Money and Banking
Leave a Comment

เรียนท่านผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง ปรับประสิทธิภาพของนโยบาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

วันที่ ๑ ตุลาคม (พ.ศ. ๒๕๕๘)  เป็นวันส่งต่องานการเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ขอแสดงความยินดี และขอเอาใจช่วยให้ท่านผู้ว่าการคนใหม่ รับภาระอันยิ่งใหญ่ที่ท่านอาสานี้ ด้วยดี

ท่านผู้ว่าการคนใหม่ ไม่ได้ใหม่เสียทีเดียว ถึงท่านจะไม่เคยเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยมาก่อน แต่ท่านก็คุ้นกับงานผ่านการเป็นกรรมการ ดูแลด้านนโยบายการเงินมาแล้ว

ได้อ่านเรื่องที่ท่านเคยเขียนและเคยพูดในที่ต่างๆ มาบ้าง พอจะเห็นว่า ท่านห่วงเรื่องโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของไทย  กับเรื่องประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ท่านเห็นว่าการลงทุนของภาคเอกชนน้อยเกินไป และท่านก็คิดว่า หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในโครงการต่างๆ ในประเทศไทย

เท่าที่อ่านข้อเขียนและฟังการสัมมนาโดยทั่วๆ ไป นักเศรษฐศาสตร์เราแคล่วคล่องในการวิเคราะห์ปัญหา  และให้เวลาอย่างมากกับเรื่องนี้ แต่ให้เวลาน้อยมากกับการพูดวิธีแก้ปัญหา และวิธีที่แก้ก็มักจะเป็นเหล้าเก่าในขวดคล้ายๆ เดิม

คราวนี้ท่านผู้ว่าการกำลังจะผันตัวเองจากนักเขียน เป็นผู้ที่ถูกเขียนถึง และเปลี่ยนที่นั่งจากผู้วิเคราะห์ปัญหา ไปเป็นผู้ต้องทำให้ปัญหาบรรเทาลงหรือหมดไป เพื่อให้ประเทศเราก้าวออกจากการอยู่ในกับดักของประเทศที่ดีแต่ใช้แรงงาน ไม่ใช้ปัญญา เสียที

ส่วนที่ขอนำเสนอให้ท่านพิจารณาในวันนี้มี ๒ เรื่องด้วยกัน

เรื่องที่ ๑

ประสิทธิภาพของกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่รู้ว่าดอกเบี้ยต่ำๆ นั้นให้ผลกับใครบ้าง แต่จากมุมมองของลูกค้าธนาคาร การปรับดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากไม่สอดคล้องกัน คือดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.5%  ดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 7.75% หรือประมาณนั้น เรื่อยมา ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากประจำเปลี่ยนตามดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว (ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 0.25% มานานแล้ว) ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย มีส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสองตัวนี้น่าจะสูงติดอันดับโลก

เท่ากับว่า ผู้กู้เงินรายใหญ่ที่กู้เงินได้ใกล้กับอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ จากดอกเบี้ยต่ำ ผู้กู้รายเล็ก รายย่อย เสียดอกเบี้ยเท่าเดิม ยืนยันว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ไม่มีผลถึงลูกค้ารายเล็ก

เท่ากับว่า ผู้ฝากเงินที่พึ่งรายได้ดอกเบี้ยเงินฝาก รายได้หดทุกครั้งที่ดอกเบี้ยนโยบายลด  เงินส่วนนี้มีผลต่อการบริโภคของคนกลุ่มนี้ ไม่นับความรู้สึกที่ว่า เขาจนลง

และเท่ากับว่ากลุ่มผู้สูงวัยในอนาคตมีเงินสะสมเพื่ออนาคตน้อยกว่าที่ควร เพราะเงินออมระยะยาวภาคสมัครใจ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) และภาคบังคับ (ประกันเพื่อการชราภาพ และ กบข.) ลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก

พอทางการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ SME จึงถูกบีบจากทุกทาง

ที่พูดนี่ยังไม่ได้หมายความว่า ควรจะลดค่าแรงขั้นต่ำลง เรื่องนั้นเป็นประเด็นต่างหาก แต่สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องคำนึงก็คือ ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในสภาพแวดล้อมทางการเงินในปัจจุบัน และในโครงสร้างของระบบ (เช่น  การมีธนาคารพาณิชย์และตัวกลางทางการเงินจากต่างประเทศ ที่ประเทศไกลและประเทศเพื่อนบ้านเป็นเจ้าของ มีส่วนกระทบประสิทธิภาพของนโยบายการเงินอย่างไร แค่ไหน) และทางธนาคารกลางจะต้องหาช่องทางอย่างไร จะทำให้การส่งผ่านนโยบายการเงินได้ผลเร็วและลึกกว่าที่เป็นอยู่

เรื่องที่ ๒

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ถ้าผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายยังส่งเสริมการลงทุนแบบเดิม และนักธุรกิจท่ัวไปยังคงผลิตแบบเดิมและลงทุนแบบเดิม โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไม่ได้ ประสิทธิภาพเพิ่มไม่ได้ และความสามารถในการแข่งขันก็เพิ่มไม่ได้  เราจะติดกับดักตรงนี้ไปเรื่อยๆ

การที่จะแข่งขันได้ (โดยไม่ลดราคาสินค้า ไม่ลดกำไร ไม่กดค่าแรงคนงาน) จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และมีนวัตกรรมในหลายด้าน มีการพูดกันถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ส่ิงที่ง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวประการแรกคือ การลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ กับการลงทุนทางปัญญาความคิดในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในด้านการผลิตและการให้บริการ ที่จะทำให้ใช้แรงงานน้อยลง และใช้แรงงานคุณภาพสูงขึ้น

(แต่สิ่งที่กลับกันอาจไม่เป็นจริง คือการลงทุนอาจจะไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันก็ได้ เมื่อลงทุนไปในสิ่งที่ไม่เป็นสาระต่อการเพิ่มขีดการแข่งขัน จึงจำเป็นต้องแยกแยะให้ถ่องแท้)

๑. ในด้านการเงิน ต้นทุนดอกเบี้ยของ SME ก็ไม่ควรจะสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่มากเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เพราะดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อกำไร และการตัดสินใจลงทุน

๒. ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ละอุตสาหกรรม มีกิจการบางกิจการที่เจ้าของกิจการทำอยู่แล้ว แต่รัฐเร่งให้เกิดมากขึ้นได้ ถ้ามีวิธีสนับสนุนให้เหมาะกับสถานการณ์ รวมทั้งการชี้ประเด็นที่ชัดเจน

ยกตัวอย่างธุรกิจก่อสร้าง ในต่างประเทศใช้แรงงานน้อยกว่าไทยมาก และไม่ใช้แรงงานประเภทแบกหามเลย  แรงงานไทยทำงานเหล่านี้เป็นเพราะเคยทำมาแล้วในต่างแดน แต่นายทุนไทยไม่พร้อมลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงหรือเครื่องที่ทำงานได้ประสิทธิภาพกว่า  และไม่เห็นความจำเป็นจะต้องลงทุน ตราบเท่าที่ยังกดค่าแรงหรือได้รับการโอบอุ้มจากรัฐให้ทำงานวิธีเดิมๆ อยู่

๓. บีโอไอ ควรหันไปทำงานด้านการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทไทยให้มากขึ้น มากกว่าการนำการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพราะเงินในประเทศไทยก็มีเหลือเฟือ  การส่งผู้บริหารไม่กี่คน ไปบริหารโรงงานและแรงงานในต่างประเทศ ลดปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวลงไปโดยปริยาย

ดังนั้น จะเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มการลงทุนในภาคเอกชนไปพร้อมๆ กัน ไม่ควรมุ่งส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนในเมืองไทย (ที่ทุนเหลือและแรงงานไม่มี) แต่ต้องหันมาสนับสนุน SME อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการปรับกระบวนการทำงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วยการลงทุนนำเครื่องมือและอุปกรณ์เข้ามาทำงานร่วมกับแรงงาน

จึงขอเรียนมาเพื่อพิจารณา

ความสำเร็จของท่านผู้ว่าการเป็นหนึ่งเดียวกับความสำเร็จของธนาคารกลาง และอนาคตของประเทศไทย   ขอให้ท่านประสบความสำเร็จในหน้าที่สำคัญยิ่งนี้

ด้วยความปรารถนาดี

นวพร เรืองสกุล

๔ สิงหาคม ๒๕๕๘

ออมก่อน

Leave a comment