสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง คือให้บุคลากรในคณะเลือกตั้งคณบดีโดยตรงแบบ (เดียวกับประชาธิปไตยคือมีเลือกตั้งดังที่พูดกันในระดับประเทศ) ก็ไม่เป็นที่ยอมรับเหมือนกัน เพราะหลายเหตุผล ที่เคยได้ยินมาก็เช่น เกรงเรื่องประชานิยมทำนโยบายเอาใจบุคลากรที่เป็นสายสนับสนุนโดยละเลยงานวิชาการและงานเกี่ยวกับนักศึกษา เป็นต้น เคยอยู่ในกระบวนการคัดเลือกคณบดีที่ผสมผสานระหว่างการเลือกตั้งกับการแต่งตั้งแบบไม่ฟังเสียงใคร โดยนำหลักที่ว่าคนเรามักจะมีความเห็นชัดเจนในเรื่องที่กระทบถึงตัวโดยตรงมาใช้ ในครั้งนั้นคณะกรรมการที่จะเลือกคณบดีสุ่มเชิญพนักงานและอาจารย์ในคณะจำนวนหนึ่งมาถามปัญหา ขอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงคณะ และคุณลักษณะของคณบดีที่อยากได้ เป็นประชาธิปไตยโดยหลักการว่า เสียง (voice) สำคัญกว่าตัวแทน (representation) คณะกรรมการที่รับฟังทำตามไ่ม่ได้ทุกเรื่อง แต่ส่ิงที่สำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือการ “ฟัง” อย่างจริงจังและตั้งใจ การฟังอย่างตั้งใจ ทำให้ผู้ให้ความเห็นรู้สึกได้ว่าคณะกรรมการได้คำนึงถึงคนที่จะถูกปกครองแล้ว งานสรรหาจึงราบรื่นในแง่อารมณ์ความรู้สึกของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมสามารถแสดงออกได้ในหลายรูปแบบ ไม่ใช่สูตรตายตัวว่าต้องเป็นเช่นนี้หรือเป็นเช่นนั้น ดังที่เราก็ได้ยินมาแล้วว่า อังกฤษประเทศแม่แบบประเทศหนึ่งของการปกครองแบบประชาธิปไตย ยังให้ยั้งการหาเสียงสนับสนุนหรือคัดค้านก่อนการลงประชามติเรื่องจะอยู่หรือจะออกจากสหภาพยุโรป เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นกับนักการเมืองคนหนึ่ง ไม่ได้ถือว่าการยับยั้งการหาเสียงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อาจารย์รัฐศาสตร์เคยอธิบายว่า ประชามติมักใช้ในเรื่องที่ใกล้ตัวซึ่งผู้ลงคะแนนสามารถตัดสินใจไม่ยาก เช่น จะให้มีหรือไม่ให้มีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในชุมชนนี้ เมืองนี้จะขึ้นกับรัฐใด หรืออำเภอนี้จะขึ้นกับจังหวัดใด เป็นต้น ครั้งนี้เมื่ออังกฤษลงประชามติไปแล้ว ก็คงมีการทบทวนบทเรียนว่า ประชามติในเรื่องการอยู่หรือออกจากสหภาพยุโรปเป็นหัวข้อที่พึงทำประชามติหรือไม่ และผู้ลงคะแนนได้ข้อมูลที่รอบด้านพอและได้รับฟังการวิเคราะห์ผลกระทบที่ยาวไกลพอ (โดยสอดใส่อารมณ์ให้น้อยๆ) จะตัดสินใจหรือไม่ นวพร เรืองสกุล ปรับปรุงจาก ที่ลงในสกุลไทย คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ชาวเมือง ปีที่ 62 ฉบับที่ 3222 19 กรกฎาคม 2559